เห็ดหัวลิงเป็นเห็ดที่มีขนาดใหญ่ ชื่อสามัญที่เรียกทั่ว ๆ ไป คือ มังกี้เฮด (Monkey , s head) สำหรับประเทศไทย สมาคมวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทยได้ตั้งชื่อว่า เห็ดภู่มาลา 60 และมีชื่ออื่นเรียกอีกมากมายเช่น หัวลิง เห็ดเม่น แผ่นหัวลิง เป็นต้น เห็ดหัวลิงเป็นอาหารที่ชื่อเสียงหนึ่งในแปดอย่างของจีน และเห็ดหัวลิงยังได้รับการยกย่องจากผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการเห็ดว่าเป็น เห็ดแห่งทศวรรษ นอกจากนี้เห็ดหัวลิงยังมีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณเป็นยา จากข้อมูลวิจัยทางโภชนาการ พบว่าในเห็ดหัวลิงแห้ง 100 กรัม จะมีโปรตีน 26.3 กรัม (ซึ่งมีมากกว่าเห็ดหอม 1 เท่า) มีกรดอะมิโนอยู่ 16 ชนิด ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกายอยู่ถึง 7 ชนิด เนื่องจากเห็ดหัวลิงมีโปรตีนสูงและมีวิตามินหลายชนิดจึงได้ชื่อว่า เป็นเนื้อสัตว์จากพืช
ในด้านสรรพคุณทางยานั้นแพทย์จีนแผนโบราณเห็นว่าเห็ดหัวลิงมีรสชาติหวาน มีฤทธิ์อ่อน ใช้บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เพิ่มกำลังวังชา และต่อต้านมะเร็ง ช่วยในการรักษามะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดอาการข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัดและรังสีบำบัดได้ ในปัจจุบันมีงานวิจัยได้หันมาสนใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเห็ดหัวลิง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเม็ด และสารสกัดในรูปผง เป็นต้น มีการสกัดสารกลุ่ม โพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) ซึ่งโพลีแซคคาไรด์ที่นิยมสกัดคือกลูแคน (glucan) มีงานวิจัยรายงานว่ากลูแคนสามารถยับยั้งผลกระทบของมะเร็งในหนูทดลองและยังช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารรวมถึงระบบลำไส้ด้วย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางการแพทย์ พบว่าในเห็ดหัวลิงมีสารแลนติแนนและสารเปปไทด์ ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สูงขึ้นอีกทั้งยังช่วยเร่งการสร้างสารภูมิคุ้มกันอินเตอร์เฟอรอน และจากการทดลองในหนูปรากฏว่า มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของก้อนมะเร็งและยับยั้งการถอดแบบหรือเปลี่ยนถ่ายสารพันธุกรรมของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอในเซลล์หนูทดลองได้ รวมทั้งงานทดลองในประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับประโยชน์จากเห็ดหัวลิงเพื่อการบำรุงสมอง โดยการศึกษาจากคนที่สูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ถึง 70 ปี 80 ปี และ 90 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกบริโภคเห็ดหัวลิง อีกกลุ่มไม่ได้บริโภค หลังจาก 6 เดือนไปแล้วผลปรากฏที่ได้ พบว่ากลุ่มที่บริโภคเห็ดหัวลิงจะมีปฏิกิริยาการรับรู้ การตอบโต้ และความจำว่าทำอะไรก่อนหลังจะดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้บริโภคเห็ดหัวลิงถึงร้อยละ 30
เห็ดภู่มาลา หรือเห็ดหัวลิง เห็ดปุยฝ้าย เห็ดหนุมาน เห็ดเม่น
ชื่อสามัญ Monkeys Head หรือ Lions Mane ได้ชื่อว่า The God of Mushroom
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hericium erinaceus หรือ Hericium erinaceum
ภาษาจีน เรียกว่า เห็ดเหอโกวกู หรือ เก่าเถ้าโกว
ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Yamabushitake
เห็ดภู่มาลามีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตเฮอหลงเจียง ประเทศจีน ปัจจุบันพบได้น้อยมากเพียงไม่กี่แห่ง เห็ดภู่มาลาเป็นอาหารหนึ่งในแปดอย่างที่มีชื่อเสียงของจีน ข้อมูลทางโภชนาการ พบว่า เห็ดภู่มาลาแห้ง 100 กรัม มีโปรตีน 26.3 กรัม (ซึ่งมีมากกว่าในเห็ดหอม 1 เท่า) มีกรดอะมิโนอยู่ 16 ชนิด ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกายอยู่ถึง 7 ชนิด เนื่องจากมีโปรตีนสูง จึงได้ชื่อว่า ” เป็นเนื้อสัตว์จากพืช ” มีคุณสมบัติทางยาสูง ชาวจีนเชื่อว่าเป็น ยาอายุวัฒนะ มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมากและโดยเฉพาะเส้นใยของเห็ดหัวลิงมีผลในการบำบัดโรคกระเพาะอาหาร
เห็ดภู่มาลามีรสชาติหวาน มีฤทธิ์อ่อน ใช้บำรุงม้ามและกระเพาะ ต่อต้านและช่วยในการรักษามะเร็งในระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัดได้ด้วย ดังนั้น จึงได้รับสมญาว่าเป็น 1 ใน 4 ของอาหารชั้นเลิศในประเทศจีนสารสำคัญที่พบในเห็ดหัวลิง สารเลนติแนน ช่วยทำหน้าที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับการติดเชื้อ และชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งในการทดลองให้สารเลนติแนนกับผู้ป่วยมะเร็งร่วมกับการทำเคมีบำบัด ก็พบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดลดลง และอาการข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดก็เกิดขึ้นน้อยลงด้วย นอกจากนี้นักวิจัยญี่ปุ่นยังพบว่า เห็ดภู่มาลาสามารถซ่อมและบำรุงเซลล์ของกระเพาะอาหารได้ และยังมีสารกระตุ้นการเจริญ หรือการงอกใหม่ของเซลล์ประสาทได้ด้วย จึงมีการแยกสารสำคัญนี้ แล้วทำให้บริสุทธิ์ เรียกสารนี้ว่า NGSF (Nerve Growth Stimulant Factor) ซึ่งก็คือสาร Erinacine (Kawagishi et al., 1996)
สารนี้สามารถทำให้เซลล์สมองงอก และซ่อมแซมใหม่ให้เป็นอย่างเดิมได้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ (Anti-Alzheimers disease) สารสำคัญอื่นๆ ที่พบในสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเห็ดภู่มาลา ได้แก่ Hericenone A, B, C, D, E, F, G และ H. Xylan,Heteroxylan, HeteroglucanและProteoglycan ซึ่งแก้โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ สารเบต้ากลูแคน Beta-Glucan เป็นสารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตจำพวก เห็ด ข้าวโพด ข้าวโอ๊ด ยีสต์ หรือสมุนไพรบางชนิด และเป็นสารที่พบมากในเห็ดภู่มาลา ในช่วงแรกที่มีการค้นพบนั้นถูกใช้เป็นยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีการวิจัยจากหลายสถาบันทั่วโลกยืนยันว่า -เบต้า-กลูแคน- ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้และเสริมฤทธิ์ระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง ตัวอย่างผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่พบเกี่ยวกับ Beta-Glucan เช่น Beta-Glucan 3 ช่วยรักษาภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติในคนไข้ SLE , รูมาตอยด์ และ Beta-Glucan 1,3,1,4 ช่วยรักษา-ป้องกันมะเร็งผิวหนัง ( Maliganant Melanoma)
ประโยชน์ของ Beta-Glucan
สำหรับวิธีการการเพาะเห็ดชนิดนี้มีวิธีการเดียวกับการเพาะเห็ดชนิดอื่น ๆ สำคัญอยู่ที่อากาศเย็นกว่า โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญของเส้นใยในก้อนเชื้อ จะอยู่ที่ประมาณ 23-32 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการออกดอกอยู่ที่ประมาณ 15-28 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 80-95
โดยสูตรอาหารที่ใช้เพาะเห็ดมีหลายสูตรแต่ที่เกษตรกรที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ใช้คือ ใช้ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 10 กิโลกรัม ยิปซั่ม 1 กิโลกรัม โดโลไมต์ หรือภูไมท์ 1 กิโลกรัม แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม ปุ๋ยเคมีสูตรตัวกลาง (0-3-0) 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ไทอามีน 10 กรัม สูตรอาหารสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม ถ้าพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ควรลดปริมาณรำละเอียดลง เพื่อลดปริมาณการสูญเสียที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อราแข่งขัน ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันเติมน้ำให้มีความชื้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นำส่วนผสมที่ได้บรรจุลงในถุงขนาด 6.5X12.5 นิ้ว ประมาณ 800 กรัม ตบถุงให้แน่นพอสมควร ใส่คอขวด ใส่จุกสำลี แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 100 องศา-เซลซียส ประมาณ 4 ชั่วโมง ในถังนึ่งขนาด 500 ก้อน หลังจากนั้นนำมาทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำหัวเชื้อเห็ดที่อยู่ในเมล็ดข้าวฟ่างมาใส่ในถุงก้อนเชื้อ
หลังจากนั้นนำไปบ่มในที่เย็นที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ในระยะที่บ่มก้อนเชื้อไม่ต้องการแสง ไม่ต้องการอากาศ แต่ควรมีการถ่ายเทอากาศบ้าง เชื้อเห็ดจะเดินเต็มถุงประมาณ 50-60 วัน ในขณะที่บ่มก้อนเชื้อควรรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 25 องศาเซลเซียส และระวังอย่าให้มีแมลงรบกวน
เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเต็มถุงแล้ว ให้นำก้อนเชื้อเข้าโรงเรือนเพื่อเปิดดอก โดยการเปิดจุกสำลีออกหลังจากนั้นแคะเอาข้าวฟ่างที่เป็นหัวเชื้อออกหลังจากนั้นรดน้ำ รักษาความชื้นประมาณร้อยละ 95 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเปิดดอกนี้โรงเรือนควรมีแสงพออ่านหนังสือได้ หรือพอเห็นลายมือของตนเอง อากาศภายในโรงเรือนควรถ่ายเท สำหรับอุณหภูมิที่ใช้ในขณะกระตุ้นให้เกิดดอกประมาณ 18 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาประมาณ 4-7 วัน หลังจากนั้นก็บ่มไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส เชื้อเห็ดจะพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-10 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้เห็ดที่ไม่แก่หรือแก่เท่านั้น ข้อควรระวังในการให้น้ำขณะที่เห็ดหัวลิงพัฒนาเป็นดอกเห็ดอย่าให้น้ำโดนดอกเห็ดโดยตรงเพราะจะทำให้เห็ดเน่า ถ้าดอกเห็ดโดนลมหรือโดนมือคนไปจับจะทำให้ดอกเห็ดเป็นสีน้ำตาลขายไม่ได้ราคา เห็ดหัวลิงสามารถเก็บดอกได้ 3 เดือน เดือนละดอก แต่จะต้องทำความสะอาดหน้าก้อนทุกครั้งที่เก็บดอกไปแล้ว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเห็ดหัวลิงก็เป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจที่จะเพาะขายกันเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ถ้าท่านผู้ฟังท่านใดที่สนใจจะเพาะควรจะศึกษาเทคนิคต่างๆ ของการเพาะเห็ดชนิดนี้จากผู้มีประสบการณ์โดยตรง
เอกสารอ้างอิง
การเพาะเห็ดหัวลิง. วันที่เข้าถึงข้อมูล 11 กุมภาพันธ์ 2550.
ป้ายคำ : เพาะเห็ด