หลุมพอเพียง เครื่องมือสู่ความสำเร็จในการทำเกษตรแบบพอเพียง

วิธีการทำหลุมพอเพียง คือ การปลูกพืชหลายอย่างในหลุมเดียว หลุม ที่ว่านี้ไม่ได้สภาพเป็น หลุมลึก ๆ แต่เป็นการปลูกพืชเป็นกลุ่ม ขนาดที่ทำคือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ เมตร คือขนาดกว้าง ๘๐ ๑๐๐ เซนติเมตร โดยสร้างหลุมไว้ตามกหัวไร่ปลายนา มุมบ้าน หลังครัว ขอบบ่อน้ำ ริมทางเดิน ได้หมด

หลุมพอเพียงก็คือวิธีการบริหารจัดการสิ่งที่อยู่ในหลุมเริ่มจาก เตรียมพื้นที่ตามขนาดที่กำหนด แล้วก็ปลูกหญ้าแฝกเป็นรูปวงกลมหรือเป็นล็อกสี่เหลี่ยม จากนั้นปลูกไม้ในหลุมนี้ ลงได้ถึง ๔ ๕ ประเภทในหลุมเดียว เพื่อลดภาระการรดน้ำปลูกซ้ำ และเกื้อต่อการกำจัดศัตรูพืชเพราะให้ทุกอย่างเกื้อกูล

ต้นไม่ที่จะปลูกในหลุมแบ่งเป็น ๕ ประเภท

  1. ไม้พี่เลี้ยง เป็นไม้ที่ให้ร่มเงา เก็บน้ำ เก็บความชื้นโดยเฉพาะช่วงร้อนหรือหน้าแล้ง เช่น กล้วยน้ำว้ากล้วยหอม ควรปลูกทางทิศตะวันตก เพราะช่วยบังแสงช่วงบ่ายที่อากาศร้อนจัด เป็นพี่เลี้ยงให้พืชที่ไม่ชอบแดดจัดมาก ได้กล้วยเครือแรกเมื่อปลูก ๑ ปี ก็ตัดทิ้ง ปล่อยหน่อใหม่ให้ทำงาน
  2. ไม้ฉลาด เป็นไม้ข้ามปี เป็นไม้ที่เอตัวรอดได้ดี เก็บผลได้นานพอสมควร เช่น ชะอม ผักหวาน มะละกอ ผักติ้ว ผักเม็ก เริ่มเก็บกินได้ตั้งแต่ ๑เดือนไปเรื่อยๆ
  3. ไม้ปัญญาอ่อน หรือ ไม้รายวัน เป็นไม้ล้มลุกปลูกง่าย ตายเร็ว ต้องคอยปลูกใหม่ ดูแลรดน้ำทุกวัน แต่เก็บผลได้เร็ว ได้ทุกวัน เช่น พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ข่า ฟักทอง แตงไทย แตงกวา ผักบุ้งจีน คะน้า ฯลฯ เริ่มเก็บกินได้ตั้งแต่ ๑๕ วัน
  4. ไม้บำนาญ เป็นไม้ผลยืนต้น ใช้เวลาปลูก ๒ – ๔ ปี แต่เมื่อให้ผลผลิตแล้ว เก็บกิน เก็บขายได้เรื่อย ๆ เช่น ขนุน มะม่วง มะนาว กระท้อน เงาะ ทุเรียน มังคุด ยางพารา เป็นต้น ในหลุมหนึ่งก็เลือกปลูกแค่ประเภทเดียว
  5. ไม้มรดก เป็นกลุ่มไม้ใช้สอยที่อายุยืน ใช้เวลาปลูกนาน เก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน ตัดขาย ก็ได้สตางค์ก้อนใหญ่หรือจะเอาไว้ใช้ซ่อมแซมบ้านก็ได้ เช่น ประดู่ สักทอง ยางนา สะเดา พะยูง ชิงชัน ไม้พวกนี้เป็นไม้ใหญ่ ปลูกฝั่งตรงข้ามกับต้นกล้วย

ศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ วัดป่านาคำ ได้นำเอาเครื่องมือที่มีชื่อว่า หลุมพอเพียง มาใช้ในการทำการเกษตรแบบพอเพียง 1 ไร่ไม่ยากไม่จน ประสบผลสำเร็จอย่างงามขณะนี้ได้ขยายผลไปยังชุมชนและสถานศึกษารวมกว่า 4,000 รายแล้ว

พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าคณะตำบลจุมจัง ศูนย์พัฒนาคุณธรรม จ.กาฬสินธุ์ วัดป่านาคำ หมู่ 6 บ้านโคกกลาง ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เจ้าของแนวคิดหลุมพอเพียง พร้อมด้วยนายประจักร ลือฉาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจุมจัง ได้นำสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วย ทีมข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวเอ็มทีเคเบิ้ลทีวี และผู้สื่อข่าวเจมส์เคเบิ้ลทีวีเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หรือ จุมจังโมเดล ของนายผจญ ธุระพันธุ์ บ้านจุมจัง หมู่ที่ 1 ต.จุมจัง ซึ่งเป็นแปลงเกษตรประณีต 1 ไร่ไม่ยากไม่จน ที่นำเอาเครื่องมือที่มีชื่อว่า หลุมพอเพียง มาใช้ในการทำการเกษตรแบบพอเพียงจนประสบผลสำเร็จอย่างงาม จากนั้นได้ไปเยี่ยมชมหลุมพอเพียงของโรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ ซึ่งเป็นอีกสถานศึกษาหนึ่งที่นำโครงการฯไปขยายผลจนประสบผลสำเร็จเช่นกัน

พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าคณะตำบลจุมจังกล่าวว่า ได้เริ่มโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี 2540 ด้วยการลองผิดลองถูกแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนมาในปี 2547 จึงได้มาค้นพบจุมจังโมเดล 1 ไร่ยากไม่จน และในปี 2552 จึงได้ตกผลึกมาเป็นหลุมพอเพียง ซึ่งหลุมพอเพียงเป็นนวัตกรรมและเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลังเท่าที่เคยพบมา ซึ่งโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มต้นที่วัดป่านาคำ และได้ขยายผลไปยังชุมชน และสถานศึกษาต่างๆ ปัจจุบันมีเกษตรและสถานศึกษาใน ต.จุมจัง ทำการเกษตร 1ไร่ไม่ยากไม่จนแล้ว 700 กว่าราย และขยายผลไปยังตำบลอื่นของอำเภอกุฉินารายณ์ 1,000 กว่าราย รวมทั้งได้ขยายไปสู่อำเภอเขาวง ราย และอำเภออื่นๆของจังหวัดกาฬสินธุ์รวมแล้วกว่า 4,000 ราย

พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าคณะตำบลจุมจังกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำเกษตร 1 ไร่ยากไม่จนด้วยเครื่องมือที่มีชื่อว่าหลุมพอเพียงทำได้ไม่ยาก ด้วยพืช 4 ชนิดมาผสมผสานกัน มีกล้วยซึ่งเป็นไม้พี่เลี้ยง มีพืชอ่อนแอหรือที่สอนชาวบ้านว่าพืชปัญญาอ่อนเช่น พริก มะเขือ ผักต่างๆ มีพืชฉลาดก็คือพืชที่เข้มแข็ง เช่น มะละกอ ผักพื้นเมืองต่างๆเป็นต้น และพืชที่สี่คือไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นความคาดหวังจริงๆของหลุมพอเพียง เป็นไม้ยืนต้นเพื่อการใช้สอยเช่น ยางนา ไม้สักทอง สะเดา ยางพารา มะพร้าว มะนาว ส้มโอ ทั้งนี้ถ้าเราไปรอผลผลิตจากไม้ยืนต้นอย่างเดียวต้องรอ 3-10 ปีจึงจะได้ผล ในขณะเดียวกันถ้าเราปลูกแต่พืชอ่อนแออย่างเดียวซึ่งมีอายุสั้นก็จะปลูกตลอดไป แต่ถ้าเราปลูกผสมผสานกันโดยมีกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงก็จะทำให้พืชทั้ง 4 ชนิดโตขึ้นได้พร้อมกันอย่างสมดุล และที่สำคัญทำให้มีอยู่มีกิน มีรายได้จากหลุมพอเพียงตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มปลูก

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น