“แอร์แว” หมายถึง “แอร์” หมายถึงอากาศ “แว” เป็นภาษาอีสาน แปลว่าแวะ ในที่นี้ หมายถึงแวะไปแวะมาเอา 2 คำมารวมกัน หมายถึง อากาศแวะไปแวะมาในท่อ PVC ที่ตั้งขึ้น
หลักการทำงานของแอร์แว
เมื่อน้ำถูกสูบขึ้นมาจากหัวกระโหลกที่อยู่ใต้น้ำก็จะมีอากาศขึ้นมาด้วยซึ่งช่องว่างที่อยู่ในท่อ PVC ที่ตั้งขึ้นสูง ๆ จะมีอากาศแวะเข้าไปในท่อดังกล่าว และเมื่ออกากาศไม่มีที่ออกก็จะเกิดแรงดันเพิ่มมากขึ้นก็จะไปดันน้ำที่อยู่ในท่อออกมา ซึ่งอากาศก็จะไปเพิ่มแรงดันน้ำที่สูบขึ้นมามากยิ่งขึ้นประมาณ 30-40 % จึงเป็นเหตุทำให้แรงดันน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ
การติดตั้งระบบแอร์แวเพื่อช่วยส่งน้ำไปยังถังเก็บน้ำซึ่งติดตั้งอยู่ในระดับที่สูงและระยะทางการส่งที่ยาวไกลเดิมทีการส่งน้ำโดยใช้ปั๊มมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าเสียหายบ่อยครั้งและได้แรงดันน้ำน้อย เมื่อนำอุปกรณ์ติดตั้งระบบแอร์แวต่อพ่วงเข้าปรากฎว่าอายุการใช้งานของปั๊มมอเตอร์ไฟฟ้าจนถึงปัจุบันยังไม่พบความเสียหาย ตรงกันข้ามระยะเวลาที่ใช้ในการดูดและส่งน้ำให้เพียงพอกลับสั้นลง
สำหรับ ขั้นตอนการทำให้ใช้ท่อเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้วเป็นท่อหลัก ต่อเชื่อมด้วยท่อยางที่ไปเครื่องปั๊มน้ำ โดยห่างจากเครื่องปั๊มน้ำประมาณ 1 เมตร ใช้ผ่าท่อในแนวตั้งขึ้นโดยใช้ท่อขนาดใหญ่กว่าเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว สวมด้วยท่อต่อ 3 ทาง แล้วต่อเข้าด้วยกันพร้อมกับทากาวน้ำ ปิดปลายท่อให้แน่นหนากันการรั่วซึม ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน
หลังจากนั้นลองสูบน้ำเข้าไปสู่ ท่อน้ำ โดยกำหนดปลายให้เป็นท่อ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาดเล็กลดลงไป ตั้งแต่ท่อ 2 นิ้วและไปสู่ท่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว และปลายให้ใช้ตัวสวิง หรือท่อน้ำหยดก็ได้ ไม่มีปัญหาคอยระวังเพียงแค่การรั่วซึม เท่านั้น
จากเดิมที่เคยสูบน้ำ ไปสู่ไร่ได้เพียงแค่ระยะ 200-300 เมตร เมื่อใช้ ระบบ “แอร์แว” ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ปรากฏว่า น้ำสามารถพุ่งกระฉูด! ปรู๊ดปร๊าด! (พุ่งออกมาอย่างแรงและเร็ว) ได้ไกลอย่างมากสามารถต่อท่อออกไปเกินกว่า 2 กิโลเมตร ปริมาณน้ำก็ยังไหลออกไปได้เป็นอย่างดี
ต้นทุนการผลิตที่ลง ไปเพียงแค่ค่าเครื่องปั๊มน้ำ 2,000 กว่าบาท ค่าท่อและข้อต่อกับกาวอีกประมาณ 1,000 กว่าบาท เท่านี้ท่านจะได้สูบน้ำไปสู่ไร่ได้แล้ว
หากต้องการให้ ปริมาณน้ำไหลไปให้ไกลกว่า 2 กิโลเมตร ให้เพิ่มความสูงของท่อแนวตั้งเข้าไปอีก
นักวิจัยชาวบ้านค้นพบเทคโนโยลี แอร์แว หรือระบบการเพิ่มแรงดันเครื่องสูบน้ำ เผยแก้ปัญหา ขาดแคลนน้ำ ที่เรื้อรังมาเนิ่นนาน ชาวบ้าน นักเรียนได้เฮ ไม่ต้องเสียเวลาเข็นรถไปตักน้ำวันละหลายชั่วโมง
นายกล พรมสำสี หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษารูปแบบการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด : กรณีบ้านผาชัน ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการที่ทีมวิจัยท้องถิ่นบ้านผาชัน ได้พยายามศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของหมู่บ้านร่วมกัน ทีมวิจัยได้ค้นพบเทคโนโลยีที่ชาวบ้านเรียกกันว่า แอร์แว ซึ่งเป็นระบบเพิ่มแรงดันเครื่องสูบน้ำให้มีแรงส่งสูงขึ้น โดยการค้นพบครั้งนี้นับว่าสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาเป็นการขาดแคลนน้ำกิน-น้ำใช้ของหมู่บ้านที่เรื้อรังมานาน
หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า แม้ว่าบ้านผาชันจะตั้งอยู่ติดกับลำน้ำโขง แต่ที่ผ่านมาหมู่บ้านแห่งนี้กลับต้องประสบปัญหาการขาดแคลนทั้งน้ำกิน-น้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นหิน และมีความลาดเอียงสูง พื้นดินไม่สามารถดูดซับน้ำจากธรรมชาติเอาไว้ได้ ในขณะที่การดึงน้ำจากแม่น้ำโขง และบุ่งพระละคร อ่างเก็บน้ำธรรมชาติข้างริมน้ำโขงขึ้นมาใช้ ด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากระดับที่ตั้งชุมชนสูงกว่าแหล่งน้ำ รวมทั้งระยะทางส่งน้ำค่อนข้างไกล ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหายบ่อยๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูง
แหล่งน้ำที่ชาวบ้านพึ่งพาได้ คือ ลำห้วยน้ำซับขนาดเล็กที่บริเวณชายป่านอกหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลาไปกลับนานกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ชาวบ้านยังต้องตื่นไปเข้าคิวตักน้ำกันตั้งแต่เช้าตรู่ และบางครั้งยังต้องไปรอให้น้ำซึมออกมาเป็นเวลานาน แม้แต่เด็กนักเรียนก็ต้องมีการจัดแบ่งเวรไปตักน้ำเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนทุกวัน ซึ่งเด็กไม่เพียงเสียเวลาในการเรียน แต่ยังกระทบถึงหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย โดยเฉพาะวิชาเกษตรที่ต้องใช้น้ำต้องงดสอน
ที่ผ่านมาชุมชนและหน่วยงานภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด อาทิ การขุดบ่อบาดาลแต่ไม่พบแหล่งน้ำเพราะพื้นด้านล่างเป็นหิน การขุดบ่อน้ำตื้น แต่ปริมาณน้ำไม่มากนัก รวมทั้ง การจัดทำระบบประปาชุมชน ด้วยการทำถังน้ำขนาดใหญ่กลางหมู่บ้าน และสูบน้ำจากบุ่งพระละคอน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติริมแม่น้ำโขง แต่ก็ประสบปัญหาหามอเตอร์สูบน้ำมีกำลังไม่สูงพอที่จะสูบน้ำได้ เพราะที่ตั้งของแหล่งน้ำต่ำกว่าที่ตั้งของชุมชน เครื่องสูบน้ำจึงเสียหายบ่อย ชุมชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
การค้นพบ แอร์แว อันเป็นศัพท์แสงที่ได้มาจากการชาวบ้านเรียกกันขำ ๆ ว่า แอแวะ เป็นการปล่อยให้อากาศ แวะ เข้าไปในน้ำเพื่อช่วยเพิ่มแรงดันนั้นได้มาจากการเสนอความคิดของชาวบ้านคนหนึ่งในเวทีประชาคมหมู่บ้าน นายกล เล่าถึง สิ่งที่ค้นพบว่า
ในเวทีประชุม เราระดมความคิดเห็นกันว่า ทำอย่างไรจะสูบน้ำมาใช้โดยไม่ให้เครื่องสูบน้ำมีปัญหา ก็มีชาวบ้านคนหนึ่ง เล่าว่าตอนเขาสูบน้ำรดต้นไม้ เห็นสายยางขาดทำให้สายยางมันสะบัดไปมา แล้วน้ำมันก็พุ่งแรงขึ้น….แกเลยเสนอให้ทีมวิจัยทดลองเจาะรูท่อน้ำแล้วลองต่อท่อ…ครั้งแรก ๆ เจาะรูเดียวแล้วก็ทดลองสูบก็ไม่ได้ผล น้ำไม่ขึ้น …จึงลองเจาะ 2 รู ดูเหมือนจะเริ่มได้ผล เราก็ลองขยับระยะห่างระหว่างท่อแอร์แวทั้งสองอัน….ทดลองอยู่หลายครั้ง เพราะต้องให้ได้ระยะพอดีไม่ห่างเกินไป หรือ ใกล้กันเกิน ต่อมาก็พบว่าระยะห่างที่ลงตัวที่สุดคือ ตัวท่อแอร์แวยาว 1 เมตร และระยะห่างระหว่างท่อทั้ง 2 อันอยู่ที่ 30 เซนติเมตร
จากข้อค้นพบนี้ทำให้ชาวบ้านจำนวน 134 ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนประชากรรวม 600 ชีวิต มีน้ำสำหรับดื่มกิน และใช้ในชีวิตประจำวันอย่างพอเพียง ทุกวันนี้ คนผาชันมีน้ำใช้ทุกครอบครัว ซึ่ง น้ำ จะมาจาก 2 ส่วนคือ น้ำจากฝายหรือระบบประปาภูเขาที่จะถูกปล่อยลงมาในช่วงฤดูฝน อีกส่วนจะเป็นน้ำจากประปาชุมชน คือน้ำที่สูบขึ้นมาจากบุ่งพระละคอน ด้วยเครื่องสูบน้ำที่ถูกเสริมสมรรถนะด้วย แอร์แว อันเป็นนวัตกรรมการสูบน้ำซึ่งมาจากการค้นพบของชาวบ้านผาชัน
วัสดุที่ใช้ ทำแอร์แว (ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดท่อที่ออกจากปั๊ม) หากปั๊มน้ำที่ใช้ขนาด 1 นิ้ว วัสดุที่ใช้ดังนี้
1.ท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว ความยาว 150 ซม. จำนวน 2 ท่อน
2.ท่อ PVC ขนาด 1 นิ้ว ความยาว 50 ซม จำนวน 1 ท่อน
3.ข้อต่อ 3 ทางขนาด 1 นิ้ว 2 อัน
4.ข้อต่อตรง 2 นิ้วลด 1 นิ้ว 2 อัน
5.ฝาปิดท่อ ขนาด 2 นิ้ว 2 อัน
ประกอบเข้าด้วยกัน ติดกาวให้แน่น ๆ ทิ้งไว้ 24 ชม.ก่อนนำไปใช้ให้แน่ใจว่ากาวแห้งจริง ๆ
แอร์แว เมื่อนำไปต่อเข้ากับปั๊มน้ำจะช่วยทำให้ประหยัดไฟฟ้า หรือน้ำมันลงได้มาก เพราะว่าปั๊มน้ำจะไม่ได้ทำงานหนักมากเหมือนเดิม
ป้ายคำ : แอร์แว
ทดลองทำแล้วไม่ช่วยเพิ่มแรงดันเลย เสียเงินไปเปล่าประโยชน์
มันไม่ของใหม่หรอกการต่อแบบนี้ที่จันทบุรีบ้านผมเห็นมาเกือบ40ปีแล้วครับ
เห็นหลายที่ก็ทำได้นะคะ ลองปรับดูเนาะ?