เพาะถั่วงอก ปลอดสารเคมี สร้างสรรค์ความคิดโดย อ.นิมิตร์ เทียมมงคล ผู้เพาะถั่วงอก รักชาติ หลักการเพาะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เข่งพลาสติก ตะแกรงพลาสติกตัดตามขนาดเข่ง กระสอบป่านตัดตามภาชนะ กะละมังและถั่วเมล็ดแห้งเช่นถั่วเขียว โดยการนำเมล็ดถั่วที่จะนำมาเพาะคัดเลือกให้สมบูรณ์ นำมาล้างน้ำทำความสะอาดเทน้ำทิ้งสองสามครั้ง แล้วเอาไปแช่น้ำอุ่นนาน 6-8 ชั่วโมงและนำมาล้างน้ำให้สะอาดอีกที
อุปกรณ์
- ขวดน้ำพลาสติกที่เป็นขวดสี่เหลี่ยมเท่านั้น และมีรอยควั่นเป็นแนวตรง
- คัตเตอร์ กรรไกร ถุงดำ
- หัวแร้งไฟฟ้าหรือธูป
- น้ำสะอาด
กระบวนการเพาะถั่วงอกในขวดน้ำพลาสติก
- ใช้ขวดพลาสติกมาเจาะรูระบายน้ำ 2 แถว (8 รูสำหรับขวดขนาด 600 ซีซี / 10 รู สำหรับขวดขนาด 1.5 ลิตร / 12 รู สำหรับขวดขนาด 6 ลิตร) และเจาะรูระบายอากาศบริเวณปากขวดอีก 3 รู โดยการเจาะรูนี้จะใช้หัวแร้ง (หรือธูปก็ได้) และเปิดปากขวดด้านตรงข้ามกับที่เจาะรู สำหรับเป็นช่องไว้รดน้ำ โดยใช้คัตเตอร์ตัดส่วนนี้
- นำเมล็ดถั่วเขียวแห้งมาใส่ลงในขวด ปริมาณที่ใส่เท่ากับความสูงของรอยควั่นข้อแรก จากนั้นเติมน้ำอุ่นลงไป(โดยใช้น้ำร้อน 1 ส่วน ผสมกับน้ำธรรมดา 3 ส่วน) ให้ถึงรอยควั่นข้อที่ 2 ของขวด แช่ทิ้งไว้ 6-8 ชม.
- เปลี่ยนใส่น้ำธรรมดา เขย่าให้เมล็ดถั่วเขียวกระจายทั่วขวด วางขวดในแนวนอน น้ำจะค่อยๆ ไหลซึมผ่านรูที่เจาะไว้ จากนั้นนำตะแกรงไนล่อน (หรืออาจเรียกว่า ตะแกรงเกล็ดปลา) ปิดทับขวด ช่วยพรางแสง เพื่อช่วยลดแรงปะทะของน้ำที่รดลงไป และห่อทับอีกชั้นด้วยผ้าขนหนูหรือกระสอบ (จะห่อหรือไม่ห่อก็ได้) เพื่อไม่ให้แสงเข้า วันถัดมาให้รดน้ำ ให้น้ำค่อยๆ ซึมผ่านรูที่เจาะไว้ รดน้ำวันละ 5 เวลา คือ 6 โมงเช้า 8 โมงเช้า เที่ยงวัน 6 โมงเย็น และ 2ทุ่ม
- ผ่านไป 60 ชั่วโมง จะได้ถั่วงอกขึ้นแน่นเต็มขวด นำถั่วงอกออกจากขวดทางช่องที่เจาะไว้
สิ่งที่ควรคำนึง
- ขวดน้ำสามารถใช้ได้ทุกขนาด แต่ต้องเป็นขวดเหลี่ยม เท่านั้น
- น้ำที่ใช้รดถั่วงอกแต่ละครั้ง ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้ง เพราะว่าน้ำเก่านั้นไม่สะอาด
- ควรใส่ถั่วเขียวเพียงข้อแรกของขวด เพราะถ้าใส่มากกว่านั้น ถั่วงอกจะแน่นเกินไป เจริญเติบโตได้ไม่ดี
คุณนิมิตร์ เทียมมงคล ได้ย้ำว่า การทำเกษตรอินทรีย์ เช่น การเพาะถั่วงอกในขวดพลาสติก มันมีข้อจำกัดอยู่ว่า มันจะต้องเริ่มปฏิบัติในปริมาณน้อยๆ ก่อน แต่ถ้าหากเกษตรกรนำ ปริมาณ มาเป็นตัวตั้งเพื่อจะผลิตให้ได้ตามเป้าที่ตลาดต้องการวันละเท่านั้นเท่านี้ เกษตรกรที่มาแนวทางเกษตรอินทรีย์มักจะล้มเหลว