สวัสดิการชุมชน

7 มิถุนายน 2558 ภูมิปัญญา 0

ความเป็นมาของ สวัสดิการชุมชน หรือ สวัสดิการชาวบ้าน สังคมไทยในอดีต มีวัฒนธรรมการอยู่แบบช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจต่อกัน ได้รับสวัสดิการจากธรรมชาติ หาเห็ด หาหน่อไม้จากป่าใกล้บ้าน หาปู ปลา ในแม่น้ำลําคลอง ยามเจ็บป่วยได้ยาจากสมุนไพรในป่าเพื่อนบ้านมาเฝ้าไข้ให้กําลังใจ มีปัญหาชีวิตมีศาสนาและผู้อาวุโสในชุมชนเป็นที่พึ่ง ฯลฯ นี่คือสวัสดิการที่ธรรมชาติและผู้คนมีให้แก่กัน บนพื้นฐานของความเกื้อกูล มีน้ำใจ และเคารพซึ่งกันและกันระหว่างคนกับคนและคนกับธรรมชาติวิถีชุมชนและสวัสดิการไทยในอดีต

ปัจจุบันรัฐได้มีการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนรูปแบบต่างๆ กัน เช่น สวัสดิการเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ การสร้างบ้านพักคนชรา ศูนย์สงเคราะห์เด็ก ตลอดจนการสงเคราะห์ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ดําเนินการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ ซึ่งเป็นสวัสดิการในลักษณะสงเคราะห์ที่ต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่อง ใช้งบประมาณจํานวนมาก แต่ให้บริการไม่ทั่วถึงรัฐบาลชุดก่อนเคยมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งถือเป็นรัฐสวัสดิการที่ดูแลประชาชนได้อย่างกว้างขวาง แต่เฉพาะประชาชนที่เจ็บป่วยเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงความจําเป็นพื้นฐานของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนชาวไทย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 65 ล้านคน ในจํานวนนี้จะเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐและลูกจ้างบริษัทห้างร้านต่างๆ 15 ล้านคน ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐจะจัดสวัสดิการให้อย่างครบวงจร ลูกจ้างบริษัทห้างร้านก็จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้รับสวัสดิการอย่างครบวงจรเช่นเดียวกัน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปอีก 50 ล้านคน ยังไม่มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต นอกเหนือจากสวัสดิการ ที่รัฐจัดให้ในข้อ 2 ซึ่งเป็นสวัสดิการในลักษณะสงเคราะห์ที่ให้บริการไม่ทั่วถึงและไม่ครอบคลุมความจําเป็นพื้นฐานของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายประชาชนทั่วไปหรือชาวบ้านก็พยายามจัดสวัสดิการให้แก่กัน แต่ก็เป็นในรูปแบบของการออมเพื่อกู้ยืมและปันผล การรวมกลุ่มฌาปนกิจเพื่อช่วยเหลือสมาชิกที่เสียชีวิต ไม่มีสวัสดิการครอบคลุมความจําเป็นพื้นฐานของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ชุมชนจึงร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นการจัดสวัสดิการของชาวบ้าน โดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้าน เป็นการให้อย่างมีคุณค่า การรับอย่างมีศักดิ์ศรี การอยู่ร่วมกันของคน ชุมชน และธรรมชาติอย่างเคารพซึ่งกันและกัน มีกระบวนการดําเนินการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ใช้หลักศาสนา และการมีส่วนร่วมของคนอย่างกว้างขวาง

sawaddikarncma

กองทุนสวัสดิการชุมชนคืออะไร
กองทุนสวัสดิการชุมชน หรือ กองทุนสวัสดิการชุมชนเครือข่ายตําบลห้วยแร้ง เป็นกองทุนที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่หนึ่ง ๆ ด้วยความสมัครใจ เช่น ระดับหมู่บ้าน ระดับตําบล ฯลฯ ที่ประสงค์จะดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย บนพื้นฐานของความเอื้ออาทรต่อกัน

เงินกองทุนมาจากไหน
กองทุนสวัสดิการชุมชน เกิดขึ้นจากการที่ชาวชุมชนมาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างระบบ ร่วมกันบริหารจัดการและร่วมกันรับผลประโยชน จึงเป็นกองทุนที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ดังนั้น เงินกองทุนสวัสดิการชุมชน จึงได้มาจากการร่วมสมทบของสมาชิกในรูปแบบที่กองทุนแต่ละแห่งกําหนดขึ้นมา เช่น

  • การออมสัจจะวันละบาท โดยการลดรายจ่ายวันละบาทเพื่อออมสัจจะ
  • การนํารายได้หรือผลกําไรจากกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนเข้ามาสมทบ เพื่อตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน
  • เงินสนับสนุนหรือเงินสมทบแหล่งอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนรายได้ที่เกิดจากทรัพยากรในชุมชน เช่น รายได้จากการจับปลาในแหล่งน้ำสาธารณะ เป็นต้น

ชาวบ้านจะได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง
สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน จะได้รับสวัสดิการตามที่หลักเกณฑ์ กติกาที่สมาชิกร่วมกันกําหนดโดยมีคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน (ที่สมาชิกเลือกขึ้นมา) เป็นผู้บริหาร เพื่อจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น

  1. เกิด บุตรที่เกิดใหม่ของสมาชิกจะได้รับเงินรับขวัญ แม่ที่คลอดบุตรนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้เงินค่าใช้จ่ายในการนอนพักรักษาตัว
  2. แก่สมาชิกจะได้บํานาญเป็นรายเดือนหรือรายปี
  3. เจ็บป่วย สมาชิกที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการนอนพักรักษาตัว
  4. ตาย สมาชิกจะได้รับเงินค่าจัดการศพ
  5. ประสบภัย สมาชิกจะได้รับเงินสวัสดิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
  6. การกู้ยืม สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ
  7. สวัสดิการอื่นๆคณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาให้การช่วยเหลือตามความจําเป็นและเหมาะสมนอกจากจะจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกแล้ว กองทุนสวัสดิการชุมชนยังสามารถเผื่อแผ่ให้สวัสดิการแก่ผู้ถูกทอดทิ้ง ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนที่ไม่มีความสามารถที่จะเป็นสมาชิกกองทุนได้ด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ด้วยความเอื้ออาทร เสียสละ เกิดความรักความสามัคคีในชุมชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการปัญหาของชุมชน ชุมเข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป

ขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกองทุนที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่หนึ่งๆ ด้วยความสมัครใจ ที่ประสงค์จะดูแลซึ้งกันและกันบนพื้นฐานของความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นกองทุนที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ เน้นการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมมาภิบาล ให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมของสมาชิกแต่ยึดหยุ่น คล่องตัวเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อนําไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนและดูแลชาวบ้านด้วยกันได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกประเภทตั้งแต่เกิดจนตาย มีแนวทางในการดําเนินงานอย่างน้อย ๆ 8 ขั้นตอน คือ

1. จุดประกายความคิด ทําความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากมีผู้ก่อการดี หรือแกนนําที่สนใจอาจเป็น กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นําชุมชน ฯลฯ ที่มองเห็นศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชน และต้องการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ชักชวนแกนนําคนอื่นๆ มาพูดคุยปรึกษาหารือถึงแนวทางการจัดสวัสดิการชาวบ้าน จากนั้นก็จัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อาจจะเป็นการจัดรวมทั้งตําบล หรือแกนนําจะลงไปทําความเข้าใจระดับหมู่บ้าน แล้วมาจัดรวมในภายหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่นการทําความเข้าใจ อาจหมายรวมถึง การชักชวนกันไปดูงานการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการที่ประสบความสําเร็จ แล้วกลับมาพูดคุยทําความเข้าใจกันให้ถ่องแท้อีกครั้งการจุดประกายความคิด ต้องทําควบคู่ไปกับการ กระตุ้น ให้ชาวบ้านเข้าใจถึงเหตุผลสําคัญอย่างน้อยๆ 2 ประการ คือ

  1. ) การตั้งกองทุนสวัสดิการจะทําให้สมาชิกให้รับการดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งชาวบ้านธรรมดาไม่เคยได้รับมาก่อน และ
  2. ) จะทําให้สามารถดูแลทุกข์สุขซึ่งกันและกันไม่ว่ายากดีมีจน และยังช่วยกันดูแลเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เช่น เด็ก คนแก่คนพิการ เป็นการสร้างความรักความเอื้ออาทร ต่อกัน

2. ค้นหาศักยภาพและทุนในท้องถิ่น หลังจากได้จุดประกายความคิด และสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการสวัสดิการชาวบ้านระดับหนึ่งแล้ว ลําดับต่อไป แกนนําหรือผู้ก่อการดีจะต้องร่วมกันค้นหาศักยภาพและทุนในชุมชน อาจมีอาสาสมัครเข้าร่วมด้วยก็ได้ โดยค้นหาว่าในหมู่บ้าน หรือตําบลของเรามีของดีอะไรบ้าง เช่น มีกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอาชีพ กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ มีคนแก่ คนพิการอยู่เท่าไหร่ เป็นต้น แต่ละกลุ่มมีการทํางานอย่างไร มีสมาชิกกี่คน มีทุน มีการจัดสวัสดิการหรือไม่อย่างไรเป็นต้น รวมทั้งสํารวจทุนด้านอื่นๆ เช่น ทุนทางธรรมชาติทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางภูมิปัญญา ฯลฯ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว อาจได้มาหลายทางด้วยกัน เช่น การออกแบบสอบถาม แล้วหาอาสาสมัครชุมชนช่วยกันจัดทํา หรือข้อมูลบางส่วนอาจขอความร่วมมือจาก อบต.หรือหน่วยงานในท้องถิ่น หรืออาจลงพื้นที่ดูจากของจริง เป็นต้น
หลังจากได้ข้อมูลจนครบแล้ว ก็ร่วมกันสังเคราะห์ให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะทําให้มองเห็นศักยภาพของตนเองได้ชัดขึ้น จากนั้นก็นําข้อมูลไปชี้แจงทําความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยอาจจัดเป็นเวทีประชาคมก็ได้ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนมองเห็นและเข้าใจเหมือน ๆ กันว่า ทุนที่มีอยู่นี้สามารถนําไปสู่การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้านได้อย่างไร ทุนแต่ละอย่างสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นต้น (บูรณาการทุนที่มีอยู่เข้าด้วยกันได้อย่างไร)

3. ขยายแกนนําให้ครอบคลุมพื้นที่ปฎิบัติการ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ปัจจัยหนึ่งที่สําคัญในระยะเริ่มต้นก็คือ แกนนํา ซึ่งจะต้องมีอย่างกว้างขวางทั้งในระดับพื้นที่หมู่บ้าน โซน คุ้มบ้านหรืออาจเป็นแกนนําจากกลุ่มกิจกรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้การดําเนินงานของกองทุนตลอดจนการบูรณาการทุนจากกลุ่มต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง

4. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบต. พมจ. เป็นต้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน โดยต้องประสานงานตั้งแต่ต้น ซึ่งอาจทําได้หลายวิธี เช่น การส่งแกนนําไปพูดคุย ให้เห็นว่าการตั้งกองทุนสวัสดิการเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ผลสําเร็จเป็นทั้งของชาวบ้านและของหน่วยงานท้องถิ่น ช่วยประหยัดงบประมาณของท้องถิ่น แต่ได้ผลกว้างขวาง เป็นต้นบางแห่งอาจใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้วค่อย ๆ ขยายไปสู่ความร่วมมือที่เป็นทางการ บางแห่งก็เริ่มจากการขอการสนับสนุนเฉพาะเรื่อง เช่น การขอใช้ห้องประชุม ขอสนับสนุนข้อมูล ฯลฯ แล้วค่อยพัฒนาความร่วมมือขึ้นไปถึงขั้นมีแผนงานร่วม หรือจัดสรรงบประมาณเข้ามาร่วมสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนในอนาคต ฯลฯ

sawaddikarncmb

5. การตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน ต่อไปก็มาถึงขั้นตอนที่สําคัญ นั่นก็คือ การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน โดยแยกเป็นกระบวนการย่อยดังนี้

  1. ) การจัดทําระเบียบกองทุน ซึ่งประกอบด้วยประเด็นหลักๆ คือ การรับสมัครและการสิ้นสุดสมาชิกภาพ การจ่ายเงินสมทบ ประเภทของสวัสดิการ การจ่ายเงินสวัสดิการ เป็นต้น โดยเริ่มจากการตั้งคณะยกร่างขึ้น ซึ่งประกอบด้วยตัวแทน กลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งตัวแทนกลุ่มกิจกรรม แกนนําที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ ฯลฯ โดยอาจนําระเบียบกองทุนที่อื่นมาประกอบก็ได้ เมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็นําไปชี้แจงในเวทีประชาคมทั้งตําบล เพื่อแสดงความเห็นเพิ่มเติม จนเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
  2. ) การเปิดรับสมาชิก และระดมเงินกองทุน โดยสมาชิกอาจเป็นรายบุคคล หรือครอบครัวสถานที่รับสมัครอาจกระจายไปตามหมู่บ้าน หรือรวมศูนย์การสมทบเงินทุนอาจสมทบรายบุคคล หรือตัดเงินผลกําไรจากลุ่มที่สมาชิกสังกัดอยู่มาเป็นเงินสมทบก็ได้ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับระเบียบกองทุนที่ร่วมกันกําหนดขึ้นมา
  3. ) การระดมเงินทุนจากแหล่งอื่น ๆ เช่น การจัดงานเพื่อหาทุน การสมทบจากองค์กรท้องถิ่นการสมทบจากหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ จะต้องดําเนินการอย่างต่อเนื่องมิใช่หวังเพียงเงินสมทบจากสมาชิกเท่านั้น
  4. ) การจัดระบบข้อมูลของกองทุน ต้องจัดทําให้เป็นระบบ เป็นปัจจุบัน เปิดเผยโปร่งใส เช่นข้อมูลสมาชิก ข้อมูลเงินกองทุน การจ่ายเงินสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจัดทําไว้ ณ ที่ทําการแล้ว อาจประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกรับทราบ ซึ่งสามารถทําได้หลายรูปแบบ เช่น ติดประกาศไว้ณ ที่สาธารณะ ที่ทําการกองทุน หรือส่งให้สมาชิกถึงบ้าน แล้วแต่ความเหมาะสม

6. การบริหารกองทุน โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกองทุน ที่มีองค์กรประกอบจากตัวแทนที่หลากหลาย มีการจัดโครงสร้างฝ่ายต่าง ๆ รับผิดชอบ ที่ชัดเจน เช่น มีประธาน เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ตรวจสอบ ฝ่ายส่งเสริมพัฒนา เป็นต้น โดยอาจมีที่ปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือจากหน่วยงานในท้องถิ่น ฯลฯการทํางานของคณะกรรมการจะต้องมีลักษณะประสานกับแกนนําของแต่ละหมู่บ้านด้วย เพื่อให้ดูแลสมาชิกได้อย่างทั่วถึง
นอกจากจะบริหารกองทุนเพื่อตามปกติแล้ว คณะกรรมการควรให้ความสําคัญเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องต่างๆ เช่น การประสานกับหน่วยงานท้องถิ่น การพัฒนาแกนนํา การเรียนรู้ขยายผล การดูแลผู้ด้อยโอกาส การขยายสมาชิกให้ครอบคลุมกว้างขวาง และการบูรณาการทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดระบบสวัสดิการแบบองค์รวมขึ้นในตําบล

7. การติดตามประเมินผล ต้องมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และทุกระดับ เช่น การประเมินการสมทบของสมาชิก การขยายสมาชิกของระดับกลุ่ม ตลอดจนประเมินการทํางานในทุกๆ เรื่องของคณะกรรมการกองทุน โดย กองทุนอาจมีคณะตรวจสอบที่เป็นอิสระตามสมควร เพื่อให้เกิดการตรวจสอบที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม รวมทั้งการประเมินในแต่ละระดับจะต้องนําไปสู่การทําเวทีประชาคมอย่างเปิดเผย เพื่อร่วมกันพัฒนาการทํางานให้ดีขึ้น

8.การขยายผล ซึ่งจะต้องทําอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ประการ อาทิ

  • ขยายแกนนํา ทั้งปริมาณและคุณภาพให้ทั่วถึงทั้งระดับพื้นที่และกลุ่มกิจกรรม เพื่อให้เกิดการขยายผลและสามารถดูแลสมาชิกได้ทั่วถึง
  • ขยายสมาชิก โดยต้องตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมทุกคนหรืออย่างน้อยทุกครอบครัวในตําบลจะต้องครอบคลุมผู้ด้อยโอกาสที่ดูแลตนเองไม่ได้ให้ครบทุกคน ที่สําคัญต้องสร้างจิตสํานึกของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เกิดขึ้นในหมู่สมาชิก
  • ขยายแหล่งทุน ที่จะมาหนุนให้กองทุนมีปริมาณมากขึ้น เช่น การสมทบจากหน่วยงานในท้องถิ่น เป็นต้น
  • ขยายประเภทและผลประโยชน์ของสมาชิกโดยให้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย ตลอดจนการหนุนเสริมให้สมาชิกพึ่งตนเองได้ เช่น การเพิ่มสวัสดิการด้านประกอบอาชีพที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม การให้สวัสดิการ กรณีเกิดพิบัติภัยต่าง ๆ เป็นต้น
  • ขยายการให้สวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกด้วย เช่น คนพิการคนชราที่ถูกทอดทิ้ง

การพัฒนาสู่สวัสดิการที่ยั่งยืน โดยการบูรณาการเข้ากับกลุ่ม/กองทุนอื่นๆ ในท้องถิ่น เพื่อสร้างนวัตกรรมงานพัฒนาร่วมกันในท้องถิ่นอย่างเป็น องค์รวม เช่น การฟื้นฟูภูมิปัญญา การจัดการ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ครบวงจรไม่จําเพาะแต่เพียงตัวเงิน ทําให้สมาชิกรู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตอย่างแท้จริง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น