แกลบ ถือเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่ได้จากกระบวนการสีข้าวเปลือกซึ่งทำให้เกิดเศษของเปลือกข้าวออกมา มีลักษณะสีเหลืองทอง สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลแดงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ข้าว
แกลบประกอบด้วยสารอินทรีย์ และซิลิกา ปริมาณสารอินทรีย์จะประกอบด้วยธาตุคาร์บอนประมาณร้อยละ 51 ออกซิเจนร้อยละ 42 ส่วนที่เหลือจะเป็นไฮโดรเจน และไนโตรเจน ส่วนซิลิกาจะพบมากบริเวณผิวนอกของแกลบจึงทำให้แกลบมีความแข็งสูงสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุขัดผิวได้
แกลบที่ได้จากการสีข้าวเปลือกจะมีประมาณร้อย 22-25 โดยน้ำหนักจากเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้การสีข้าวเปลือกแต่ละครั้งจะเกิดแกลบจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีการนำแกลบมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในหลายด้านด้วยกัน ได้แก่
- เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในภาคครัวเรือน เช่น เชื้อเพลิงในเตาประหยัดพลังงาน เชื้อเพลิงอัดแท่ง โดยแกลบ 1 กิโลกรัม สามารถให้พลังงานจากการเผาไหม้ได้สูงถึง 3800 กิโลแคลอรี ซึ่งใกล้เคียงกับไม้ และถ่านไม้ที่ 4000-5000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม จึงสามารถนำมาทดแทนเชื้อเพลิงจากไม้ได้เป็นอย่างดี
- เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรไอน้ำของโรงสีข้าว เชื้อเพลิงโรงงานเครื่องปั้นดินเผา โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น
- ใช้เป็นวัสดุขัดผิวทั้งในภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม
- ใช้ในการเผาถ่านเพื่อลด และควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการเผาถ่าน ป้องการการลุกไหม้เป็นเปลวไฟ
- เป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐบล็อก อิฐมอญ รวมถึงผสมดินเหนียวสำหรับงานก่อต่างๆ
- ใช้ในการปรับปรุงดินในหลายด้าน อาทิ การปรับปรุงดินเค็ม การเพิ่มความร่วนซุยของดิน การเพิ่มอินทรีย์วัตถุ และแร่ธาตุอาหารในดิน เป็นต้น
- การใช้ประโยชน์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น ใช้รองพื้นสำหรับฟาร์มไก่หรือสุกร
- ใช้ทำชนวนเทคลุมก้อนน้ำแข็งป้องกันน้ำแข็งละลาย
ขี้เถ้าแกลบ
ขี้เถ้าแกลบถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเผาไหม้ของแกลบมีลักษณะหลายสีขึ้นอยู่กับกระบวนการเผา แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
- ขี้เถ้าแกลบเทา เป็นขี้เถ้าแกลบที่มีลักษณะสีเทา เนื้อขี้เถ้าแกลบแข็ง และคงรูปมากกว่าแกลบชนิดอื่น แต่จะแตกละเอียดหากได้รับแรงกดบีบ เป็นแกลบที่ได้จากการเผาที่อุณหภูมิไม่เกิน 600 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ขณะเผาไหม้จะไม่เกิดเปลวไฟ
- ขี้เถ้าแกลบดำ เป็นขี้เถ้าแกลบที่มีลักษณะสีดำ เนื้อขี้เถ้ามีการคงรูปของแกลบบางส่วน เนื้อแกลบแข็งและเปราะง่านกว่าแกลบสีเทา แต่จะแตกละเอียดหากได้รับแรงกดบีบ เป็นแกลบที่ได้จากการเผาอย่างต่อเนื่องที่อุณหภูมิไม่เกิน 1200 องศาเซลเซียส ในสภาวะที่มีออกซิเจนไม่เพียงพอทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยไม่เกิดเปลวไฟขณะเผาไหม้
- ขี้เถ้าแกลบขาว เป็นขี้เถ้าแกลบที่มีลักษณะสีขาว เนื้อขี้เถ้าแกลบแตกหักเป็นผงขนาดเล็ก เป็นแกลบที่ได้จากการเผาอย่างต่อเนื่องที่อุณหภูมิสูง ภายใต้สภาวะออกซิเจนที่มีเกินพอทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ โดยส่วนมากมักจะเกิดเปลวไฟขณะเผาไหม้หากเผาในที่โล่งที่มีอากาศกระจายสู่พื้นผิวขณะเผาไหม้ที่เพียงพอ นอกจากการเผาที่อุณหภูมิสูงแล้วยังสามารถเผาได้จากแกลบดำที่อุณหภูมิต่ำอย่างต่อเนื่องได้อีกวิธี แกลบชนิดนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากในอุตสาหกรรมเนื่องจากองค์ประกอบส่วนมากจะเป็นซิลิกา
เมื่อแกลบเผาไหม้จะทำให้เกิดเถ้าร้อยละ 13-30 ที่ประกอบด้วยซิลิกาไดออกไซด์ (SiO2) ประมาณร้อยละ 85-97 ส่วนอื่นจะประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น K2O 2.3%, MgO 0.5%, Al2O 0.4%, CaO 0.4%, Fe2O3 0.2% และ Na2O 0.1%
ประโยชน์ของขี้เถ้าแกลบ
- ขี้เถ้าแกลบดำ
นำมาเป็นวัสดุปรับปรุงดินเพื่อช่วยเพิ่มความร่วนซุย เพิ่มแร่ธาตุ ดินอุ้มน้ำได้ดี รวมดึงนิยมนำมาเป็นวัสดุปลูกผสมกับดินสำหรับการปลูกพืชในกระถาง
ใช้เป็นตัวดูดซับในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย บำบัดก๊าซพิษสำหรับดูดซับสารมลพิษต่างๆ หรือที่เรียกว่าถ่านกัมมันต์
- แกลบเทา
นิยมนำมาเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และผสมดินเป็นวัสดุปลูกสำหรับการปลูกพืชในกระถาง
- แกลบขาว
ใช้เป็นวัตถุดิบการการผลิตซิลิกา
ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแก้ว ผลิตภัณฑ์จากแก้ว
ใช้เป็นส่วนผสมของอิฐก่อสร้าง เนื่องจากสามารถทนต่อความร้อนได้ดีมากกว่า 1000 องศาเซลเซียส
ใช้เป็นส่วนผสมของการผลิตปูนซีเมนต์
ใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน
วิธีการเผาแกลบดำ
1. ขุดหลุมเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 50 ซม. ตามปริมาณการเผา หรืออาจก่ออิฐขึ้นสูงล้อมรอบ
2. ตั้งฐานก่อกองไฟตรงกลางจนไฟลุกไหม้เป็นถ่านแดง
3. นำถังน้ำมันเจาะก้นที่ไม่ใช้แล้วหรือท่อโลหะวางครอบกองไฟ
4. นำแกลบเทกองรอบถังหรือท่อโลหะที่ครอบกองไฟให้ท่วมสูงตามระดับของบ่อ
5. หลังจากปฏิบัติตามวิธีข้างต้น แกลบจะเริ่มเผาไหม้อย่างช้าโดยไม่ลุกเป็นเปลวไฟจนแกลบบริเวณด้านนอกมีลักษณะไหม้ดำทั้งหมด
6. ทำการเกลี่ย และฉีดพรมด้วยน้ำจนไฟดับสนิท และแกลบเย็นตัว
ทั้งนี้ ขณะเผาควรระวังในเรื่องเปลวไฟที่อาจเกิดขึ้น เพราะหากเกิดเปลวไฟจะทำให้แกลบเผาไหม้สมบูรณ์กลายเป็นขี้เถ้าขาว
สำหรับการเผาแกลบขาวอาจใช้วิธีในลักษณะเตาในลักษณะเดียวกัน แต่อาจต้องต่อท่อเพื่อให้อากาศหรือคอยเกลี่ยให้แกลบมีการลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง