เล็ก กุดวงศ์แก้ว คนตัวเล็กแต่ใจใหญ่

พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ผู้นำชุมชนบ้านบัว และผู้ก่อตั้งศูนย์อินแปง คือ หนึ่งในจำนวนเกษตรกรอีกไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และการทำเกษตรผสมผสาน 10 กว่าปีกับการทำเกษตรทางเลือก ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ยิ่งอยากรวยยิ่งจน เมื่อเกษตรทางเลือกไม่มีทางเลือก พ่อเล็กจึงต้องลดรายจ่ายด้วยการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด รวมถึงการออมทรัพยากรธรรมชาติและการแปรรูปผลผลิตอาหาร ฯลฯ เงินออมเริ่มเกิดขึ้น และปลดหนี้ได้ในที่สุด ต่อมาได้รวมกลุ่มผู้ที่สนใจขึ้น 13 หลังคาเรือน เพื่อพัฒนาสู่การพึ่งตนเอง และพัฒนาเป็นศูนย์อินแปง เพื่อเป็นทุนในการสร้างทุนทางชีวิต และสิ่งแวดล้อม

พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว คนตัวเล็กแต่ใจใหญ่ เกิดเมื่อปี 2488 ชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็กได้หล่อหลอมให้พ่อเล็กกลายเป็นคนที่ต่อสู้ชีวิต และขวนขวายหาความรู้โดยการอ่านหนังสือทุกรูปแบบพ่อเล็กจบ ป.4 เมื่ออายุสิบเอ็ดปี และไปบวชเรียนอยู่ 9 ปี ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา เข้าใจบุญคุณพ่อแม่ ครูอาจารย์ เมื่ออายุยี่สิบปี่จึงสึกออกมาแต่งงาน มีลูกสิบเอ็ดคน ในปี 2514 เหตุการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตก็เกิดกับพ่อเล็กและครอบครัวเมื่อต้องสูญเสียลูก 3 คนไป ในเวลาไร่เรี่ยกันเนื่องจากไข้มาลาเรีย ทำให้พ่อเล็กเสียใจมาก และดื่มเหล้าเมามายทุกวันจนภรรยาขอหย่า โชคดีที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยประนีประนอมให้ จึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขจนถึงทุกวันนี้ เมื่อพ่อเล็กคิดย้อนเรื่องนี้ทีไรก็อดเสียใจไม่ได้ที่ลืมคิดไปว่าภรรยาก็เจ็บปวดที่ลูกตาย และเจ็บปวดมากกว่าพ่อเล็กเสียอีก เพราะมีสามีที่ไม่ดูแลครอบครัว วันๆ เอาแต่กินเหล้า แต่ยังดีที่ตัดสินใจเลิกเหล้าได้ พ่อเล็กก็เหมือนเกษตรกรคนอื่นๆ ที่อยากรวย อยากมีเงินเยอะๆ เพื่อซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า จึงปลูกปอ 3 ปี ปลูกมันสำปะหลัง 3 ปี ปลูกกัญชาอีกหลายปี แต่ในที่สุดก็เป็นหนี้ถึง 4 หมื่นบาท ต้องไปขอทานข้าวปั้น (ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้ว) หน้าหนาวมีผ้าห่มไม่พอเพียงต้องมาก่อกองไฟผิงไฟนอนอยู่ใต้ถุนบ้าน เพื่อให้ลูกมีผ้าห่ม ความอดอยากทำให้ได้คิด ในที่สุดก็คิดออกว่ายิ่งอยากรวยยิ่งจน หาเงินได้ไม่เท่าจ่ายออก มีวิธีเดียวคือ ลดรายจ่ายด้วยการเกษตรผสมผสานด้วยการออมน้ำ และออมต้นไม้ที่หลากหลายทั้งใหญ่และเล็ก ร่วมกับการแปรรูปผลผลิตทั้งอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย โดยวิธีนี้เงินออมเริ่มเกิดขึ้น และปลดหนี้ได้ในที่สุด

ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำแห่งกลุ่มอินแปง จ.สกลนคร ผู้นี้ ปฏิเสธระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยการไม่ให้ลูกทั้ง 8 คนเข้าสู่รั้วสถานศึกษาในมหาวิทยาลัยแต่ผลักดันให้ลูกๆ เข้าสู่โรงเรียนชีวิตโดยมอบที่ดินซึ่งพ่อเล็กบอกว่า คือกระดานดินที่ไม่ต่างจากกระดานดำในห้องเรียนที่จะสอนให้ลูกทุกคนรู้จัก รู้จริง และรู้แจ้งในวิชาชีวิตและสามารถพึ่งพาตนเองได้

กว่า 20 ปีที่รู้แจ้งแทงตลอดในวิชาชีวิต พ่อเล็กในฐานะกรรมการที่ปรึกษาโครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบลวิถีพอเพียง ถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ของตนสู่ลูกหลานที่หมายมุ่งสู่ห้องเรียนแห่งความพอเพียง

วิชาชีวิตพอเพียง ต้องเรียนรู้ในด้านใด
เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแต่ถูกลืมไปนาน เพราะที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยนำหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศมาใช้จนเกินพอดี ลูกหลานบ้านเราจึงไม่ได้ศึกษาและไม่เห็นคุณค่าขององค์ความรู้ที่บรรพบุรุษสร้างมา ความรู้ได้มากลับเป็นความรู้จากที่อื่นที่ไกลตัว ก็เลยทำให้เขาหลงทิศผิดทางและอ่อนแอ พึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะระบบกำหนดให้เป็นแบบนี้ เรียนจบปริญญาแล้วก็ไม่กล้ากลับบ้านอยู่บ้านไม่ได้ เพราะคิดว่าไม่มีอะไรทำ

จริงๆของดีในบ้านเรามีมากมาย มีทุกที่ทั่วแผ่นดินไทยพวกระบบทุนนิยมเขาบอกว่าเงินคือทุน ความจริงแล้วไม่ใช่ เงินคือเครื่องมือชนิดหนึ่งเท่านั้น ทุนที่แท้จริงคือ ดิน น้ำ ป่า ภูเขา ท้องทะเล และภูมิปัญญาชาวบ้านด้านต่างๆในท้องถิ่นของตนเอง บางคนอาจจะมีภูมิปัญญาในด้านการทอผ้า การจักสาน การดูแลคนเจ็บคนไข้ด้วยสมุนไพรหรือการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเหล่านี้ไม่ได้เป็นนักวิชาการ แต่เป็นนักประสบการณ์ เขาไม่ได้เรียนตามหนังสือแต่เขาเอาชีวิตเข้าไปเรียน เข้ารู้ เห็นและพบปัญหามาก่อนจึงเอามาพูด แต่เราไม่ได้เราความรู้เหล่านี้มาใช้ เพราะไม่มีหลักสูตรให้เรียน นี่คือปัญหา

พ่อไม่ได้บอกว่าหลักสูตรของต่างประเทศไม่ดี เพียงแต่ว่ามันจะเหมาะกับบางพื้นที่เท่านั้น แล้วทั้งที่ประเทศเราเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ทำไมจึงไม่เขียนหลักสูตรของบ้านตัวเองให้ชัดเจน จากนั้นจึงค่อยไปเรียนรู้เอาภูมิปัญญาสมมัยใหม่จากต่างประเทศมาต่อเติม เราต้องรู้จักตัวเองและมีรากแก้วที่มั่งคงเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง ชีวิตก็จะคลอนแคลนไปตามกระแสที่เขาหลอกลวงเรา

การรู้จักตัวเองมีความสำคัญอย่างไร
เมื่อรู้ตัวเอง เราจะรู้ว่าเรามีศักยภาพความสามารถในด้านใด และสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่มาพัฒนาให้สิ่งที่เรามีนั้นเกิดประโยชน์มากขึ้น ถ้ารู้แล้วเฉยๆก็ยังไม่มีประโยชน์ เช่น พ่อมีความรู้เรื่องต้นไม้ ก็ต้องรู้ว่าต้นไม้แต่ละต้นนี้ใช้ประโยชน์อย่างไรแน่ ต้นไหนเป็นสมุนไพร อาหาร ไม้ใช้สอย หรือเป็นพลังงาน เราต้องถามตัวเองว่าได้ศึกษาเรื่องแบบนี้แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้วหรือยัง

ขณะเดียวกัน การรู้เท่าทันคนอื่นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่ว่าคนเขาว่าดี ก็ว่าดีตามเขา บางทีอาจไม่ใช่ถ้ารู้ไม่ทันเขา เราต้องเป็นเหยื่อเขาแน่นนอน คงเคยได้ยินที่หลายคนบอกว่าสื่ออันตรายมาก แต่พ่อกำลังจะบอกทุกคนว่า ไม่มีอะไรอันตราย ถ้าเรารู้เท่าทันมัน เราต้องมีสติในการบริโภค มีปัญญาในการเลือกเฟ้น สิ่งต่างๆมีประโยชน์อยู่ แต่การเลือกว่าอะไรเหมาะกับเรานั้นสำคัญกว่า

วิธีที่จะทำให้รู้จักตนเองต้องทำอย่างไร
ต้องเรียนรู่เรื่องวิถี ซึ่งในที่นี้คือวัฒนธรรม วิถีของคนในชุมชน อย่างเช่นคนแอ่งสกลนครมีอยู่ 8 เผ่า วิถีก็จะต่างกันเพราะบางพื้นที่อยู่ป่าโคก บางตำบลก็อยู่ป่าดงดิบ ภูเขา บางชุมชนก็อยู่ป่าทาม ป่าชุ่มน้ำ ซึ่งต้องเข้าใจว่าภูมิประเทศต่างกัน วิถีก็ต่างกัน ฉะนั้น ถ้าอยากจะได้องค์ความรู้ที่ละเอียดชัดเจนต้องไปเรียนรู้กับเผ่าต่างๆ และภูมิประเทศต่างๆ ความรู้ที่ได้จะต่างกัน

องค์ความรู้เรื่องความพอเพียงอยู่ตรงที่หลักพระศาสนาสอนว่า แท้จริงแล้วชีวิตคนต้องเรียนรู้เรื่องของตัวเอง ตื่นมาต้องล้างหน้า แปรงฟัน ต้องกิน นี่คือความเป็นจริง กินข้าวกินปลากินผักกินหญ้ากินผลหมากรากไม้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอามาจากผืนป่า ป่าโคกก็มีอาหารชนิดหนึ่ง ป่าดงดิบก็มีอาหารอีกชนิดหนึ่ง ป่าชุ่มน้ำก็มีอาหารอีกชนิดหนึ่ง ฉะนั้นอาหารแต่ละถิ่น แต่ละภูมิประเทศจะต่างกัน องค์ความรู้จึงไม่ตายตัว ไม่ใช่องค์ความรู้โหลๆ อย่างที่เขาเขียนหลักสูตรกันมา

ความพอเพียงในชีวิตคืออปปัจจัยสีอย่าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นชีวิตจริง แต่ไม่ได้บอกว่าเราต้องมีแค่นี้ ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเหลืออยู่เหลือกินเหลือใช้ แล้วหากอยากได้เงินซึ่งบางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้ เราก็เรียนรู้เอาภูมิปัญญาสมัยใหม่จากนักวิชาการที่ไปเรียนมาจากต่างประเทศมาต่อยออด ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเปลี่ยนวิธีการคิดของคนต่างหากที่ยากที่สุด ภาษานักวิชาการเขาเรียกว่า ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ คือการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยต้องคิดถูกแล้วทำดี และประพฤติกรรมใหม่ จากอยากปลูกเพื่อขายและร่ำรวย เปลี่ยนมาเป็นปลูกอยู่ปลูกกินเสียก่อนเพื่อให้เป็นฐานที่มั่นของชีวิต ไม่ได้บอกว่ายากจนทำไม่ได้ แต่ต้องใช้เวลาและต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย

การปรับกระบวนทัศน์ที่ว่านี้ ทำอย่างไรให้สำเร็จ
ต้องเริ่มจากกระบวนการพาเฮ็ดพาทำก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะไปบอกให้เขาเปลี่ยน แต่ต้องทำให้ดู อยู่ให้เห็นเสียก่อนถ้าเขาไม่เห็นแบบอย่างว่าชีวิตเรามีอะไรดีขึ้น เขาจะไม่ทำตามอย่างพ่อสอนลูกๆก็พาทำมาตั้งแต่ปี 2532-2533 จนถึงปัจจุบัน ตอนที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาเรามีกระดานดำแต่พ่อจัดกระดานดิน ให้ลูกคนละแผ่น จะกี่ไร่ก็แล้วแต่ความสามารถที่เราจะหาให้เขาได้ ส่วนปากกาก็คือด้ามจอบด้าวเสียม น้ำหมึกคือน้ำฝน น้ำบ่อ น้ำคลอง ส่วนพยัญชนะปกติพยัญชนะไทยมี 44 ตัว แต่เราเอาหลายร้อยตัวก็ได้เพราะพืชพันธ์ธัญญาหารมากมายมีในป่าเอามาเขียนลงในกระดานดินของเราให้เต็ม สร้างเป็นโรงเรียนชีวิตของตนเองจากนั้นชาตินี้ทั้งชาติจะไม่มีคำว่าจน

พ่อเล็กมักพูดถึงการเรียนรู้ร่วมกันเสมอสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร
ทุกคนมีศักยภาพความสามารถ ไม่ใช่ว่าใครโง่ใครฉลาดเด็กน้อยหรือผู้ใหญ่ต่างก็มีความรู้ ความคิดและประสบการณ์ทั้งนั้น แต่เราไม่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน จึงไม่รู้ว่าใครรู้เรื่องอะไรฉะนั้น การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่ภาษาบ้านเราเรียกว่า มาลงขันกันทางปัญญา ทำให้เรารู้กันและกันมมากขึ้น แล้วปัญญาอยู่กับคน เมื่อหลายคนมาอยู่รวมกัน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันก็ทำให้เรารู้กว้างขึ้นไม่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การศึกษาการเรียนรู้ในตำรานั้นดี แต่ว่ายังไม่ดีพอ ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ จึงจะทำให้มีทักษะ รู้แจ้ง รู้จริง แล้วทำได้ ฉะนั้น การไปจัดเวทีในพื้นที่ตำบลต่างๆของโครงการรักษ์ป่าสร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง ต้องพยายามเน้นให้เขาเรียนรู้และปฏิบัติ จึงจะทำให้เห็นคุณค่า และสิ่งสำคัญก็คือคนที่ไปจัดเวทีต้องเป็นคนที่รู้และเข้าใจชุมชนจริงๆ เข้าใจรากเหง้าความเป็นจริงขอองชีวิตของแต่ละชุมชน แต่ละท้องถิ่นแต่ละเผ่าพันธุ์ และสามารถจุดประกายเปิดประเด็นให้ตรงกับความเป็นจริงๆได้ จึงจะทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงขึ้น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ถูกทำลายความเชื่อมั่นมาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว

ทำอย่างไรให้ความรู้นั้นยั่งยืน
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ จุดอ่อนของภูมิปัญญาชาวบ้าน คือขาดการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเขียนเป็นหลักสูตรสอนลูกหลาน เพราะลูกหลานตอนนี้เราให้ทีวีสอน หรือไม่ก็ให้สังคมคนอื่นสอน แล้วไม่ได้มีหลักสูตรของท้องถิ่นสอนลูกหลานตัวเอง พ่อจึงพยายามเน้นเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น

ความเป็นจริงแล้ว องค์ความรู้เป็นเรื่องที่ไม่ตายตัวองค์ความรู้จะอยู่กับคนเฒ่าคนแก่ อยู่กับชุมชนตนเองพ่อจึงบอกว่า ทุกคนควรไปเรียนรู้เรื่องบ้านตัวเอง เรื่องท้องถิ่นตัวเอง ความรู้อยู่ในคน ในป่า อย่างเช่นหญ้าแฝก มักทำหน้าที่ปกคลุมหน้าดินไว้ ฝนตกมาก็กันไม่ให้หน้าดินที่สมบูรณ์ถูกชะล้างลงไปในที่ต่ำ แต่พอคนอื่นมาบอกว่ามันเป็นศัตรูเราก็เชื่อเขา เลยเอายามาฆ่า ทั้งๆที่มันเป็นประโยชน์ต่อเรานี่คือองค์ความรู้ที่เราต้อง เอามาปฏิบัติในการดำรงชีวิต ไม่ใช่ความรู้ที่ต้องให้อยู่ในกระดาษ แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรู้นั้นใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เรื่องนี้ต้องอาศัยระบบการศึกษาด้วยให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นถ้าเราพูดแล้วเฉยอยู่ หรือเราทำแต่ว่าไม่มีคนมาสืบทอดมันก็จะหายไปอีก

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น