เมธาไรเซียม เชื้อราธรรมชาติที่เป็นศัตรูกับแมลง

18 มกราคม 2557 จุลินทรีย์ 0

เมธาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) เป็นเชื้อราที่มีคุณสมบัติในการทำลายแมลงได้หลากหลายชนิด สามารถทำลายด้วงได้ทุกระยะ ทำลายหนอนได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากวิธีหนึ่ง เมื่อเชื้อราเมธาไรเซียมสัมผัสหรือติดไปกับตัวแมลง เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อจะเจริญ เข้าไปในตัวแมลง และเพิ่มปริมาณ ทำให้แมลงเคลื่อนไหวช้าลง ไม่กินอาหาร และตายในที่สุด แมลงที่ตายลำตัวจะแข็งและมีเชื้อราสีเขียวขึ้นตามตัว เห็นได้ชัด

etarhiziumlong

เมธาไรเซียม (Metharhizium) เป็นเชื้อราตามธรรมชาติที่เป็นศัตรูกับแมลงหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือปลวก หลักการทำงานของเมธาไรเซียมนี้คือจะสร้างเส้นใยเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ ภายในตัวปลวก ทำให้ตัวมันเองตายในที่สุด เท่านั้นยังไม่พอตามธรรมชาติแล้วปลวกมักจะมีการติดต่อกันเองด้วยวิธีการเลียตัว ฉะนั้นหากมีตัวใดตัวหนึ่งติดเชื้อแล้วมันจะลามเป็นลูกโซ่ไปทั้งรังทำให้ปลวกตายเป็นจำนวนมาก

etarhiziumploug

ลักษณะรูปร่าง
ลักษณะเชื้อราเป็นรูปทรงกระบอก เส้นใยมีผนังกั้นเป็นปล้องๆ ไม่มีสี เส้นใยจะแผ่ขยายเจริญเติบโตสร้างสปอร์ (conidia) เป็นรูปยาวรีคล้ายเมล็ดข้าว เป็นลูกโซ่ต่อกันตรงรอยคอคอด เราเรียกว่า conidium แต่ละ conidium ที่เกิดใหม่จะมีสีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ จึงเป็นชื่อเรียกของราชนิดนี้

etarhizium

คุณสมบัติของเชื้อราเมธาไรเซียมในการใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช

  1. ใช้ได้ง่าย เพราะเข้าทำลายแมลงโดยตรงผ่านผิวหนังของแมลง
  2. แพร่กระจายได้ โดยแพร่กระจายตัวเองโดยอาศัยลม ฝน และลักษณะอากัปกริยาของแมลงเช่น จั๊กจั่นที่เป็นโรครา Massospora ก่อนตายจะบินแล้วทิ้งปล้องสุดท้ายที่มีราเจริญอยู่เต็มทีละปล้องจนตัวตาย ลักษณะอาการของแมลงที่ตายเพราะเชื้อราบางชนิดก็ช่วยในการแพร่กระจายของเชื้อไปในประะชากรของแมลง เช่น การไต่ขึ้นไปเกาะบนที่สูงของตั๊กแตนที่เป็นโรคจากเชื้อ Entomophthora grylli การดีดตัวของ conidia ของเชื้อราในกลุ่ม Entomophthorales ช่วยในการแพร่กระจายของเชื้อราได้
  3. มีความคงทนในสภาพแวดล้อมได้ดี พบว่าเชื้อราบางชนิด เช่น เมธาไรเซียม และ บิวเวอร์เรีย มีชีวิตอยู่ในดินเป็นเวลาข้ามปีได้ และสามารถทำให้เกิดโรคกับแมลงในกลุ่มน้อย จนถึงการระบาดในกลุ่มประชากรแมลงที่หนาแน่นได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรแมลงดังกล่าวความอ่อนแอต่อโรคของแมลงอาศัย (susceptible) สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ฝน แสงสว่าง รวมทั้งสภาพแวดล้อมทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ของดิน และสิ่งมีชีวิตที่แวดล้อมอื่นๆ
  4. สามารถคงความมีชีวิตของเชื้อรา ทั้งภายในและภายนอกตัวแมลงอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่มีชีวิตนานได้ในหลายๆรูป เช่น conidia, spore, sclerotia, chlamydospore หรือ resting spore สามารถเพิ่มปริมาณ และมีความรุนแรงของเชื้อได้ดี ซึ่งต้องเกี่ยวกับพันธุกรรมของเชื้อราแต่ละชนิด ความรุนแรงของเชื้อคือความสามารถในการเข้าทำลายแมลง และเอาชนะระบบภูมิคุ้มกันในตัวแมลง

ลักษณะแมลงที่ถูกเชื้อราเข้าทำลาย

  • แมลงเคลื่อนไหวช้า
  • เบื่ออาหาร
  • ซากแมลงถูกปกคลุมด้วยเชื้อรา
  • ซากแมลงแข็งเหมือนมัมมี่ (Mumified)

ควบคุมกำจัดปลวก
มีความสามารถในการจำกัดปลวก โดยเก็บรักษาให้อยู่ในรูปของ สปอร์ เมื่อสปอร์ตกอยู่ที่ผิวของตัวปลวก แล้วจะสร้างหลอด (germ tube) ออกมาแทงทะลุผิวหนังของแมลงเข้าไปภายใน เชื้อรา Metarrhizium-hpp จะสร้างกลุ่มเส้นใย ( mycelium ) เข้าไปตามทางอาหารและขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเส้นใยแตกและหักออกเป็นท่อนสั้น ๆ เข้าไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ในตัวแมลง ทำให้แมลงป่วยร่างกายอ่อนแอ แล้วตายในที่สุด

etarhiziumyai

วิธีการใช้ (สามารถใช้ในรูปผงโรย หรือ ผสมน้ำฉีดพ่น)
ใช้ผงจุลินทรีย์ เมตตาไรเซียม โรยผงสปอร์ให้ทั่วบริเวณทางเดิน หรือบริเวณที่เห็นปลวกเข้าทำลาย หรืออาจใช้เสียมหรือจอบขุดเจาะรังแล้วโรยผงเชื้อ เมตตาไรเซียมลงไป ปลวกจะเดินผ่านและสัมผัสกับเชื้อจุลินทรีย์ เมตตาไรเซียม และนำไปสู่การแพร่กระจายโดยการสัมผัสและเลียทำความสะอาดให้กันและกัน สปอร์ของเชื้อจุลินทรีย์ เมธาไรเซียม จะค่อย ๆ แผ่ขยายลุกลามไปจนทั่วรังปลวก เมื่อสปอร์ของจุลินทรีย์เมตตาไรเซียมแผ่ขยายและได้รับอุณภูมิความชื้นที่เหมาะสมซึ่งมีอยู่ในในรังของปลวก ก็จะเจริญเติบโตออกมาและทำลายตัวปลวก
หรือใช้ผงจุลินทรีย์ เมตตาไรเซียม กำจัดปลวก อัตรา 100 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณที่มีปลวก หรือฉีดพ่นหรือราดลงดินในแปลงปลูกพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ หรือใช้ราดรดหรือฉีดพ่นบริเวณโคนต้น ในสวนยาง, ไม้ เช่น สวนส้ม, เงาะ, ทุเรียน, มะม่วง, ลางสาดลองกอง, มังคุด, ฯลฯ

etarhiziummalang

ควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยต่างๆ หนอนห่อใบข้าว
วิธีการใช้ ใช้ผงจุลินทรีย์ เมตตาไรเซียม อัตรา 30-100 กรัมผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณใบ ลำต้น โคนพืชปลูก

ควบคุมด้วงแรดมะพร้าว
วิธีการใช้

  • ทำกองปุ๋ยหมักโดยใช้ท่อนมะพร้าวมาประกอบ กว้าง 1-2 เมตร ยาว 1-2 เมตร สูง 50 เซนติเมตร 4- 5 กอง/10 ไร่
  • ใช้เศษพืช ปุ๋ยหมัก อินทรีย์วัตถุ มาวางกอง ล่อตัวเต็มวัยด้วงแรดมาวางไข่
  • โรยเชื้อราเมตตาไรเซี่ยม 100 กรัม บริเวณที่ลึกจากผิวหน้ากองปุ๋ยหมักประมาณ 1 คืน
  • หรือผสมน้ำรดให้ทั่วกองปุ๋ยหมัก ปกคลุมด้วยใบหรือทางมะพร้าว
  • เมื่อแมลงมาวางไข่ตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเข้าทำลาย

ควบคุมด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นอ้อย แมลงนุนหลวง (ระยะตัวอ่อน)
วิธีการใช้

  • โรยเชื้อราลงในร่องปลูก ประมาณ 100 กิโลกรัม/ร่องปลูกยาว 10 เมตร
  • หรือเพิ่มปริมาณเชื้อราโดยการผสมกับรำละเอียด หรือปุ๋ยหมัก โรยลงในร่องปลูก แล้วพรวนกลบทันที
  • หรือปล่อยเชื้อราไปพร้อมกับการให้น้ำ

ควบคุมแมลงดำหนามในมะพร้าว
อัตราการใช้ 30-60 กรัม/น้ำ 20 ผสมสารจับใบ ฉีดพ่นบนยอดมะพร้าว กำจัดหนอน ดักแด้และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าวหนอนแมลงดำหนามถูกทำลายโดยเชื้อเมตตาไรเซี่ยม

ลักษณะการทำลาย
ตัวหนอนและตัวเต็มวัยจะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ โดยซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่ และจะย้ายไปกินอีกใบอ่อนอีกใบหลังจากที่ใบเดิมคลี่ออก ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรงหลายๆ ใบในแต่ละต้นจะมองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน ซึ่งชาวสวนมะพร้าว เรียกว่า โรคหัวหงอกระยะตัวหนอนสำคัญที่สุด เพราะทำลายได้รุนแรงกว่าตัวเต็มวัย โดยเฉพาะในพื้นที่มีมีอากาศแห้งแล้งและขาดน้ำ

กลไกการทำลายแมลงของเชื้อราเมตตาไรเซียม
เมื่อสปอร์ของเชื้อรา ตกหรือติดกับผิวของแมลงประกอบกับสภาพแวดล้อมมีความชื้นที่เหมาะสม สปอร์จะงอกเส้นใยแทงทะลุผ่านผนังลำตัวเข้าไปในลำตัวแมลง จากนั้นเข้าไปในทางเดินโลหิตขยายจำนวนในเลือด สร้างเส้นใยเข้าทำลายอวัยวะต่าง ๆ ทำให้แมลงตาย แล้วเชื้อราจะสร้างกลไกการแพร่เชื้อสู่ภายนอก ทำให้เกิดการระบาดติดต่อไปสู่แมลงตัวอื่น ๆ ต่อไป

etarhiziumch

สำหรับเทคนิคการใช้จุลินทรีย์เมธาไรเซียมกำจัดปลวกในบ้านเรือนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนี้ก็คือ ถ้าเจอตัวปลวกใช้ผงเมธาไรเซียมโรยให้โดนตัวปลวกแล้วปล่อยให้ปลวกกลับเข้าไปในรัง พฤติกรรมของปลวกจะชอบเลียตัวกันเหมือนเป็นการทักทายกัน ทำให้เชื้อราเมธาไรเซียมจะขยายไปยังตัวอื่นๆอย่างรวดเร็วแล้วปลวกที่อยู่ในรังนั้นจะค่อยๆป่วยและตายยกรังในที่สุด กรณีไม่เจอตัวปลวกใช้ผงเมธาไรเซียมจะผสมน้ำฉีดหรอใช้โรยรอบๆบริเวณบ้าน ตามขื่อตามเสาบ้านบนฝ้าผนังเพดาน หรอบริเวณที่คิดว่าปลวกจะผ่าน หมั่นทำบ้านเรือนของเราให้มีเชื้อเมธาไรเซียมอยู่ ทางที่ดีเอาเชื้อเมธาไรเซียม 100 กรัมผสมน้ำ 1-2 ลิตรเก็บไว้ในกระบอกใส่น้ำรีดผ้า(ฟ๊อกกี้) เตรียมไว้เมื่อเจอตัวปลวกก็จะได้นำมาฉีดได้ทันที สมมุติว่าวันนี้เจอตัวปลวกก็ฉีดไป พรุ่งนี้เจอตัวปลวกอีกก็ฉีดอีก หมั่นทำแบบนี้เรื่อยๆทำบ้านเรือนของเราให้มีเชื่อเมธาไรเซียมนี้อยู่แล้วเจ้าปลวกร้ายในบ้านของท่านจะค่อยๆลดปริมาณลง แต่ก็คงไม่หมดไปเพราะปลวกนี้อยู่กับคนเรามาเป็นล้านๆปีแล้วสู้รบกับคนมานานแต่คนก็ยังไม่สามารถเอาชนะปลวกได้ซักที

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น