ไทชิ (Tai Chi) เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่นำการฝึกลมปราณและสมาธิมารวมกัน เป็นรูปแบบการบำบัดทางร่างกายและจิตใจที่เรียกว่า mind-body therapy มีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่าไทชิช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพปรับสภาวะทางจิตใจ ลดความเครียด ชะลอความแก่ และเพิ่มการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด (Wang et al, 2004) ไทชิเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่าย ประหยัด และไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษใดๆและแม้ไทชิจะเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่มี ความเร็วในการเคลื่อนไหวต่ำ(low velocity) แต่มีระดับความหนักในการใช้พลังงานเทียบเท่ากับการออกกำลังกาย แบบแอโรบิกในระดับปานกลาง (moderate intensity) (Lan et al, 2008) ซึ่งน่าจะส่งผลกระตุ้นต่อการเมทาบอลิสมต่างๆในร่างกายเช่นเดียวกับการออกกำลังกายแอโรบิกแบบอื่นและอีกทั้งไทชิเป็นการออกกำลังกายแบบไร้แรงกระแทก นุ่มนวล และปลอดภัย ไทชิจึงน่าจะเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในการส่ง เสริมเมทาบอลิสมในร่างกาย การไหลเวียนของกระแสเลือดและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ไทชิ เป็นการออกกำลังกายอย่างนุ่มนวล และเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของมวยจีน ที่เน้นการการผ่อนคลายและการกำหนดลมหายใจเข้าลึก-ออกยาว มากกว่าการเคลื่อนไหวร่างกายภายนอกที่เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่าง เดียวเท่านั้น เพราะการออกกำลังแบบไทชิ จะเริ่มต้นการปฏิบัติตนด้วยการควบคุมจิตใจ ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เกิดสมาธิที่ยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดพลังในร่างกาย ที่แปรเปลี่ยนไปช่วยอวัยวะต่างๆ ให้ไม่เสื่อมเร็วและแข็งแรง ยามที่คุณเริ่มมีอายุย่างเข้าสู่วัยชรา
การออกกำลังกายในลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ นี้ จะทำให้การหมุนเวียนของโลหิตและการหายใจเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณเส้นเลือดฝอย และมีส่าวนช่วยในการเติมออกซิเจนที่เซลหัวใจ หัวใจก็ทำงานได้ปกติ ไม่เกิดอาการตีบตันหรือหัวใจวาย
การกำหนดการหายใจให้เข้าลึกออกยาว ผ่านมาจากทางจมูก ซึ่งการทำลักษณะนี้จะเป็นการบริหารกระบังลม ที่ให้ผลเหมือนเป็นการนวดตับ ช่วยขับเลือดออกจากตับและช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น ปอดและหัวใจก็พลอยแข็งแรงไปด้วย มีความกระชุ่มกระชวยมากขึ้น ความสุขก็บังเกิดขึ้น และช่วยลดความดันโลหิตได้ อายุก็ยืนยาวแบบสุขภาพดี
ท่าทางและสรีระในการออกกำลังกาย ไทชิ ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสมดุลของร่างกาย อย่าง ปากปิดสนิท เพื่อบังคับให้หายใจทางจมูก ลิ้นก็จะแตะเพดานปาก จะทำให้ต่อมน้ำลายหลั่งต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความชุ่มคอและสามารถช่วยย่อยอาหารได้ ส่วนของลูกตา ก็ไม่ต้องฝืนเกร็ง จ้องมองบางสิ่งนานๆ กล้ามเนื้อลูกตาก็จะได้รับการพักผ่อน
ส่วนไหล่ก็จะอยู่ในท่าลดลงและอกก็จะผ่อน ซึ่งอยู่ในท่าธรรมชาติ จะช่วยกระบังลมดีขึ้น ช่วยให้หายใจลึกถึงท้อง ช่วยการย่อยอาหาร และการขับถ่าย ทั้งยังช่วยให้ไตและลำไส้แข็งแรง อันเนื่องมาการการผ่อนคลายเอวและกล้ามเนื้อเอว ที่มีการบิดไปทางขวา-ซ้ายอย่างช้า แขนวาดออกไปในอากาศอย่างช้าๆ ขาก้าวเดินอย่างมีสติและมีการกำหนดลมหายใจให้เกิดความสมดุล ก็จะเป็นผลดีต่อเส้นเอ็นและกระดูกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังเป็นการผ่อนคลายภาวะทางอารมณ์ ให้คุณรู้สึกผ่อนคลายความเครียด ความกังวลที่เกิดในจิตใจ หรือความรู้สึกในแง่ลบต่างๆ จะแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังความสุขเล็กๆ ได้ค่ะ ทั้งยังสามารถผ่อนคลายความเมื่อยล้าทางร่างกายได้ อาทิ คลายปวดเหมื่อย เพราะร่างกายไม่หักโหมสำหรับการออกกำลังกายเกินไป และเมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวแบบเบาๆ จิตใจก็จะเบาตามภาวะทางร่างกาย จึงเกิดพลังแห่งความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ความสมดุลนี้ได้แปรเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงหรือฝืนธรรมชาติมากเกินไป ก็อาจเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกัน
อาจเรียกได้ว่า ไทชิ เป็นการออกกำลังกาย ซึ่งเหมาะกับคนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถมีสุขภาพดีด้วยการออกกำลังกายได้เช่นกัน ซึ่งก็ต้องดูความเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของตัวคุณเองว่า เหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหนด้วยนะคะ และที่สำคัญหลังการออกกำลังกายควรทิ้งเวลาไว้ 1 ชั่วโมงจึงจะสามารถดื่มหรือรับประทานอาหารได้ ซึ่งอาจเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มเบาๆ แต่มากคุณค่าอย่างเครื่องดื่มธัญพืชที่รวมคุณค่าธัญหาร 5 ประการไว้ด้วยกันก็ดี
มิราเคิลไทชิ (Miracle Tai Chi) หรือ การฝึกไทชิโดยเน้นการหายใจ ที่คิดค้นโดย อาจารย์สมศักดิ์ อินทร์เผือกได้นำเอาการออกกำลังกายแบบไทชิเดิมที่มักเน้นในด้านท่าทางการเคลื่อนไหว มากกว่าการกำหนดลมหายใจ และมีจำนวนท่าที่มากมายยากต่อการจดจำในผู้สูงอายุ มาปรับโดยการลดจำนวนท่าลงเหลือ 16 ท่าและเพิ่มการกำหนดลมหายใจที่ช้าและลึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการหายใจด้วยท้องเพื่อให้หน้าท้อง และทรวงอกเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการทำงานประสานกันระหว่างการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่จะดันอวัยวะ ภายในช่องท้องลงไปด้านล่างและมีการยกขึ้นของกระดูกซี่โครง ซึ่งจะช่วยให้ปอดขยายตัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้ดนตรีช่วยในการกำหนดอัตราการหายใจ เฉลี่ย 6 ครั้งต่อนาที สอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่าการหายใจช้าและลึก ในอัตราเฉลี่ย 6 ครั้งต่อนาที จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหายใจและพัฒนาระบบหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันเลือดเนื่องจากสามารถช่วยส่งเสริมการทำงานของปอดและกระบังลมให้ เคลื่อนไหวได้สอดคล้องกับการทำงานของหัวใจ (Bernardi et al, 2002) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยที่รายงานผลของการฝึกไทชิดังกล่าวที่ส่งผลต่อภาวะการต้าน อนุมูลอิสระ และสุขสมรรถนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาผลของการฝึกมิราเคิลไทชิต่อระดับการต้าน อนุมูลอิสระและสารชีวเคมีที่เกี่ยวข้องในเลือด และศึกษาผลของการฝึกมิราเคิลไทชิว่าจะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานของปอด (lung function) ประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนในการหายใจ (oxygen uptake) และการทรงตัว (balance) ในผู้สูงอายุได้หรือไม่ อย่างไร โดยคณะผู้วิจัยคาดว่าการฝึกมิราเคิลไทชิจะช่วยเสริมสร้างสุขสมรรถนะและ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์จากการฝึกไทชิ,ไท่เก๊ก
วิชามวยไท่เก๊ก หรือ ไท่เก๊กคุ้ง เรียกชื่อภาษาจีนแต้จิ๋วตามชาวไทยเชื้อสายจีน อ่านแบบจีนกลางว่า ไท่จี๋เฉวียน เขียนเป็นภาษาอังกฤษคือ Taijiquan หรือ Tai’chi Chuan แต่ในประเทศไทยเรียกกันหลายสำเนียงทั้ง ไท่เก๊ก ไทเก็ก ไท้เก๊ก ไท่จี๋ ไท้จี๋ ไทชิ ไทกิ๊บ
วิชามวยไท่เก๊กเป็นศิลปยุทธ์ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน เชื่อกันว่าปรมาจารย์ผู้ให้กำเนิดมวยไท่เก๊กคือนักพรตชื่อ จางซานฟง (เตียซำฮงในภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งมีชีวิตอย่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 แต่วิชานี้มามีชื่อเสียงเอาในสมัยราชวงศ์ชิง โดยท่านหยางลู่ฉานซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดมวยไท่เก๊กตระกูลหยาง และภายหลังได้แพร่ขยายขจรขจายไปทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย (ตั่งเองเกี๊ยก) นำมวยไท่เก๊กมาเผยแพร่ในเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2498 ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 อาจารย์ต่งส่งบุตรชายของท่านคืออาจารย์ต่งหูหลิ่ง (ตั่งโหวเนี่ย) มาเป็นครูมวยไท่เก๊กคนแรกในประเทศไทย จึงกล่าวได้ว่ามวยไท่เก๊กในไทยนั้น สืบสายมาจากมวยไท่เก๊กตระกูลหยาง
ในปัจจุบัน มวยไท่เก๊กที่แพร่หลายกันอยู่ทั่วไปมีอยู่มากมายหลายสาย หลายตระกูล ซึ่งสายมวยอันเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันมีอยู่ 5 สายหลักคือ ไท่เก๊กตระกูลเฉิน, ตระกูลหยาง, ตระกูลอู่, ตระกูลอู๋ และตระกูลซุน ซึ่งภายหลังรัฐบาลจีนได้นำท่ามวยของทั้งห้าตระกูลมาเรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้ ในการแข่งขันลีลายุทธ์ด้วย นอกจากห้าตระกูลนี้แล้ว ภายหลังยังมีมวยไท่เก๊กตระกูลอื่นๆ ซึ่งแตกแยกย่อยไปจากห้าตระกูลนี้ รวมถึงยังปรากฏมวยไท่เก๊กประจำถิ่นอีกหลายๆ สายปรากฏออกมาอีกมากมาย หากไม่ว่าจะเป็นมวยไท่เก๊กสายใดตระกูลใด แม้ท่วงท่าจะแตกต่างกัน แต่ยังอิงเคล็ดความเดียวกัน และล้วนนับถือท่านจางซานฟงเป็นปรมาจารย์เช่นเดียวกัน
มวยไท่เก๊กมีลักษณะนุ่มนวล โอนอ่อน ผ่อนคลาย การเคลื่อนไหวลื่นไหลต่อเนื่อง การหายใจสอดประสานไปกับการเคลื่อนไหว พร้อมทั้งต้องตั้งจิตติดตามการเคลื่อนไหวของร่างกายไปตลอดทำให้เกิดสมาธิ เนื่องจากไม่มีการเกร็งกล้ามเนื้อ หรือการออกแรงกระแทก จึงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บร่างกายได้น้อยเมื่อเทียบกับกีฬาที่ใช้แรงชนิด อื่นๆ ทำให้เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย แม้แก่ชราอายุ 90-100 กว่าปีก็ยังฝึกฝนได้ ประโยชน์ที่ได้รับนอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ยังสามารถใช้เป็นศิลปะป้องกันตัวได้หากได้รับการฝึกฝนเพื่อใช้ต่อสู้ ในปัจจุบันไท่เก๊กมีผู้นิยมฝึกฝนกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
จะรักษาศูนย์ถ่วงของร่างกายได้อย่างไร และอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในการย้ายศูนย์ถ่วง
การรักษาศูนย์ถ่วงร่างกายให้มั่นคงในท่วงท่าใดๆ ก็ตาม รวมถึงกระบวนการในการย้ายศูนย์ถ่วงจากท่วงท่าหนึ่งไปยังอีกท่วงท่าหนึ่งเป็นหนึ่งในกังฟูพื้นฐานที่สำคัญ (กังฟู คือการมุมานะฝึกฝนกระบวนการหนึ่งใดด้วยระยะเวลายาวนาน) ซึ่งผู้ฝึกมวยไท่เก๊กจะต้องรู้จักแสวงหาและเพาะสร้างขึ้นมาภายใต้การฝึกฝนปกติประจำวัน เพื่อจะสามารถคงสมดุลของตนเองไว้ได้ตลอดเวลาและสามารถอ่านศูนย์ถ่วงร่างกายของคู่ต่อสู้ได้ในทันทีที่มีการสัมผัสกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อสัมผัสรู้
และสามารถใช้ประโยชน์จากการสูญเสียสมดุลของคู่ต่อสู้แม้เพียงเล็กน้อยที่สุดประหนึ่งทั้งร่างกายเป็นหนึ่งองค์ใหญ่ การที่ศูนย์ถ่วงร่างกายจะมั่นคงหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับว่าลำตัวตั้งตรงและได้ศูนย์หรือไม่ เมื่อยืนตรง ศูนย์ถ่วงร่างกายจะอยู่ที่ประมาณเจ็ดเซนติเมตรด้านหน้าของกระดูกสันหลังท่อนที่สามจากกระดูกก้นกบ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคนซึ่งมีส่วนสูง รูปร่าง หรืออายุที่แตกต่างกัน ในคนคนเดียวกัน ศูนย์ถ่วงร่างกายก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามการไหลเวียนโลหิต, การหายใจ และท่วงท่าในขณะนั้นในการฝึกมวยไท่เก๊ก ผู้ฝึกจะไม่ค่อยได้อยู่ในท่ายืนตรงธรรมดา แต่จะเคลื่อนไปอยู่ในท่วงท่าต่างๆ มากมาย ซึ่งโดยมากจะอยู่ภายใต้การยืนแบบขาธนู และขานั่ง การรักษาศูนย์ถ่วง
ร่างกายของสองท่วงท่านี้สามารถทำได้ โดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้
ในการเปลี่ยนท่าจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง ผู้ฝึกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการย้ายศูนย์ถ่วงให้มาก มีคำกล่าวในคัมภีร์มวยโบราณว่า “ผู้ฝึกต้องใส่ใจระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงจากความว่างสู่ความเต็ม” การย้ายศูนย์ถ่วงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดกับการรักษาความสมดุลของทั้งร่างกาย หากกระทำได้ไม่ถูกต้อง ร่างกายก็จะอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ ยังมีคำกล่าวที่ว่า “ขึ้นมาจากราก และลงไปจากราก” และที่ว่า “ร้อยหมื่นความเปลี่ยนแปลง ไม่มี
ใดไม่เกี่ยวข้องกับราก” ในที่นี้คำว่า “ราก” หมายถึง “เท้า” รวมถึงศูนย์ถ่วง ในอีกแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงท่วงท่าทุกท่า ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ก้าวหน้า ถอยหลัง หรือหมุนตัว ต้องสอดคล้องกับความเรียบรื่นและมั่นคงของการย้ายศูนย์ถ่วงของร่างกายด้วยการเปลี่ยนแปลงในท่วงท่าแต่ละท่าจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการย้ายศูนย์ถ่วง โดยไม่มีอาการย้ายอย่างทันทีทันใดแต่จะต้องค่อยเป็นค่อยไปอย่างนิ่มนวล
ต่อไปนี้เป็นการอธิบายการย้ายศูนย์ถ่วงอย่างไร สำหรับการก้าวหน้า ถอยหลัง และก้าวออกข้าง
(กระบวนการทั้งหมดที่จะอธิบายนี้เกิดขึ้นจากการทำท่ามวยของมวยไท่จี๋ตระกูลอู๋ ผู้แปล)
จากตัวอย่างทั้งสามข้างต้นในการย้ายศูนย์ถ่วง ผู้ฝึกควรใส่ใจใน 4 หัวข้อต่อไปนี้
รพ.รามาธิบดี จัดเสวนาพร้อมกิจกรรมออกกำลังบำบัดอาการป่วยผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังเนื่องในวันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก โดยผลวิจัยพบ ผู้ป่วยที่รำไทชิ ชี่กง ต่อเนื่อง4สัปดาห์สามารถบรรเทาอาการป่วยได้ถึงร้อยละ 50
“รำไทชิ ชี่กงบำบัดโรคปอด” หนึ่งกระบวนการรักษาด้วยการออกกำลังกายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่คณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีดัดแปลงจากการรำไทชิ ชี่กงต้นฉบับ โดยใช้หลักเคลื่อนไหวร่างกายช้าแต่เน้นลมการหายใจเข้าออก โดยการรำไทชิมีท่าปฎิบัติ 9 ท่า ซึ่งจะต้องทำสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน และต้องทำต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ จะช่วยเสริมสมรรถภาพร่างกายผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยผลงานวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดีปี 2550 พบว่า ผู้ป่วยโรคปอดที่รำไทชิอย่างต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์มีประวัติเข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉินและใช้ยาเสตียรอยด์น้อยลงกว่าร้อยละ 50 ของประวัติการรักษา
นอกจากนี้ ยังมีงานเสวนาวิกฤตโรคถุงลมโป่งพอง เพื่อให้ความรู้ถึงอันตรายและขั้นตอนการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เช่นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืดเป็นต้น โดยปัจจุบันคนไทยมีเกณฑ์ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด มีคนไทยป่วยแล้วประมาณ 7ล้าน5แสนคน ซึ่งร้อยละ 90 ป่วยมีสาเหตุจากสูบบุหรี่ โดยเฉลี่ยพบผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาต่อเมื่ออาการกำเริบ ซึ่งอยู่ในวัย40ขึ้นไป ทั้งนี้ในวันที่ 13 พฤศจิกายนเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโลก จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ให้คนไทยตระหนักถึงความรุนแรงของโรค
การจัดงานโดยให้บริการตรวจสอบสมรรถภาพปอดด้วยการเป่าเครื่องวัดอัตราลมหายใจออกสูงสุด พร้อมทั้งสอนวิธีการใช้ยาสูดพ่นที่ผู้ป่วยมักใช้ผิดวิธี รวมทั้งมีแพทย์ให้คำปรึกษาและประเมินคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยในวันนี้ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองที่เข้าร่วมงานเล่าว่า ต้องทรมานกับโรคมากว่า20ปี รักษามาหลายวิธีแต่ไม่หาย ถ้าเป็นไปได้อยากให้คนที่สูบบุหรี่ เลิกสูบ เพราะไม่มีผลดีกับร่างกายเลย
โดยผู้ป่วยที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ จะได้รับข้อมูลนำไปปฎิบัติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นอีกนโยบายเชิงรุกที่ต้องการให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2ใน3ของผู้ป่วยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดจากการสูบบุหรี่ ที่จะเข้ารับการรักษาต่อเมื่ออาการกำเริบ ซึ่งอาจจะทำให้รักษาไม่ทันการณ์
ป้ายคำ : สุขภาพพึ่งตน