กุง ไม้อนุรักษ์

17 เมษายน 2560 ไม้ยืนต้น 0

ต้นกุงพบได้ในป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง หรือป่าแดง ที่พบขึ้นอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ทำที่อยู่อาศัย (ปัจจุบันเป็นไม้อนุรักษ์)

ชื่อสามัญ: พลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dipterocarpus tuberculatns Roxb.
ชื่อวงศ์: DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่นๆ: ต้นกุง (อุบลราชธานี, อุดรธานี, ชัยภูมิ ต้น ) คลง (เขมร) คลอง (เขมร) ควง (พิษณุโลก, สุโขทัย) ตึง, ตึงขาว (ภาคเหนือ) พลวง, ยาง (ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ยางพลวง (ภาคกลาง) พลอง, แลเท้า (กะเหรี่ยง

ลักษณะ
ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ สูง 10-30 เมตร ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาสีน้ำตาลปนเทาอ่อน แตกเป็นร่องลึกไปตามยาวของลำต้น กิ่งอ่องเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง มีรอยแผลใบเห็นชัด
ใบ เดี่ยว เรียงเวียนสลับ ใบรูปไข่กว้างขนาด 15-28 X 15-40 ซ.ม. โคนใบแผ่กว้าง แล้วหยักเว้า ปลายใบสอบทู่ เนื้อใบหนาเกลี้ยงหรืออาจมีขนกระจายห่างๆบ้าง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ก้านใบยาว 3-30 ซ.ม.
ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ตอนปลายกิ่ง มีกาบหุ้มช่อดอกรูปขอบขนานแคบๆ หนึ่งกาบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบบิดตามเข็มนาฬิกาเหมือนกังหัน ก่อนออกดอกจะทิ้งใบหมดหรือเกือบหมด
สี ชมพู-ชมพูเข้ม ขอบกลีบสีขาว
ออกดอก เดือน ธ.ค.-เม.ย.
ผล เป็นรูปกรวย มีสันด้านข้างผล 5 สัน และพองโตเป็นติ่ง 5 ติ่งตรงที่ติดกับโคนปีก มีปีกยาว 2 ปีก ยาว 10-15 ซ.ม. มีเส้นปีกตามยาว 3 เส้น
ผลแก่ ประมาณ ม.ค. – พ.ค.

ประโยชน์:
การใช้ประโยชน์ทางด้านเนื้อไม้ เนื้อไม้ในระยะแรกๆ จะออกสีน้ำตาลแกมแดง ถ้าทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม เสี้ยนตรงพอประมาณ เนื้อหยาบแต่สม่ำเสมอ แข็ง เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งง่าย ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในร่ม เช่น เครื่องบน รอด ตง คาน พื้น ฝา ทำเครื่องมือทางการเกษตร หูกทอผ้า กังหันน้ำ ปาร์เก้ หรือกระเบื้องไม้ปูพื้น
การใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร น้ำมันใช้ทาแผลภายนอก โดยผสมกับมหาหิงคุ์ และน้ำมันมะพร้าวก็ได้ ใบ เผาให้เป็นเถ้าผสมกับน้ำปูนใส แก้บิดและถ่ายเป็นมูกเลือก ราก นำมาต้มแล้วดื่มแก้ตับอักเสบ
การใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ ชันใช้ทาไม้ ยาเรือ หรือ ยาเครื่องจักสาน ทำไต้ ใบแห้งใช้มุงหลังคา ฝากั้นห้อง คลุมผิวดิน ปลูกผัก ปลูกสตรอเบอรี่ ใบสด ใช้ห่อของแทนถุงพลาสติก

ฤดูกาลใช้ประโยชน์: ทุกฤดู

ต้นกุง(พลวง) ต้นชาด(เหียง) ต้นสะแบง ต้นยาง เป็นไม้ตระกูลเดียวกัน
เนื้อไม้คล้ายกัน แยกไม่ออกโดยการอธิบาย แต่ดูออกว่าเป็นไม้ชนิดใด
ป่าที่มีต้นกุง เรียกว่า โคก เป็นป่าโปร่ง ไม้ใหญ่มีแต่ต้นกุงทั้งนั้นเนื้อที่หลายพันไร่หน้าแล้ง ต้นไม้ผลัดใบ พอเริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง ใบตองกุงจะเหลืองและหลุดจากกิ่งค่อยๆร่อนลงมากระทบกับลำต้น ต้นนั้นต้นนี้เป็นจังหวะ (นึกว่าผีหลอก)
รากต้นกุง ทำให้เกิดเห็ดระโงกและเห็ดอื่นๆอีกหลายชนิด
ลำต้นทำให้เกิดเห็ดลม(เห็ดบด)
ใบตองกุง ใช้ในการห่อข้าวเหนียว ใช้ทำฝาผนังกระท่อม ใช้รองเข่ง(กระทอ)เกลือ ข้าวปลูก
กระดานมุงหลังคา ทำด้วยไม้กุง โดยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 50 ซม.
ตั้งไว้แล้วใช้มีดขนาดใหญ่วางที่ขอบ(ถัดเปลือกเข้ามา) ให้อีกคนหนึ่งใช้ค้อน(เหมือนไม้เบสบอล)
ตีลงบนสันมีิดจนจมลงในเนื้อไม้จากนั้นวางลิ่มตรงรอยผ่าใช้ค้อนตีลงไปหนึ่งครั้ง
ลิ่มจะทำให้รอยแยกห่างออก
คนถือมีดจะดึงมีดออกแล้วใช้สันมีดตีลิ่มจนไม้ฉีกออกเป็นแผ่นกระดาน

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น