โครงการศิลปาชีพ

12 สิงหาคม 2559 ศาสตร์พระราชา 1

ศิลปาชีพ หมายถึง การส่งเสริมให้คนไทยในภูมิภาคต่างๆ ผลิตงานด้านศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก งานศิลปาชีพอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้พระราชทานกำเนิดแก่มูลนิธิ ทรงเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ นอกจากจะเป็นการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและราษฎรผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทย และพัฒนาคุณภาพของฝีมือให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสรรค์งานฝีมือชิ้นเยี่ยมไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของศิลปาชีพ เริ่มต้นจากความสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมของราษฎร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนหมู่บ้านต่างๆ ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในต่างจังหวัด พระราชดำริครั้งแรกในการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมมีขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ระหว่างประทับที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่หมู่บ้านเขาเต่า และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงชักชวนให้หญิงชาวบ้านหัดทอผ้าฝ้ายขาย โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดหาครูทอผ้าจากจังหวัดราชบุรีมาช่วยสอนให้ ปรากฏว่า กิจการทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่นพื้นเมืองดำเนินไปด้วยดีพอสมควรถือได้ว่า เป็นพระราชกรณียกิจแรกทางด้านการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมแก่ราษฎร ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มขึ้น

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้เกิดอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ภายหลังน้ำลดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนและพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎร มีราษฎรมารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่นจากหลายๆ อำเภอ ปรากฏว่า หญิงชาวบ้านแทบทุกคนนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ซึ่งมีความสวยงามต่างๆกันสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรผ้าไหมเหล่านั้นด้วยความสนพระราชหฤทัยยิ่ง ทรงสอบถามราษฎรจนได้ความว่า ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้กันเองแทบทุกครัวเรือน ไม่ได้ทอขาย นอกจากทอให้ลูกหลานยามออกเรือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า การพระราชทานสิ่งของให้แก่ชาวบ้านนั้นเป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ควรจะหาวิธีที่ช่วยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่า ชาวบ้านมีความรู้ความสามารถในการทอผ้าไหมมัดหมี่อยู่แล้ว หากจะส่งเสริมให้ทอเพิ่มขึ้นจากที่เคยทอไว้ใช้เอง ก็จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม จึงทรงชักชวนให้ชาวบ้านเริ่มทอผ้าไหมมัดหมี่ขายโดยทรงรับซื้อไว้เองทั้งหมดและเพิ่มราคาให้สูงกว่าท้องตลาด ในเวลานั้น ผ้าไหมมัดหมี่ยังไม่ค่อยมีคุณภาพ มักมีลักษณะแคบ สั้น และส่วนใหญ่สีตก แต่ที่ทรงรับซื้อไว้ก็เพื่อจูงใจให้ชาวบ้านมีกำลังใจทอผ้าไหมต่อไป พร้อมกันนั้น ก็พระราชทานคำติชม และข้อแนะนำต่างๆ ให้ราชเลขานุการในพระองค์นำไปแจ้งแก่ชาวบ้าน จนผ้าไหมมัดหมี่ค่อยๆพัฒนาคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ จึงเป็นที่ต้องการของประชาชนทั่วไป หลังจากนั้นโครงการส่งเสริมการทอผ้าไหมก็ได้ขยายออกไปตามหมู่บ้านต่างๆของจังหวัดทางภาคอีสาน และโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเสริมการทอผ้าไหมพื้นเมืองทุกชนิด ทั้งผ้าไหมสีพื้นและผ้าไหมลายพื้นเมืองต่างๆ นอกเหนือจากผ้าไหมมัดหมี่ เช่น ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมลายลูกแก้ว ผ้าไหม แพรวา ผ้าไหมลายขิด ชาวบ้านที่ทอผ้าไม่เป็น ก็โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทรงรับซื้อเส้นไหมนั้นส่งไปให้ผู้ที่ไม่ได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แต่มีความสามารถในการทอเป็นผู้ทอแทน จนการทอผ้าไหมกลายเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพที่ทำรายได้ ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางที่สุดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้

silapacheptor

ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จัดสรรที่ดินที่หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี ให้ราษฎรได้อาศัยทำไร่เป็นอาชีพ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านชาวหุบกะพงให้มีรายได้เพิ่มเติม ด้วยการนำป่านศรนารายณ์ ซึ่งเป็นพืชในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นสินค้าหัตถกรรมต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ หมวก พัด รองเท้าแตะ และของใช้อื่นๆอีกหลายอย่าง โดยได้รับความร่วมมือจากกองอุตสาหกรรมสิ่งทอ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งครูไปช่วยแนะนำ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์จนสามารถผลิตเป็นสินค้าออกสู่ตลาดได้

ในปีพ.ศ.๒๕๑๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยทรงมีพระราชดำริและพระราโชบายสอดคล้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอันที่จะยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มโครงการให้ราษฎรโดยเฉพาะชาวนาในท้องถิ่นชนบททำอาชีพเสริมโดยใช้เวลาว่างจากการ ทำนาทำไร่มาทำงานศิลปาชีพ และเซรามิกก็เป็นหนึ่งในงานศิลปาชีพที่ทรงริเริ่ม จากเดิมที่ราษฎรไม่มีความรู้ใด ๆ ในงานผลิตเซรามิกเลย กรมวิทยาศาสตร์บริการ เริ่มเข้าไปสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2527 เป็นเวลานานติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี บัดนี้ราษฎรเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในงานผลิตเซรามิกได้มากเพียงพอที่จะผลิตงานรูปแบบต่าง ๆ ออกจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมสมดังพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ
ในระยะต่อมา กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ขยายพื้นที่การทำงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเซรามิกให้แก่ศูนย์ศิลปาชีพฯ จากเดิมเพิ่มเป็น 7 แห่ง ทั้งภาคเหนือ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำฯ และศูนย์ศิลปาชีพบ้านทุ่งจี้ จังหวัดลำปาง , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร, ภาคกลาง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง , ภาคใต้ ได้แก่ ศูนย์ศิลปาชีพพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านรอตันบาตูอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ

การถ่ายทอดเทคโนโลยีในระยะต่อมาจะเป็นการนำองค์ความรู้ใหม่ไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิก การอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรที่จัดอบรมจะเป็นการนำผลงานวิจัยใหม่ ๆ ไปเผยแพร่ รวมถึง การอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กรอันจะส่งผลให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น มีการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่องการทำงานกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างประหยัด อบรมความรู้ให้สมาชิกมีความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตได้ด้วยตนเองเพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้แล้วยังได้ให้การสนับสนุนวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ประจำเพื่อให้คำแนะนำในการทำงาน นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาความรู้ด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การจัดทำบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมการขาย

silapachepkea

การดำเนินโครงการศูนย์ศิลปาชีพในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นโครงการฯ ที่มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกของศูนย์ศิลปาชีพฯ ให้สามารถดำเนินการด้านกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาศักยภาพของสมาชิกให้สามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ สวยงามเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้สมาชิกมีงานทำ มีรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและชุมชนทั้งเรื่องเศรษฐกิจครัวเรือนและความเข้มแข็งของชุมชน

ศูนย์ศิลปาชีพที่ได้จัดตั้งขึ้น
๑. โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา อยู่ภายในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ นอกจากจะมีโรงฝึกศิลปาชีพเพื่อฝึกหัดหัตถกรรมไทยแขนงต่างๆแก่นักเรียนซึ่งเป็นบุตรหลานของราษฎรที่มีฐานะยากจน และมีหน่วยก้านดีพอที่จะสนับสนุนให้เรียนทางด้านศิลปหัตถกรรมในขั้นที่ยากขึ้นแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานของเจ้าหน้าที่และสมาชิกศิลปาชีพทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางรับซื้อ เก็บรักษา และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทั้งหมด รวมทั้งเป็นที่ทำการของกองศิลปาชีพ สำนักราชเลขาธิการด้วย
๒. ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ รับเกษตรกรที่มีฐานะยากจนจากจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาฝึกอบรมในด้านศิลปาชีพสาขาต่างๆประมาณ ๓๐ สาขา นอกจากนี้ ยังมีแผนกเกษตรกรรมเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มาฝึกอบรมด้านศิลปาชีพให้มีพื้นฐานความรู้ด้านเกษตรกรรมด้วย
silapachepbang
๓. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อยู่ที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ ๒๕๒๖ บนที่ดินประมาณ ๕๐ ไร่ เพื่อส่งเสริมศิลปาชีพประเภทต่างๆ โดยเริ่มจากเครื่องปั้นดินเผา ต่อมาก็ขยายไปยังศิลปหัตถกรรมสาขาอื่นๆ เช่น แกะสลักไม้ ทำเครื่องเรือน ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ตัดเย็บเสื้อผ้า ทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย หล่อโลหะ
๔. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร อยู่ที่บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อส่งเสริมอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ต่อมาได้ขยายการดำเนินงานของศูนย์ โดยเปิดสอนศิลปาชีพต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น การทำเครื่องเรือน การตัดเย็บเสื้อผ้า การปักผ้า การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การถักไหมพรม
๕. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตำ อยู่ที่บ้านแม่ต๋ำ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ งานศิลปาชีพประเภทแรกที่เริ่มฝึกสอนคือ การทอผ้าฝ้าย หลังจากนั้นได้ขยายไปถึงการทำเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม การจักสานไม้ไผ่
๖. ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ มีการฝึกสอนศิลปาชีพหลายประเภท เช่น จักสานหวาย จักสานไม้ไผ่ ทอผ้าไหม ตัดเย็บเสื้อผ้าตุ๊กตาชาวเขา ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องหนังและของชำร่วย สมาชิกของศูนย์ฯ แบ่งเป็นสมาชิกชั่วคราว และสมาชิกประจำ ผู้ที่เป็นสมาชิกชั่วคราว เมื่อเรียนจบแล้วก็กลับไปประกอบศิลปาชีพที่บ้าน ส่วนผู้ที่เป็นสมาชิกประจำซึ่งเป็นสมาชิกฝีมือดี ทางศูนย์ฯ จะจ้างไว้เพื่อผลิตงานที่ศูนย์ฯ
๗. ศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อยู่ในบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน จัดวิทยากรไปทำการฝึกอบรมในระยะแรก เป็นศูนย์ที่เน้นในด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยเฉพาะ
๘. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง อยู่ที่บ้านเนินธัมมัง หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในจังหวัดนครศรีธรรมราช และในพื้นที่ใกล้เคียง เสริมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดสอนการทอผ้าฝ้าย การปักผ้าด้วยมือ การถักโครเชต์ และการจักสานกระจูด

นอกจากศูนย์ศิลปาชีพต่างๆแล้ว ยังมีโครงการศิลปาชีพอีกมากกว่า ๒๐๐ โครงการ กระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ใด หากทรงพบว่ามีราษฎรยากจน ก็จะทรงรับไว้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ และให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพขึ้นในหมู่บ้านนั้นๆ โดยพิจารณาจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ประกอบกับความสามารถทางศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวบ้านเป็นหลัก

silapacheptr

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น