แก่นคำกล้า พิลาน้อย (ตุ๊หล่าง) ผู้ซึ่งรักและศรัทธาในอาชีพชาวนา

อาชีพชาวนา คือ อาชีพแห่งเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นอาชีพที่คนมักมองข้ามทั้ง ๆ ที่เป็นอาชีพสำคัญมากอาชีพหนึ่งที่สังคมนี้จะขาดไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคุณค่าของเมล็ดข้าวที่เป็นดั่งอาหารหล่อเลี้ยงสังคมโลกมาอย่างยาวนาน และวันนี้เราอยากให้คุณรู้จักกับผู้ที่มีความเชื่อ และศรัทธาอันมั่นคงกับอาชีพ ๆ นี้ ซึ่งเขาผู้นั้นคือ แก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง ชายหนุ่มที่เคยได้รับรางวัลคนนอกกรอบ จาก คนค้นฅนอวอร์ด และเขาคนนี้ยังป็นที่รู้จักกันดี ในนามผู้พลิกฟื้นเกษตรกรรมให้กับชาวอีสานอีกด้วย

แก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือ ตุ๊หล่าง เด็กหนุ่มลูกอีสานชาวจังหวัดยโสธร ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพทำนา เด็กหนุ่มคนนี้จึงมีสายเลือดของชาวนาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนกุดชุมวิทยาคมซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ ตุ๊หล่าง ก็หันหลังให้กับการศึกษาในห้องเรียน หันมาสู่โลกของการเกษตรกรรม ด้วยเพราะเล็งเห็นว่าบทบาทของอาชีพชาวนากับคนรุ่นหลังเริ่มเลือนลางลงทุกที

ทั้งนี้ ตุ๊หล่าง บอกว่า จากการสำรวจผู้คนในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ทั้งหมด 400 หลังคาเรือน รวมกว่า 1,000 คน พบว่ามีอยู่เพียง 200 คนเท่านั้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อรู้สึกว่าผู้คนเริ่มมองข้ามอาชีพนี้เขาจึงมีความคิดที่จะพัฒนางานด้านการเกษตรให้คงอยู่กับคนอีสาน แม้ว่าความจริงแล้วตุ๊หล่างเคยฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่อย่างไรเสีย หากยังไม่หมดลมหายใจ ตุ๊หล่าง คิดว่าเขาก็ยังมีโอกาสศึกษาต่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ถ้าอาชีพเกษตรกรรมยังไม่รีบอนุรักษ์สืบทอดไว้ อาจจะสูญสิ้นไปได้

kankamklaw

“ผมว่าโลกแห่งเกษตรกรรมเป็นโลกของการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผม ผมจึงคิดว่าเราน่าจะแสวงหาความรู้จากโลกเกษตรกรรมเสียก่อน เพราะสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น การผสมพันธุ์ข้าว การทำอย่างนี้มันมีความละเอียดกว่าคนที่เรียนจบปริญญาตรียิ่งเสียอีก และประสบการณ์ในการทำงานมันมีค่ามากว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยด้วย” ตุ๊หล่าง บอกอย่างนั้น

ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในการเป็นชาวนา ตุ๊หล่างจึงคิดเสมอว่างานเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต เขามีความสุขกับการทำนา แม้ว่าแผ่นดินทำกินของเขาตั้งอยู่บนเงื่อนไขของนาแล้ง เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในภาคอีสาน แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรค กลับยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชายคนนี้คิดแก้ปัญหา จนในที่สุด อดีตนักเรียน ม.ปลาย ก็กลายมาเป็นหนุ่มชาวนา นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว เขาสามารถสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ขึ้นบนผืนดินที่แห้งแล้งได้สำเร็จ

เมื่อเวลาแห่งความมุ่งมั่นของ ตุ๊หล่าง สัมฤทธิ์ผล เขาจึงกระจายความรู้ที่มีออกไปยังชาวนาทุกสารทิศ ด้วยความหวังจะพัฒนาอาชีพชาวนาให้กลับมาสดใส ในขณะที่สังคมกำลังให้ความสำคัญกับอาชีพชาวนาน้อยลงทุกที ไม่เว้นแม้แต่ชาวนาด้วยกันเองที่ปัจจุบันส่วนใหญ่หมดความภาคภูมิใจในอาชีพปลูกข้าวเลี้ยงคน เพราะความทุกข์เข็ญจากภาระหนี้สินที่พอกพูนจนชดใช้ทั้งชีวิตก็อาจไม่หมด และมักที่จะผลักดันลูกหลานให้ถอยห่างออกไปจากท้องไร่ท้องนา ห่างจากอาชีพชาวนา มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อแสวงโชค หาเงิน และวาดหวังถึงชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

“ทุกคนเกิดมาต้องกินข้าว เพราะข้าวถือเป็นอาหารหลัก แต่มนุษย์กลับให้ความสำคัญในสิ่งนี้น้อยลงไปทุกวัน อยากฝากถึงบุคคลทุกประเภทและทุกอายุว่า อย่าดูถูกอาชีพชาวนา หรือการเกษตรกรรม เหตุที่ทำให้อาชีพเกษตรกรรมกำลังจะหายไปจากสังคม เป็นเพราะคนในระดับที่สูงกว่าดูถูกอาชีพนี้ ด้วยเหตุที่ว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเอาเงินเป็นที่ตั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตไม่มีความหมาย ทั้ง ๆ ที่จากความจริงชีวิตคนเรามีคุณค่าสูงกว่าจำนวนเงิน แต่เมื่อคนเห็นความสำคัญของเงินนั้น คนย่อมทิ้งความเป็นคน”

ทุกวันนี้ ชีวิตของ ตุ๊หล่าง ดำเนิน ไปอย่างเรียบง่ายในแบบฉบับชาวไร่ชาวนา เขาเน้นหลักความพอเพียง ที่เจ้าตัวให้นิยามว่า แค่เป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว เพราะคนเราถ้ามีเงินเป็นแสนเป็นล้าน หากไม่มีคุณธรรมและเป็นคนดีสังคมก็อยู่ไม่รอด

“ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตคือ เราต้องมีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ทำ รวมทั้งต้องพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันผู้อื่นด้วย ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่เป็นโขลง ถ้าเรารอดอยู่คนดียว แล้วคนอื่นตายหมด เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร ดังนั้น การทำพันธุ์ข้าวไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ชาติ” ตุ๊หล่าง กล่าว

และนี่คือมุมมองของหนุ่มนักพัฒนาการเกษตร ที่หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยแรงแห่งความรักในอาชีพชาวนา เขาค้นพบความสุขจากการพึ่งตน และแบ่งปันในสิ่งที่ตัวเองรู้ เพื่อพาเพื่อนมนุษย์ไปสู่ทางรอดร่วมกัน ชาวนาแท้แบบตุ๊หล่าง จึงไม่เพียงแต่ปลูกข้าวเลี้ยงคน แต่ยังเป็นอาชีพที่บ่มเพาะผู้คนให้เดินไปสู่หนทางแห่งความดีงาม

ความคิด ความเชื่อ ของเขาที่ว่า
ชีวิตไม่ได้มีอะไรมากมาย และชีวิตก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้
ทุก ๆคนมีหนทางเดินของตนเอง
ทุก ๆคนสามารถเลือกที่จะทำในสิ่งที่ดี ๆ ตามที่ตนเองตั้งใจได้
คนเราไม่ได้อยู่คนเดียวในสังคม เราจะเอาเปรียบกันไปทำไม เราจะเห็นแก่ตัวไปทำไมนักหนา เมื่อเราทำอะไรได้ เราเผื่อแผ่คนอื่นได้ สังคมจะไม่มีความสุขมากขึ้นหรือ
คนเราต้องการความสุขในชีวิต ไม่ได้ต้องการความมั่งคั่งร่ำรวยจนล้นฟ้า
คนเราทำอะไรไม่ควรทำไปเพื่อตนเองเท่านั้น แต่ควรทำเพื่อคนอื่น ๆเท่าที่จะสามารถทำได้ด้วย

อาชีพชาวนาคืออาชีพอันเป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ของโลก
เมล็ดพันธุ์เป็นชีวิตของเกษตรกร ถ้าเราพึ่งตนเองในเรื่องนี้ได้ โอกาสที่เราจะอยู่รอดได้ในสังคม ในผืนแผ่นดินนี้ก็มีมาก

การพัฒนาแนวคิดแบบพึ่งตนเองมายาวนานของชุมชน ทำให้วันนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของแปลงนาระบบอินทรีย์และเชื้อพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลายเป็นกองทุนอันแข็งแกร่งให้ชาวนารุ่นใหม่ได้หยัดยืน คิดสิ่งใหม่ๆ เช่น อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ผสมพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์ที่อร่อย ทนทานต่อโรค-แมลง

เคยได้ยินคนเล่าว่า ชื่ออำเภอกุดชุม มาจาก กุด ที่มีทางน้ำมา ชุม กันหลายสาย บ้างก็ว่าเป็นกุดที่มีปลาชุกชุมในอดีต

แต่ไม่ว่าจะเป็นสำนวนใด ก็พอจะอนุมานได้ว่า ถิ่นฐานนี้จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่เล่าขานของชาวเมืองยศ* ไม่ใช่แค่หนองน้ำดาดๆ แต่สิ่งที่ชวนหาคำตอบต่อไปก็คือ วันนี้…ข้าวในนาปลาในหนองจะยังชุมเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปประการใด

อยู่มาวันหนึ่ง ณ บ้านกุดหิน อำเภอกุดชุม

พ่ออวน เจ้าของบ้านที่ผมไปพักด้วยมาบอกว่า ลูกสาวกับหลานของแกอยู่ในนา- – เพิ่นกำลังเอาปลาข่อน พอดี

นาอยู่ถัดจากถนนข้างหน้าไปหน่อยเดียว เรารีบเดินออกไปสู่สีเขียวของท้องทุ่ง ซึ่งข้าวหอมมะลิอินทรีย์กำลังบานดอกออกรวงสลอน ภาพแบบนี้ใครได้มาเห็นก็นับเป็นบุญตา โดยเฉพาะเมื่อเดินเลาะคันนาไปถึงชายทุ่งที่สองแม่ลูกกำลังโกยปลากระดี่ ปลาช่อน ปลาหมอลงสวิง ไปเทใส่คุ และที่ยังเหลือดิ้นพึ่บพั่บในเลนอีกมาก มากขนาดที่ว่า แม่อีนางต้องเดินหิ้วคุเทียวไปเทียวมาหลายรอบ

ช่วงปลายฤดูฝน น้ำในทุ่งนาเริ่มขอด เหล่าปลาเล็กปลาน้อยหนีภัยไปรวมกันอยู่ในแอ่ง ในร่องน้ำกลางนา จึงเป็นทีของชาวบ้านนัดกันไปวิดเอา ปลาข่อน มาคั่ว หมักปลาร้า หรือปล่อยลงบ่อข้างบ้าน นี่คือจังหวะชีวิตบนแผ่นดินอีสานที่ดำเนินสืบมาแต่โบรมโบราณ ทุกคนรู้ว่าจะได้กินปลาข่อนกันตอนช่วงใกล้วันสารท (งานบุญสิ้นเดือน 10) ถึงวันออกพรรษา กินปลาจนเรี่ยวแรงแข็งขันแล้วเตรียมเกี่ยวข้าวต่อไป

มากุดชุมแล้วอาจจะไม่ได้เห็นกุดที่ ชุม สมบูรณ์แบบ แต่ก็สมหวังกับแอ่งโคลนของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดจิ๋วอันอุดมสมบูรณ์ และเป็น ความสมบูรณ์ ที่ความหมายของมันงอกเงยซับซ้อนกว่าเดิม เพราะปลาข่อนในท้องนาทุกวันนี้ คือส่วนหนึ่งของความยั่งยืนด้านอาหารที่ตั้งอยู่บนความปลอดภัยจากสารพิษในนาข้าวด้วย

จุดหมายแรกของการเดินทางไปกุดชุม จังหวัดยโสธร เพื่อศึกษาข้อมูล ทางเลือกที่ยั่งยืนของการทำนาข้าว อยู่ที่บ้านกุดหิน ตำบลกำแมด แต่เราต้องแวะคุยกับเจ้าหน้าที่และสอบถามเส้นทางจากโรงสีข้าวชมรมรักษ์ธรรมชาติ บ้านโสกขุมปูนเสียก่อน

โรงสีที่รู้จักกันในนาม ฉางข้าวบ้านโสก ตำบลนาโส่ ถือเป็นศูนย์รวมและรูปธรรมความสำเร็จของ ชุมชนกุดชุม

* คนเฒ่าคนแก่บอกว่าเป็นชื่อเดิมก่อนมาเป็น ยโสธร

แทบไม่น่าเชื่อว่าโรงสีที่ดูใหญ่โต สีข้าวอินทรีย์ส่งไปขายถึงสวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียมและประเทศยุโรปอื่นๆ ในวันนี้ เริ่มต้นขึ้นจากการระดมทุนของชาวบ้านตั้งแต่ปลายปี 2533 พร้อมๆ กับการส่งเสริมทำนาธรรมชาติตามแนวคิดของฟูกูโอกะ และพัฒนามาเป็นการทำนาข้าวปลอดสารเคมีและนาเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้น ชุมชนกุดชุมซึ่งประกอบด้วยคนจากหลายหมู่บ้านในอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ได้ริเริ่มงานพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ปี 2523 ชาวบ้านรวมกลุ่มกันตั้งกองทุนร้านค้าขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน รื้อฟื้นการรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านโดยใช้สมุนไพรในชุมชน หลังจากนั้นพวกเขาสรุปบทเรียนกันว่า การรักษาโรคเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุจริงๆ คือการบริโภค จึงรวมตัวกันปลูกข้าวปลอดสารพิษและข้าวระบบเกษตรอินทรีย์ และนำกำไรส่วนหนึ่งจากการขายข้าวมาทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน ศูนย์รักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน กลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติ เป็นต้น

kankamklar kankamklak

อย่างไรก็ดี ข้าวที่พวกเขาปลูกส่วนใหญ่ไม่พ้นข้าวหอมมะลิ ที่มีชื่อเรียกทางการว่า ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ปลูกเอาไว้ขาย และปลูกข้าวเหนียว กข 6 ไว้กิน เพียงเท่านั้น แม้การทำนาระบบอินทรีย์ซึ่งเน้นการปรับปรุงบำรุงดิน โดยหันหลังให้กับสารเคมีสังเคราะห์ใดๆ ในทุกขั้นตอนการผลิตจะคืนความอุดมสมบูรณ์มาสู่แปลงนามากขึ้น แต่ชนิดพันธุ์ของพืชผักก็ยังไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร

กระทั่งปี 2542 ในงานสัมมนาเหลียวหลังแลหน้างานพัฒนากุดชุม 20 ปี ชุมชนได้สรุปบทเรียนของตนเองอีกครั้งว่า แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมมากมายแต่ก็ยังแก้ปัญหาหนี้สินไม่ตก เนื่องจากยังต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกแม้แต่เรื่องอาหารการกิน–อย่างที่พ่อทองอวน เทศไทย บ้านกุดหิน สรุปว่า มีนากี่สิบไร่ก็ไม่พอ…หากขายข้าวแล้วต้องเอาเงินมาซื้อของกิน — จึงช่วยกันมองหาทางออก พบว่าหนทางหนึ่งคือ ต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการพัฒนาเป็นไร่นาสวนผสมอินทรีย์ (เพื่อก้าวไปสู่ความเป็น เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ในที่สุด) หรือปรับจากการผลิตข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียวเป็นไร่นาสวนผสมอินทรีย์ที่มีความหลากหลายของผลิตผล และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อจะลดการพึ่งพาอาหารจากภายนอก

เกษตรกรอย่างพ่อคิดว่าคงไม่รวยเงินรวยทอง แต่จะรวยอาหารได้ พ่อทองอวนซึ่งเป็นชาวกุดหินคนแรกๆ ที่ปรับตัวสู่ระบบไร่นาสวนผสมอินทรีย์เอ่ยอย่างน่าฟัง แกบอกด้วยว่าขณะนั้นมีผู้นำ ผู้อาวุโสหลายคนของกุดชุมก้าวเดินไปในเส้นทางนี้อย่างมั่นคงจนสามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อวิจิตร บุญสูง, มั่น สามสี หรือสมหวัง ศรีมันตะ

ในทางรูปธรรม นอกจากเกษตรกรจะปรับคันนาให้กว้างและสูงขึ้นเพื่อใช้พื้นที่ปลูก มะม่วง มะพร้าว ขนุน ส้มโอ สะเดา ฯลฯ รวมถึงพืชสมุนไพรต่างๆ โดยคันนาที่สูงยังจะช่วยในการควบคุมวัชพืชในนาข้าว (ด้วยการปล่อยน้ำท่วมวัชพืช) และทำให้สามารถเลี้ยงปลาในนาข้าวได้ หรือการแบ่งพื้นที่ขุดสระเลี้ยงปลา และนำน้ำมาใช้ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์แล้ว พวกเขายังมองไปถึงการอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวพื้นบ้าน

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับภูมินิเวศของตัวเอง และสามารถรับมือกับปัญหาการรุกรานของพืชดัดแปรพันธุกรรมและการผูกขาดพันธุ์พืชโดยบรรษัทข้ามชาติที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบันได้

แนวคิดดังกล่าวนำมาซึ่งการจับมือกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานจัดเวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านขึ้นที่ฉางข้าวบ้านโสกฯ ในปี 2544 ซึ่งงานดังกล่าวเชิญปราชญ์ชาวบ้านมากหน้าหลายตามาพูดคุยให้ฟังถึงความสำคัญของพันธุกรรมพื้นบ้าน รวบรวมเอาพันธุ์ข้าวมาสู่เวทีแลกเปลี่ยนคับคั่ง ทั้งจากมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร ร้อยเอ็ด

ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ ภูมิรู้และ ทุนความคิดอันแน่นหนาของชาวเกษตรอินทรีย์กุดชุม จึงเอื้อให้การแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เป็นคำรบสอง

หากเจาะลงถึงประโยชน์โภชผลระดับปัจเจกก็สามารถพูดได้ว่า เวทีแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวอย่างน้อยก็ทำให้พ่อลูกคู่หนึ่ง ถาวรและแก่นคำหล้า พิลาน้อย กับสามีภรรยาอีกคู่ ดาวเรืองและสุพิศ พืชผล มีเชื้อพันธุ์ข้าวกลับไปปลูกนับสิบสายพันธุ์ และพวกเขาก็เริ่มก้าวเดินอย่างมั่นใจไปในทิศทางเดียวกับผู้อาวุโสของชุมชน

ด้วยวัย 40 ต้น ดาวเรือง พืชผล น่าจะเรียกว่าเป็นชาวนารุ่นใหม่ของกุดชุม เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกจะกำหนดวิถีการเพาะปลูกด้วยตัวเอง ไม่ต้องการให้โรงสี นายทุน หรือบริษัทขายยาปราบศัตรูพืชมามีอิทธิพลต่อการปลูกข้าว

บ้านของดาวเรืองและสุพิศตั้งอยู่กลางนาที่บ้านกุดหิน ตำบลกำแมด ไม่ไกลจาก ฉางข้าวกุดหิน ซึ่งเป็นสาขารับซื้อข้าวของโรงสีโสกขุมปูน ทั้งคู่มีโอกาสขอคำแนะนำปรึกษากับชาวเกษตรอินทรีย์ที่อาวุโสกว่าอย่างพ่อทองอวนบ่อยๆ ทำให้หันมาปลูกข้าวระบบเกษตรอินทรีย์เต็มตัวบนที่นาทั้งหมดประมาณ 30 ไร่ เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นบ้าน ปลูกไว้กิน คือ ข้าวนางนวล เล้าแตก ขี้ตมใหญ่ แม่ผึ้ง อีโต่น อย่างละ 1-2 ไร่ และปลูกข้าวหอมมะลิไว้ขายอีก 16 ไร่ ข้าวพื้นบ้านเหล่านี้ได้มาจากเวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านเมื่อ 3-4 ปีก่อน ซึ่งเขาเข้าร่วมด้วยตระหนักถึงความสำคัญของพันธุ์พืชผัก โดยเฉพาะข้าว เหมือนกับชาวนาทุกคนที่เคยผ่านการปลูก ข้าวมีเบอร์ -พันธุ์ปรับปรุงของทางราชการ เช่น ข้าว กข 6 แล้วพบว่าปลูกได้ไม่นานเมล็ดข้าวก็แข็ง ไม่หอมเหมือนเดิม ทั้งยังอ่อนแอต่อโรค แมลง หากมีหนอนกอ หรือเพลี้ยไฟลงก็จะเสียหายหนัก ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าชาวนาไทยละทิ้งวัฒนธรรมการปลูกข้าวดั้งเดิม ทำให้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านสูญหายไปมาก

ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ผักอื่นๆ เขาเอาไปอยู่ในกระป๋องหมดแล้ว ก็เหลือแต่พันธุ์ข้าวถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาไว้ก็จะไม่มีอะไรเหลือ ดาวเรืองพูด

เขายังเชื่อด้วยว่าข้าวพื้นบ้านแต่ละชนิดมีคุณค่าทางอาหารแบบสมุนไพร ตัวอย่างจากข้าวที่คนแถบสุรินทร์หรือเขมรกินเป็นประจำซึ่งเมล็ดสีแดงนั้น พวกเขาบอกว่าหากไม่ได้กินจะเป็นโรคปวดขา ผมก็มาคิดต่อว่าน่าจะจริง เพราะข้าวพื้นบ้านไม่ได้ถูกพัฒนามาด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ แต่มันพัฒนาพันธุ์มาด้วยตัวเอง การกินข้าวหลายๆ พันธุ์น่าจะได้รับสารอาหาร วิตามินที่หลากหลายเพียงพอต่อร่างกาย

ดาวเรืองคิดว่าควรจะพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยตัวเองจึงหันมาปลูกและพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ทั้งยังมีความสนใจจะผสมพันธุ์ข้าวเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่ต้องการ เป็นต้นว่าหอม กินอร่อย ทนทานโรค-แมลง แต่การผสมพันธุ์ข้าวต้องใช้เวลา อย่างน้อยจะต้องรู้เสียก่อนว่าเมล็ดพันธุ์ที่ตัวเองมีอยู่เป็นพันธุ์แท้หรือไม่ จึงต้องปลูกคัดพันธุ์ก่อนหลายๆ รุ่นเพื่อให้ได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เป็นพันธุ์แท้

เขากล่าวว่าโรคและแมลงโดยเฉพาะหนอนกอ ที่ชาวอีสานเรียกว่า ข้าวตายขาว เป็นปัญหาสำคัญของต้นข้าว ในข้าวพันธุ์พื้นบ้าน แม้หนอนกอจะชอบเป็นกับข้าวขี้ตมใหญ่มาก (เชื่อกันว่าเพราะรสชาติอร่อย) แต่สำหรับข้าวพื้นบ้าน ปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งแปลงนามีดินร่วนซุย จะมีลำต้นแข็งแรงทำให้ไม่เป็นปัญหามากจนถึงกับต้องหาทางแก้ไข ซึ่งเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์ปรับปรุงซึ่งปลูกระบบเคมีแล้วจะมีปัญหามากกว่า

ชาวบ้านบางคนเชื่อว่าการทำนาปีละครั้งในภาคอีสานเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยตัดวงจรชีวิตของหนอนกอ ขณะบางคนเชื่อว่าในฤดูแล้งหลังฤดูเก็บเกี่ยว ผีเสื้อหนอนกอจะไปวางไข่ไว้ที่ตอซังข้าวและต้นงวงช้าง แล้วกลายเป็นผีเสื้อเพื่อวางไข่อีกช่วงต้นฤดูทำนา อย่างไรก็ตาม พวกเขาบอกว่าถ้าปีไหนฝนตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำเพียงพอ ต้นข้าวจะเติบโต แข็งแรงก่อนระยะที่ไข่จะฟักเป็นตัว จึงไม่เกิดปัญหาใดๆ ส่วนใหญ่หนอนกอจะเป็นปัญหากับข้าวที่ปักดำช้า หรือปลูกไม่ทันมากกว่า

อย่างไรก็ดี เมื่อดาวเรืองรับรู้ข้อมูลว่าขณะนี้ ในต่างประเทศกำลังมีการพัฒนาข้าวจีเอ็มโอหลายสายพันธุ์ และหนึ่งในนั้นเป็นพันธุ์ที่ผลิตพิษฆ่าหนอนกอข้าว เขาเกิดความวิตกว่าหากข้าวที่โฆษณาว่ามีพิษหนอนกอเข้ามาขายก็จะยิ่งเกิดความสับสน เพราะคิดว่าจะต้องมีคนจำนวนมากอยากทดลองปลูก และหากผลิตพิษฆ่าหนอนกอได้จริงในระยะแรกก็ยิ่งจะมีคนชอบ โดยที่เรายังไม่รู้ผลกระทบของมันเลย เป็นต้นว่า สารพิษฆ่าแมลงที่ถูกใส่ลงไปในข้าวด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม อาจทำให้เกิดแมลงชนิดใหม่ที่ต้านทานต่อสารชนิดนั้นขึ้น แล้วจะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าจะให้ต้นข้าวเหล่านี้ต่อสู้กับโรคและแมลงศัตรูต่างๆ ด้วยตัวของมันเอง

ถาวร พิลาน้อย กับเมียและลูกชาย ทำไร่นาสวนผสมระบบเกษตรอินทรีย์อยู่ห่างจากโรงสีบ้านโสกฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร เรียกกันว่า บ้านโนนยาง

ที่นาผืนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิไว้ขาย ปลูกข้าวพื้นบ้านไว้กิน 5 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเล้าแตก ดอลาว หมาหอน ข้าวเหนียวแดง รวมถึง ข้าวศรีถาวร ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กำลังปรับปรุงขึ้นใหม่ และยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกข้าวเพื่อขยายพันธุ์อีกประมาณ 30 ชนิด ส่วนที่ดินอีกแปลงอยู่ห่างออกไปถึงชายป่า เป็นที่ดอนขนาดประมาณ 15 ไร่ ทดลองปลูกข้าวศรีถาวรไว้ 1 ไร่เศษ มอบให้ลูกชายดูแล

พ่อถาวรนั้นมีประสบการณ์ มีภูมิรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับข้าวอยู่กับตัว ทว่าไม่ได้เล่าเรียนในระบบจึงไม่ได้จดบันทึกข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบ ทางด้านแก่นคำหล้า หรือ ตุ๊หล่าง ลูกชาย วัย 22 ปี หลังจบชั้น ม.6 ก็เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรเต็มตัว ด้วยใจที่รักการทำไร่ทำนามาแต่เด็ก ทั้งยังสนใจเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มสันติอโศกตั้งแต่อายุ 18 ปี

ตุ๊หล่างเล่าถึงเหตุที่สนใจอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านว่า ในรุ่นตามาถึงรุ่นแม่ยังสืบทอดข้าวพื้นบ้าน เท่าที่จำได้ก็ข้าวดอลาว ข้าวหมากม่วย แต่ขาดช่วงไปเนื่องจากหันไปปลูกข้าวมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข 6 ซึ่งเป็นพันธุ์ปรับปรุงของทางการเหมือนคนอื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะโรงสีรับซื้อแต่ข้าวมะลิ 105 พอถึงปี 2540 เกิดภาวะฝนแล้งอย่างหนัก ได้ข้าวน้อยจนไม่พอกิน ฤดูต่อมา แม่ของเขาจึงต้องไปขอพันธุ์ข้าวดอ หรือข้าวเบาที่จะเก็บเกี่ยวได้เร็วมาปลูก เพื่อจะได้มีข้าวกินระหว่างฤดู ก่อนข้าวหนักหรือข้าวปีจะสุก

kawwasantara

ตอนนั้นทุกคนจึงเริ่มคิดว่าขืนปลูกข้าวเพียงสายพันธุ์เดียว ต่อไปโอกาสอดข้าวอาจเกิดขึ้นอีก จึงสนใจปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ ให้มีข้าวหลายระดับอายุ ตั้งแต่ เบา กลาง จนถึงหนัก จะได้ทยอยเก็บเกี่ยวตามกำลังแรงงานในครอบครัว และข้าวแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกัน เป็นต้นว่า ข้าวเบาสุกแล้วเมล็ดร่วงง่าย หากเกี่ยวไม่ทันจะเสีย เขาจึงไม่ปลูกมากนัก

ระยะต่อมาครอบครัวพิลาน้อยก็เริ่มปลูกไม้ยืนต้น ปลูกสมุนไพร ทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม แต่ขณะนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์และธาตุอาหารในดิน เพิ่งมาทำเต็มตัวในปี 2544 หลังจากตุ๊หล่างเรียนจบชั้น ม.6 และไปอบรมความรู้เพิ่มเติมเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ การทำน้ำหมักชีวภาพที่จังหวัดระยอง

ปี 2544 เป็นปีที่โสกขุมปูนจัดเวทีแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว ตุ๊หล่างตามพ่อไปร่วมงานและได้พันธุ์ข้าวพื้นบ้านมาเพิ่มอีกมาก อย่างเช่น ข้าวเล้าแตก หมาหอน อีโต่น เหนียวดำ นอกจากพันธุ์ข้าวที่ขอปัน ขอซื้อมาแล้ว ตุ๊หล่างยังได้เชื้อพันธุ์ข้าวอีกนับสิบ จากการขอพันธุ์ข้าวตัวอย่างที่คณะทำงานของชมรมรักษ์ธรรมชาตินำมาจัดบอร์ดนิทรรศการ ซึ่งเขาบอกว่าบางพันธุ์ขอมาได้เพียงสองสามเมล็ดเท่านั้น

แต่ข้อพึงระวังคือ สำหรับข้าวที่ได้จากคนอื่นบางครั้งจะมีข้าวปนอยู่มาก ดังนั้นก่อนที่สองพ่อลูกจะนำมาปลูกจึงต้องคัดเลือกอย่างละเอียด ทั้งจากลักษณะภายนอกและแกะเปลือกออกดูความสมบูรณ์ ดูลักษณะที่ตรงกับสายพันธุ์ จากนั้นค่อยนำเมล็ดข้าวกล้องไปเพาะกล้าต่อไป

ทั้งสองตั้งใจจะปลูกข้าวให้ได้หลากหลายสายพันธุ์ ขณะเดียวกันก็ต้องการศึกษาว่า ข้าวพันธุ์ใดเหมาะกับดินชนิดใดที่สุด เผื่อว่าขยายพันธุ์แล้ว จะได้แบ่งให้ญาติพี่น้องหรือคนที่ต้องการนำไปปลูก และยังสนใจการผสมพันธุ์ข้าว เพื่อปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติ

ข้าวศรีถาวร ที่เอ่ยถึงแต่ต้นก็เป็นผลผลิตจากพ่อพันธุ์คือ ข้าวเล้าแตก และแม่พันธุ์ ข้าว กข 6 ซึ่งตุ๊หล่างปรับปรุงพันธุ์ขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2544 จากนั้นก็คัดพันธุ์ปลูกต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ได้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 4 แล้ว

ตอนนั้นยังไม่รู้จักเทคนิคการผสมพันธุ์ข้าววิธีอื่น เคยได้ยินแต่ที่ตาผมบอกว่าให้เอาข้าวมาปลูกใกล้ๆ กันแล้วเก็บเมล็ดจากที่ออกรวงไปปลูก หรือวิธีผสมพันธุ์ข้าวแบบคนโบราณคือจะจับดอกข้าวมาใส่กัน คิดว่าน่าจะทำลองดู…ก็เลือกข้าวเหนียวพันธุ์เล้าแตกกับ กข 6 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์หนักเหมือนกัน ออกดอกช่วงเดียวกัน ข้าวเล้าแตกเป็นข้าวพื้นบ้านที่ให้ผลผลิตสูง แต่เมล็ดใหญ่และบางคนบอกว่ามันจะเหนียวมากเกินไป ส่วนข้าว กข 6 กลิ่นหอม อ่อนนุ่มดี แต่ปลายปีหุงกินจะแข็ง ผิดกับข้าวเล้าแตกยังคงนุ่มเหมือนช่วงต้นปี

วิธีการผสมเราก็แยกใส่กระถางมาอย่างละต้น วางให้รวงข้าวใกล้กัน เพื่อให้ดอกข้าวของทั้งสองต้นผสมเกสรกันตามธรรมชาติ เราไม่ได้ทำตามหลักวิชา วิธีนี้เราจะไม่รู้ว่าเมล็ดไหนถูกผสม (ข้ามพันธุ์) แล้ว เมื่อไม่รู้ว่าเมล็ดไหนถูกผสมก็เก็บมาเพาะทั้งหมด แล้วคัดเอาต้นที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นพ่อ-แม่ ผลที่ได้รุ่นแรก บางต้นก็เหมือนพ่อ บางต้นก็เหมือนแม่ แต่ต้นที่คัดมาปลูกขยายพันธุ์นี้ไม่เหมือนใคร ตุ๊หล่างอธิบาย

ลักษณะของข้าวที่ได้มาใหม่คือจะออกรวงช้ากว่าข้าว กข 6 และเมล็ดใหญ่กว่า แต่ขนาดของมันก็ยังเล็กและยาวกว่าข้าวเล้าแตก นอกจากนั้นลักษณะที่ดี คือ กลิ่นหอม หุงสุกแล้วนุ่มมาจากข้าว กข 6 ด้วย จึงน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดพอสมควร

วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรก ผมแค่อยากได้ข้าวพันธุ์ที่หอม กินอร่อย ส่วนความต้านทานโรคนั้นข้าวเล้าแตกมีความต้านทานดีอยู่แล้ว คิดว่าได้จากพ่อมาสักครึ่งก็พอใจ ปรากฏว่าออกมาดี…น่าพอใจ ข้าวที่คัดได้ทดลองปลูกรุ่นแรกจนถึงขณะนี้เป็นรุ่นที่สามก็ไม่มีปัญหาเรื่องโรค โดยเฉพาะหนอนกอข้าวที่เป็นศัตรูตัวสำคัญ หรือเพลี้ยไฟก็ไม่กลัว ปีนี้ก็มีเพลี้ยไฟระบาด แต่แปลงข้าว ศรีถาวร ไม่โดน เรื่องความสูงของต้นข้าว การแตกกอได้จากพ่อ (เล้าแตก) มาหมดเลย สำหรับข้าวรุ่นแรกจะแตกกอเฉลี่ยกว่า 20 ต้น จำนวนเมล็ดข้าวเฉลี่ยประมาณ 200 กว่าเมล็ดต่อรวง

kawlaotak
ข้าวเล้าแตก

หนุ่มนักวิจัยไทบ้านเล่าและบอกว่า ปีที่แล้วมีญาติมาลองกินข้าวที่ตั้งชื่อกันสนุกๆ ว่า ศรีถาวร แล้วพากันว่าอร่อย ข้าวที่ปลูกได้ก็ฝากให้ญาติๆ ไปกิน สำหรับความสม่ำเสมอของสายพันธุ์นั้นจะต้องรอดูต่อไปอีกสักปีสองปี

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

1 ความคิดเห็น

  1. Am 2532
    บันทึก กุมภาพันธ์ 3, 2556 ใน 21:36

    สู้ต่อไปครับคุณพี่ตุ๊หล่าง

แสดงความคิดเห็น