เอาม่าน การนวดล้านนา

18 มิถุนายน 2557 สุขภาพพึ่งตน 0

การนวดเอาม่าน การนวดล้านนา เป็นองค์ความรู้ การดูแลรักษาสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดัด ดึง ยึด ยืดเส้นเอ็น เพื่อคลายความตึงของเส้น เอ็น คลายเมื่อยกล้ามเนื้อ ระหว่างการนวดต้องทำด้วยความนุ่มนวล ประสานสัมพันธ์กันระหว่างผู้นวด ผู้ถูกนวด

การนวดเอาม่านนั้น มีมาแต่โบราณโดยเฉพาะทางภาคเหนือ แต่เดิมคนตามชนบทไม่ได้มีการนวดแผนปัจจุบันเหมือนดังเช่นปัจจุบันนี้ ในวิถีชีวิตประจำวันคนชนบทจะทำงานหนัก ทำให้มีอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องหาวิธีคลายกล้ามเนื้อโดยการนวด โดยอาศัยความใส่ใจฝึก ดูจากหมอพื้นบ้านผู้มีวิชาความรู้สืบทอดต่อ ๆ กันมา สำหรับหมอบุญประธานชมรมหมอเมืองจตุรศิลา ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่นั้นสืบทอดวิธีการนวดเอาม่านมาจากพ่อหมอสม อินหน่อแก้ว บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 7 บ้านหนองช้าง ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

คำว่า ม่าน เป็นคำที่ชาวเชียงใหม่เรียกชาวพม่า การเอาม่านหรือบีบม่านหรือลั่นม่าน เป็นองค์ความรู้การนวดล้านนา ที่ได้รับการสืบทอดจากเมี่ยนม่า (พม่า) หลักในการรักษา คือ การคำนึงถึงร่างกายของคนเลือดกับลมต้องมีความสมดุลกัน ถ้าเลือดลมไม่ดีจะทำให้เส้นเอ็นไม่ดีตาม เพราะเส้นเอ็นเป็นทางเดินของลม ถ้าเส้นเอ็นตึงจะทำให้ลมเดินไม่สะดวกจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นให้เส้นเอ็นคลายตัวมากกว่าการนวดซึ่งเน้นกดจุด การเอาม่านเน้นการยืด หดตัวของเส้นเอ็นทำให้เส้นเอ็นหย่อนยานและใช้เวลาในการรักษาน้อยกว่าการนวด ใช้ได้ดีกับกลุ่มปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก อัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ที่ได้รับการนวดจะต้องเป็นผู้มีร่างกายสมประกอบและมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เป็นโรคกระดูก หรือโรคหัวใจ เบาหวานรุนแรง และไม่เป็นผู้สูงอายุเนื่องจากมักพบปัญหาเรื่องกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
สำหรับการนวดเอาม่านที่หมอบุญได้รับการถ่ายทอดจากพ่อหมอสมนั้นมี 16 ท่า โดยมีรายละเอียดขั้นตอนในท่าต่าง ๆ ดังนี้

aouman1

(ท่าที่ 1)
ท่าที่ 1 ท่าแก้เอ็นต้นขาและน่อง
– ให้ผู้ป่วยยกเท้าซ้ายขึ้นสูงเท่าที่ผู้ป่วยจะสามารถยกได้
– หมอเอาข้อศอกซ้ายรองรับบริเวณน่องซ้ายของผู้ป่วย พร้อมกับยกขึ้น มือข้างขวาของหมอจะดันหลังผู้ป่วยให้ก้มลง การกด การดึง ต้องถามถึงความพอดีกับผู้ป่วย ใช้เวลากด ดึงประมาณ 30 วินาที (นับ 1-30) เสร็จแล้วทำข้างขวาเหมือนข้างซ้าย

aouman2

(ท่าที่ 2)
ท่าที่ 2 ท่าแก้เอ็นน่องและท้องขา
– ท่าเตรียมให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอจับส้นเท้าของผู้ป่วยพร้อมกับยกขาผู้ป่วยขึ้น หมอประสานมือไว้ที่ส้นเท้าผู้ป่วย
– หมอนั่งบนฝ่าเท้าข้างซ้ายของผู้ป่วยพร้อมกับออกแรงดึงส้นเท้า หมอจะดึงมือที่ประสานส้นเท้า พร้อมกับเอนตัวทิ้งน้ำหนักไปทางปลายเท้าผู้ป่วยที่หมอนั่งทับการออกแรงกด ดึง จะต้องถามความพอดีของผู้ป่วย กด ดึง นาน 30 วินาที เสร็จแล้วทำข้างขวาเหมือนกับข้างซ้าย

aouman3

(ท่าที่ 3)
ท่าที่ 3 แก้เอ็นน่องและท้องขา
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนหงาย
– หมอจับขาข้างซ้ายของผู้ป่วยตั้งขึ้นจับขาขวาของผู้ป่วยพับทับต้นขาซ้าย หมอเอามืออีกข้างหนึ่งประคองส้นเท้าไว้
– หมอยืนคร่อมขาข้างขาที่พับงอ เพื่อล็อคขาผู้ป่วยไว้ไม่ให้เคลื่อนที่
– หมอเอามือข้างขวาจับดึงส้นเท้าขึ้น มือข้างซ้ายกดปลายเท้าลงออกพร้อมๆ กัน การออกแรง ต้องถามความพอดีของผู้ป่วย กด ดึง

aouman4

(ท่าที่ 4)
ท่าที่ 4 แก้เอ็นท้องและเอ็นหน้าขา
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนหงายจับขาผู้ป่วยข้างซ้ายพับไปทางด้านหลัง
– มือข้างขวาของหมอกดทับบริเวณเหนือกระดูกเชิงกราน มือข้างซ้ายกดเหนือบริเวณหัวเข่าผู้ป่วย พร้อมกับออกแรงกดพร้อม ๆ กัน การออกแรงกดต้องถามความพอดีของผู้ป่วย กดนาน 30 วินาที เสร็จแล้วทำข้างขวาเหมือนกับข้างซ้าย

aouman5

(ท่าที่ 5)
ท่าที่ 5 แก้เอ็นหน้าขาและเอว
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำพับขาทั้งสองข้างของผู้ป่วยขึ้น ให้เท้าทับกัน
– หมอนั่งทับหลังเท้าของผู้ป่วย ออกแรงดึงหัวเข่าผู้ป่วยขึ้น หมอเอาหลังเท้าทั้งสองข้างรองรับหัวเข่าผู้ป่วย การออกแรงดึงเข่านานประมาณ 30 วินาที การออกแรงต้องถามความพอใจจากผู้ป่วย ทำซ้ำ 3 รอบ

aouman6

(ท่าที่ 6)
ท่าที่ 6 แก้เอ็นทะลวงและเอ็นพับ
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างขาของผู้ป่วย
– หมอเอามือขวาจับส้นเท้าด้านซ้ายของผู้ป่วยยกขึ้นตั้งฉาก มือขวาของหมอจับประคองข้อเท้าขวาของผู้ป่วยไว้ พร้อมออกแรงยกขาผู้ป่วยขึ้น การออกแรงยกต้องถามพึงพอใจของผู้ป่วยนานประมาณ 30 วินาที เสร็จแล้วทำขาด้านขวาเหมือนกับขาซ้าย

aouman7

(ท่าที่ 7)
ท่าที่ 7 แก้เอ็นต้นขา 2 ข้าง
– ท่าเตรียมให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างขาผู้ป่วย
– หมอเอามือจับข้อเท้าทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วย พร้อมออกแรงดึงและเหยียบต้นขาทั้ง 2 ข้างไปพร้อมๆ กัน ระยะเวลาการเหยียบและการออกแรงดึงต้องถามอาการ ความพึงพอใจของผู้ป่วย

aouman8

(ท่าที่ 8)
ท่าที่ 8 แก้เอ็นข้อพับ
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ ให้ผู้ป่วยพับขาในลักษณะขาไขว่กัน เริ่มจากซ้ายทับขวาก่อน (ตามรูป)
– หมอออกแรงกดให้ทั่วหลังเท้า แรงกดต้องถามความพอใจของผู้ป่วย เสร็จแล้วสลับขวาทับซ้ายทำเหมือนเดิม

aouman9

(ท่าที่ 9)
ท่าที่ 9 แก้ปวดหลังและปวดเอว
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนตะแคงไปทางด้านขวา ให้ผู้ป่วยงอเข่า ขาขวาเหยียดตรง
– หมอเอามือข้างซ้ายจับที่ปลายเท้าขวา มือข้างขวาจับมือซ้ายของผู้ป่วย
– หมอเอาขาทั้งสองข้างเหยียบบริเวณหลังของผู้ป่วย พร้อมๆกับออกแรงดึงที่เท้า การออกแรงต้องถามความพอใจของผู้ป่วยนานประมาณ 30 วินาที เสร็จแล้วทำซ้ำข้างซ้ายเหมือนข้างขวา โดยให้ผู้ป่วยตะแคงไปทางซ้าย

aouman10

(ท่าที่ 10)
ท่าที่ 10 แก้เอ็นเอว เอ็นหลังและเอ็นขา
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ
– หมอเอามือขวาจับข้อมือขวาของผู้ป่วย มือซ้ายจับเท้าซ้ายผู้ป่วย (ตามรูป)
– หมอออกแรงดึง ยก พร้อมกับเหยียบบริเวณหลังผู้ป่วย ออกแรงเหยียบไป มา เริ่มตั้งแต่บริเวณต้นขาถึงบริเวณหลัง ออกแรงกดแต่ละจุดนานประมาณ 30 วินาที การออกแรงต้องถามความพอใจของผู้ป่วยทำซ้ำ 3 รอบ เสร็จแล้วเปลี่ยนมาทำอีกข้างเหมือนกัน

aouman11

(ท่าที่ 11)
ท่าที่ 11 แก้เอ็นท้องและหัวไหล่
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยคว่ำหน้า หมอยืนคร่อมผู้ป่วยเอามือจับข้อมือผู้ป่วยไว้
– หมอขึ้นเหยียบบนต้นขาของผู้ป่วยทั้งสองข้าง พร้อมทั้งออกแรงดึงมือมือผู้ป่วยให้แผ่นหลังของผู้ป่วยยกขึ้น การออกแรงดึงต้องถามความพอใจของผู้ป่วย ดึงนานประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ

aouman12

(ท่าที่ 12)
ท่าที่ 12 แก้เอ็นสันหลัง
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนั่งขัดสมาธิ ให้ผู้ป่วยประสานมือไว้ที่ท้ายทอย บีบข้อศอกให้แนบชิดติดหูก้มหน้าลงให้คางจรดอก
– หมอนั่งยอง ๆ ที่ด้านหลังผู้ป่วย หมอตั้งเข่าทั้ง 2 ข้างกดบริเวณหลังทั้ง 2 ข้าง
– หมอเอาเข่ากดหลังเริ่มตั้งแต่บริเวณปั้นเอวขึ้นมาถึงบริเวณปลายสะบัก หมอเอามือทั้ง 2 ข้างมาจับที่ข้อศอกผู้ป่วย ออกแรงดึงข้อศอกพร้อมกับออกแรงกด ดัน หัวเข่าตรงบริเวณทั่วทั้งแผ่น หลัง การออกแรงต้องถามความพึงพอใจของผู้ป่วย การกดแต่ละจุดนานประมาณ 30 วินาที ทำ 3 รอบ (ตามรูป)

aouman13

(ท่าที่ 13)
ท่าที่ 13 แก้สบักจม (เอ็นเข้าแค๊ป)
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนั่งขัดสมาธิ ยกแขนขวาขึ้น
– หมอนั่งคุกเข่าอยู่ด้านหลังของผู้ป่วย เอามือขวาจับมือขวาของผู้ป่วย มือซ้ายจับที่หัวไหล่ซ้ายผู้ป่วย
– หมอออกแรงดึงที่ปลายมือผู้ป่วยพร้อมทั้งออกแรงกดที่ศอกตรงบริเวณรอบสบักของ ผู้ป่วย การออกแรงดึง กด จะต้องถามความพอใจของผู้ป่วย การออกแรงกดแต่ละจุดนานประมาณ 30 วินาที เริ่มตั้งแต่ตรงปลายสบักจนถึงบริเวณแนวสบักด้านบน ทำซ้ำ 3 รอบ เสร็จแล้วทำอีกข้างหนึ่งเหมือนกัน

aouman14

(ท่าที่ 14)
ท่าที่ 14 แก้เอ็นช่วงข้าง (เอ็นสีข้าง)
– เตรียม ให้ผู้ป่วยนั่งขัดสมาธิเอามือทั้งสองประสานไว้ที่ท้ายทอย (ตามรูป)
– หมอนั่งอยู่ด้านหลังของผู้ป่วย เอามือสอดทับมือผู้ป่วยที่ประสานไว้ท้ายทอย
– หมอยืนคร่อมขาข้างขวาของผู้ป่วย เป็นการล็อคตัวผู้ป่วยไม่ให้เคลื่อน
– ออกแรงบิดตัวผู้ป่วยไปทางซ้ายแล้วค่อยบิดตัวผู้ป่วยกับมาที่เดิม ทำซ้ำ 3 รอบ เสร็จแล้วค่อยกลับบิดมาทางขวา

aouman15

(ท่าที่ 15)
ท่าที่ 15 แก้ครัวท้องลง (นวดยกครัวท้อง)
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้าง (ตามรูป)
– หมอเอานิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ข้างวางไว้ที่บริเวณหัวเหน่า พร้อมออกแรงกด ลักษณะการกดให้กด เน้น นิ่ง 3 วินาที แล้วดันนิ้วขึ้น เสร็จแล้วโยกไปซ้ายและขวา ทำซ้ำ 3 รอบ

aouman16

(ท่าที่ 16)
ท่าที่ 16 แก้เอ็นเส้น เอ็นหลังเส้นขา และเอ็นน่อง ทำให้เส้นเอ็นตรง เลือดลมเดินสะดวกทั่วร่างกาย
– ท่าเตรียม ให้ผู้ป่วยนอนหงาย เกร็งตัวให้แข็งทื่อ
– หมอยืนคร่อมตัวผู้ป่วย เอามือสอดประสานไว้ด้านหลังผู้ป่วยพร้อมกับออกแรงยกตัวผู้ป่วยให้ลอยขึ้น ทำซ้ำ 3 รอบ (เหมือนรูป)

การนวดเอาม่านเป็นการนวดพื้นบ้านทางภาคเหนือ สืบทอดมาจากพม่าซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะ บางหมอจะมีท่านวดถึง 30 ท่าเศษ สำหรับท่านวดทั้ง 16 ท่าที่หมอบุญได้รับการสืบทอดมานี้จะช่วยคลายความตึงของเส้น ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี ข้อพึงระมัดระวัง คือ ในการนวดแต่ละท่าและในแต่ละรายนั้นความหนักเบา ความอดทนต่ออาการเจ็บที่อาจเกิดขึ้นและระดับความพอดีหรือความสบายที่ได้รับ ในแต่ละบุคคลไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อ (อาจเป็นการตบที่พื้นเบา ๆ) ให้ผู้นวดได้ทราบถึงความเหมาะสมที่ผู้ถูกนวดสามารถรับได้

ข้อควรระวังในการนวดเอาม่าน

  1. ก่อนนวด ผู้นวดและผู้ถูกนวด ให้ข้อมูลรายละเอียดสุขภาพและสาเหตุของการเจ็บป่วย
  2. การเอาม่าน ผู้นวดต้องมีความชำานาญ
  3. การเอาม่าน ต้องระมัดระวังในการนวด สื่อสารกับคนไข้ตลอดการนวด
  4. เอาม่าน เป็นการนวดสำาหรับผู้มีร่างกายสมประกอบ
  5. ห้ามนวดหญิงมีครรภ์ ผู้เป็นโรคร้ายแรง เช่น หัวใจ เบาหวานรุนแรง หรือโรคเกี่ยวกับกระดูก

เรียบเรียงโดย : กลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทย
วิโรจน์ กันทาสุข โครงการสุขภาพแบบองค์รวม
มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
บุญ อุปนันท์ หมอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สุขภาพพึ่งตน

แสดงความคิดเห็น