พิมเสน กลิ่นหอมเย็น

28 ธันวาคม 2558 สมุนไพร 0

พิมเสนเป็นเกล็ดเล็กๆ สีขาวขุ่น เนื้อแน่นกว่าการบูร ระเหิดได้ช้ากว่าการบูร ติดไฟให้แสงจ้าและมีควันมาก ไม่มีขี้เถ้า พิมเสนบริสุทธิ์จะเป็นผลึกรูปแผ่นหกเหลี่ยม มีจุดหลอมเหลว 208 องศาเซลเซียส ละลายได้ยากในน้ำ ละลายได้ดีในตัวทำละลายชนิดขั้วต่ำ พิมเสนมีกลิ่นหอมเย็น ฉุน รสหอม เย็นปากคอ สมัยก่อนใส่ในหมากพลูเคี้ยว

สรรพคุณ
ตำรายาแผนโบราณ: ใช้พิมเสนเป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย ทำให้ง่วงซึม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด หัวใจอ่อน บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ทำให้เรอ ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้บาดแผลสด แผลเรื้อรัง แผลกามโรค แผลเนื้อร้าย ผสมในตำรับยาหอม เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ มีสรรพคุณโดยรวมคือแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย
การกลั่นใบและยอดอ่อนของหนาดด้วยไอน้ำ จะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากิน แก้ปวดท้อง ท้องร่วง หรือใช้ขับลม ใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ
ตำราพระโอสถพระนารายณ์: ระบุ ตำรับยาทรงนัตถุ์ เข้าเครื่องยา 17 สิ่ง ใช้ปริมาณเท่าๆกัน รวมทั้ง พิมเสนด้วย ผสมกัน บดเป็นผงละเอียด ใช้นัตถุ์แก้ลมทั้งหลาย ตลอดจนโรคที่เกิดในศีรษะ ตา และจมูก อีกขนานหนึ่งเข้าเครื่องยา 15 สิ่ง รวมทั้งพิมเสนด้วย บดเป็นผงละเอียด ห่อผ้าบาง ทำเป็นยาดม แก้ปวดหัว วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา นอกจากนี้พิมเสนยังใช้เป็นส่วนผสมใน ตำรับยาสีผึ้งบี้พระเส้น ใช้ถูนวดเส้นที่แข็งให้หย่อนได้ และในตำรับ สีผึ้งขาวแก้พิษแสบร้อนให้เย็น

pimseans

นอกจากนี้ยังมีพิมเสนอีกชนิดหนึ่ง คือพิมเสนในธรรมชาติที่พบแทรกอยู่ในเนื้อไม้ของพืช เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงได้ถึง 70 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยว ใบที่อยู่ตอนบนของต้นเรียงแบบสลับ ส่วนใบที่อยู่ตอนล่างออกตรงข้าม ใบรูปไข่ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งและซอกใบ ผลเป็นผลแห้งมีปีก มี 1 เมล็ด พิมเสนที่พบมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อๆ มีกลิ่นหอมเย็น ฉุน พิมเสนบริสุทธิ์จะเป็นรูปหกเหลี่ยม ละลายในปิโตรเลียมอีเทอร์ เบนซิน

ตามตำราประมวลหลักเภสัชฯ ท่านจัดพิมเสนเป็นธาตุวัตถุ ได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ ได้เป็นเกล็ดแบนๆ สีขาว หรือสีแดงเรื่อๆ แต่ปัจจุบันได้จากการสังเคราะห์ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้น ถ้าเป็นของแท้จากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้นแต่จะทำให้เย็นปากคอ สมัยก่อนใส่ในหมากพลู แพทย์แผนโบราณใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวาย ทำให้ง่วงซึม ถ้าใช้เกินขนาดอาจทำให้อาเจียน

การอบสมุนไพรใช้พิมเสนเป็นส่วนประกอบในตัวยา พิมเสนซึ่งระเหิดเมื่อถูกความร้อน มีกลิ่นหอม ใช้แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ผสมในลูกประคบเพื่อช่วยแต่งกลิ่น มีฤทธิ์แก้พุพอง แก้หวัด นอกจากนี้ยังผสมอยู่ในยาหม่อง น้ำอบไทย ในยาหอมจะมีใบพิมเสนและพิมเสนผสมอยู่ด้วย สมัยก่อนพิมเสนเป็นยาที่หายาก มีราคาแพง จึงมีคำพูดที่ว่า อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ

ในตำรายาไทยบอกไว้ว่า พิมเสนการบูรช่วยให้นอนหลับสนิท แต่คนชอบเอาไปใส่ในรถ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถชนกัน ดังนั้นห้ามใช้ในรถเด็ดขาด พิมเสนน้ำใช้ดมแก้หวัด บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ บรรเทาอาการบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก
พิมเสนใบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pogostemon calslin ( Blanco ) Benth.
วงศ์ Lab iatae
ชื่ออื่น : ใบพิมเสน, ผักชีช้าง, ใบหลม ใบอีหรม(ภาคใต้), ฮั่วเซียง, ก่วงฮั่วเซียง(จีนกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • พิมเสน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวได้ประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอยู่ 4 ใบ ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ
  • ผลพิมเสนต้น ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก มีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่ยาว เป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสี่เหลี่ยม โดยจะแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณยอดต้น ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมฉุน
  • ใบพิมเสนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบหยักมน ใบที่โคนต้นจะมีขนาดเล็กกว่าที่บริเวณยอดต้น แผ่นใบมีขนสีเทาอ่อนปกคลุมทั้งหน้าใบและหลังใบ โดยเฉพาะตรงส่วนของเส้นใบจะมีขนปกคลุมอยู่มาก
  • ดอกพิมเสนต้น ดอกช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวประม่วง ช่อดอกยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร

ลักษณะเป็นต้นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยวรูปไข่
ขอบใบจักเป็นซี่ มีขนหนาแน่น ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่ยอด ผลแข็งรูปรี ขนาดเล็ก บางถิ่นเรียกว่าผักชีช้าง

pimseanbai pimseanbaidok pimseanbaiton
ภาคใต้เรียกว่า ใบหลม หรือใบอีหรม ชื่อสามัญคือ Patchouli
การนำมากลั่นใช้ทั้งลำต้นได้น้ำมันหอมระเหยพิมเสนใบ ทางยาแผนโบราณไทยจัดว่าเป็นพืชเย็น น้ำมันหอมระเหยพิมเสนนิยมใช้ปรุงเป็นน้ำหอม
แต่งกลิ่นสบู่ ใช้ผสมน้ำอาบเพื่อระงับกลิ่นตัว โบราณใช้แต่งกลิ่นขี้ผึ้งสีปาก กิ่งและใบแห้ง ใสในตู้เสื้อผ้าป้องกันแมลง

pimseanbais
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ใบ
สรรพคุณตามตำรายาไทย
ปรุงเป็นยาเย็น ถอนพิษร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยมากมักปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ และยาหอมก็เข้าใบพิมเสนต้นนี้

พิมเสนต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dryobalanops aromatic Gaertn
วงศ์ Dipterocarpaceae
พิมเสนต้นเป็นไม้ยืนสูงได้ถึง 70 เมตร ส่วนที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยคือเปลือกของเนื้อไม้ เป็นพืชหายาก จึงนิยมใช้พิมเสนใบมากกว่า
ชื่อจีน ฮั่วเซียง (จีนกลาง), คักเฮีย (จีนแต้จิ๋ว)
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน
ต้นพิมเสน รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สลายความชื้น แก้ความชื้นจงเจียว อาเจียน จุกเสียด แน่น อึดอัดที่ลิ้นปี่ เบื่ออาหาร มีฤทธิ์คลายความร้อน แก้ร้อนใน แก้ไข้และไข้หวัดจากความร้อนชื้น ทานอาหารผิดสำแดง เกิดอาการไข้หรือจุกเสียด อาเจียนหรือท้องร่วง และมีฤทธิ์ระงับอาเจียน แก้อาเจียน
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย
ต้นพิมเสน มีกลิ่นหอมเย็น ฉุน เป็นเครื่องยาชนิดหนึ่งในยาหอมแก้ลม ยาเย็นสำหรับดับร้อนถอนพิษไข้และยาเขียว ใบสดใช้ต้มน้ำดื่มแก้ปวดประจำเดือน เป็นยาขับประจำเดือน ยาชงจากยอดแห้งและรากแห้ง ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะและขับลม
ใบ – ปรุงเป็นยาเย็น ถอนพิษร้อน แก้ไข้ทุกชนิด ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง โดยมากมักปรุงเป็นยาเขียว ถอนพิษไข้ และยาหอมก็เข้าใบพิมเสนต้นนี้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น