จากการดำรงชีวิตที่ยึดถือปฏิบัติตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งยังมีคติประจำใจที่ว่า “เหงื่อทุกหยด เพื่ออนาคตของแผ่นดินไทย” จึงไม่แปลกที่ “นายไม ไกรสุทธิ์” ชาวหมู่ที่ 2 ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ปราชญ์ของแผ่นดินจังหวัดตรัง” ปี 2552 สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และอีกมากมายหลายรางวัล
แม้เกษตรกรผู้นี้จะจบการศึกษาระดับแค่เพียงชั้น 4 แต่ความรู้และความสามารถของเขา กลับสูงยิ่งกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับสูงกว่าหลายคน เพราะเขาได้มีความคิดริเริ่มในการประกอบอาชีพ ซึ่งคงเพราะเป็นผลมาจากการซึมซับความอดกลั้น ความอดทน และความยากลำบาก เมื่อครั้งที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำนา ทำให้เขาพยายามพัฒนาอาชีพทางการเกษตรของตนเอง และหาหนทางที่จะเพิ่มรายได้ เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่
เมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้ว “นายไม ไกรสุทธิ์” ยิ่งเพิ่มมีความขยันมากขึ้น ควบคู่กับความประหยัดมัธยัสถ์ และเก็บหอมรอมริบ จนสามารถซื้อที่ดินเพิ่มเติมจากที่ได้รับมรดกตกทอด มาเป็นสวนยางพารา 31 ไร่ นาข้าว 13 ไร่ ไม้ผล (ลองกอง, มังคุด) 7 ไร่ โดยเฉพาะที่ถือว่าเป็นจุดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้มากที่สุด ก็คือ “ไร่นาสวนผสม” ที่แม้เขาจะมีเพียงแค่ 5 ไร่ แต่กลับสร้างประโยชน์ให้อย่างมากมายในปัจจุบัน
ที่ดินแปลงนี้เขาตัดสินใจซื้อมาในสภาพไม่มีความสมบูรณ์ หรือเหมาะสมในการทำการเกษตร ซึ่งเจ้าของเดิมขายให้เนื่องจากเป็นที่ดินนา หลังจากได้รับภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม ทำให้มีเศษตะกอน เศษไม้ ก้อนหิน กรวดทราย จนไม่สามารถทำนาได้ แต่เขาก็ไม่รู้สึกย่อท้อ และคิดหาวิธีการแก้ไขที่ดิน ด้วยการไปขอคำปรึกษาหารือจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลนาชุมเห็ด และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดตรัง
จุดเริ่มต้นของ “นายไม ไกรสุทธิ์” เริ่มต้นจากการตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ “หมอดินอาสา” เพราะได้นำไปสู่การค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม เมื่อมีช่องทางจึงมีการวางแผนผังการจัดการฟาร์ม ด้วยการนำพืชที่ตนชอบมาเริ่มทดลองปลูก และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้พื้นที่กลับกลายมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชนานาพันธุ์ ทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ประดับ ผักพื้นบ้าน และบ่อเลี้ยงปลา
ผลจากการปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ “ไร่นาสวนผสม” เกิดความสดชื่น ร่มเย็น แก่ผู้มาเยือน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เป็นการผลิตเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างแก่องค์กร ชุมชน ในท้องถิ่นใกล้เคียง และต่างจังหวัด ได้มาศึกษาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน เขาก็ได้อุทิศตนเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร
สำหรับความคิดริเริ่มในการพัฒนาอาชีพการเกษตรของเขามีอยู่หลายด้าน เช่น การใช้ระบบให้น้ำแก่พืชด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น การใช้ลำไม้ไผ่เป็นท่อส่งน้ำ การเผาถ่านและน้ำส้มควันไม้ เพื่อขับไล่ศัตรูพืช การทดสอบระบบระบายน้ำของดิน โดยใช้ท่อ PVC การผลิตเครื่องห่อผลไม้เพื่อป้องกันศัตรูพืช การอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยวิธีปลูกหญ้าแฝกเป็นพืชดูดซับ การสร้างแหล่งรวบรวมพันธุ์ผลไม้ ไม้ยืนต้น และผักหายาก
ทั้งนี้ “นายไม ไกรสุทธิ์” จะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช แต่จะใช้วิธีการตัด แล้วนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือจะใช้สารเคมีที่ผลิตจากพืชสมุนไพรแทน รวมทั้งยังมีการมีการเลี้ยงตัวต่อ และการเลี้ยงปลาในร่องสวน เพื่อช่วยจับแมลงศัตรูพืช มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการผลิตเอง จากทะลายปาล์ม กากน้ำตาล เศษพืชผัก ฯลฯ มีอนุรักษ์ป่าสาคูที่อยู่ติดกับฟาร์ม เพื่อดูดซับน้ำและเป็นแหล่งอาศัยของปลาช่วงวางไข่ เป็นต้น
ผลงานที่ประสบความสำเร็จของเขาผู้นี้มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน แต่ที่เห็นจะภูมิใจมากที่สุดก็คือ รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการแผนพลังงานชุมชน ปี 2550 รวมทั้งรางวัลหมอดินดีเด่น สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 ปี 2550 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ดีเด่นของสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 ปี 2551
ป้ายคำ : ปราชญ์