การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ จากการไปท่องเที่ยวในสถานที่หรือชุมชนที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน หรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอย่างลงตัว ซึ่งนอกจากจะเรียนรู้วัฒนธรรมในแต่ละชุมชนแล้ว การท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักท่องเที่ยวผ่านการเข้าไปสัมผัสและได้รับประสบการณ์โดยตรงจากการลงมือทำ จนเกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้คนที่อยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้น อีกทั้งยังเกิดเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดในรูปแบบของตัวเองได้อีกด้วย
โดยที่นี่มีฐานกิจกรรมให้ได้ทำกันถึง 6 ฐาน ส่วนจะมีกิจกรรมอะไรบ้างนั้นตามไปดูกันเลย
เริ่มแรกที่กิจกรรม พาชมไร่ข้าวโพดและสนุกกับกิจกรรมเก็บข้าวโพดสดจากไร่ โดยกิจกรรมนี้เป็นการเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกร ตะลุยเก็บข้าวโพดหวานสดๆ จากไร่ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์แบบใกล้ชิดธรรมชาติ
หลังจากนั้นไปสนุกกับกิจกรรมที่2 คือ ฐานการผลิตไอศกรีมน้ำนมข้าวโพด นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้และลงมือทำไอศกรีมน้ำนมข้าวโพดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน และอร่อยชื่นใจกับไอศกรีมน้ำนมข้าวโพด หอมหวาน แบบไทยๆ
หลังจากอิ่มอร่อยกับไอศกรีมน้ำนมข้าวโพดไปแล้ว
ไปต่อกันที่กิจกรรมที่3 กับ ฐานการสกัดน้ำมันงา เป็นการชมกระบวนการสกัดน้ำมันโดยกรรมวิธีสกัดเย็น สามารถคงคุณค่าของน้ำมันงาได้อย่างครบถ้วน นับว่าเป็นของดีจากภูมิปัญญาไทย
ส่วนกิจกรรมที่4 คือ ฐานการผลิตน้ำส้มควันไม้และเตาเผาถ่านอิวาเตะ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนที่มีความผูกพันธ์กับธรรมชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่เผาถ่านเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิง โดยกิจกรรมของที่นี่จะเป็นการเผาถ่านด้วย เตาอิวาเตะ จะทำให้ได้ถ่านไร้ควันคุณภาพดี และจะได้ น้ำส้มควันไม้ ที่ได้จากการเผาถ่าน สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยและสารป้องกันศัตรูพืชได้
กิจกรรมที่ 5 เป็นกิจกรรม ฐานบ้านดิน จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบพอเพียง สัมผัสไอดินกลิ่นธรรมชาติในบ้านดินของไร่คุณมน
และกิจกรรมที่ 6 เป็นการเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย กับฐานการห่อลูกประคบงาดำบด เรียนรู้การห่อลูกประคบงาดำบด ที่เต็มไปด้วยสรรพคุณต่างๆ ถือเป็นภูมิปัญญาด้านสมุนไพรไทยอีกอย่างหนึ่งด้วยวิธีการสกัดงาเป็นน้ำมันงาแล้วนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ จนกระทั่งได้ออกมาเป็นลูกประคบที่มีสรรพคุณในทางยาถือเป็นการสืบสานวิถีแพทย์แผนไทยที่ทรงคุณค่ายิ่ง
ไร่คุณมน เป็นแหล่งเรียนรู้/ศูนย์เรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยที่ เปิดกว้างต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นศูนย์รวมของแหล่งภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่น โดยพ่วงเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่าง ทฤษฎีใหม่ มาเป็นหลักคิด
ไร่คุณมน เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน สวนผักปลอดสารพิษและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นานาชนิด อาทิ น้ำนมข้าวโพด น้ำผัก กล้วย/ขนุนอบแห้ง กระยาสารทเคลือบน้ำผัก อาหารชีวจิตเพื่อสุขภาพ บนพื้นที่ 150 ไร่ ด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย สร้างอาชีพให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมสวนเกษตร ชมขั้นตอนการผลิตได้อย่างใกล้ชิดและ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆได้
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เชิดหน้าชูตาทั้งระดับประเทศและนานาชาติ มีผู้มาศึกษาดูงานเยี่ยมชมทั้งรายบุคคลและเป็นหมู่คณะทั้งในและต่างประเทศ กว่า100,000 คน / ปี
บนผืนดินของชุมชนบ้านหนองกระทุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี นอกจากพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ที่ดินผืนหนึ่งราว 100 กว่าไร่ได้ถูกจัดให้เป็นแหล่งแปรรูปทางการเกษตรของชุมชนในนาม “ไร่คุณมน” แหล่งผลิตน้ำนมข้าวโพดรายแรกๆ ของเมืองไทย และผลิตภัณฑ์แปรรูปการเกษตรอีกหลายอย่าง อาทิ กล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมอบสุญญากาศ เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้อีกแห่งหนึ่งให้กับชาวบ้านชุมชนบ้านหนองกระทุ่ม
ในทุกๆ เช้าของวันใหม่ดวงอาทิตย์สาดทอแสงสีส้มกระทบกับใบข้าวโพดสีเขียวตองอ่อน กลิ่นหอมจากหม้อต้มน้ำนมบนเตาฟืนส่งกลิ่นกรุ่นมาแต่ไกล ข้าวโพดหลายพันฟัก กล้วยหลายร้อยหวีถูกลำเลียงเข้าสู่โรงแปรรูป ชาวบ้านราว 40 กว่าคนมารวมตัวกันที่แหล่งแปรรูปการเกษตรของชุมชน บ้างมาปอกข้าวโพด บ้างอยู่ในโรงอบกล้วย โรงต้มนมข้าวโพด ราวกับนี่จะเป็นภารกิจสำคัญของพวกเขาอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากการทำนาทำไร่ซึ่งเป็นอาชีพหลัก
เมื่อ 8-9 ปีก่อนในฐานะที่พอมีอันจะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่นๆ มนรัตน์ สารภาพ ได้นำเงินก้อนหนึ่งที่เก็บสะสมมาตลอดการใช้ชีวิตร่วมกับสามีเพื่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งราว 100 กว่าไร่ โดยหวังจะสร้างกำไรจากที่ดินผืนเปล่า ในการทำสวนเกษตรจัดสรร ไว้ขายให้กับนักคิดนักฝันทั้งหลายที่อยากผันตัวเองมาใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน ทั้งสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้งทุรกันดารและขาดเงินทุน ทำให้เธอไม่สามารถประคับประคองธุรกิจครั้งนั้นให้ประสบความสำเร็จได้
คุณมนรัตน์เล่าว่า “ตอนนั้นทุกอย่างมันกดดันไปหมด ถนนที่จะทำเข้ามาก็ถูกตัดงบประมาณ ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ สวนเราก็ปลูกกันเองและก็จ้างชาวบ้านมาช่วย ไม่ได้ทำตามแบบแปลนทฤษฎีอะไร เพราะถ้าจะให้ลงทุนทำอย่างนั้น เราคงไม่ไหว เงินเรามีไม่พอ ตอนนั้นรู้สึกทุกข์มากๆ ก็เลยปิดโครงการไป”
แม้จะปิดโครงการไปแล้ว แต่ชาวบ้านที่เคยมาช่วยงานก็ยังแวะเวียนมาอยู่เรื่อยๆ มนรัตน์จึงให้ชาวบ้านที่เคยมาช่วยเหลือเข้ามาใช้พื้นที่เพาะปลูกที่ไร่ โดยแลกกับการให้ช่วยดูแลต้นไม้ไปด้วย มนรัตน์คิดหาวิธีต่อไปว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาในไร่ และเธอก็เริ่มนึกไปถึงการแปรรูปทางการเกษตรจากผลผลิตที่มีอยู่ในไร่และในชุมชน
“ไร่คุณมน” ตั้งขึ้นเมื่อราวปี 2542 ผลิตภัณฑ์แรกที่ทำออกมาคือ ข้าวหลาม ซึ่งเพียงแค่ครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จ เพราะได้เสิร์ฟอยู่บนสายการบินหลักของประเทศอย่างสายการบินไทย ติดตามมาด้วยกระยาสารทน้ำผัก จนกระทั่งมาถึง “น้ำนมข้าวโพด” ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับคนทั้งประเทศได้รู้ว่าในข้าวโพดก็มีน้ำนม
คุณมนรัตน์เล่าว่า “ตอนที่เราไปขอ อย. ครั้งแรกๆ เขาไม่ยอมให้เลย เขาบอกไม่มีชื่ออยู่ในสารบบ เราต้องสู้มากเลยทั้งไปค้นคว้า ไปหาข้อมูลมาอ้างอิง ไปออกงานเอาของไปให้เขาชิม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าในเมล็ดข้าวโพดมีน้ำนมอยู่จริงๆ เคยจนถึงขั้นเอาเมล็ดข้าวโพดไปบีบให้เขาดูเลยว่า ในข้าวโพดก็มีน้ำนมนะ จนได้พบกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านได้ลองชิมแล้วก็ให้คำแนะนำและช่วยเหลือจนเราได้ อย. คือคนไทยส่วนใหญ่ยังยึดติดกับคำว่า อย. อย่างในเรื่องของวัตถุดิบบางอย่างเราก็ไม่สามารถควบคุมให้ออกมาได้เหมือนเดิมทุกครั้ง เช่น คุณปลูกมะม่วงจะกำหนดได้ไหมว่า ให้ออกมารสชาติแบบนี้ทุกปี ต่อให้เป็นมะม่วงต้นเดียวกัน รสชาติก็ยังไม่เหมือนกันเลย”
นอกจากน้ำนมข้าวโพดแล้ว ไร่คุณมนยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอีกหลายอย่าง ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมอบสุญญากาศ และ ไอศกรีมข้าวโพด ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
คุณมนรัตน์เล่าว่า “หลังจากทำน้ำนมข้าวโพดแล้ว ก็หันมาสนใจเรื่องของกล้วยอบสุญญากาศ ในตอนแรกเราทำเฉพาะกล้วยน้ำว้าก่อน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในงานเกษตรสินค้าแปรรูป ปี 2545 และได้ออร์เดอร์ของบางจาก 6 แสนชิ้นจากงานโอทอป ซึ่งตอนหลังมีมาเพิ่มใหม่เป็น 8 แสนชิ้น คือคนเขาคงไม่เคยเห็นที่ไหน ของเราเป็นกล้วยอบสุญญากาศขายด้วย และต่อไปอาจจะทำในรูปของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรร่วมกัน”
แม้จะประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีและช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ก็มีอยู่หลายครั้งเช่นกันที่เธอมักถูกมองว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว คุณมนรัตน์เล่าว่า “เราเคยเขียนโครงการเข้าไปขอความช่วยเหลือ แต่กลับถูกมองว่าทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว คือเขาไม่เข้าใจว่าในการทำโปรดักส์ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง มันต้องมีเจ้าภาพ หลายคนมักจะไปมองที่ชื่อ “ไร่คุณมน” อยากถามกลับไปว่าในตอนนั้นสมัยก่อนที่รัฐยังไม่มีนโยบายส่งเสริมสินค้าโอทอป หากไปติดต่อเรื่องธุรกิจแล้วบอกว่าเป็นแม่บ้านเกษตรกรจะมีใครสนใจอยากซื้อ ไม่มีใครอยากทำธุรกิจด้วย เพราะเขามองว่าถ้าเป็นชาวบ้านสินค้ามักไม่มีคุณภาพ คือในเชิงธุรกิจมันทำได้ลำบากมาก เราก็เลยต้องใช้คำว่า “ไร่คุณมน ชุมชนบ้านหนองกระทุ่ม” ถึงแม้จะเป็นธุรกิจ แต่ถามว่าเราเอาเปรียบเกษตรกร เราเอาเปรียบสังคมไหม วัตถุดิบที่แปรรูปเราก็ใช้ของสมาชิกในพื้นที่ เราไม่เคยกดราคา ชาวบ้านที่มารับจ้างก็มีรายได้ประจำ ไม่ต้องดิ้นรนเข้าไปหางานทำในกรุงเทพฯ ครอบครัวก็ได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เราอยากให้มองตรงจุดนี้มากกว่า”
แทบจะในทุกๆ เดือนนอกจากการแปรรูปทางการเกษตร ไร่คุณมนยังเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้คนได้เข้ามาศึกษาค้นคว้า มีทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ มนรัตน์ได้รับรางวัลทำประโยชน์ด้านการเกษตร จากสมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และครูภูมิปัญญาไทยด้านโภชนาการ ปี 2546 จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เธอวางเป้าหมายในอนาคตว่า คงจะขยายการแปรรูปต่อไปจากวัตถุดิบที่มีอยู่
คุณมนรัตน์เล่าว่า “เราพยายามจะนำทุกส่วนที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างเปลือกข้าวโพดที่เหลือก็นำมาทำโบผูกถุงขนม หรือนำไปเลี้ยงวัว กากที่เหลือที่ก็นำไปเลี้ยงเป็ด ทำให้ได้ไข่เป็ดสีเหลืองน่ากิน เปลือกกล้วยก็มาทำเป็นปุ๋ย ต่อไปก็จะทำเพิ่มขึ้นไปอีก แต่จะเป็นในไลน์เดียวกัน อาจเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอยากทำเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาด้วย เรามีความภาคภูมิใจลึกๆ ว่า ที่เติบโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้มันจะไม่ใหญ่โตอะไรมาก แต่เราก็ได้สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสังคม เรายังอยากจะเป็นชาวไร่คอยถ่ายทอดความรู้ให้กับคนทั่วไป ไม่ต้องออกไปเต้นตามกลองที่ใครตี”
ไร่คุณมนตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 35 กิโลเมตร ไปตามถนนสายกาญจนบุรี-บ่อพลอย (ทางหลวงหมายเลข ก่อนถึงซาฟารีปาร์ค 1 กิโลเมตร (ตรงข้ามวัดหนองกระทุ่ม))เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน สวนผักปลอดสารพิษและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นานาชนิด อาทิ น้ำนมข้าวโพด น้ำผัก กล้วยอบแห้ง ขนุนอบแห้ง กระยาสารทเคลือบน้ำผัก อาหารชีวจิตเพื่อสุขภาพ ฯลฯ บนพื้นที่ 150 ไร่ ด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย สร้างอาชีพให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมสวนเกษตร ชมขั้นตอนการผลิตได้อย่างใกล้ชิดและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ โดยติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าได้ที่ คุณมนรัตน์ สารภาพ โทร. 034-531487, 081-9156798, 081-9447971 (สายตรง) เปิดตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. (ไม่เสียค่าเข้าชม) สอบถามการท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี โทร. 034-512924, 034-511254 ต่อ 13
ป้ายคำ : เศรษฐกิจพอเพียง