ตามธรรมชาติของหนองน้ำ จะมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ มีความตื้นและลึกสลับกันไปตามธรรมชาติ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลากหลายชนิด และปลาแต่ละชนิดก็ชอบความลึกของน้ำไม่เหมือนกัน ชอบความหนาแน่นของพืชแตกต่างกัน ในขณะที่บ่อปลาที่เลี้ยงกันแบบปัจจุบันนี้เหมือนกับการเลี้ยงเชิงเดี่ยว สร้างบ้านสี่เหลี่ยมไว้สำหรับปลาชนิดเดียว ถ้าปล่อยปลานิลซึ่งเป็นปลาน้ำตื้นปลานิลจะวางไข่ไม่ได้ ต้องว่ายทั้งวัน ผลสุดท้ายปลานิลก็ว่ายน้ำจนหัวโต
การเลี้ยงแบบเลียนแบบธรรมชาติให้ทำคันบ่อเป็นแบบขั้นบันไดต่างระดับ 4 ขั้น แต่ละขั้นต่างระดับกันประมาณ 50-80 เซ็นติเมตร แต่ไม่เกิน 1 เมตร ในแต่ละขั้นให้กั้นคอกเพื่อปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักตบชวาหรือผักน้ำอื่นๆไว้เป็นอาหารปลาและอาจติดโซล่าเซลล์ต่อไฟไว้ล่อแมลงตอนกลางคืน โดยติดประมาณ 3 จุด โดยในแต่ละคืนไม่ควรเปิดไฟซ้ำจุดกัน ให้เปิดสลับกัน
หากต้องการให้ผักบุ้งยาวขนาดไหนก็ค่อยๆเติมน้ำลงไปในบ่อ เพราะเมื่อเติมน้ำเข้าบ่อพืชเหล่านี้จะทะลักขึ้นไปเรื่อยๆ แต่อย่าเติมทีเดียว เพราะจะทำให้รากลอย ไม่จับดิน และรดน้ำด้วยน้ำหมักชีวภาพก็จะช่วยบำรุงต้นไม้และปรับสภาพน้ำได้ และช่วยสร้างอ๊อกซิเจนในน้ำไปช่วยย่อยสลายเศษซากเน่าเสียต่างๆไม่ให้เน่าเหม็นได้
เลี้ยงปลาสร้างสมดุล ปล่อยปลา 3ชนิด เลือกปลาดุกเพียงชนิดเดียว
คือเลี้ยงปลานิล ปลาหมอไทย และปลาดุก ซึ่งปลาทั้ง 3 ชนิดเป็นปลาปากเล็ก กินกันเองไม่ได้ จะกินได้ก็แต่ลูกปลาเท่านั้นคือ ปลาดุกกินแม่ปลาหมอและแม่ปลานิลไม่ได้ กินได้แต่ลูกปลานิลและลูกปลาหมอ เพราะฉะนั้นลูกปลานิลและลูกปลาหมอจึงเป็นอาหารของปลาดุกนั้นเอง
โดนปลานิลและปลาหมอจะปล่อยเพียงครั้งเดียว เริ่มต้นจากปล่อยปลานิลขนาด 2 นิ้ว หรือปลานิลตัวโตเต็มวัยจำนวน 2-3 กิโลกรัมไปปล่อยไว้ในบ่อ ประมาณ 3 เดือน ปลานิลจะขยายพันธุ์ รอให้ปลานิลออกครอกจนเพียงพอจากนั้นปล่อยปลาหมอขนาดใดก็ได้ลงไปเพื่อไปคุมจำนวนปลานิลไม่ให้มีมากเกินไป จากนั้นให้สังเกตุดูในบ่อหากปลานิลและปลาหมออกครอก ซึ่งดูแล้วเหมือนตัวไรแดงๆ ม้วนอยู่เต็มบ่อก็ให้ปล่อยปลาดุกลงไปได้เลย ขนาดบ่อพื้นที่ 1 ไร่ ให้ปล่อยปลานิล 5000 ตัว ปลาหมอ 5000 ตัว และปลาดุก 10000 ตัว จำนวนน้อยกว่านี้ได้ แต่มากกว่านี้ไม่ได้เพราะอาหารอาจจะไม่เพียงพอ หลังจากนั้น 4 เดือน ปลาดุกก็จะโตเต็มวัยก็สามารถทยอยจับได้ตามขนาดที่ต้องการ
ถ้าทำบ่อปลาแบบนี้จะปล่อยปลาได้ถึง 20000 ตัว เพราะมีหลายระดับปลากระจายกันอยู่ตามลักษณะนิสัยที่ชอบ หากมีระดับเดียว ปล่อยเพียง 10000 ตัวก็หนาแน่นแล้ว
เลี้ยงปลาระบบปิด ปรับสภาพน้ำ สร้างอาหารปลาด้วยลูกบอลจุลินทรีย์
วิธีนี้น้ำในบ่อจะไม่มีการถ่ายออก มีแต่เติมเข้าเพื่อรักษาระดับน้ำเท่านั้น และไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำเน่าเสีย เนื่องจากมีการนำลูกบอลจุลินทรีย์มาใช้ในการบำบัด โดยสังเกตุอาการของปลา หากว่าปลาลอยหัวขึ้นมาแสดงว่าออกซิเจนน้อย ให้ใช้ลูกบอลจุลินทรีย์ปั้นปาลงไปในบ่อ 1 ลูก ต่อ 1 ตร.เมตร เพื่อบำบัดเลน พอลูกบอลตกลงไปถึงชั้นเลนก็ไปสร้างอ๊อกซิเจนให้กับปลา ทำให้ปลาดำน้ำได้ลึกขึ้น
เทคนิคการจับปลา
โดยทั่วไปการจับปลาขายจะจับปลาเพียงคราวเดียว แต่วิธีนี้จะจับปลาดุกตามจำนวนและตามขนาดที่ต้องการเท่านั้น ตัวที่ไม่ได้ขนาดก็ปล่อยกลับไป เทคนิควิธีนี้จะทำให้สามารถจับปลาได้ทุกวัน จับกิน จับขายได้ทั้งปี โดยการใช้จับปลาแบบใช้ลอบแบบตั้ง ลอบแบบนอน การยกยอ โดยวิธีนี้ทำให้ปลาไม่ช้ำโดยใช้อาหารล่อรอให้ปลาหลงเข้ามากิน ก็ได้ปลาดุกโดยไม่ต้องเสียค่าน้ำมันวิดบ่อ วิธีการแบบนี้ทำให้สามารถจับปลาได้ทั้งปี เช่นจับปลาดุก 100 ตัวก็ปล่อยลูกปลาดุกกลับไป 100 ตัว หากอยากได้เป็นปลาดุกเหลืองราคาดี เวลาขุดบ่อให้หาเลนทรายใส่ปนๆมาบ้าง ปลาจะคุ้ยทราย น้ำจะขุ่นๆก็จะได้ปลาตัวสีเหลืองน่ารับประทานและราคาดีขึ้นไปอีก
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้จากผู้ใหญ่ สมศักดิ์ เครือวัลย์ เลขที่ 322/1 ม.8 ต.สองสลึง อ.แกลง จ.ระยอง
บทความจากนิตยสารเกษตรธรรมชาติฉบับที่ 3/2555
ป้ายคำ : เลี้ยงสัตว์