ไรแดง อาหารธรรมชาติสำหรับอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน

28 กุมภาพันธ์ 2557 สัตว์ 0

ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีสำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งปลาสวยงามและปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลา ปอมปาดัวร์ ปลากัด กุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลาบึก ปลาเทโพ และปลาดุกอุย เป็นต้น ในอดีตไรแดงส่วนใหญ่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำโสโครกตามบ้านเรือน โรงฆ่าสัตว์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอน ปัจจุบันไรแดงจากธรรมชาติมีปริมาณลดลงเพราะสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนไปในขณะที่ความต้องการไรแดงกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนไรแดงในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงได้ศึกษาวิจัยและประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงไรแดง ซึ่งเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนไรแดง และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงไรแดง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้นการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยไรแดงจึงทำให้อัตราอดและอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนสูงมาก ไรแดงน้ำหนักแห้งประกอบด้วยโปรตีน 74.09 เปอร์เซ็นต์ คาร์ดบไฮเดรต 12.50 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 10.19 เปอร์เซ็นต์ และเถ้า 3.47 เปอร์เซ็นต์ (สันทนา, 2529)

raidangpap

ไรแดงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้งหรือที่เรียกว่า Crustacean มีชื่อวิทยาศาสตร์ Moina macrocopa และมีชื่อสามัญว่า Water flea เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่ง มีขนาด 0.4-1.8 มม. ลำตัวมีสีแดงเรื่อๆ ถ้าอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากจะมองเห็นไรแดงมีสีแดงเข้ม เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ลำตัวอ้วนเกือบกลมมีขนาดเฉลี่ย 1.3 มม. ส่วนเพศผู้ตัวเล็ก และค่อนข้างยาว มีขนาดเฉลี่ย 0.5 มม. ตัวอ่อนที่ออกมาจากถุงไข่ใหม่ๆ จะมีขนาด 0.22-0.35 มม. มีสีจางกว่าตัวเต็มวัยในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ไรแดงจะมีประชากรเพศผู้ 5 % เพศเมีย 95 %

raidangtoa

ไรแดงมีการสืบพันธุ์ 2 แบบคือ

  • การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
  • การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดง แบ่งได้ 2 วิธีคือ

  • การเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
  • การเพาะเลี้ยงในบ่อดิน

ในปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์ทำได้ 2 วิธีคือ

  1. การเพาะเลี้ยงแบบเก็บเกี่ยวไม่ต่อเนื่อง คือการเพาะไรแดงแบบการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียว การเพาะแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีบ่ออย่างน้อย 5 บ่อ เพื่อใช้ในการหมุนเวียนให้ได้ผลผลิตทุกวัน
  2. การเพาะเลี้ยงแบบเก็บเกี่ยวต่อเนื่อง คือการเพาะไรแดงแบบเก็บเกี่ยวผลผลิตไรแดงหลายวันภายในบ่อเดียวกัน การเพาะแบบนี้ต้องมีบ่ออย่างน้อย 5 บ่อ การเพาะแบบต่อเนื่องจะต้องคำนึงถึงศัตรูของไรแดงและสภาวะแวดล้อมในบ่อเพาะไรแดง เนื่องจากการเติมพวกอินทรีย์สารต่างๆ หรือการเติมน้ำเขียวลงในบ่อควรมีการถ่ายน้ำและเพิ่มน้ำสะอาดลงในบ่อ เพื่อเป็นการลดความเป็นพิษของแอมโมเนีย และสารพิษอื่นๆ ที่เกิดในบ่อ การเพาะไรแดงทั้ง 2 วิธี ควรจะมีเครื่องเป่าอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้เพียงพอ

raidangchon raidangleang

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงไรแดง
ไรแดง เป็นสัตว์น้ำจึงต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เช่นเดียวกับสัตว์น้ำอื่นๆ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน ดังนั้น การเพาะเลี้ยงไรแดงจึงต้องให้อาหารที่เหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอ และควบคุมสภาวะแวดล้อมในบ่อเพาะเลี้ยงให้เหมาะสมหากอาหารในบ่อมากหรือน้อยเกินไปก็จะทำให้ได้ผลผลิตไรแดงลดต่ำลง วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดงมี 5 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนในการปฏิบัติจะมีผลต่อปริมาณและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ยาวนานขึ้น ดังต่อไปนี้

  1. การเตรียมบ่อผลิต
  2. การเตรียมน้ำ
  3. การเตรียมอาหาร
  4. การเตรียมพันธุ์ไรแดง
  5. การควบคุมบ่อผลิต

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมบ่อผลิต
กรณีบ่อใหม่จะต้องล้างบ่อให้อยู่ในสภาพเป็นกลางหรือด่างอ่อนๆ (7-8) โดยแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1-3 สัปดาห์ แล้วระบายน้ำทิ้ง ถ้าต้องการลดระยะเวลาให้หมักฟางหญ้าหรือเศษพืชผักไว้ในบ่อ เพราะจะเกิดกรดอินทรีย์ เช่น กรดฮิวมิค ซึ่งจะช่วยแก้ความเป็นด่างได้เล็กน้อย หรือใช้กรดน้ำส้มเทียมผสมน้ำในบ่อให้เต็ม แช่ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน แล้วระบายน้ำทิ้งและเปิดแช่ทิ้งอีก 24 ชั่วโมง ส่วนบ่อเก่าต้องล้างบ่อแล้วตากบ่อให้แห้งเพื่อกำจัดศัตรูไรแดง

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมน้ำ
การระบายน้ำเข้าบ่อโดยการกรองด้วยผ้าแพลงก์ตอนจะช่วยป้องกันศัตรูไรแดง และคัดขนาดของแพลงก์ตอนพืชที่ติดมากับน้ำและเป็นอาหารไรแดงต่อไป ระดับน้ำที่ใช้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง จะให้ผลผลิตสูงกว่าน้ำประปา น้ำบาดาลและน้ำฝน แต่ก็ควรกรองด้วยถุงกรองแพลงก์ตอนทุกครั้ง เพื่อป้องกันศัตรูของไรแดงที่อาจติดมากับแหล่งน้ำธรรมชาติ

ขั้นตอนที่ 3 การเตรียมอาหาร
อาหารที่ใช้ผลิตไรแดงจะต้องมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ชนิดของอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงไรแดง แบ่งได้ 3 ประเภท คือ

  1. อาหารผสม ได้แก่ รำละเอียด ปลาป่น และกากถั่วเหลืองโดยเฉพาะกากถั่วเหลือง โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองจะมีกรดไขมันที่เร่งการลอกคราบของไรแดงสูงขึ้น
  2. จุลินทรีย์ เป็นอาหารที่ได้จากการหมักอาหารกับน้ำได้แก่ ยีสต์ และแบคทีเรีย
  3. น้ำเขียว เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งในที่นี้หมายถึงแพลงก์ตอนพืช หลายๆชนิดที่ไรแดงกินได้เช่น คลอเรลล่า ซีเนเดสมัส ซึ่งทำให้ไรแดงสมบูรณ์ จึงมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 การเตรียมพันธุ์ไรแดง
การเพาะเลี้ยงไรแดงให้ได้ปริมาณมากจำเป็นต้องใช้แม่พันธุ์ที่มีชีวิต สมบูรณ์ แข็งแรง มีวิธีการดำเนินการง่ายๆ ดังนี้

  1. การคัดพันธุ์ไรแดง ควรแยกไรแดงออกจากแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่น โดยใช้กระชอนอวนมุ้งสีฟ้าขนาดตาเล็กสุด ซึ่งสามารถแยกไรแดงจากโคพีพอด และลูกน้ำได้ แต่ถ้าได้พันธุ์ไรแดงที่ไม่มีแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่นปะปนมาจะดีที่สุด
  2. การสังเกตุเพศไรแดง ไรแดงมี 2 เพศคือ ไรแดงเพศเมียและเพศผู้ในสภาวะที่เหมาะสมไรแดงจะสร้างเพศผู้เพียง 5% ของประชากรไรแดง แต่ในสภาวะไม่เหมาะสมไรแดงจะสร้างเพศผุ้มากขึ้น สำหรับการเลือกแม่พันธุ์หรือหัวเชื้อ โดยสังเกตุไรแดงที่มีรูปร่างอ้วนกลม ซึ่งมีวิธีการตรวจสอบ คือใช้แก้วใส่น้ำใสๆ แล้วช้อนไรแดงพอประมาณ ยกขึ้นส่องดูถ้าพบไรแดงเพศผู้ซึ่งมีลำตัวผอมยาวรี แสดงว่ามีไรแดงเพศผุ้มากกว่า 5% ซึ่งไม่ควรนำไปขยายพันธุ์
  3. การเติมแม่พันธุ์ไรแดง ไรแดง 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 20% จะได้ไรแดง 1 ลิตร ปริมาณที่ใช้เฉลี่ย 30-40 กรัม/ตารางเมตร บ่อขนาด 50 ตารางเมตร ใช้แม่พันธุ์ไรแดง 2 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตประมาณครั้งละ 12 กิโลกรัม ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณวันละ 5 กิโลกรัม

ขั้นตอนที่ 5 การควบคุมบ่อผลิต
การคงสภาพบ่อผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้มากกว่า 7 วัน มีวิธีการดังนี้

  1. การเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เก็บเกี่ยวเพียงวันละครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดคือ ครั้งแรกวันที่ 3 หรือ 5 หลังจากเติมแม่พันธุ์ไรแดง
  2. การเติมอาหารให้เติมอาหารหมักแล้ว 10-25% ของครั้งแรกทุกวันโดยสังเกตปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อ
  3. การถ่ายน้ำ หมายถึง การระบายน้ำออกและเติมน้ำเข้าทุก 2-3 วัน ระดับน้ำ 5-15 ซม. โดยสังเกตปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อ

คุณค่าทางโภชนาการของไรแดง
ไรแดงเป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้น การอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยไรแดงจึงทำให้อัตรารอดและอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนสูงมาก ไรแดงน้ำหนักแห้งประกอบด้วยโปรตีน 74.09% คาร์โบไฮเดรต 12.50% ไขมัน 10.19% แล้วเถ้า 3.47% (สันทนา, 2529)
ไรแดงเป็นอาหารธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งปลาสวยงามและปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาปอมปาดัวร์ ปลากัด กุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลาบึก ปลาเทพา และปลาดุกอุย เป็นต้น

raidangto

การนำไรแดงมาใช้
การนำไรแดงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไรแดงที่ได้จากบ่อผลิตจะมีเชื้อโรคที่ทำอันตรายกับสัตว์น้ำน้อยกว่าไรแดงที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เพื่อความมั่นใจ จึงควรล้างด้วยสารละลายด่างทับทิม 0.1 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะได้สารละลายสีชมพูอ่อนสารละลายนี้จะเพิ่มออกซิเจนให้กับไรแดงและน้ำด้วยเพราะด่างทับทิมเมื่อละลายน้ำจะให้ออกซิเจนในน้ำ
สำหรับปริมาณไรแดงที่ใช้ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้ใช้ในปริมาณ 500-800 กรัม/ลูกปลาจำนวน 100,000 ตัว/วัน โดยแบ่งอาหารให้ 4-5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-6 ชม. ระวังอย่าให้มีลูกไรแดงเหลือลอยอยู่ตลอดเวลา เพราะลูกไรแดงส่วนมากจะตายหมักหมมอยู่บริเวณพื้นบ่อ การอนุบาลลูกปลาดุกอุยตั้งแต่ไข่แดงยุบในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จะได้ลูกปลาดุกอุยขนาดเฉลี่ย 2 ซม. ในการอนุบาลปลาดุกอุยหรือปลาดุกเทศอาจให้อาหารสำเร็จรูปช่วยได้โดยเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารสำเร็จรูป เมื่อลูกปลามีอายุได้ 8-10 วัน โดยให้พร้อมกับไรแดงแล้วค่อยๆลดปริมาณไรแดงและเพิ่มปริมาณอาหารสำเร็จรูป จนกระทั่งลูกปลาสามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ทั้งหมด

การเก็บรักษาไรแดง

  1. ใช้วิธีการเก็บโดยการแช่แข็ง วิธีนี้สามารถเก็บไว้ได้นานและยังสดอยู่เสมอ ส่วนมากเป็น ไรแดงที่ตาย ไรแดงที่เก็บโดยวิธีนี้ไม่สามารถนำไปใช้พันธุ์ในการผลิตต่อไป
  2. วิธีการเก็บในอุณหภูมิต่ำประมาณ 10oC โดยเติมน้ำลงไป 50% จะอยู่ได้นาน 4 วันในภาชนะเปิดประมาณวันที่ 3 จะสังเกตุเห็นไข่สีขาวขุ่นหรือสีชมพู ซึ่งเป็นไข่ไรแดงชนิดที่จะต้องผสมพันธุ์กับเพศผู้ ซึ่งจะสร้างขึ้นเมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม อุณหภูมิต่ำกว่า 15 oC ความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 6 หรือสูงกว่าเป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
ภาณุ เทวรัตน์มณีกุล และคณะ. 2532. การเพาะเลี้ยงไรแดง เอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 9 สถานีประมง
น้ำจืด จังหวัดปทุมธานี กองประมงน้ำจืด กรมประมง. 14 หน้า.
วีระ วัชรกรโยธิน และคณะ. 2528. การเพาะไรแดง รายงานประจำปี 2528 สถานีพัฒนาการเพาะ
กองส่งเสริม การประมง กรมประมง [ พ.ศ. 2538]

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น