ไทรกำเนิด..และดำรงชีวิต..โดยอาศัยความตายของต้นไม้อื่น แต่เพื่อสร้างและหล่อเลี้ยงวงจรชีวิตของป่า ที่สำคัญไทร เป็นต้นไม้ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าและสัตว์ป่า
ต้นไทร ต้นไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่แปลกประหลาดที่สุดในบรรดาต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในเขตร้อนชื้น ต้นไทรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าFicus spp. วงศ์ MORACEAE ลักษณะเด่นของต้นไทร เช่น รากอากาศ ลำต้นอันคดเคี้ยวเต็มไปด้วยซอก รู และช่องว่างมากมาย ตลอดจนทรงพุ่มที่กว้างใหญ่ให้ความร่มรื่นโดยไทรจะขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ผลของไทรเป็นอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิด ต้นไทรสามารถจะงอกและเติบโตจากข้างบนแล้วลงสู่พื้น และสามารถหาธาตุอาหารจากเศษดิน ฝุ่น ที่อยู่บนยอดไม้สูง จากนั้นไทรจะเติบโตบนต้นไม้ที่มันอาศัย และฆ่าต้นไม้นั้นในที่สุดชีวิตของต้นไทรแต่ละต้นอาจจะเริ่มจากชะนี นก และค้างคาว ซึ่งชอบกินลูกไทร แล้วถ่ายเมล็ดไทรทิ้งไว้ทั่วไปโดยไม่เจตนา โดยเฉพาะต้นไม้สูงซึ่งสัตว์ประเภทชะนี และนก มักอาศัยกินและถ่าย คุณสมบัติของเมล็ดไทรจะมีผิวหนาและเหนียว เมื่อเกาะติดอยู่บนเปลือกไม้ก็จะสัมผัสกับอินทรีย์วัตถุและความชื้นจากเปลือกไม้ ซึ่งจะมีบักเตรีช่วยย่อยสลายผิวเมล็ดไทร ทำให้เมล็ดไทรงอกเป็นต้นไทรใหม่ ในช่วงแรกต้นอ่อนจะได้รับธาตุอาหารจากเศษดินเศษฝุ่นที่ลอยตามสายลมมาติดต้นไม้ที่มันอาศัย และได้รับความชื้นจากอากาศและน้ำที่ไหลตามเปลือกของต้นไม้ที่มันอาศัยเช่นกัน ทำให้ต้นไทรอยู่ได้และโตขึ้นเรื่อยๆจนสามารถแทงรากใหญ่ๆเพียงรากเดียวหรือหลายรากลงสู่พื้นดิน จากนั้นก็ส่งน้ำและอาหารขึ้นไปยังต้นที่อยู่ข้างบน จะเห็นว่าต้นไทรได้เปรียบจากต้นไม้ที่มันอาศัยอยู่มาก เพราะว่ามันเริ่มต้นจากข้างบนและเลี้ยวตัวเองด้วยรากเพียงหนึ่งราก แถมสามารถแผ่กิ่งก้านได้อย่างรวดเร็ว ใบของมันก็สามารถปรับทิศทางเข้าหาแสงได้คล้ายๆดอกทานตะวัน ในไม่ช้าพุ่มไทรก็จะสามารถแย่งน้ำและแสงแดดได้อย่างเต็มที่ พร้อมๆกับการถึงวาระจุดจบของต้นไม้ที่มันอาศัยอยู่จนเจริญเติบโต
ชื่อสามัญ Banyan.
ชื่อพฤกษาศาสตร์ Ficus annulata BL.
วงศ์ MORACEAE.
ไทรเป็นไม้ขนาดใหญ่ มีหลายชนิด ใบดกกลม ปลายแหลม ขนาดประมาณ 3 ซ.ม. ตามกิ่งและลำต้นมีรากอากาศย้อยลงดินกลายเป็นลำต้นฝอย ช่วยค้ำกิ่งก้านให้แข็งแรง มีเรือนยอดแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาได้ดี ลูกเป็นลูกกลมเล็ก เมื่อสุกจะมีสีแดงปนเหลือง
ต้นไทรหรือกร่าง (ต้นนิโครธ) เป็นชื่อภาษาบาลีของต้นไทรหรือต้นกร่างชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ficus benghalensis Linn. อยู่ในวงศ์ Moraceae รู้จักกันดีในภาษาสันสกฤตว่า บันยัน (banyan) และในภาษาฮินดูว่า บาร์คาด (bargad) ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับอยู่ ณ ภายใต้ร่มโพธิ์ต่อไปอีก 7 วัน จึงได้ทรงย้ายไปประทับต่อที่ใต้ร่มไทรนิโครธอีก 7 วัน
ประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุด คือ ลูกไทร จะเป็นอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด พวกลิง ชะนี นก และค้างคาวมักมีสิทธิ์ที่จะได้กินก่อน เพราะอาศัยอยู่บนที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งสัตว์พวกลิงดูเหมือนจะฟุ่มเฟือยมากที่สุด เพราะลิงชอบหักและเขย่ากิ่งไทรเพื่อขับไล่สัตว์ชนิดอื่น การเขย่ากิ่งไทรเพียงครั้งเดียว ลูกไทรก็จะร่วงหล่นทีละมากๆ แม้แต่นกยังสามารถทำให้ลูกไทรร่วงหล่นได้เช่นกัน ซึ่งลูกไทรที่ร่วงหล่นก็จะกลายเป็นอาหารของสัตว์จำพวกเก้ง กวาง กระจง สมเสร็จ และหมูป่าอีกต่อหนึ่ง ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะช่วยแพร่กระจายเมล็ดไทรไปทั่วป่า โดยการขับถ่ายของเสียออกมา ซึ่งก็หนีไม่พ้นเมล็ดไทรสุก
รูปร่างลักษณะของต้นไทรที่คดเคี้ยว และเต็มไปด้วยซอกรูน้อยใหญ่มากมาย เหมาะที่จะเป็นที่ซ่อนตัวหรือที่อยู่อาศัยของสัตว์และแมลงสารพัดชนิด เช่น จักจั่น ตุ๊กแก แตน ผึ้ง ปลวก มด แมงป่อง ชะมด อีเห็น และนกบางชนิด ซึ่งสัตว์บางชนิดอาจจะมาอาศัยอยู่เพียงชั่งครั้งชั่วคราว แต่บางชนิดจะเกิดและตายในต้นไทรเลยก็มี ตลอดจนเป็นที่หากินของสัตว์บางชนิดที่มาหากินสัตว์ที่อาศัยอยู่ที่ต้นไทร โดยคุณค่าทางระบบนิเวศของต้นไทร ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์และแมลงที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบป่า
ขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด กิ่งตอน
การใช้ประโยชน์/ส่วนที่นำไปใช้ประโยชน์ : ใบและรากรักษาแผล น้ำเลี้ยงของกิ่งใช้ในการรักษาโรคตับ กิ่งและใบ ใช้แก้ปวดศีรษะ
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง