ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เราทำให้มันยากเองและอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้คือ ใช้เวลาไม่มากนักในการหากินมันเหลือกินแล้ว แต่เราใช้เวลาเยอะมากในการหาเพื่อครอบครัว ฉะนั้นใช้ชีวิตให้ง่ายดีกว่า หลังจากนั้นมาผมก็เชื่อในเรื่องชีวิตนี้มันง่ายมาตลอด ทำไมต้องทำให้มันยาก ก็เลยเปลี่ยนชีวิตผมมาตลอดเลย
ไปอยู่บ้านผมยิ่งสบาย ผมพยายามที่จะพูดกับคน คนที่เย็บหมอนที่บ้านว่าทำหมอน หมอนพวกสามเหลี่ยม หมอนหนุน เย็บหมอนทั้งวันทั้งคืนเพื่อที่มีเงินไปซื้ออาหารจากตลาดมา วันเดียวหมดมื้อเดียว
โจน จันได มนุษย์บ้านดินคนแรกของเมืองไทย วันนี้มาในชุดกางเกงเลสีดำสบายๆ กับเสื้อกันหนาวสีดำหม่นๆ มอๆ เหมือนมีเศษหญ้าเศษดินติดมาจากเชียงใหม่ พี่แกเพิ่งลงจากเครื่องสดๆ เพื่อมางานนี้ และมีคิวอัดรายการทีวี ก่อนจะบินกลับเชียงใหม่ภายในวันเดียว
ในระยะประชิด สายตาที่มองเห็นตรงหน้าคือชายผู้ผิวกายกร้านแดดเหมือนชาวไร่ชาวนาตามชนบททั่วไป ดวงตาปรานีทว่าแฝงแววมุ่งมั่นจริงจัง น้ำเสียงโอบอ้อมอารีเป็นมิตร ขณะสนทนา สายที่ก้มมองพื้น บังเอิญเห็นเท้าของพี่โจนเล่นเอาตกตะลึงไม่น้อย
รองเท้าแตะยี่ห้อดาวเทียมสีเหลืองที่ดูแข็งแรงทนทานเหมาะกับเท้าอันทำงานหนักของชาวไร่ชาวนา ที่ตะลึงคือ หูคีบรองเท้าด้านขวาหลุดขาด (ตามปกติของรองเท้าชนิดนี้ที่มักขาดตรงหูคีบก่อนเสมอ) พี่แกใช้ผ้าร้อยรัดแทนและสวมใส่มันปกติ
เห็นแล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงผู้คนตามต่างจังหวัด หากมองว่าประหยัดหรือขาดแคลนก็คงไม่ผิด แต่นี่ไม่ใช่หรือคือการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าที่สุด
รองเท้าของพี่โจนทำให้นึกถึงคำพูดของใครสักคนที่บอกว่า รองเท้า ชื่อก็บอกว่าเอาไว้รอง เท้า ไม่ใช่ รองเกียรติ พินิจดูตามความเป็นจริงก็ใช่
เหมือนกัน – เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม หากจะว่ากันตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ก็เพียงเพื่อปกปิดร่างกายไม่ให้ดูอุดจาดตา เท่านั้นเอง
ปฏิเสธได้หรือว่า ทุกวันนี้มนุษย์บริโภคสิ่งของผิดความหมายตามที่มันควรจะเป็น
วันนี้พี่โจน จันได มาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่เหมือนว่าได้ค้นพบวิถีใหม่ให้กับชีวิต
ทำงานบ้านดินมา 10 ปี รู้สึกว่าเหนื่อย จึงอยากพัก บ้านดินทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สิ่งที่อยากทำจริงๆ ในตอนนี้ คือการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแท้ๆ การเก็บเมล็ดพันธุ์มีความสำคัญกว่าการทำบ้านดิน เพราะความรู้ในการทำบ้านดิน เรียนรู้ได้ง่าย ทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เมล็ดพันธุ์นับวันจะหายไปจากโลกทุกวัน การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ต้องรีบทำ ไม่อย่างนั้นจะหายไปจากโลก ต้องเร่งรีบเก็บรักษาไว้
ด้วยความคิดนี้ พี่โจนหาซื้อที่ดินที่อำเภอแม่แตง และลงมือปลูกพืชผัก ตั้งชื่อว่า ไร่พันพรรณ มีคนอาศัยและช่วยงานอยู่ 7-8 คน เป็นครอบครัวเล็กๆ มีแขกแวะเวียนไปเยี่ยมบ้าง บางคนทำงานในเมืองมานาน เบื่อหน่ายเมือง เบื่อหน่ายตัวเอง และอยากไปทดลองใช้ชีวิต ก็มาขออาศัยอยู่ที่ไร่
ที่ไร่ไม่มีทีวี ไม่มีหนังสือพิมพ์ (ก่อนขึ้นเวทีพี่โจนบอกว่า ไม่ได้อ่านหนังสือมานาน)
ทั้งคนไทย ทั้งฝรั่ง ต่างผลัดเปลี่ยนกันมาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบสมถะกับพี่โจน
เราเน้นการพึ่งตนเองด้วยปัจจัยสี่ อาหาร บ้าน ผ้า และยา เรามีความเชื่อว่าชีวิตที่พัฒนาที่ดีที่สุด ชีวิตที่มีความสุขที่สุดคนต้องเข้าถึงปัจจัยสี่ได้ง่ายที่สุด แต่การพัฒนาทุกวันนี้รู้สึกว่ามีแต่เลวลง แย่ลง
ทุกวันนี้คนกว่าจะได้บ้านหลังหนึ่ง ต้องทำงานเก็บเงินเป็นยี่สิบสามสิบปี แสดงว่าแย่มาก อาหารก็แพงขึ้น และไม่มีความปลอดภัยเลย เราไม่รู้ว่าเขาเอาอะไรมาให้เรากิน การพัฒนาที่เป็นอยู่ ชีวิตที่คนทุกวันนี้เป็นอยู่เป็นสิ่งที่หาสาระไม่ได้เลย เราทำไปด้วยความงมงาย ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราว ทำชีวิตให้ยากขึ้นๆ ๆ ๆ จนลืมไปว่าชีวิตเกิดมาทำไม ครอบครัวเป็นยังไง มีความสำคัญยังไง ธรรมะคืออะไร ความสุขเป็นยังไง ไม่มีใครสอนเลย คนมีแต่ซื้อๆๆๆ เพื่อให้มีความสุข แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นมั้ย
คนบอกว่าอยากมีเสรีภาพ ต้องมีโทรศัพท์มือถือ ต้องมีอะไรมากมาย และจะมีเสรีภาพอย่างที่เขาโฆษณา แต่ความจริงมันคือเสรีภาพจริงๆ มั้ย
สุดท้าย เราก็เลยกลับมาชีวิตว่า ชีวิตที่มีความสุข คือชีวิตที่ง่าย บริโภคน้อยลง พึ่งตนเองได้ เราก็เลยกลับมาที่ปัจจัยสี่ อาหาร บ้าน ผ้า และยา
มนุษย์ต้องหาเงินเป็นแสนเป็นล้านเพื่อให้มีบ้านสักหลัง ขณะที่ นก หนู สามารถทำรังได้ในวันเดียว
เมื่อมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าฉลาดที่สุดในโลก แต่ทำไมเราทำในสิ่งที่โง่ที่สุด
พี่โจนบอกว่ามันผิด ถ้ายากแสดงว่ามันผิด
อย่างการมีอาหาร คนทำงานในเมืองวันละ 8-12 ชั่วโมงแต่ไม่พอกินสำหรับคนเดียว ทำเพื่ออะไรกัน แต่ผมทำสวนวันละ 30 นาที ผมมีอาหารเลี้ยงคน 7-8 คนได้สบาย ง่ายมากเลย นี่คือความง่าย
บางคนซื้อเสื้อผ้าตัวละเป็นพันสองพัน ทำงานกี่เดือนถึงจะได้เสื้อ ทำไมต้องทำให้มันยาก เราหลอกตัวเอง เราทำให้ชีวิตมันยากขึ้นๆ อย่าลืมว่าคนเรามีชีวิตไม่ยาวนักบนโลกนี้ อีกไม่นานก็ตายแล้ว แต่ทำไมเราเอาเวลาที่มีค่าสูงสุดมาทำสิ่งไร้สาระไม่เป็นประโยชน์กับตัวเรา
ใส่เสื้อผ้าสวยๆ รู้สึกยังไง ใส่เสื้อผ้าสวยแค่ไหน คนไม่สวยก็ไม่สวยเหมือนเดิม ไม่มีดั้งก็ไม่มีเหมือนเดิม เราหลอกตัวเอง หลอกคนอื่นทำไม
อยากให้เห็นว่าชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าง่ายไม่ได้ มีความสุขไม่ได้ ความง่ายก็คือสิ่งที่เราได้มาโดยไม่ยากและก็ไม่เป็นทุกข์
จากบ้าน เสื้อผ้า มาถึงเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่
พี่โจน จันได กำลังสนุกกับการปลูกพืชและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ เก็บแบบบ้านๆ ไม่ต้องพึ่งห้องแลปแบบวิทยาศาสตร์
ไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีมากเกินไป เพราะเราเก็บจากชาวบ้าน เก็บจากชีวิตประจำวัน ปลูกไปด้วย กินไปด้วย คัดเลือกไปด้วย เก็บพันธุ์ไปเรื่อยๆ พยายามที่จะแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้ชาวบ้านไปเรื่อยๆ เราจะรักษาในลักษณะนี้
พี่โจน จันได บอกว่า อยากให้คนหันมาเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านไว้ให้เยอะขึ้น อย่างมีสัก 10 คน หายไป 3 คนก็ยังเหลืออีก 7 ดีกว่าไม่มีใครเก็บเลย
ทำไมต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์
การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แท้ พันธุ์พื้นบ้านเป็นสิ่งสำคัญ เพราะธุรกิจทุกวันนี้เอาเมล็ดพันธุ์ผสมมาให้เราปลูก ต่อไปถ้าเราไม่เก็บเมล็ดพันธุ์เอง เราต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์จากบริษัทตลอด และถ้าบริษัทขึ้นราคาเมล็ดพันธุ์ เราก็ต้องซื้อเขา
มีตัวอย่างชาวบ้านที่ยโสธร (บ้านเกิดพี่โจน จันได) ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แตงโมกิโลกรัมละ 12,000 บาท -ให้ตายสิ!!!
พี่โจน จันได มองว่าเราต้องกลับมาคิดเรื่องเมล็ดพันธุ์กันใหม่
ใครยึดครองเมล็ดพันธุ์ได้ คนนั้นครองโลก
คำพูดนี้คงไม่เกินเลยนัก เพราะดูจะสอดคล้องกับที่เห็นและเป็นอยู่ บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่พยายามแย่งชิงพันธุ์พืช มีการขโมย มีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ มีการทดลองดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์พืช เพื่อจะเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว บริษัทยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยผู้ที่บอกว่าจะเป็นเจ้าของประเทศนี้ก็กำลังรุกคืบผลิตอาหารทุกอย่าง เดินไปตามท้องถนนคงเห็นป้ายโฆษณา รวมถึงการกระหน่ำยิงสปอตทางทีวี วิทยุ ตู้ขายอาหารริมทางของบริษัทนี้ก็มีเกลื่อนกลาด
ทำไมต้องทำเช่นนั้น
ก็เพราะอาหารเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ไม่มีเงินยังอยู่ได้ แต่ไม่มีอาหารจะอยู่ได้สักกี่วัน
ชีวิตเราล่อแหลมต่อการล่มสลายมาก เราบริโภคกันจนไม่รู้จะบริโภคยังไงแล้ว เงินไม่มีความมั่นคงต่อไปอีกแล้ว แต่สิ่งที่มั่นคงคืออาหาร กินเมื่อไหร่ก็ได้ อาหารต่างหากที่มีความมั่นคง
พี่โจน จันได ยกตัวอย่างไฟฟ้าาดับครั้งใหญ่ในอเมริกา เจ้าของธุรกิจต้องนั่งนอนตามท้องถนน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำงานไม่ได้ ขึ้นลิฟท์ไม่ได้ กินไม่ได้ เพราะมีแต่เงิน…ไม่มีใครขายอาหารให้
ไม่ว่ามนุษย์จะพัฒนาเทคโนโลยีไปไกลสุดขอบจักรวาล แต่สุดท้ายแล้ว ก็หนีไม่พ้นต้องกลับมาสู่เรื่องอาหารการกิน ชีวิตถึงจะมีความสุขได้
เราจะวิ่งตามเงินหรือมีความสุขอยู่กับตัวเอง
คำถามช่างยอกย้อนใจคนที่กำลังสับสนอยู่ในวังวนของเมืองดีแท้
คนจะมีความสุขไม่ได้ มีเสรีภาพไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ ถ้าไม่มีเมล็ดพันธุ์
คำพูดของพี่โจน จันไดทำให้ต้องก้มลงมองผืนดินที่กำลังเหยียบยืน พร้อมด้วยคำถามมากมายในหัว
เมล็ดพันธุ์เป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษส่งต่อมาให้ลูกหลาน เรามีมะม่วงหลากหลายชนิดกิน มีพืชผักผลไม้อะไรอร่อยๆ มากมายกินก็เพราะการทำงานหนักของบรรพบุรุษที่จะรักษาตรงนี้ไว้ ถ้าเราไม่รักษาไว้ เราจะเป็นมนุษย์รุ่นสุดท้ายที่เนรคุณที่สุด เพราะเรากำลังทำลายเมล็ดพันธุ์
เราคงยังไม่อยากถูกตราหน้าว่าเนรคุณ ใช่มั้ย
ดินที่เต็มไปด้วยพันธุ์พืช นั่นคือสวรรค์ พี่โจนสรุปสิ่งที่สัมผัสได้จากการอยู่กับดิน
เอาเงินมากมายไปปลูกต้นไม้ ดีกว่าไปฝากธนาคาร เพราะปลูกต้นไม้ยังได้เจริญเติบโต เป็นประโยชน์ ให้ผลผลิตได้กินไม่มีที่สิ้นสุด
มนุษย์ผู้ปลีกตัวไปสู่ความเรียบง่าย สมถะทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยชีวิตบนโลกใบนี้ว่า
เราต้องเพาะปลูกพันธุ์พืช ปลูกเพาะเมล็ดพันธุ์ในใจของเรา เพื่อให้ยืนยาวต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
พุทธวจนะตรัสไว้ว่า เวลาผ่านไป เรากำลังทำอะไรอยู่
ป้ายคำ : ปราชญ์, เมล็ดพันธุ์
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ