ไร่ดินดีใจ เป็นการทดลองใช้ชีวิตในแบบที่เลือก ได้พอใจที่จะอยู่ภายในวิถีชีวิตที่ไม่ได้ถูกกำหนดมากโดยภาวะเศรษฐกิจภายนอก จากวิถีชีวิตแบบเดิมๆที่ต้องขึ้นรถเมลล์ไปทำงานตอนเช้า เสียเวลามากมาย ไปกับการเดินทางที่ไม่คุ้มค่าในรถ และต้องอยู่กับควันพิษและเสียงดังรบกวนในเมืองใหญ่ กลับมาควบคุมเวลาด้วยตนเอง ได้ตื่นแต่เช้าสูดอากาศบริสุทธิ์ ชื่นชมกับชีวิตและธรรมชาติ ที่แม้จะขาดสิ่งรื่นเริงบันเทิงใจ แต่ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้มาตอบแทน
ไร่ดินดีใจ เกิดจากความต้องการที่จะพึ่งพาตนเองในวิถีธรรมชาติ กินและใช้ผลผลิตที่เกิดจากการเพาะปลูกในไร่ ไปพร้อมๆกับการฟื้นฟูดินที่เคยผ่านการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีมายาวนาน ด้วยวิถีเกษตรธรรมชาติ คือไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมี และทำการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด ใช้น้ำหมักชีวภาพและน้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น
สมุนไพรที่ใช้มาจากในไร่ที่ปลูกไว้ใช้ประโยชน์ในบ้าน นอกจากไร่แล้วยังมีการแบ่งพื้นที่เป็นสวนผลไม้ สวนสมุนไพร และพืชผักพื้นบ้าน ที่มีให้กินได้ตลอดปี มีต้นกระเจี๊ยบพันธุ์พื้นบ้านฝักใหญ่เก็บกินได้ทั้งปี มัน บุก อาหารสำหรับฤดูแล้ง ต้นมะกรูด ส้มซ่า ส้มป่อย อัญชัญ ที่เอามาทำสมุนไพรสระผม มีงาและถั่วเขียวในไร่ ที่ปลูกในระบบเกษตรกรรมธรรมชาติเป็นปุ๋ยพืชสดและเก็บเกี่ยวผลผลิตมาบริโภค
ไร่ดินดีใจ เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๘ จากความต้องการที่จะเรียนรู้ และพึ่งพาตนเองในวิถีธรรมชาติ ด้วยการแปรรูปผลผลิตจากการเพาะปลูกในไร่ของเราเอง และพืชที่มีในท้องถิ่น เพื่อใช้เองในครอบครัวและจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่สนใจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความต้องการที่จะทดแทนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เราจึงทำ สมุนไพรเพื่อทดแทนแชมพูและครีมนวดผม โดยใช้ ใบหมี่ ส้มซ่า และมะกรูด ซึ่งเป็นพืชที่มีในท้องถิ่นและหาได้ง่าย เป็นภูมิปัญญาโบราณซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตายาย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับทำความสะอาด บำรุงผมและหนังศีรษะที่ปราศจากสารเคมีของไร่ดินดีใจ ที่ใช้ได้ดีกับทุกๆสภาพผมและหนังศีรษะ เป็นสมุนไพรสระผมที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ช่วยปรับสภาพหนังศีรษะ ช่วยปรับค่า PH ของเส้นผมที่มีค่าความเป็นด่างสูงซึ่งเกิดจากการใช้แชมพูเคมี เราทำ ผงถั่วเขียวทำความสะอาดผิว จากถั่วเขียวที่เราปลูกเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงบำรุงดิน ในระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งไม่มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ในระบบการผลิต เก็บรักษา จนถึงการแปรรูป โดยนำมาล้างให้สะอาด ตากแดดจนแห้งสนิท และบดเป็นผง เพื่อใช้ในการทำความสะอาดผิวแทนสบู่และครีมล้างหน้า เราทำ น้ำมันงาบริสุทธิ์ จากงาดิบที่ปลูกในระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ เพื่อใช้ในการบำรุงผิวตามธรรมชาติ ใช้นวดตัวและทำอาหาร น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดงาดิบ ด้วยกรรมวิธีการสกัดเย็นนี้ จะมีวิตามินอีและสารเซซามอลที่มีในงาดิบตามธรรมชาติ ช่วยป้องกันแสงแดดได้ประมาณ 40% ช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น ต้านอนุมูลอิสระและทำให้ผิวนุ่มนวล เมื่อสมัยโบราณชาวอินเดียก็ใช้ถั่วเขียวในการทำความสะอาดร่างกาย ต่อมาเมื่อชาวยุโรปนำสบู่เข้าไป ผู้คนจึงหันมาใช้สบู่กัน ในบ้านเราก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเราใช้น้ำด่างจากขี้เถ้าและน้ำส้มมะขามเปียกในการทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ จานชาม และใช้ขมิ้นกับน้ำมะขามเปียก หรือฝักส้มป่อย ขัดตัว ทำความสะอาดผิว เราใช้ใบหมี่ มะกรูด มะคำดีควาย สระผม เราใช้เราจึงไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีมากมายเท่ากับยุคสมัยนี้
ทำไมเราจึงต้องทำผลิตภัณฑ์สูตรธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปมีส่วนผสมของอะไรบ้าง ส่วนประกอบหลักของสารที่ช่วยในการทำความสะอาดในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ในแชมพู สบู่เหลว สบู่เด็ก น้ำยาล้างจาน ยาสีฟัน หรือแม้แต่ในยาสีฟันเด็กบางยี่ห้อ ล้วนมาจากสารซักฟอก (detergent) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ซึ่งได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม(etroleum) (สารเคมีจากปิโตรเลียม ราคาถูกกว่าสารที่สกัดจากของจริง) ตัวอย่างเช่น สาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate ) ซึ่งอาจเรียกในชื่ออื่นๆ ได้ว่า sodium laureate sulfate และ sodium lauryl ether sulfate (หรือ sodium laureth sulfate ได้แก่ SLES เป็นสารอีกตัวหนึ่งของ SLS ที่ให้ฟองมากกว่า) สาร SLS นี้ ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นโรงรถ ผลิตภัณฑ์ชำระคราบน้ำมัน และสบู่ล้างรถในอุตสาหกรรมทำความสะอาด เพราะมันมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง[i] สารที่ให้ฟอง ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สีที่ใส่เพื่อแต่งสีในผลิตภัณฑ์ กลิ่นหอมสังเคราะห์ ที่ใส่เข้าไป รวมทั้งผงข้น(สารที่ใส่เพื่อให้ตัวผลิตภัณฑ์เกิดความข้น) สารเหล่านี้มีโมเลกุลขนาดเล็กมาก สามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายและกระแสเลือดได้ สามารถก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า เซื่องซึม อ่อนเพลีย หงุดหงิด โกรธง่าย หลงลืมและขาดสมาธิในบางคน สารเคมีเหล่านี้หากเข้าสู่ร่างกายของเราและไม่สามารถขับถ่ายออกได้หมด จะเกิดการตกค้างสะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต และกระแสเลือด และอาจก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ อย่างเช่นมะเร็ง[ii] องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารชำระล้าง สารทำให้เกิดฟอง สารที่ทำให้ข้นเหมือนน้ำนม (emulsifiers) และตัวทำละลายบางชนิด (ที่มีคำนำหน้าหรือตัวพยัญชนะ PEG -eth เหล่านี้เป็นต้น ) อาจมีการเจือปนของ 1,4 dioxane ซึ่งมีการค้นพบว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่ตับและโพรงจมูกในการทดสอบกับสัตว์ทดลอง และก่อมะเร็งผิวหนังในการทดสอบด้วยการทาที่ผิว[iii] รวมทั้ง Methylparaben, propplyparaben, prapylparaben สาร paraben (หรือ hydrobensoates) ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียสังเคราะห์ที่ได้มาจากสารปิโตรเลียม เป็นสารที่ทราบกันดีว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้[iv] ในแชมพูทั่วไปที่ใส่สาร SLS สารซักฟอกเหล่านี้จะไปล้างไขมันธรรมชาติที่ช่วยเคลือบผมและหนังศีรษะจนหมด เมื่อไขมันที่เคลือบเส้นผมและหนังศีรษะถูกล้างไปจนหมด ต่อมน้ำมันธรรมชาติจะสร้างน้ำมันมาชโลมเส้นผมมากขึ้น ยิ่งสระผมบ่อย ต่อมน้ำมันก็จะผลิตน้ำมันออกมามากจนผมมันเยิ้มไปหมด เราก็ยิ่งสระผมบ่อยขึ้น จนนานเข้าหนังศีรษะและตุ่มรากผมก็เสียสมดุล รากผมไม่แข็งแรง และหลุดร่วงได้ง่าย หนังศีรษะแห้งเป็นเกล็ด เกิดเป็นรังแค[v] ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงสารเคมีเหล่านี้ และหันกลับไปทำความสะอาดร่างกายด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการทำใช้เองโดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ
สมุนไพรธรรมชาติกับชีวิตประจำวัน
เหงือกและฟัน ใช้ใบมะม่วง ใบและกิ่งสะเดา ใบขนุน ใบฝรั่ง ใบและกิ่งข่อย และดอกกานพลู สามารถนำมาใช้ทำความสะอาดฟันและเหงือกได้ดี ใช้ใบแก่สีเหลือง มาฉีกออกเป็นสองส่วน ดึงแกนกลางออก นำมาม้วน กัดปลายทิ้งเพื่อให้เกิดรอยหยัก ใช้ถูกฟันและเหงือกจนทั่ว ใช้กิ่งสะเดา และข่อย ขนาดนิ้วมือ นำมาตัดเป็นท่อนสั้นๆ ทุบปลายให้แตกนิ่ม นำมาถูกฟันแทนแปรงได้ดี นำต้มใบฝรั่งและดอกกานพลูช่วยบรรเทาอาการปวดเสียวฟันและแก้ปัญหาเหงือกร่นได้ดี ผิวและผิวหน้า นำถั่วเขียวมาล้างให้สะอาด ตากแดดจนแห้งสนิท และบดเป็นผงนำมาผสมน้ำให้เป็นครีมข้นๆ นำมาล้างหน้าอาบน้ำแทนสบู่และครีมโฟมล้างหน้าได้เลย ถั่วเขียวนี้ มีค่าความเป็นกรด ด่าง = 5.5 ซึ่งเป็นค่าความเป็นกรด ด่าง ที่เท่ากับผิวหนังของเรา ถั่วเขียวจะช่วยขจัดไขมันส่วนเกินของผิวหน้าและผิวกาย แต่ยังรักษาน้ำมันธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อผิวของเราไว้ นอกจากนี้แล้วถั่วเขียวยังช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วช่วยให้เกิดการฟื้นฟูสภาพเซลล์ผิวดีขึ้น และที่สำคัญคือ ไม่ทิ้งสิ่งอุดตันรูขุมขนและสารเคมีตกค้างไว้ให้ผิว และไม่ทำให้ผิวแห้งตึง ผมและหนังศีรษะ
สมุนไพรที่คนโบราณนำมาใช้ในการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะนั้น เป็นสมุนไพรใกล้ตัวปลูกไว้ริมรั้วบ้าน หาได้ง่าย นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น มะกรูด ทำให้ผมนิ่มสลวย ขิงแก่ บรรเทาอาการผมร่วง ใบหมี่ ช่วยให้ผมขึ้นดกดำ เสลดพังพอน แก้พิษแพ้ต่างๆ ใบบัวบก บำรุงรากผม กระตุ้นการงอกของผม ประคำดีควาย แก้ชันตุ แก้รังแค แก้เชื้อรา (ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ประจำ ใช้เมื่อมีปัญหา และเลิกใช้เมื่อหายดีแล้ว) กะเม็ง บำรุงรากผม เถาตำลึง, ตะไคร้ แก้ผมแตกปลาย มะรุมทั้งห้า ช่วยรักษาหนังศีรษะและรังแค สมุนไพรที่ใช้ในการดูแลสุขภาพผมและหนังศีรษะ ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายมีอยู่ทั่วไปราคาถูก ที่ใช้บ่อย ได้แก่
น้ำซาวข้าว
ในอดีตคนไทยโบราณมีการใช้ น้ำซาวข้าว มาสระผม ซึ่งจะช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มลื่น ไม่เป็นรังแค และมีกลิ่นหอมของน้ำซาวข้าว ถ้าจะให้ดีให้ใช้น้ำซาวข้าวที่เก็บไว้หลายวันหรือที่เรียกว่า น้ำมวกส้ม ซึ่งเมื่อนำมาสระผมจะทำให้ผมเป็นเงางามกว่าน้ำซาวข้าวธรรมดา และยังใช้สระผมร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นได้ อีกหลายตำรับ ไม่ว่าจะเป็นยาสระผมน้ำซาวข้าวใบหมี่ ตำรับยาสระผมมะกรูดและน้ำข้าวกล้องปั่น ตำรับของสาวภูไท นอกจากนี้รำข้าวยังช่วยปลูกผมได้อีกด้วย ซึ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่ช่วยให้คนพึ่งตัวเองได้
มะกรูด
การใช้มะกรูดสระผมน่าจะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีการสระ บ้างก็ใช้ผลดิบผ่าแล้วบีบน้ำสระโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนสระ น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยว มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ช่วยปรับสภาพหนังศีรษะ ช่วยปรับค่า pH ของเส้นผมที่มีค่าความเป็นด่างสูง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้แชมพู อีกทั้งยังช่วยบำรุงผมไม่ให้หงอกก่อนวัย ด้วยองค์ประกอบของสารไนอาซีน เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และกรดอินทรีย์อื่น ๆ ผิวของมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะทำให้เส้นผมนุ่ม มีน้ำหนัก เงางาม ดกดำ และไม่มีรังแค น้ำมันมะกรูดที่มีในผิวมะกรูดจะไปซ่อมชั้นเคอราตินให้เป็นมันเงา ผมมีน้ำหนัก น้ำมะกรูดช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะและขจัดรังแคไปในตัว วิธีใช้ : นำผลของมะกรูดปิ้งไฟให้สุก ผ่าครึ่งนำผลมะกรูดที่ผ่าครึ่งถูบริเวณศีรษะ หรือนำไปผสมกับน้ำอุ่น เมื่อสระผมเสร็จแล้วเอาน้ำมะกรูดสระซ้ำ โดยใช้มะกรูดครึ่งซึกขยี้ไปบนผม น้ำมะกรูดเป็นกรดอ่อนๆ จะช่วยให้ผมสะอาด น้ำมันหอมระเหยจะทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางามและจัดทรงง่าย
ใบหมี่
ใบหมี่เป็นหนึ่งในพืชเหล่านี้ที่ให้สารเมือกที่มีประโยชน์ทางเครื่องสำอาง ทำให้ผมนุ่มสลวยเป็นเงางาม ช่วยให้ผมขึ้นดกดำ มะคำดีควาย (ประคำดีควาย)
ชื่ออื่น : ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ) มะชัก ชะแช ชะเหล่เด่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rark A.DC. สรรพคุณ : ใช้ผล มีรสขม แก้ชันตุ แก้รังแค วิธีใช้ : ใช้ผลมะคำดีควายทุบพอแหลก ต้มในน้ำให้เดือด นำน้ำที่ได้สระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะทำให้หนังศีรษะสะอาด ป้องกันการเกิดรังแค แก้โรคชันตุ
ว่านหางจระเข้
ชื่ออื่น : ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ) หางตะเข้ (ภาคกลาง) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe barbadensis Mill. สรรพคุณ : วุ้นในใบว่านหางจระเข้ที่แก่มีสาร Aloeemodin, Aloesin, Aloin ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง และช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ วุ้นในใบมีสรรพคุณรักษาแผล ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย วิธีใช้ : นำว่านหางจระเข้ที่แก่มาปอกเปลือก เอาแต่ส่วนที่เป็นวุ้น นำมาบดแล้วเอาวุ้นประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ เวลาสระผมหยดน้ำวุ้นจากว่านหางจระเข้ขยี้ผมให้ทั่วทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาด ช่วยบำรุงหนังศีรษะ ช่วยลดอาการคัน
ดอกอัญชัน
ชื่ออื่น : แดงชัน (เชียงใหม่) เอื้องชัน (ภาคเหนือ) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clitoria ternatea Linn. สรรพคุณ : ใช้กลีบดอกสด ตำให้ละเอียด นำน้ำที่ได้ชะโลมผม จะช่วยให้ผมดกดำเป็นเงางาม วิธีใช้ : ใช้กลีบดอกสดของดอกอัญชันตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ กรองกากออก นำน้ำที่ได้ชะโลมผมทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วล้างออก จะช่วยให้ผมดำเป็นเงางาม ในสมัยก่อนคนชอบนำดอกอัญชันสดมาเขียนคิ้วเด็กอ่อน เพราะเชื่อว่าจะทำให้คิ้วดก และดำ
ตัวอย่าง
สูตรสมุนไพรสำหรับผม
สูตรยาสระผมสมัยคุณตา คุณยาย ใช้น้ำซาวข้าว 1 ถ้วย มะกรูดประมาณ 3 – 4 ลูก นำมาเผาจนนิ่มดีแล้ว เอามาขยำกับน้ำซาวข้าว ทิ้งไว้ให้เย็น กรองเอาน้ำมาสระผม หมักผมทิ้งไว้ประมาณ 15 – 20 นาที สูตรนี้จะทำให้เส้นผมมีสุขภาพดี ช่วยปรับสภาพหนังศีรษะให้เป็นกลางและรักษาแผลบนหนังศีรษะ ป้องกันและขจัดรังแคไปในตัว แก้ปัญหาผมร่วง ใช้ขิงแก่นำมาบดแล้ว ห่อด้วยผ้าขาวบาง นำเอาไปอบหรือนึ่งจนร้อน นำห่อขิงมาคลึงที่หนังศีรษะให้ทั่วเป็นเวลานานประมาณ 15 – 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จะช่วยกระตุ้นรากผมให้แข็งแรง และเส้นผมไม่หลุดร่วง ผมร่วงจากเชื้อรา ใบทองพันชั่ง ใบทองพันชั่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา หลังสระผมให้สะอาดด้วยมะกรูดเผาผสมกับน้ำซาวข้าว เอาใบทองพันชั่งตำจนละเอียดผสมน้ำพอเหนียว นำไปพอกบริเวณศีรษะที่ผมร่วง ให้ใช้ผ้าคลุมไว้ที่ศีรษะหนึ่งคืน แล้วล้างออก ทำติดต่อกัน 15-30 วัน น้ำมันงาบริสุทธิ์ น้ำมันงามีสรรพคุณด้านแบคทีเรีย รา และไวรัส สามารถแก้การอักเสบ ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการคัน ช่วยบำรุงและเคลือบเส้นผม ป้องกันการแก่ตัวและยืดอายุเซลล์ผิวหนัง กระตุ้นการงอกของเส้นผม และเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตรอบๆ รูขุมขนบนหนังศีรษะ ใช้น้ำมันงานำมาทาบริเวณที่ผมร่วง วันละหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งผมเริ่มขึ้น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ช่วยรักษาสุขภาพของหนังศีรษะ เพราะมีสารปฏิชีวนะ (จากโนโนลอริน) และสาร antioxidant (จากสารโทโคทรินนอลในวิตามินอี) สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ โปรโตชัว และไวรัส ช่วยปรับสภาพผม เพราะมีวิตามินอีที่ช่วยเสริมการเจริญของเส้นผม ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพดี ช่วยลดปริมาณการสูญเสียโปรตีนของเส้นผม เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติยึดเกาะกับโปรตีนของเส้นผมได้ดี อีกทั้งมีขนาดของโมเลกุลเล็กจึงแทรกซึมเข้าไปในเส้นผมได้สะดวก ผมแห้งแตกปลาย
ใช้ต้นตะไคร้สดๆ 2-3 ต้น ตำให้ละเอียด บีบน้ำออก (ถ้ามีน้ำน้อยให้เติมน้ำลงไปพอให้คั้นน้ำได้) กรอง นำน้ำที่ได้มานวดผม หลังจากสระผมเสร็จแล้ว ทิ้งไว้สัก 10 นาที แล้วสระผมด้วยน้ำสะอาดทำทุกครั้งที่สระผม ประมาณ 2 เดือน ผมจะกลับเป็นปกติ
ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงาบริสุทธิ์ ทาให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ แล้วนวดก่อนสระผม ทำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ประมาณ 2-4 อาทิตย์
ยาสระผมสมุนไพร
สูตรใบหมี่ ส้มซ่า มะกรูดของไร่ดินดีใจ
ใบหมี่ ช่วยเคลือบเส้นผม ปกป้องและให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม ช่วยทำให้ผมขึ้นดกดำและมีน้ำหนัก ส้มซ่า ให้กลิ่นหอมสดชื่น มะกรูด ช่วยป้องกันและขจัดรังแค แก้คันศีรษะ แก้ปัญหาผมร่วงและป้องกันผมหงอกก่อนวัย ช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะและซ่อมแซมชั้นเคอราตินของเส้นผมให้เป็นมันเงา
ส่วนผสม
วิธีทำ
สรรพคุณของสมุนไพร
ที่ใช้ในสูตรสมุนไพรสระผมของไร่ดินดีใจ
มะกรูด
ชื่ออื่น : มะกรูด มะหูด (หนองคาย) ส้มมั่วผี (ภาคใต้) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC. สรรพคุณ : การใช้มะกรูดสระผมน่าจะรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิธีการสระ บ้างก็ใช้ผลดิบผ่าแล้วบีบน้ำสระโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนสระ มะกรูดยังมีใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือนไว้ ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยประกอบในพิธีด้วย เข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อการสระผมนั่นเอง น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยว มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ช่วยปรับสภาพหนังศีรษะ ช่วยปรับค่า pH ของเส้นผมที่มีค่าความเป็นด่างสูง ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้แชมพู อีกทั้งยังช่วยบำรุงผมไม่ให้หงอกก่อนวัย ด้วยองค์ประกอบของสารไนอาซีน เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และกรดอินทรีย์อื่น ๆ ผิวของมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะทำให้เส้นผมนุ่ม มีน้ำหนัก เงางาม ดกดำ และไม่มีรังแค น้ำมันมะกรูดที่มีในผิวมะกรูดจะไปซ่อมชั้นเคอราตินให้เป็นมันเงา ผมมีน้ำหนัก น้ำมะกรูดช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะและขจัดรังแคไปในตัว
ใบหมี่
ใบหมี่เป็นหนึ่งในพืชเหล่านี้ที่ให้สารเมือกที่มีประโยชน์ทางเครื่องสำอาง ทำให้ผมนุ่มสลวยเป็นเงางาม ช่วยให้ผมขึ้นดกดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Rob., L. sebifera Blume, L. Chinensis Lam. แต่ไม่มีชื่อภาษาอังกฤษ อยู่ในวงศ์ LAURACEAE ข้อมูลทั่วไปของใบหมี่ ใบหมี่เป็นพืชในท้องถิ่น หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ชาวบ้านนิยมนำมาใช้สระผมเนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่มี polysaccharide เป็นองค์ประกอบหลัก สารสกัดจากใบหมี่มีสารสำคัญที่มีสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาที่ใช้ภายนอก ใบหมี่ มีชื่อในตำรับยาล้านนาว่า หมีเหม็น มีชื่อในท้องถิ่นอื่นในภาคเหนือว่า มะเย้อ, ยุบเหยา, หมีเหม็น, ยุกเยา, ยุบเย้า, ดอกจุ๋ม (ลำปาง), หมี่, ตังสีไพร (พิษณุโลก), เส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน), หมูเหม็น (แพร่) ในภาคกลางว่า อีเหม็น (กาญจนบุรี), อีเหม็น(ราชบุรี) ในภาคตะวันออกว่า กำปรนบาย (จันทบุรี), หมูทะลวง, มะเย้อ (ชลบุรี),ยุบเหยา, หมีเหม็น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า มี่ (อุดรธานี) ในภาคใต้ว่า ทังบวน (ปัตตานี), มือเบาะ (มลายู, ยะลา), ม้น(ตรัง) ใบ หมี่เป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ปลายใบกลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบเป็นครีบหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขน ก้านใบยาว มีขน ดอกช่อซี่ร่มออกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่คนละต้น ช่อดอกตัวผู้มีประมาณ 8-10 ดอก กลีบรวมลดรูปลงเหลือ 1-2 กลีบ หรือไม่มีเลย รูปขอบขนาน ขอบกลีบมีขน เกสรตัวผู้มี 9-20 อัน ช่อดอกตัวเมียกลีบรวมลดรูปเหลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่มี ผลสดรูปทรงกลมเมื่อสุกสีม่วงเข้ม ผิวมันส่วนที่ใช้ประโยชน์ทางยาและเครื่องสำอางของใบหมี่ คือ ราก เปลือกต้น ใบ เมล็ด และยาง ใบหมี่มีข้อบ่งใช้ทางเภสัชกรรมล้านนา คือ รากแก้ไข้ออกฝีเครือ แก้ลมก้อนในท้อง แก้ฝี และแก้ริดสีดวงแตก4 ส่วน ข้อบ่งใช้ทางแพทย์แผนไทย คือ รากแก้ปวดตามกล้ามเนื้อ เปลือกต้นใช้แก้ปวดมดลูก แก้คัน แก้อักเสบ แก้แสบตามผิวหนัง แก้บิด ใบใช้แก้ปวดมดลูก แก้ฝี แก้ปวด ถอนพิษร้อน เมล็ดใช้ตำพอก แก้ปวดฝี แก้พิษอักเสบต่างๆ ยางใช้แก้บาดแผล แก้ฟกช้ำ สารสำคัญและการศึกษาฤทธิ์ในด้านต่างๆ ของใบหมี่ สารสำคัญที่มีในใบหมี่ ได้แก่ actinodaphnine, boldine, iso-boldine, laurelliptine, N-acetyl- laurelliptine, laruotetanine, N-acetyl-laurotetanine, N-methyl-laurotetanine, liriodenine, Litsea arabinoxylan PPS, litseferine, polysaccharide, reticulineและ sebiferine
ดูข้อมูลของไร่ดินดีใจได้ที่
WWW.RAIDINDEEJAI.ORG
WWW.RAIDINDEEJAI.WORDPRESS.COM
[i] ข้อมูลจาก Consumer s Guides อันตรายจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ส่วนตัว
[ii] จากบทความ เรียนรู้แชมพูในท้องตลาด คมสัน หุตะแพทย์ หนังสือผมสวยด้วยแชมพูธรรมชาติ สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ พฤศจิกายน 2549
[iii] ข้อมูลจาก Consumer s Guides อันตรายจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ส่วนตัว สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย อาศรมวงศ์สนิท ซึ่งแปลและเรียบเรียงจาก คู่มือของสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย กรกฎาคม 2551
[iv] ข้อมูลจาก Consumer s Guides อันตรายจากเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ส่วนตัว สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย อาศรมวงศ์สนิท ซึ่งแปลและเรียบเรียงจาก คู่มือของสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย กรกฎาคม 2551
[v] จากบทความ เรียนรู้แชมพูในท้องตลาด คมสัน หุตะแพทย์ หนังสือผมสวยด้วยแชมพูธรรมชาติ สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ พฤศจิกายน 2549
ป้ายคำ : ศูนย์เรียนรู้