มหัศจรรย์ พด. กรมพัฒนาที่ดิน

14 กรกฏาคม 2557 จุลินทรีย์ 0

พด.ย่อมาจากพัฒนาที่ดิน สารพด.เป็นสารที่ช่วยในเร่งในการย่อยสลายของชากพืชชากสัตว์ ย่นระยะเวลาการหมักให้ส้นขึ้นและให้เป็นปุ๋ยได้เร็วขึ้นประโยชน์หลากหลายเหมาะกับพี่น้องชาวเกษตร

  • พด.1 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อราและแอคติโนมัยซีสที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลสและแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน ใช้ผลิตปุ๋ยหมักในเวลาอันสั้น นำไปใช้เพิ่มความสมบูรณ์แก่ดิน สารเร่ง
  • พด.2เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ โดยดำเนินกิจกรรมทั้งในสภาพที่ไม่มีอากาศและมีอากาศ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ สำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เร่งการเจริญเติบโตของรากพืช เพิ่มการขยายตัวของใบ ยืดตัวของลำต้น ส่งเสริมการออกดอกและติดผล หรือใช้ทำความสะอาดคอกสัตว์เลี้ยง
  • พด.3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน โดยมีความสามารถป้องกันหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชที่ทำให้เกิดอาการรากหรือโคนเน่า และแปรสภาพแร่ธาตุในดินบางชนิดให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ เชื้อไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) และ บาซิลลัส (Bacillus sp.) ใช้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรครากและโคนเน่าของพืช ส่วนสารปรับปรุงบำรุงดิน
  • พด.4 ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตร ปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือยืดอายุของปุ๋ยที่ใช้ในดินได้นานขึ้น
  • พด.5 สำหรับผลิตสารกำจัดวัชพืชประเภทหญ้าและวัชพืชใบกว้าง เช่น หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าละออง หญ้าแพรก สารเร่ง
  • พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหาร ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจนเพื่อผลิตสารสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำสำหรับผลิตสารบำบัดน้ำเสีย และขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารเหลือทิ้ง ทำความสะอาดคอกสัตว์ สารเร่ง
  • พด.7 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและย่อยสลายพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนเจาะผลและลำต้น หนอนใยผัก
  • พด.8 ใช้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ละลายฟอสฟอรัสในดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตสมบูรณ์ ร่วมกับการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ
  • พด.9 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อยซึ่งเป็นดินกรดกำมะถัน ที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH ไม่ต่ำกว่า 5)ผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อย ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตและสมบูรณ์ และสารปรับปรุงดิน
  • พด.10 สำหรับปรับปรุงดินทรายและดินเสื่อมโทรม เพราะมีคุณสมบัติทำให้ดินจับตัวเป็นก้อนดีขึ้น ช่วยให้ระบายน้ำและอากาศได้ดี
  • พด.11 จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน เป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศ เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน
  • ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 สายพันธุ์

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการเผยแพร่ และส่งเสริมทั้งหมด 9 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสูตรปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปริมาณธาตุอาหารที่สูงขึ้น เรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สำหรับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการส่งเสริมเผยแพร่ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ และจุลินทรีย์อีกหนึ่งกลุ่ม เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินที่มีปัญหาอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

pordor

กลุ่มที่ 1 จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ได้แก่

สารเร่งซุปเปอร์ พด.1
เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุเหลือใชจากการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อรา และแอคติโนมัยซีสที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลส และแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน
จุดเด่นของสารเร่งซุปเปอร์ พด.1

  1. มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสารประกอบเซลลูโลส
  2. สามารถย่อยสลายน้ำมัน/ไขมันในวัสดุหมักที่สลายตัวยาก
  3. ผลิตปุ๋ยหมักในระยะเวลารวดเร็ว และมีคุณภาพ
  4. เป็นจุลินทรีย์ที่ทนอุณหภูมิสูง
  5. เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างสปอร์จึงเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นาน
  6. สามารถย่อยวัสดุเหลือใช้ได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น

ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งเกิดจากการนำซากหรือเศษเหลือจากพืชมาหมักรวมกัน และผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยกิจกรรมจุลินทรีย์ จนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิมเป็นวัสดุที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง และมีสีน้ำตาลปนดำ

pordor1

ส่วนผสมของวัสดุ ในการกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน

  • เศษพืชแห้ง 1,000 กิโลกรัม
  • มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยไนโตรเจน 2 กิโลกรัม
  • สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 1 กิโลกรัม

วิธีการกองปุ๋ยหมัก
การกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน มีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.5 เมตร การกองมี 2 วิธี ขึ้นกับชนิดของวัสดุที่มีขนาดเล็กให้คลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากันแล้วจึงกองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนวัสดุที่มีชิ้นส่วนยาวให้กองเป็นชั้น ๆ ประมาณ 3-4 ชั้น โดยแบ่งส่วนผสมที่จะกองออกเป็น 3-4 ส่วน ตามจำนวนชั้นที่จะกอง มีวิธีการกองดังนี้

  1. ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในน้ำ 20 ลิตร นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นให้จุลินทรีย์ออกจากสภาพที่เป็นสปอร์และพร้อมที่จะเกิดกิจกรรมการย่อยสลาย
  2. การกองชั้นแรกให้นำวัสดุที่แบ่งไว้ส่วนที่หนึ่งมากองเป็นชั้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย่ำให้พอแน่นและรดน้ำให้ชุ่ม
  3. นำมูลสัตว์โรยที่ผิวหน้าเศษพืช ตามด้วยปุ๋ยไนโตรเจน แล้วราดสารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ให้ทั่ว โดยแบ่งใส่เป็นชั้น ๆ
  4. หลังจากนั้นนำเศษพืชมากองทับเพื่อทำชั้นต่อไป ปฏิบัติเหมือนการกองชั้นแรก ทำเช่นนี้อีก 2-3 ชั้น ชั้นบนสุดของกองปุ๋ยควรปิดทับด้วยเศษพืชที่เหลืออยู่เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น

การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก
รดน้ำรักษาความชื้นในกองปุ๋ย : ให้มีความชื้นประมาณ 50-60%
การกลับกองปุ๋ยหมัก : กลับกอง 10 วันต่อครั้ง เพื่อเพิ่มออกซิเจน ลดความร้อนในกองปุ๋ย และช่วยให้วัสดุคลุกเคล้ากัน หรือใช้ไม้ไผ่เจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งลำและเจาะรูด้านข้างปักรอบ ๆ กองปุ๋ยหมัก ห่างกันลำละ 50-70 เซนติเมตร
การเก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้ว : เก็บไว้ในโรงเรือน อย่าตากแดดและฝนจะทำให้ธาตุอาหารพืชในปุ๋ยหมักสูญเสียไปได้
หลักการพิจารณาปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว

  1. สี : มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ
  2. ลักษณะ : อ่อนนุ่ม ยุ่ย ไม่แข็งกระด้างและขาดออกจากกันได้ง่าย
  3. กลิ่น : ปุ๋ยหมักที่เสร็จสมบูรณ์จะไม่มีกลิ่นเหม็น
  4. ความร้อนในกองปุ๋ย : อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกอง
  5. การเจริญของพืชบนกองปุ๋ยหมัก : พืชสามารถเจริญบนกองปุ๋ยหมักได้โดยไม่เป็นอันตราย
  6. การวิเคราะห์ทางเคมี : ค่าอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนเท่ากับหรือต่ำกว่า 20 : 1

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก

  • ข้าว : ใช้ 2 ตันต่อไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกพืช
  • พืชไร่ : ใช้ 2 ตันต่อไร่ โรยเป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน
  • พืชผัก : ใช้ 4 ตันต่อไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน
  • ไม้ผล ไม้ยืนต้น :
    เตรียมหลุมปลูก : ใช้ 20 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดินใส่รองก้นหลุม
    ต้นพืชที่เจริญแล้ว : ใช้ 20-50 กิโลกรัมต่อต้น ขึ้นกับอายุของพืช โดยขุดร่องตามแนวทรงพุ่มใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม
    ไม้ตัดดอก ใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ ไม้ดอกยืนต้นใช้ 5-10 กิโลกรัมต่อหลุม
    ใส่ปุ๋ยหมักช่วงเตรียมดิน และไถกลบขณะที่ดินมีความชื้นเพียงพอ จะทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์ต่อพืชสูงสุด

สารเร่งซุปเปอร์ พด.2
เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ โดยดำเนินกิจกรรมทั้งในสภาพที่ไม่มีอากาศและมีอากาศ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ดังนี้
ยีสต์ ผลิตแอลกอฮอล์และกรดอินทรีย์

  • แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก
  • แบคมีเรียย่อยสลายโปรตีน
  • แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน
  • แบคทีเรียละลายอนินทรีย ฟอสฟอรัส

ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปของเหลว ซึ่งได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากพืชหรือสัตว์ลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูงโดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ทั้งในสภาพที่ไม่มีอากาศและมีอากาศ ได้ของเหลวสีน้ำตาล ประกอบด้วยฮอร์โมนหรือสารเสริมการเจริญเติบโตของพืช เช่น ออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน รวมทั้งกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดแลคติก กรดอะซิติก กรดอะมิโน และกรดฮิวมิก

pordor2

จุดเด่นของสารเร่งซุปเปอร์ พด.2

  • สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากวัตถุดิบได้หลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้ ปลา หอยเชอรี่ เปลือกไข่ เศษก้างและกระดูกสัตว์
  • เพิ่มประสิทธิภาพการละลายธาตุอาหารในการหมักวัตถุดิบจากเปลือกไข่ ก้าง และกระดูกสัตว์
  • เป็นจุลินทรีย์ที่เจริญได้ในสภาพความเป็นกรด
  • จุลินทรีย์ส่วนใหญ่สร้างสปอร์ ทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อมและเก็บรักษาได้นาน
  • สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเวลาสั้นและได้คุณภาพ
  • ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานต่อการเข้าทำลายของโรค / แมลง

ส่วนผสมสำหรับผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ
ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากผักและผลไม้ จำนวน 50 ลิตร (ใช้เวลาการหมัก 7 วัน)

  • ผักหรือผลไม้ 40 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
  • น้ำ 10 ลิตร
  • สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง (25 กรัม)

ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากปลาหรือหอยเชอรี่ จำนวน 50 ลิตร (ใช้เวลาการหมัก 15 – 20 วัน)

  • ปลาหรือหอยเชอรี่ 30 กิโลกรัม
  • ผลไม้ 10 กิโลกรัม
  • กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม
  • น้ำ 10 ลิตร
  • สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 1 ซอง (25 กรัม)

วิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2

  1. หั่นหรือสับวัสดุพืชหรือสัตว์ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับกากน้ำตาลในถังหมักขนาด 50 ลิตร
  2. นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง ผสมในน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
  3. เทสารละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ในถังหมัก คนส่วนผสมให้เข้ากันปิดฝาไม่ต้องสนิทและตั้งไว้ในที่ร่ม
  4. ในระหว่างการหมัก คนหรือกวน 1-2 ครั้ง/วัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดียิ่งขึ้น
  5. ในระหว่างการหมักจะเห็นฝ้าขาวซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวหน้าของวัสดุหมัก ฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลิ่นแอลกอฮอล์

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยวิธีการต่อเชื้อ
การผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยวิธีการต่อเชื้อเป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยไม่ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ทำได้โดยนำปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่มีอายุการหมัก 5 วัน ซึ่งจะสังเกตเห็นฝ้าสีขาวที่ผิวหน้าวัสดุ หมักโดยใช้จำนวน 2 ลิตร แทนการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง จะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำได้จำนวน 50 ลิตร
การพิจารณาปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่หมักสมบูรณ์แล้ว

  • การเจริญของจุลินทรีย์น้อยลง โดยคราบเชื้อที่พบในช่วงแรกจะลดลง
  • ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง
  • ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 3 – 4

อัตราและวิธีการใช้
เจือจางปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ต่อ น้ำ อัตราส่วน 1:500 – 1: 1,000
ฉีดพ่น หรือรดลงดิน ในช่วงการเจริญเติบโตของพืช

สารเร่ง พด.9
สารเร่ง พด.9 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อย ซึ่งเป็นดินกรดกำมะถันที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH ไม่ต่ำกว่า 5) จุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยว
หมายถึง จุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายสารประกอบฟอสฟอรัสในสภาพดินเปรี้ยว โดยการผลิตกรดอินทรีย์บางชนิด ออกมาเพื่อละลายฟอสฟอรัสให้เป็นประโยชน์ต่อพืชและในดิน

DIGITAL CAMERA

คุณสมบัติของสารเร่ง พด.9

  • ช่วยแปรสภาพสารประกอบฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
  • เจริญได้ดีในดินที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 4.5 – 6.5
  • ผลิตกรดอินทรีย์และสารเสริมการเจริญเติบโตบางชนิดเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับพืช

วิธีการขยายเชื้อสารเร่ง พด.9

  • กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  • น้ำ 10 ลิตร
  • ปุ๋ยหมัก 500 กิโลกรัม
  • รำข้าว 5 กิโลกรัม
  • สารเร่ง พด.9 1 ซอง (25 กรัม)

วิธีทำ

  • ขั้นตอนที่ 1 ขยายเชื้อจุลินทรีย์ 10 ลิตร
    ละลายสารเร่ง พด.9 ในน้ำและกากน้ำตาลในถัง กวนส่วนผสมนาน 5 นาที ปิดฝาไม่ต้องสนิทใช้เวลาหมัก 2 วัน กวน 2 ครั้งต่อวัน
  • ขั้นตอนที่ 2 ผสมเชื้อจุลินทรีย์ในปุ๋ยหมัก
    นำจุลินทรีย์ที่ขยายได้ ผสมในปุ๋ยหมักและรำข้าว คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันและให้มีความชื้น 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความสูง 70 เซนติเมตร กองปุ๋ยหมักในที่ร่มเป็นเวลา

การดูแลรักษาการขยายเชื้อสารเร่ง พด.9
ทำการกวนส่วนผสมของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำและกากน้ำตาล 2 ครั้งต่อวัน เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์
รักษาความชื้นอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการขยายเชื้อในกองปุ๋ยหมัก โดยใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยหมัก

จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11
นวัตกรรมจุลินทรีย์ดิน พด.11 เป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน โดยแบ่งออกเป็น จุลินทรีย์ พด.11 สำหรับโสนอัฟริกัน และจุลินทรีย์ พด.11 สำหรับปอเทือง ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจน สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดินชนิดนั้น ๆ อีกทั้งยังมีจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการละลายฟอสฟอรัสในดินให้เป็นประโยชน์แก่พืช เพื่อการใช้ประโยชน์พืชปรับปรุงบำรุงดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

pordor11

คุณสมบัติของจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11

  1. เป็นจุลินทรีย์กลุ่มไรโซเบียม ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอาศัยอยู่ในปมรากและลำต้นของพืชปรับปรุงบำรุงดินแบบพึ่งพา ซึ่งกันและกัน โดยไรโซเบียมเป็นเชื้อแบคทีเรียที่จัดอยู่ในสกุล Rhizobium ย้อมติดสีแกรมลบ ไม่สร้างสปอร์มีรูปร่างเป็นท่อน ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโต สามารถเข้าสู่รากพืชปรับปรุงบำรุงดิน และสร้างปมเพื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้
  2. เป็นแบคทีเรียที่สามารถผลิตกรดอินทรีย์ เพื่อละลายสารประกอบอนินทรีย์ฟอสเฟตที่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เช่น Burkholderia sp.
  3. เจริญที่อุณหภูมิระหว่าง 27 – 35 องศาเซลเซียส
  4. เจริญในสภาพที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง 6.5 – 7.5

วิธีการขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11

  1. ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม
  2. รำข้าว 1 กิโลกรัม
  3. จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 100 กรัม (1 ซอง)

วิธีการขยายเชื้อ

  1. ผสมจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
  2. รดสารละลายจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 ลงในกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  3. ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ย เพื่อรักษาความชื้นให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์
  4. กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 4 วัน

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11

  1. หว่านปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.11 ให้ทั่วพื้นที่ปลูก หรือโรยในแถวร่องปลูก 100 กิโลกรัมต่อไร่
  2. หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือหว่านเมล็ดโสนอัฟริกันที่แช่น้ำแล้ว 1 คืน อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่

คำแนะนำ

  1. ไถกลบพืชปรับปรุงบำรุงดินในช่วงระยะเวลาออกดอกทิ้งไว้ 7-10 วัน แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม
  2. เก็บจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 (ปอเทือง หรือโสนอัฟริกัน) และปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.11 แล้วไว้ในที่ร่ม

ประโยชน์ของจุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11

  1. เพิ่มปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน เป็นแหล่งธาตุอาหารไนโตรเจนทดแทนปุ๋ยเคมี ในระบบเกษตรอินทรีย์
  2. เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัส
  3. เพิ่มมวลชีวภาพของพืชปรับปรุงบำรุงดิน (ปอเทือง และโสนอัฟริกัน)
  4. เพิ่มอินทรียวัตถุ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  5. ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น
  6. ทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายน้ำ อากาศ และความสามารถในการอุ้มน้ำดีขึ้น
  7. ทำให้การปลูกพืชหลักตามมาได้รับผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น

ปุ๋ยชีวภาพ พด.12
ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 สายพันธุ์
จุลินทรีย์ที่อยู่อย่างอิสระในดิน สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแอมโมเนียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ Azotobacter chroococcum

จุลินทรีย์ที่สามารถผลิตกรดอินทรีย์ปลดปล่อยออกมาละลายสารประกอบอนินทรีย์ฟอสเฟต ให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดใช้ได้

pordor12

จุลินทรีย์ที่ปลดปล่อยกรดอินทรีย์ช่วยละลายแร่ธาตุที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบ ให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ Bacillus megaterium
จุลินทรีย์ที่สร้างฮอร์โมนให้พืช ช่วยกระตุ้นการเจริญของรากและส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นพืช

จุดเด่นของปุ๋ยชีวภาพ พด.12

  • เพิ่มไนโตรเจน
  • เพิ่มการละลายได้ของหินฟอสเฟต 15 – 45 เปอร์เซ็นต์
  • เพิ่มการละลายได้ของโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ 10 เปอร์เซ็นต์
  • สร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของราก และต้นพืช
  • เพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหารของพืช

วิธีการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12
วัสดุสำหรับขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ

  • ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัม
  • รำข้าว 3 กิโลกรัม
  • ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 100 กรัม (1 ซอง)

วิธีการขยายเชื้อ

  1. ผสมปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และรำข้าวในน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
  2. รดสารละลายปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมักและคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้นให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยตรวจสอบความชื้นด้วยการกำปุ๋ยหมักเป็นก้อนและไม่มีน้ำไหลออกมา เมื่อคลายมือออกปุ๋ยหมักยังคงสภาพเป็นก้อนอยู่ได้
  3. ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น
  4. กองปุ๋ยหมักไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำไปใช้

ประโยชน์ของปุ๋ยชีวภาพ

  • ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์
  • เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอรสฟอรัส และโพแทสเซียมในดิน
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย
  • ช่วยสร้างความสมดุลของธาตุอาหารพืชในพิน ทำให้รากพืชดูดใช้ได้ดีขึ้น
  • ใช้ปริมาณน้อย ราคาถูก ลดต้นทุน และช่วยเพิ่มผลผลิตพืช

คำแนะนำ

  • ควรปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์
  • หลีกเลี่ยงการเผาตอซังพืช เพราะจะทำลายจุลินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ที่ใส่ลงไปในดิน รวมทั้งเป็นการทำลายอินทรีย์วัตถุซึ่งเป็นแหล่งอาหารและพลังงานของจุลินทรีย์
  • ปุ๋ยหมักที่ใช้ขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพต้องเป็นปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์แล้ว
  • เก็บปุ๋ยชีวภาพ พด.12 หรือปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อ พด.12 ในที่ร่ม

กลุ่มที่ 2 จุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่
สารเร่งซุปเปอร์ พด.3
สารเร่ง พด.3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน โดยมีความสามารถป้องกันหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชที่ทำให้เกิดอาการรากหรือโคนเน่า และแปรสภาพแร่ธาตุในดินบางชนิดให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ เชื้อไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma sp.) และ บาซิลลัส (Bacillus sp.)

จุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช
หมายถึง จุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อสาเหตุโรคพืช สามารถทำลายและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคพืชได้โดยวิธีการแข่งขันการใช้อาหารเพื่อการเจริญได้ดีกว่าเชื้อโรคพืช หรือการเข้าทำลายเซลล์ของเชื้อโรคพืชโดยตรง และหรือการสร้างสารปฏิชีวนะยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคพืชแข่งขันการใช้อาหารและเจริญได้ดีกว่าเชื้อสาเหตุโรคพืช เข้าทำลายเส้นใยเชื้อสาเหตุโรคพืช สร้างสารปฏิชีวนะควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช

pordor3

คุณสมบัติของสารเร่ง พด.3

  • ป้องกันและควบคุมการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ได้แก่
  • โรครากและโคนเน่าของไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน ส้ม และยางพารา เป็นต้น
  • โรคเน่าคอดินและลำต้นเน่าของพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด พืชเส้นใยและพืชตระกูลถั่ว
  • โรคเน่าและเหี่ยวของพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เช่น พริก มะเขือเทศ แตง กะหล่ำปลี เบญจมาศ และมะลิ เป็นต้น
  • ช่วยแปรสภาพแร่ธาตุในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
  • เจริญได้ดีในดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงและมีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5

วิธีการขยายเชื้อสารเร่ง พด.3
วัสดุสำหรับขยายเชื้อ

  • ปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม
  • รำข้าว 1 กิโลกรัม
  • สารเร่ง พด.3 1 ซอง (25 กรัม)

วิธีทำ

  1. ผสมสารเร่ง พด.3 และรำข้าวในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที
  2. รดสารละลายสารเร่ง พด.3 ลงในกองปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากันและปรับความชื้นให้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์
  3. ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีความสูง 50 เซนติเมตร กองปุ๋ยหมักให้อยู่ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน

การดูแลรักษาการขยายเชื้อสารเร่ง พด.3
ความชื้น : ควบคุมความชื้นกองปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอและใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยหมัก เพื่อรักษาความชื้น
การเก็บรักษาเชื้อสารเร่ง พด.3 : หลังจากขยายเชื้อเป็นเวลา 7 วัน เชื้อสารเร่ง พด.3 ในกองปุ๋ยหมักจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นโดยสังเกตได้จากกลุ่มของสปอร์และเส้นใย ที่มีลักษณะสีเขียวเจริญอยู่ในกองปุ๋ยหมักเป็นจำนวนมาก คลุกเคล้าให้เข้ากัน และนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม

อัตราและวิธีการใช้เชื้อสารเร่ง พด.3 ที่ขยายในกองปุ๋ยหมัก

  • พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ ใช้ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ระหว่างแถวก่อนหรือหลังปลูกพืช
  • ไม้ผล ไม้ยืนต้น ใช้ 3 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ตอนเตรียมหลุมปลูกโดยคลุกเคล้ากับดินใส่ไว้ในหลุม และช่วงพืชเจริญเติบโตให้หว่านทั่วบริเวณทรงพุ่ม
  • แปลงเพาะกล้า ใช้ 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โรยให้ทั่วแปลง

ประโยชน์ของเชื้อสารเร่ง พด.3

  • ทำลายและยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน
  • ลดและควบคุมปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน
  • ทำให้ดินมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มขึ้น
  • ทำให้รากพืชแข็งแรงและพืชเจริญเติบโตได้ดี

การต่อเชื้อ เป็นการขยายเชื้อโดยไม่ต้องใช้สารเร่ง พด.3 แต่ใช้ปุ๋ยหมักที่ขยายเชื้อสารเร่ง พด.3 แล้ว จำนวน 2 กิโลกรัม แทนสารเร่ง พด.3 1 ซอง จะสามารถขยายเชื้อสารเร่ง พด.3 ได้จำนวน 100 กิโลกรัม

ข้อเสนอแนะ

  • ต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือไถกลบตอซัง ในพื้นที่เพาะปลูกก่อนใช้เชื้อสารเร่ง พด.3
  • อย่าให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก

สารเร่ง พด.7
สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่ผลิตจาก สารเร่ง พด.7 เป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากการย่อยสลายพืชสมุนไพร โดยกิจกรรมจุลินทรีย์ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน ได้ของเหลวสีน้ำตาลใส ซึ่งประกอบด้วยกรดอินทรีย์หลายชนิดในปริมาณสูง รวมทั้งสารออกฤทธิ์ประเภทต่าง ๆ และสารไล่แมลงที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ใช้ในการป้องกันแมลงศัตรูพืช
สารเร่ง พด.7 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและย่อยสลายพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช

pordor7

ชนิดของจุลินทรีย์ในสารเร่ง พด.7

  • ยีสต์ผลิตแอลกอฮอล์ และกรดอินทรีย์
  • แบคทีเรียผลิตเอนไซม์เซลลูเลสย่อยสลายสารประกอบเซลลูโลส
  • แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก

วัสดุสำหรับผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช (จำนวน 50 ลิตร)

  1. พืชสมุนไพร 30 กิโลกรัม
  2. น้ำตาล 10 กิโลกรัม
  3. น้ำ 50 ลิตร
  4. สารเร่ง พด.7 1 ซอง (25 กรัม)

ชนิดพืชสมุนไพร

  • สมุนไพรที่ใช้ป้องกันพวกเพลี้ย ได้แก่ ตะไคร้หอม หางไหล สาบเสือ หนอนตายหยาก บอระเพ็ด กระทกรก และข่า เป็นต้น
  • สมุนไพรป้องกันหนอนกระทู้ หนอนชอนใบ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หางไหล ตะไคร้หอม เปลือกแค สาบเสือ หนอนตายหยาก สะเดา ว่านเศรษฐี และว่านน้ำ เป็นต้น
  • สมุนไพรที่ป้องกันและเป็นพิษต่อแมลงวันทอง ได้แก่ หมาก เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดเงาะ ยาสูบ พริกไทยดำ ขิง และพญาไร้ใบ
  • สมุนไพรที่ใช้ไล่แมลงไม่ให้วางไข่ ได้แก่ คำแสด มะกรูด ตะไคร้ เมล็ดละหุ่ง มะนาว พริก และพริกไทย เป็นต้น

วิธีทำ

  1. สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็ก ทุบหรือตำให้แตก
  2. นำพืชสมุนไพรและน้ำตาลใส่ลงในถังหมักผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  3. ละลายสารเร่ง พด.7 ในน้ำ 50 ลิตร ผสมให้เข้ากันนาน 5 นาที
  4. เทสารละลายสารเร่ง พด.7 ใส่ลงในถังหมักคลุกเคล้าหรือคนให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้ง
  5. ปิดฝาไม่ต้องสนิท และตั้งไว้ในที่ร่มใช้ระยะเวลาในการหมัก 20 วัน

การพิจารณาลักษณะที่ดีทางกายภาพในระหว่างการหมักเพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช

  • การเจริญของจุลินทรีย์ – เกิดฝ้าของเชื้อจุลินทรีย์เจริญเต็มผิวหน้า หลังจากการหมัก 1-3 วันการ
  • เกิดฟองก๊าซ CO2 – มีฟองก๊าซเกิดขึ้นบนผิวและใต้ผิววัสดุหมัก
  • การเกิดกลิ่นแอลกอฮอล์ – ได้กลิ่นแอลกอฮอล์ฉุนมาก
  • ความใสของสารละลาย – เป็นของเหลวใสและมีสีเข้ม
  • การพิจารณาสารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่สมบูรณ์แล้ว
  • การเจริญของจุลินทรีย์ลดลง
  • กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง
  • กลิ่นเปรี้ยวเพิ่มสูงขึ้น
  • ไม่ปรากฎฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
  • ความเป็นกรดเป็นด่างของสารป้องกันแมลงศัตรูพืชมี pH ต่ำกว่า 4

คุณสมบัติของสารป้องกันแมลงศัตรูพืช

  1. มีสารออกฤทธิ์ที่สกัดได้จากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น สารอะซาดิแรคตินA , สารโรติโนน , pinene , neptha , quinone , geraniol citronellal , limonene และ phellandrene เป็นต้น
  2. มีสารพวก repellant สามารถไล่แมลงชนิดต่าง ๆ เช่น alkaloid , glycoside , saponin , gum , essential oil , tannin และ steroid เป็นต้น
  3. มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดแลคติก กรดอะซีติก กรดฟอร์มิก และกรดอะมิโน เป็นต้น
  4. มีฮอร์โมนหลายชนิด เช่น ออกซิน ไซโตไคนิน โดยเฉพาะจิบเบอร์เรลลิน
  5. มีความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 3 – 4

อัตราการใช้

  • สารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับพืชไร่ และไม้ผล : น้ำเท่ากับ 1:200
  • สารป้องกันแมลงศัตรูพืช สำหรับพืชผัก และไม้ดอก : น้ำเท่ากับ 1:500

วิธีการใช้

  • สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 50 ลิตร ต่อไร่ สำหรับใช้ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก
  • สารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 100 ลิตร ต่อไร่ สำหรับใช้ในไม้ผล

โดยฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น และรดลงดินทุก 20 วัน หรือในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาดให้ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน ติดต่อกัน 3 ครั้ง

ประโยชน์ของสารเร่ง พด.7
ป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยต่าง ๆ หนอนเจาะผลและลำต้น หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนคืบ หนอนกระทู้ หนอนกอ ไรแดง และแมลงหวี่ เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 จุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่

สารเร่ง พด.6
สารเร่ง พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ

pordor6

สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น เป็นสารที่ได้จากการย่อยสลายขยะสด ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอินทรีย์จากเศษอาหาร ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน ได้ของเหลวสีน้ำตาลซึ่งมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ

คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในสารเร่ง พด.6

  • ยีสต์ผลิตแอลกอฮอล์ กรดอินทรีย์
  • แบคทีเรียผลิตเอนไซม์โปรทีเอส ย่อยสลายโปรตีน
  • แบคทีเรียผลิตเอนไซม์ไลเปส ย่อยสลายไขมัน
  • แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก

วัสดุสำหรับทำสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น (จำนวน 50 ลิตร)

  • เศษอาหารในครัวเรือน 40 กิโลกรัม
  • น้ำตาล 10 กิโลกรัม
  • น้ำ 10 ลิตร
  • สารเร่ง พด.6 จำนวน 1 ซอง

วิธีทำสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น

  1. นำเศษอาหารและน้ำตาลผสมลงในถังหมัก
  2. ละลายสารเร่ง พด.6 ในน้ำ 10 ลิตร แล้วเทลงในถังหมัก
  3. คลุกเคล้าหรือคนให้ส่วนผสมเข้ากัน
  4. ปิดฝาไม่ต้องสนิท ใช้ระยะเวลาหมัก 20 วัน

การพิจารณาสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารเหลือทิ้งที่สมบูรณ์แล้ว

  • มีการเจริญของจุลินทรีย์น้อยลง
  • กลิ่นแอลกอฮอล์จะลดลง
  • ไม่ปรากฏฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ไม่มีกลิ่นเน่าเหม็นของขยะ
  • ไม่ปรากฏคราบไขมัน
  • ได้สารละลายหรือของเหลวสีน้ำตาล
  • ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง อยู่ระหว่าง 3-4

อัตราและวิธีการใช้

  • การทำความสะอาดคอกสัตว์และบำบัดน้ำเสีย เจือจาง สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น : น้ำ เท่ากับ 1 : 10 เทลงบริเวณที่บำบัดทุกวัน หรือทุก ๆ 3 วัน
  • การใส่ในบ่อกุ้งและบ่อปลา ใช้สารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น 100 มิลลิลิตรต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ใส่ทุก ๆ 10 วัน

ประโยชน์ของสารเร่ง พด.6

  • ทำความสะอาดคอกสัตว์ เนื่องจากค่าความเป็นกรดเป็นด่างของสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นอยู่ระหว่าง 3 – 4 มีผลทำให้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเหม็นไม่สามารถเจริญเติบโตได้
  • ช่วยบำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ย่อยโปรตีน ไขมัน และผลิตกรดอินทรีย์
  • ขจัดกลิ่นเหม็นจากขยะสดและพื้นที่เน่าเหม็น

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาที่ดิน http://www.ldd.go.th/menu_5wonder/index.html

สารเร่ง พด. ไปขอรับได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด
กรมพัฒนาที่ดิน
2003/61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 1760 e-mail : cit_1@ldd.go.th

ป้ายคำ : , ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น