เลี่ยนเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง พบขึ้นได้ตามชายป่าดิบและป่าเบญจพรรณ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและชอบความชุ่มชื้นเล็กน้อย คนไทยโบราณเชื่อว่าหากปลูกต้นเลี่ยนไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้เกิดความสวยงาม ความสะอาด เรียบร้อย เพราะคำว่าเลี่ยน คือ เลี่ยนเตียน ที่มีความหมายว่า ราบเรียบ ปลอดโปร่ง และสดใส และยังมีความเชื่ออีกว่าช่วยทำให้เกิดความสามัคคี เพราะเลี่ยน คือ การผสมผสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้คนโบราณบางคนยังเชื่อว่าต้นเลี่ยนเป็นของสูงที่มีค่า ทำให้บางเรียกต้นเลี่ยนว่า ต้นเกษมณี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน เพราะออกดอกเป็นช่อบานพร้อมกันดูสวยงาม มีประโยชน์ในด้านการให้ร่มเงา ป้องกันลม ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ยอดและใบอ่อนนำมายางไฟพอสลดเพื่อลดความขม ใช้รับประทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น ลาบ ก้อย จะเพิ่มความเข้มข้นให้อร่อยมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melia azedarach L.
ชื่อสามัญ : Bastard Cedar, Persian Lilac
วงศ์ : Meliaceae
ชื่ออื่น : เลี่ยน, เลี่ยน Lian, เคี่ยน Khian (Central); เกรียน Krian (Northern); เลี่ยนใบหใญ่ Lian bai yai (Central); เฮี่ยน Hian (Northern), ดอกเลี่ยน,ต้นเลี่ยน,ใบเลี่ยน,ผลเลี่ยน,รากเลี่ยน,เกรียน,เคี่ยน,เฮี่ยน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ตระกูลเดียวกันกับสะเดา ลักษณะลำต้นและใบมีความใกล้เคียงกันกับสะเดา มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร เป็นต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว แตกกิ่งก้านออกไปรอบ ๆ ลำต้นเป็นจำนวนมาก เปลือกผิวลำต้นมีสีน้ำตาล มีแผลเป็นร่องตามยาว ลำต้นเจริญขึ้นตรง ทรงพุ่มกลมรูปกรวยโปร่ง ใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีใบอยู่ประมาณ 3-5 ใบ ช่อใบยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อย ปลายใบแหลมเรียวโคนใบสอบขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย บนใบเกลี้ยงสีเขียวส่วนล่างของใบมีขนสีเขียวอ่อนเห็นเส้นใบชัด ขนาดความกว้างของใบประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ เป็นกระจุกใหญ่ออกตามปลายกิ่งที่ง่าม ใบ ดอกมีฐานรองดอกเล็กมีกลีบดอก 5-6 กลีบ ดอกมีสีม่วงอ่อนหรือสีฟ้า กลิ่นหอม ผลกลม รี สีเขียวมีขนาดโตประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4-5 เมล็ด
ออกดอก ช่วงระหว่าง ธ.ค.-มี.ค.
พบในป่าธรรมชาติทั่วไปยกเว้นภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง
ส่วนที่ใช้ : ส่วนทั้ง 5
สรรพคุณ : ทุกส่วนของต้นเลี่ยน รสขม เมา แก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อนและกุดถัง ทำให้ผิวหนังดำเกรียมแล้วลอกเป็นขุย เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายแข็งแรง
วิธีและปริมาณที่ใช้
ทาแก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน กุดถึง
ใช้ดอก 1 ช่อเล็ก หรือ ผล 5-7 ผล
เอาดอกหรือผลตำให้ละเอียด เติมน้ำมันพืช แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าจะหาย
ใช้รักษาเหา
ใช้เปลือกต้นประมาณครึ่งฝ่ามือ หรือ ผลที่โตเต็มที่สดๆ 10-15 ผล โขลกให้ละเอียด เติมน้ำมันมะพร้าว 3-4 ช้อนแกง ชะโลมผมที่เป็นเหาทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วสระให้สะอาดติดต่อกัน 2-3 วัน
ใช้เป็นยาฆ่าแมลงและไล่แมลง
ใช้ใบเปลือกแห้งต้มกับน้ำ ใช้ฉีดไล่ตั๊กแตนและตั๊กแตนห่า
ผล ใช้เบื่อปลา
โดยใช้ผล ตำๆ แล้วเทลงในบ่อปลา จะฆ่าปลาได้ เป็นพิษต่อตัวมวน มวนชอบทำอันตรายต่อผลส้ม เป็นพิษต่อคน (ถ้ารับประทานถึงขนาดหนึ่งจะทำให้อาเจียนและท้องเดิน)
สารเคมี : มีสารกลุ่มแอลคาลอยด์ ชื่อ Azadirachtin, Toosendanin ในส่วนผลยังพบ Bakayknin, Steroid สารขมชื่อ Margosine, Fixed oil และกำมะถัน
การขยายพันธุ์และการผลิตกล้า โดยใช้เมล็ด
ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก
ดิน ชอบดินร่วนซุย
ความชื้น ชอบความชื้นปานกลาง – ต่ำ
แสง ชอบแสงแดดเต็มวัน
การปลูกดูแลบำรุงรักษา
การคัดเลือกพื้นที่และเตรียมพื้นที่ปลูก ในการเตรียมพื้นที่ควรตัดต่อไม้สุมเผาหรือขุดออกและควรมีการไถพรวนพื้นที่เพื่อพลิกฟื้นชั้นของดิน
วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 3×3 เมตร และ 4×4 เมตร
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, สมุนไพร