ฟาร์มสเตย์ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

25 มิถุนายน 2559 ภูมิปัญญา 0

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (agro tourism) หมายถึงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เกษตรกรรมสวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และเลี้ยงสัตว์เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความสำเร็จและเพลิดเพลินในสวนเกษตร ได้ความรู้มีประสบการณ์ใหม่บนพื้นฐานความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดลอมของสถานที่แห่งนั้น

ฟาร์มสเตย์เป็นบริการท่องเที่ยวในลักษณะต่อยอดจากกิจกรรมการผลิตภาคเกษตร ไม่ว่าจะในภาคการเพาะปลูก ปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการทำประมงในแหล่งธรรมชาติ .. ฟิชชิ่ง ปาร์ค แหล่งท่องเที่ยวประเภทฟาร์มโคนม ฟาร์มแกะ แพะ … เหล่านี้ ล้วนอยู่ในกรอบของการพัฒนาแบบฟาร์มสเตย์ทั้งสิ้น
การท่องเที่ยวแบบฟาร์มสเตย์ (farm stay) หมายถึง นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับครอบครัวในท้องถิ่นที่ไป เยือนเพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่น เกษตรกรรมสวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และเลี้ยงสัตว์ ได้รับประสบการณ์ในชีวิตเพิ่มขึ้น โดยมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดลอมและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นที่ยั่งยืน

ความเชื่อมโยงของการท่องเที่ยวแบบฟาร์มสเตย์กับชุมชน ด้านพื้นที่ทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนด้านการจัดการ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สร้างโอกาสให้ชุมชนได้พัฒนา บริหารจัดการทรัพยากร และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตในชุมชน ด้านองค์กร ได้จัดการท่องเที่ยวโดยอาศัยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
มีบทบาท มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ก่อตั้งการท่องเที่ยว ด้านกิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน จากแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน

farmstaylae

วิธีการปฏิบัติที่ดี ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบฟาร์มสเตย์
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรม การท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน เพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม หัตถกรรมของท้องถิ่น โดยมี Home Stay , Farm Stay ที่มีความหมายมากกว่า เป็นที่พัก เนื่องจากเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง ซึ่งยึดเอารูปแบบ ที่พักเป็นศูนย์กลางและจัดให้มีกิจกรรมในด้านต่างๆ ตามความต้องการของ นักท่องเที่ยว อย่างหนึ่ง ซึ่งยึดเอารูปแบบที่พักเป็นศูนย์กลาง และจัดให้มีกิจกรรมในด้านต่างๆ ตามความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมอยู่ด้วย

การมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท เป็นจุดขายที่สำคัญ ที่นักท่องเที่ยว ให้ความสนใจ การจัดกิจกรรม ที่พักสัมผัส วัฒนธรรมชนบท จึงเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ให้กับนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และเป็นทางเลือกในตลาดท้องถิ่น ที่ไม่ใช่คู่แข่งในเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ที่มีโรงแรม หรือรีสอร์ท จึงไม่ถือเป็นการประกอบการที่พักในเชิงธุรกิจ

บริการที่มีเสนอให้ กับนักท่องเที่ยว และ เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาในการพัฒนาโฮมสเตย์ มีดังนี้

  • วิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท
  • วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
  • ความปลอดภัย
  • ความสะอาด
  • ห้องพักพร้อมอาหาร
  • กิจกรรมทางการท่องเที่ยว

การจัดการ (Management)
การจัดกิจกรรมที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท ควรที่จะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งในรูปของกลุ่ม/ชมรม/สหกรณ์ ซึ่งสมาชิกและคนใจชุมชนจะต้องมีความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในด้านการจัดการ

farmstaysuan

บ้านพัก (Accommodation)
แบบที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว (Provision of Accommodation for Tourist)
ความเต็มใจของสมาชิกในครอบครัวต่อการรับผู้มาเยือน
บ้านพักมีโครงสร้างที่ดี
ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี
ไม่ไกลจากเมืองหรือพื้นที่เทศกาลหรือสถานที่ท่องเที่ยว
ควรมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐาน อาทิ ที่นอน หรือเตียงนอน หมอน น้ำประปาหรือถ้าไม่มีควรมีแหล่งน้ำอื่น ๆ ห้องน้ำสะอาด มีความปลอดภัย

ขั้นตอนการดูแลที่พัก (Home Keeping Produce)
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยว ควรมีการทำความสะอาดที่พักและบริเวณโดยรอบบ้านพักอยู่เสมอ อาทิ เปลี่ยนผ้าปูที่นอน อุปกรณ์สำหรับการนอนส่วนตัวทุกครั้งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าพัก เป็นต้น

ความสะอาดของบ้าน
บ้านพักควรมีอากาศที่สามารถถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างสามารถส่องเข้ามาถึงปราศจากความชื้นไม่มีกลิ่นอับ มีหลังคาที่สามารถกันน้ำได้ดี ภายในห้องพักต้องได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำ
ต้องมีการเปลี่ยนผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์ส่วนตัวสำหรับผู้มาเยือนทุกครั้งหรือมีผู้มายือนใหม่เข้ามาพัก
ต้องหมั่นกำจัดแมลงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่เสมอ
เนื่องจากห้องน้ำจะเป็นห้องที่ผู้มาเยือนจะมาร่วมใช้ด้วย ดังนั้นต้องเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดส่วนตัวสำหรับ
ผู้มาเยือน (กรณีที่แขกมิได้มีการเตียมมา) และจะต้องมีการทำความสะอาดเป็นประจำ ต้องหมั่นดูแลสภาพแวดล้อมของบ้านพักอยู่เสมอ

farmstayban

ห้องน้ำ (The Bathroom)
ห้องน้ำจะเป็นที่ ๆ ใช้ร่วมกันทั้งครอบครัวและนักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญก็คือ ความสะอาด จะต้องมีการทำความสะอาดอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอ

ความปลอดภัย
ความปลอดภัยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่พักเชิงวัฒนธรรมลักษณะสัมผัสชนบท ดังนั้น ชมรม/กลุ่ม มวลสมาชิก ควรมีการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัย สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่น การจัดอบรมให้กับสมาชิกของชุมชนในการให้การป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ หรือการแก้ไขหากเกิดอุบัติเหตุ การขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือองค์การบริหารท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ การจัดตั้งเวรยามของชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้เจ้าของบ้านจึงจะต้องมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาเยือนด้วย

ทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
ต้องมีการดูแลและซ่อมแซมล็อคต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา อาทิ ประตู หน้าต่าง
ถ้าเห็นนักท่องเที่ยวไม่เก็บทรัพย์สินไว้ในที่ที่ปลอดภัย ต้องเข้าไปเตือน
ถ้านักท่องเที่ยวลืมทรัพย์สินไว้ในบ้านพักหรือที่อื่น ๆ ภายหลังการเดินทางกลับ เจ้าของบ้านควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและพยายามติดต่อเจ้าของเพื่อมารับคืน

ความปลอดภัยของที่พัก
สมาชิกในบ้านต้องสร้างความคุ้นเคยกับผู้มาเยือน เสมือนญาติสนิท และมีความรู้เรื่องสถานที่ในบ้านและ
ชุมชนเป็นอย่างด
สมาชิกในบ้านต้องหมั่นตรวจตรา ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้านว่ามีความปลอดภัยหรือไม่
กุญแจที่สำคัญต้องได้รับการเก็บรักษาและดูแลเป็นอย่าดี
ทรัพย์สิน เงินสดต่าง ๆ ต้องเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย
สมาชิกทุกคนต้องคำนึงถึงเรื่องความสำคัญของความปลอดภัยตลอดเวลา

การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว
วัฒนธรรม จารีต ประเพณี และความเชื่อ ของแต่ละชุมชนอาจแตกต่างกัน การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ การแต่งกาย การนอน การกำหนดเวลาการเข้าออกบ้านพัก จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อมิก่อให้เกิดปัญหาที่ขัดต่อวัฒนธรรม จารีต ประเพณีและความเชื่อของชุมชน นักท่องเที่ยวจะต้องยอมรับและปฎิบัติตาม ทั้งนี้ควรมีการชี้แจงในขั้นตอนการจองหรือลงทะเบียนการเข้าพัก กรณีที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถปฎิบัติได้ ก็สามารถที่จะปฏิเสธการเข้าพักได้เช่นเดียวกัน

การต้อนรับ (Reception)
คนไทยเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” การต้อนรับนักท่องเที่ยวดุจญาติมิตรจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกอบอุ่น ควรมีการจัดพื้นที่ต้อนรับในลักษณะจุดศูนย์กลางของชุมชน เพื่อดำเนินการต้อนรับ ลงทะเบียนการเข้าพัก หรือการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว การต้อนรับ อาจให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมประจำถิ่น เช่น ภาคอีสาน/เหนือ ต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ หรืออาจจะเป็นช่อดอกไม้ พวงมาลัยเล็ก ๆ ที่สามารถหาได้จากท้องถิ่นมอบให้กับนักท่องเที่ยว ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจได้เมื่อเริ่มเข้าสู่ชุมชน

farmstayplan

การจองที่พัก (Reservation)
การจองที่พักสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การจองทางไปรษณีย์ การจองทางโทรศัพท์ การจองผ่านเครือข่าย internet การจองที่พักควรได้รับการตอบสนองโดยทันที เพื่อเป็นการยืนยันการเข้าพักของนักท่องเที่ยว และถ้ามีเวลา ผู้ประสานงานควรจะส่งรายละเอียดให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อศึกษาก่อนการเข้าพัก ทั้งนี้ควรแจ้งข้อมูลรายละเอียด ให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานในประเทศที่รับผิดชอบพื้นที่ ได้รับทราบเพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไปรับทราบได้

ขั้นตอนการจองห้องพัก มีดังนี้
จัดบ้านพักตามลำดับ
ตอบรับการจอง อาจจะมีการใช้ระบบการเรียกเก็บค่าบริการบางส่วน เพื่อเป็นการป้องกันการไม่เข้าพักของนักท่องเที่ยวตามกำหนดเวลา ดังนั้นควรชี้แจงระยะการยกเลิกเข้าพักให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบด้วย
เก็บรักษาข้อมูลการจองสำหรับการลงทะเบียนเข้าพักต่อไป

การลงทะเบียน (Registration)
ในธุรกิจโรงแรมที่พัก ผู้เข้าพักต้องลงทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานและอ้างอิงในอนาคต ส่วนในลักษณะที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท การลงทะเบียนอาจไม่ต้องเป็นรูปแบบเหมือนธุรกิจโรงแรม แต่ควรเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบง่าย ๆ

ความสำคัญของการลงทะเบียน

  • ทำให้เจ้าของบ้านทราบข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว
  • ช่วยในการจัดเตรียมบ้านพัก
  • ทำให้ทราบวันออกจากที่พักของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ข้อมูลนี้มีความจำเป็นเพราะจะทำให้กลุ่ม/ชมรม สามารถวางแผนการเข้าพักของแขกในลำดับต่อ ๆ ไปได้
  • เป็นข้อมูลการเข้าพักให้ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้ประพฤติมิชอบหรือการหลบซ่อนของอาชญากรได้

ขั้นตอนการต้อนรับและลงทะเบียน
ต้อนรับด้วยรอยยิ้มดุจญาติมิตร แจ้งรายละเอียดค่าธรรมเนียมการเข้าพักและบริการต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวทราบ
ให้นักท่องเที่ยวกรอกรายละเอียดและลงชื่อในใบลงทะเบียนการเข้าพัก
แจ้งรายละเอียดที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับข้อมูลของชุมชนและสภาพทั่วไป
นำนักท่องเที่ยวไปยังบ้านพัก

การบริการอาหาร
เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องพักกับเจ้าของบ้าน อาหารมื้อใดมื้อหนึ่งจึงมีความจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยว การนำเสนอรายการอาหารท้องถิ่นจึงเป็นเสน่ห์และจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ มากกว่าการนำเสนอรายการอาหาร เช่นเดียวกับโรงแรมหรือรีสอร์ท ดังนั้นการวางแผนจัดเตรียมอาหารจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดระหว่างปริมาณอาหารและจำนวนนักท่องเที่ยว

การวางแผนจัดเตรียมอาหารจึงจำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆ ประการ
ข้อมูลของนักท่องเที่ยว เช่น

  • เชื้อชาติ ศาสนา
  • งบประมาณในการจัดทำอาหาร
  • ปัจจัยด้านฤดูกาล
  • อาหารประจำท้องถิ่น
  • จำนวนนักท่องเที่ยว

มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย
มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย หรือที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทมาตรฐานไทย หมายถึง บ้านที่อยู่ในชุมชนชนบทที่มีประชาชนในชุมชนเป็นเจ้าของ และเจ้าของบ้านหรือสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ประจำ หรือใช้ชีวิต ประจำวันอยู่ในบ้านดังกล่าว นอกจากนี้ บ้านดังกล่าวต้องมีความพร้อมในการเป็นโฮมสเตย์ โดยมีคุณสมบัติโฮมสเตย์เบื้องต้น 6 ประการ ดังนี้

  1. เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวต้องถือว่าการทำโฮมสเตย์เป็นเพียงรายได้เสริมนอกเหนือรายได้จากอาชีพหลักของครอบครัวเท่านั้น
  2. มีห้องพักหรือพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเหลือและไม่ได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำมาดัดแปลงให้นักท่องเที่ยวเข้าพักได้
  3. นักท่องเที่ยวต้องเข้าพักค้างแรมในชายคาเดียวกับที่เจ้าของบ้านอาศัยอยู่ โดยมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตระหว่างกัน
  4. สมาชิกในครอบครัวต้องมีความยินดีและเต็มใจที่จะรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพักค้างแรมในชายคา เดียวกับเจ้าของบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นนั้นแก่นักท่องเที่ยว
  5. เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวให้ความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการโฮมสเตย์เป็นอย่างดี
  6. บ้านนั้นต้องเป็นสมาชิกของกลุ่ม ชมรม หรือสหกรณ์ ที่ร่วมกันจัดการโฮมสเตย์ของชุมชนนั้น

มติหลักเกณฑ์การพิจารณาโฮมสเตย์ของคณะกรรมการมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย

  1. ต้องมีคุณสมบัติโฮมสเตย์เบื้องต้น 6 ประการ ครบถ้วน
  2. จำนวนหลังคาเรือนที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม/ชมรม/สหกรณ์โฮมสเตย์อย่างน้อย 3 หลังคาเรือนขึ้นไป
  3. บ้านที่ขอรับการประเมินทุกหลังต้องมีเลขที่บ้านที่ออกให้โดยส่วนราชการ
  4. ที่ตั้งของชุมชนหรือกลุ่มโฮมสเตย์หรือบ้านพักต้องไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
  5. ดำเนินการจัดทำโฮมสเตย์ตามข้อกำหนดมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

การใช้ตราสัญลักษณ์และระยะเวลาการใช้

  1. การติดตั้งตราสัญลักษณ์ในโฮมสเตย์ จะต้องติดตั้งในจุดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
  2. ตราสัญลักษณ์ที่โฮมสเตย์ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีอายุคราวละ 2 ปี เมื่อหมดอายุจะต้องยื่น ใบสมัครขอรับการประเมินโฮมสเตย์ใหม่
  3. หากผู้ประกอบการโฮมสเตย์รายใดใช้ตราสัญลักษณ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือจัดทำขึ้นใช้เองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีความผิดตามกฎหมาย

ที่มา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น