ไส้เดือนฝอย กำจัดศัตรูพืช

27 กุมภาพันธ์ 2559 จุลินทรีย์ 0

ไส้เดือนฝอยมีสองชนิด คือไส้เดือนฝอยชนิดตัวดี คือช่วยในการกำจัดศัตรูพืช กับไส้เดือนฝอยตัวที่เป็นโทษ หรือตัวที่เป็นศัตรูพืช ก่อให้เกิดโรคพืชซึ่งทำให้ผลผลิตพืชลดลง
ไส้เดือนฝอยที่เป็นศัตรูพืช ที่ส่วนหัวจะมีลักษณะเหมือนเข็ม ซึ่งเข็มนี้จะไปเจาะต้นพืชแล้วดูดน้ำเลี้ยงจากพืชจนต้นพืชไม่สามารถเจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่ได้ และยังแพร่ระบาดในพืชอย่างรุนแรง ซึ่งเคยทำความสญเสียแก่ผลผลิตพืชของเกษตกรอย่างมหาศาลมาแล้ว เช่น โรครากปมพริก เป็นต้น

ส่วนไส้เดือนฝอยชนิดตัวดีที่มีประโยชน์ทางการเกษตร ไส้เดือนฝอยชนิดนี้จะช่วยในการกำจัดแมลงศัตรูพืชไส้เดือนฝอยชนิดนี้จะเจาะเข้าไปกินเนื้อเยื่อในตัวแมลงที่เป็นศัตรูพืชเป็นโรคและตายไปในที่สุด เมื่อมองดูไส้เดือนฝอยทั้งสองชนิดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ จะเห็นลักษณะหน้าตาคล้ายกันแต่อวัยวะข้างในและการกินอาหารต่างกัน

saideanfoy

ในปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ยังคงประสบปัญหาแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะกลุ่มผลิตผักปลอดสารพิษ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาแมลงดื้อสารเคมี ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นสารเคมีที่ใช้มักก่อปัญหาต่อสภาพแวดล้อม ดังนั้นเกษตรกรจึงหันมาให้ความสนใจในการนำจุลินทรีย์มาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น แบคทีเรีย บีที (Bacillus Thuringiensis) ไวรัส เอ็นพีวี (Nuclear Polyhedrosis Virus) รวมถึง ไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเลือกใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชที่มีความหลากหลาย กำจัดแมลงได้มากกว่า 200 ชนิดฆ่าแมลงตายภายในเวลาอันรวดเร็ว สามารถเลี้ยงเพิ่มจำนวนได้จากอาหารเทียมและจากแมลงอาศัย (host) ในปัจจุบันมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น จีน และประเทศไทย

ลักษณะทั่วไป
ไส้เดือนฝอย คือ สัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายหนอนหรือพยาธิ์ ลำตัวกลม ไม่มีข้อปล้องหรือระยางค์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หนอนตัวกลม (round worm) มีทั้งกลุ่มที่ให้ประโยชน์และกลุ่มที่ให้โทษ กลุ่มที่มีประโยชน์ คือ กลุ่มไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช มีลักษณะทั่วไปของไส้เดือนฝอยดังนี้

    • มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยประมาณ 30 ไมครอน และมีความยาวเฉลี่ย 1,000 ไมครอน
    • ลักษณะหัวเรียวท้ายเรียวเหมือนเส้นด้าย ปลายด้านหัวมีช่องเปิดของปาก เหนือปลายหางขึ้นมาเล็กน้อยทางด้านท้อง คือ ช่องทวารหนัก (anus) มี cuticle ห่อหุ้มภายนอกลำตัว
    • ในขณะที่เป็นตัวอ่อนลำตัวจะโปร่งแสง เมื่อโตเต็มวัยลำตัวจะทึบแสง
    • ไม่มีอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนที่ จึงเคลื่อนที่ได้เฉพาะในของเหลวเท่านั้น
    • ไม่มีระบบการหายใจ และระบบการหมุนเวียนที่แท้จริงได้รับออกซิเจนจากการดูดซึมผ่านทาง cuticle เท่านั้น
    • เพศผู้จะพบช่องเปิดโคลเอกา (cloaca opening) อยู่ใกล้ส่วนปลายของหาง มีเดือย (penial spicule) ยื่นออกมา 1 คู่อย่างชัดเจน ส่วนหางมีลักษณะม้วนงอ และขนาดลำตัวจะเล็กกว่าตัวเมีย

เพศเมียจะมีช่องสืบพันธุ์ (genital opening) อยู่ตรงกลางลำตัวด้านท้อง ส่วนปลายหางจะยาวเรียวไม่ม้วนงอ

saideanfoytao

ไส้เดือนฝอยสามารถเข้าทำลายแมลงหลายชนิดให้ตายได้ และพบว่ามันมีแมลงอาศัยกว้าง ได้แก่ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกะหล่ำ หนอนใยผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกินใต้ผิวเปลือก หนอนกอกล้วย หนอนห่อใบข้าว และแมลงวันผลไม้ เป็นต้น ในประเทศไทยได้นำไส้เดือนฝอย S. carpocapsae หรือที่เรียกว่า DD-136 มาควบคุมหนอนกินใต้ผิวเปลือกพืชตระกูลลางสาดอย่างได้ผลดี นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองจาก สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกา (The United States Environmental Protection Agency : EPA) ว่าปลอดภัยต่อพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ และได้รับการยกเว้นไม่ต้องลงทะเบียนภายใต้กฏหมายของการใช้สารกำจัดศัตรูพืช เพราะเป็นสิ่งไม่มีพิษ และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมทั่วไป

saideanfoys

กลไกการเข้าทำลายแมลง
ตัวอ่อนระยะที่ 3 ของไส้เดือนฝอยเป็นระยะที่สำคัญในการเข้าทำลายแมลง infective stage) มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี จัดว่าเป็น ระยะ free living สามารถเข้าทำลายแมลงได้ทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัยโดยเข้าผ่านทางช่องเปิดธรรมชาติ และเคลื่อนไปยังช่องว่างภายในลำตัวแมลง (hemocoel) หลังจากนั้นไส้เดือนฝอยจะปลดปล่อยแบคทีเรียและร่วมกันสร้างสารพิษ ทำให้แมลงเหยื่อเกิดอาการเลือดเป็นพิษ (septicemia) และตายภายใน 24 – 48 ชม.
สำหรับแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ร่วมกับไส้เดือนฝอย Steinernematid และ Heterrorhabditid เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในสกุล Xenorhabdus spp. และ Photohabdus spp. ตามลำดับ ไม่สามารถพบในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติทั่วไปได้ ยกเว้นที่ส่วนของลำไส้ของไส้เดือนฝอยดังกล่าวนี้เท่านั้น มีอยู่ 2 ชนิดคือ Xenorhabdus nematophillus.,Photohabdus luminescens.

saideanfoytam saideanfoytams

ไส้เดือนฝอยนอกจากจะทำให้แมลงตายอย่างรวดเร็ว (24 – 48 ชม.) และสามารถกำจัดแมลงได้มากกว่า 200 ชนิด เช่น หนอนกินใต้ผิวเปลือก หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอกล้วย แมลงวันผลไม้ เป็นต้น แล้วยังสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณได้จากแมลงอาศัย (host) และอาหารเทียม ที่สำคัญยังได้รับรองจาก The United States Environmental Protection Agency : EPA ถึงความปลอดภัยต่อพืชและสิ่งแวดล้อม วงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยจะเริ่มตั้งแต่ ระยะไข่ ไประยะตัวอ่อนซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะโดยการลอกคราบ (molting) จนถึงตัวเต็มวัย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 – 14 วัน โดยตัวอ่อนระยะที่ 3 จัดเป็นระยะที่มีบทบาทสำคัญในการเข้าทำลายแมลง (infective stage) เรียกได้ว่าเป็นระยะ free living การใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืชทำได้ง่าย เพียงนำไส้เดือนฝอยไปผสมกับน้ำ แล้วนำไปฉีดพ่นหรือรดบริเวณที่ต้องการ ไส้เดือนฝอยจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม ในกรณีที่อากาศแห้ง ควรฉีดน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่บริเวณนั้นเสียก่อน แล้วจึงฉีดพ่นไส้เดือนฝอยตาม

saideanfoytay

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับไส้เดือนฝอย
ไส้เดือนฝอยไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมในที่โล่งแจ้ง ซึ่งมีการระเหยของน้ำไปอย่างรวดเร็ว แต่ในสภาพธรรมชาติที่การระเหยของน้ำค่อยเป็นไปอย่างช้าๆ เช่น ในดิน ซอกใบ ใต้เปลือก หรือในที่หลบมุมต่างๆ ประสิทธิภาพการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอยจะสูงมาก อุณหภูมิที่เหมาะสมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ไส้เดือนฝอยเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการออกซิเจนในการหายใจ และปริมาณความต้องการออกซิเจนเพื่อการหายใจขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิ สำหรับระดับความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ยิ่งค่า pH ต่ำมากอัตราการอยู่รอดหรือการเจริญเติบโตก็จะยิ่งน้อยลงไปด้วย

ดร.นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด นักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานไส้เดือนฝอย สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการ-เกษตร กล่าวว่า ขณะนี้การใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดศัตรูพืชได้รับความสนใจจากเกษตรกรกันมาก การควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยไส้เดือนฝอยมีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนด้วงหมัดผัก ไส้เดือนฝอยสามารถทำให้แมลงศัตรูพืชเหล่านี้ตายได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มงานไส้เดือนฝอยได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดได้ชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพนำมาทดแทน หรือลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงในระดับที่ปลอดภัย และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เพื่อให้ผลผลิตเกษตรกรปลอดภัยจากสารพิษ และเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ

ไส้เดือนฝอยที่มีจำหน่ายเป็นการค้าในปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง หรือซื้อยาก อาจประสบปัญหาในขณะเก็บรักษาและการขนส่งผลิตภัณฑ์ทำให้ไส้เดือนฝอยลดประสิทธิภาพในการฆ่าแมลงได้ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยอย่างง่ายๆ เืพื่อให้เกษตรกรหรือผู้สนใจเพาะเลี้ยงใช้เองได้และมีราคาถูก

ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย (Steinernema sp. Thai isolate)
เมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้ค้นพบไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงชนิดใหม่ เรียกว่า ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด มีความปลอดภัยต่อพืช สัตว์ และสภาพแวดล้อม จึงเป็นชีวภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจนำมาใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะการนำไส้เดือนฝอยมาใช้พ่นกำจัดแมลงในการผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ หรือใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์
ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่งมีรูปร่างคล้ายหนอน ลำตัวกลมใส หัวท้ายเรียวแหลม มองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่าเป็นตัวเบียน หรือพยาธิที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงมากกว่า 200 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นแมลงศัตรูพืช ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่าจึงสามารถนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างกว้างขวาง โดยมี คุณสมบัติที่ดี คือทำให้แมลงตายภายในเวลาอันรวดเร็ว (1-2 วัน) แมลงศัตรูพืชไม่สร้างความต้านทานเหมือนการใช้สารเคมี และไม่มีอันตรายต่อพืช สัตว์ และมนุษย์ รวมทั้งไม่มีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม การใช้ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า จึงเป็น ทางเลือกในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชอีกวิธีหนึ่ง สำหรับเกษตรกรผู้สนใจ

saideanfoytungs

คุณสมบัติไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย
ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย สามารถเพาะเลี้ยงขยายปริมาณได้ง่ายในอาหารเทียมหลายชนิด นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติทนทานอุณหภูมิได้สูงถึง 27 – 35 องศาเซลเซียส จัดเป็นสายพันธุ์ทนร้อนที่มีชีวิตรอดได้ดีในสภาพอุณหภูมิ ในเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย โดยไม่ต้องเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไส้เดือนฝอยในห้องควบคุมอุณหภูมิ จึงเป็นข้อดีที่จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเพื่อการค้าหรือผลิตไว้ใช้เอง เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยง และขยายปริมาณได้ดีในอาหารเทียมที่มีราคาถูก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำเหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือกลุ่มเกษตรกรที่จะหันมาใช้ไส้เดือนฝอยทดแทนหรือลดการซื้อสารเคมีมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ไส้เดือนฝอยสามารถเจริญเติบโตในสภาพอุณหภูมิห้องปกติ (30 – 33 องศาเซลเซียส) กลุ่มงานไส้เดือนฝอยได้ทำการศึกษาวิจัย และพัฒนากระบวนการผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืชให้เป็นเทคโนโลยีที่ง่าย ต้นทุนต่ำและกระบวนการเพาะเลี้ยงไม่ยุ่งยาก เป็นเทคโนโลยีการผลิตระดับเกษตรกรผลิตไว้ใช้เองเป็นผลสำเร็จแล้ว พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้การผลิตไส้เดือนฝอยไปสู่เกษตรกรและสนับสนุนให้เกษตรกรเพราะเลี้ยงไส้เดือนฝอยใช้เอง ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายซึ่งเป็นต้นทุนการซื้อสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือสารชีวภัณฑ์อื่นที่มีราคาแพง นอกจากนั้นการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดศัตรูพืช ยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ไม่มีสารพิษตกค้างในผลิตผลเกษตรและปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม ไส้เดือนฝอยที่เพาะเลี้ยงเองสามารถนำไปใช้ได้ทันที มีความแข็งแรงและมีศักยภาพในการฆ่าแมลง

กระบวนการเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงอย่างง่าย
การเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอย ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ราคาถูก โดยใช้ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยที่แยกได้ในประเทศเป็นหัวเชื้อเริ่มต้นซึ่งมีคุณสมบัติทนร้อน เพาะเลี้ยงได้ในอาหารเทียมชนิดแข็งกึ่งเหลว และขยายพันธุ์ได้ดีโดยไม่ต้องเลี้ยงร่วมกับแบคทีเรียนำมาเพาะเลี้ยงในถุงพลาสติกทนร้อนแทนการใช้ขวดแก้ว และใช้ฟองน้ำสังเคราะห์ตัดเป็นก้อนรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่าเหมือนลูกเต๋าขนาด 1×1 ซม.ใช้เป็นวัสดุคลุกอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน เช่น ไส้ไก่ ไข่ไก่ ไข่เป็ด เนื้อปลาดุก ปลาทู โปรตีนเกษตร เป็นต้น ผสมกับไขมันและน้ำ นำไปคลุกกับก้อนฟองน้ำในอัตราส่วน 5 : 2 : 3 จากนั้น นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งธรรมดา เมื่ออาหารเย็นลงแล้ว จัดการใส่หัวเชื้อไส้เดือนฝอยในอัตราที่กำหนดที่เหมาะสมกับปริมาณอาหารและจำนวนไส้เดือนฝอย คือ 1 ถุงอาหารใช้หัวเชื้อไส้เดือนฝอยประมาณหนึ่งแสนตัว

ต่อจากนั้นนำไปบ่มเพาะเลี้ยง โดยนำถุงอาหารเพาะเลี้ยงที่ใส่หัวเชื้อแล้วไปบ่มไว้ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทในอุณหภูมิห้องปกติ ไม่เกิน 35องศาเซลเซียส ประมาณ 7 วัน จะได้ผลผลิตไส้เดือนฝอยในระยะที่ต้องการ คือ ไส้เดือนฝอยในระยะเข้าทำลายแมลง หัวเชื้อไส้เดือนฝอยจะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ภายในถุงเพาะเลี้ยงจนอาหารหมดใช้เวลาประมาณ 7 วัน หัวเชื้อไส้เดือนฝอยเริ่มต้นหนึ่งแสนตัวต่อถุง สามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้ 200 – 300 เท่า ได้ผลผลิตไส้เดือนฝอยเฉลี่ย 20 -30 ล้านตัวต่อหนึ่งถุงเพาะ ดังนั้นการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยง 10 ถุง สามารถขยายปริมาณไส้เดือนฝอยเฉลี่ย 200-300 ล้านตัวต่ออาหาร 1 ลิตร คิดเป็นต้นทุนอาหารเท่ากับ 150 -180 บาท นำไปใช้พ่นหรือ ราดดินเพื่อฆ่าแมลงได้ทันทีในพื้นที่ประมาณ ครึ่งไร่ถึงหนึ่งไร่

saideanfoyto

ถ้าเราเตรียมอาหารปริมาณ 3 ลิตร ต่อครั้ง จะได้ผลผลิตไส้เดือนฝอย 600 -900 ล้านตัว มีต้นทุนการผลิต 380 บาท อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ตามราคาวัตถุดิบที่นำมาเป็นอาหารเทียม ซึ่งสามารถนำไปใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ได้ 2-3 ไร่ แมลงเป้าหมายได้แก่ หนอนกระทู้ผักหนอนกระทู้หอม หนอนด้วงหมัดผัก หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง และปลวกการใช้ไส้เดือนฝอยควรพ่นไส้เดือนฝอยในช่วงเย็นหรือเช้า เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดด ที่จะทำให้ไส้เดือนฝอยตายหรือลดประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง ไส้เดือนฝอยจะมีประสิทธิภาพดี ควรพ่นให้ถูกตัวแมลงมากที่สุด ควรเขย่าถังพ่นสารหรือกระบอกฉีดทุก 10 นาที การเขย่าบ่อยๆ ก็เพื่อป้องกันมิให้ไส้เดือนฝอยตกตะกอนลงสู่ก้นถังผลผลิตไส้เดือนฝอยได้จากการเพาะเลี้ยงในถุงอาหารแล้ว 7 วัน ควรนำไปใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชให้หมดภายใน 5-7 วัน

การเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอย สามารถดัดแปลงสูตรอาหารได้ตามสภาพท้องถิ่น เช่น เศษเนื้อปลาชนิดต่างๆ ที่หาง่ายในเขตทำการประมงไข่จากฟาร์มใกล้ๆ เศษเครื่องในสัตว์ที่ทิ้งแล้ว เหล่านี้เป็นอาหารโปรตีนที่สามารถนำมาเป็นอาหารเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยได้อย่างดี การเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยใช้เอง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นการค้ามาใช้ได้ถึง 15.8 เท่า และการเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยใช้เองทันทีนั้นจะทำให้ได้ไส้เดือนฝอยที่แข็งแรง และมีศักยภาพในการกำจัดแมลงได้ดี

saideanfoytunga

แมลงศัตรูพืชที่ใช้ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า ควบคุมได้ผลดี

  1. หนอนกินใต้เปลือกผิว
  2. หนอนเจาะสมอฝ้าย
  3. หนอนกระทู้ผัก
  4. หนอนกระทู้หอม
  5. หนอนกินรากหญ้า
  6. หนอนเจาะก้อนเห็ด
  7. หนอนคืบลำไย
  8. หนอนเจาะยอดผัก
  9. หนอนใยผัก
  10. หนอนคืบกระหล่ำ
  11. ดักแด้ด้วงหมัดผัก
  12. ด้วงงวงมันเทศ
  13. หนอนกอข้าว
  14. หนอนเจาะดอก
  15. หนอนแมลงวัน
  16. หนอนเจาะกิ่ง

อัตราและปริมาณการใช้ ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า
ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า ที่ผลิตได้จะถูกเก็บในชิ้นฟองน้ำ บรรจุในซองพลาสติก ในผลิตภัณฑ์ 1 ซอง จะมีไส้เดือนฝอยอยู่ประมาณ 4 ล้านตัว

saideanfoynon

วิธีการใช้ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า

  1. ) เตรียมน้ำที่จะใช้ฉีดพ่นไส้เดือนฝอย โดยแบ่งน้ำเป็น 3 ส่วน
  2. ) เทชิ้นฟองน้ำบรรจุไส้เดือนฝอยลงในน้ำส่วนที่ 1 ขยำให้ไส้เดือนฝอยหลุดจากฟองน้ำลงมาอยู่ในน้ำ
  3. ) นำชิ้นฟองน้ำจากส่วนแรกไปขยำในน้ำในส่วนที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ด้วยวิธีการเดียวกัน
  4. ) นำน้ำไส้เดือนฝอยทั้ง 3 ส่วน เทรวมกันในถังพ่น
  5. ) ฉีดพ่นไส้เดือนฝอยให้ทั่วต้นพืช และพื้นดินโดยบริเวณที่ฉีดพ่นควรมีความชื้นอยู่บ้าง
  6. ) หมั่นเขย่าถังฉีดพ่น เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้เดือนฝอยตกตะกอน

saideanfoysk

วิธีการเก็บรักษาและขนส่ง
ขณะทำการขนส่งต้องเก็บไส้เดือนฝอยในที่เย็น หรือกล่องโฟมใส่น้ำแข็ง การเก็บรักษาไส้เดือนฝอยต้องเก็บในตู้เย็นช่องปกติ (อุณหภูมิ 7-10 องศาเซลเซียส) ห้ามแช่แข็งเด็ดขาด

การใช้ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า ในการกำจัดศัตรูพืชจะต้องพิจารณาในสองส่วน ได้แก่
1)อัตราการใช้ ใช้ไส้เดือนฝอย 1 ซอง ต่อน้ำ 2 ลิตร
2)ปริมาณการใช้ ขึ้นอยู่กับชนิดของศัตรูพืช ดังนี้

  • หนอนเจาะกิ่ง และหนอนกินใต้ผิวเปลือก ฉีดพ่นตามกิ่งและลำต้นให้ทั่ว ต้นละ 2-3 ลิตร พ่น 2 ครั้งห่างกัน 15 วัน
  • ดักแด้ ด้วงหมัดผัก และด้วงงวงมันเทศ ใช้ราดหรือฉีดพ่นลงดินทั้งบนแปลงและร่องแปลงทุก 10 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง ใน 1 ไร่ ใช้ไส้เดือนฝอย 80 ซอง ต่อน้ำ 160 ลิตร
  • หนอนเจาะดอก หนอนเจาะยอด และหนอนกินใบ ฉีดพ่นบนใบและยอดให้ทั่ว แต่ไม่ควรให้เปียกโซก ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง ใน 1 ไร่ ใช้ไส้เดือนฝอย 20 ซองต่อน้ำ 40 ลิตร

อัตราการใช้

  • หนอนกระทู้ผัก,หนอนกระทู้หอม,หนอนใยผัก อัตราการใช้ 50-60 ล้านตัว/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน
  • หนอนด้วงหมัดผัก อัตราการใช้ 150-200 ล้านตัว/น้ำ 20 ลิตร ใช้ก่อนปลูกหรือพ่นทุก 5 วัน
  • หนอนกินใต้เปลือกลองกอง อัตราการใช้ 5 ล้านตัว/น้ำ 2 ลิตร/ต้น พ่นทุก 10 วัน
  • จอมปลวก อัตราการใช้ 5 ล้านตัว/น้ำ 2 ลิตร/จอม ทะลายจอม บัวรดทุก 3 วัน
  • ปลวกทำลายเนื้อไม้ในอาคาร อัตราการใช้ 5 ล้านตัว/น้ำ 500 ซีซี พ่นเมื่อพบตัวปลวก

saideanfoyched

ข้อควรพิจารณาในการใช้ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีม่า

  1. ) ไส้เดือนฝอย เหมาะสำหรับใช้ควบคุมแมลงที่ทำลายในที่หลบซ่อน เช่น ในดิน ใต้เปลือก ในรู ในกลีบดอกและผล มากกว่าการใช้ในที่โล่งแจ้ง
  2. ) การใช้ไส้เดือนฝอยควรใช้ในเวลาเย็น หลังบ่าย 3 โมง เพื่อหลีกเลื่องแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อไส้เดือนฝอย
  3. ) ในกรณีที่สภาพอากาศแห้ง ควรฉีดพ่นน้ำในแปลงปลูกพืช เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความชุ่มชื้นก่อนฉีดพ่นไส้เดือนฝอย
  4. ) การใช้ไส้เดือนฝอยให้ได้ผลดี ผู้ใช้ควรศึกษาวิธีการใช้ที่ถูกต้อง รู้จักช่วงเวลาการใช้ อัตราการใช้และการเก็บรักษา

ผู้สนใจวิธีการผลิตไส้เดือนฝอยไว้ใช้เอง สามารถสอบถามเพิ่มเติม และขอรับการฝึกอบรมได้ที่ กลุ่มงานไส้เดือนฝอย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-9586

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น