เชาว์วัช หนูทอง วิศวกรชาวนา

เชาว์วัช หนูทอง อดีตอาจารย์วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร เพราะต้องการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง เมื่อเรียนจบวิศวโยธา เขารับราชการเป็นอาจารย์อยู่ 19 ปี แต่ด้วยชีวิตผูกพันกับวิถีชีวิตของการเกษตร ยิ่งการได้ทานอาหารมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 19 ปี ทำให้เขาตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีตกค้าง จากการทำเกษตร โดยเฉพาะการทำนาข้าว

คงเป็นเพราะเป็นลูกของชาวนา เขาจึงมีแรงปรารถนา หวังให้คนไทยได้รับประทานข้าวที่ดี ที่ปลอดสารพิษนั่นเอง เป็นสาเหตุของการหันหน้ามาทำนาอินทรีย์ และปลูกผักทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง แต่การทำนาของเขาไม่ธรรมดา เขาต้องปูพรมให้ผืนนาของเขา พรมของเขาเป็นตัวช่วยขจัดวัชพืช และบำรุงดิน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ประหยัด และผลผลิตก็มีปริมาณมาก เขานำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ประยุกต์ใช้ในการทำนา สร้างเครื่องดำนา ที่สามารถทำนาคนเดียวได้สบายๆ กว่า 10 ไร่ เขาประดิษฐ์เครื่องอัดก๊าซชีวภาพ เพื่อนำพลังงานที่มีอยู่ มาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า เครื่องทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และเตาน้ำส้มควันไม้ ทั้งหมดนี้ คือเครื่องมือที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ และเป็นคำตอบของการพึ่งพาตัวเอง

การทำนาหว่านในปัจจุบันจะใช้อัตราเมล็ดพันธุ์สูง (20-30 กก./ไร่) ซึ่งปัจจุบันราคาเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 20-23 บาท และเมล็ดพันธุ์ดีก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้การทำนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น 2 ปี 5 ครั้ง หรือ ปีละ 3 ครั้ง ย่อมส่งผลกระทบถึงสภาพแวดล้อม เช่น ปัจจุบันการทำนาในภาคกลางประสบกับ ปัญหาข้าววัชพืช ระบาดอย่างรุนแรง เกษตรกรที่ทำนาแบบหว่านน้ำตม ส่วนหนึ่งเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการปักดำ ด้วยเครื่องปักดำหรือด้วยแรงคนก็ตาม เพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมปริมาณข้าววัชพืช ปัญหาที่มักตามมาก็คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเตรียมดินให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องปักดำได้ และอัตราค่าปักดำค่อนข้างสูงคือ ไร่ละ 1,100-1,200 บาท /ไร่(รวมเมล็ดพันธุ์ข้าว) วิธีการปลูกข้าวแบบโยนกล้า เป็นการทำนาแบบใหม่ที่สามารถนำมาใช้แทนการปักดำด้วยเครื่องได้

วิธีการทำนาโยนกล้า ของท่านอาจารย์ เชาว์วัช หนูทอง เครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี มีดังนี้

1. วิธีแช่ข้าวปลูก
– นำเมล็ดข้าวปลูกที่เตรียมไว้มาแช่น้ำ โดยนำเมล็ดที่ลอยน้ำออก(เมล็ดหญ้าและเมล็ดข้าวลีบ)
– นำเมล็ดข้าวปลูกที่ได้มาแช่ เชื้อไตรโครเดอร์ม่า 500 กรัม ผสม ไครโตซานmt 200 ซีซี/น้ำ 100-200 ลิตร เป็นเวลา 20 ชั่วโมง เป็นการป้องกันและกำจัดเชื้อราก่อโรคพืชต่างๆที่ติดมากับเมล็ดข้าว และเป็นการกระตุ้นการงอกให้ต้นกล้างอกออกมาสม่ำเสมอและแข็งแรงมากขึ้น มีระบบรากที่ดี
– จากนั้นขึ้นมาพักหรืออบต่อไปอีก 12 ชั่วโมง

2. นำมาหยดลงถาดเพาะกล้า ดังภาพ
– โดยใช้ดินผสมปุ๋ยหมัก (2:1) รองก้นหลุ่มก่อน
– จากนั้น หยดเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วกลบด้วยดินผสมปุ๋ยหมัก (2:1) อีกครั้ง

3. จากนั้นนามาลงไว้ที่อนุบาลต้นกล้า/บริเวณที่ลานกว้างที่ราบเรียบ แล้วคลุมด้วยกระสอบป่าน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

4. หลังจากปรับปรุงสภาพดิน แล้วทำเถือกตามปกติเสร็จเรียบร้อยแล้ว
– ถ้าสภาพpH ดินดีอยู่แล้ว(5.8-6.3) และต้องการต้นข้าวที่ไม่ล้มง่ายให้ใช้ภูไมท์-ซัลเฟต หว่านรองพื้น 20 กก./ไร่
– ถ้าต้องการการแตกก่อของข้าวโยนที่ดีให้ใช้แร่ ม้อนท์ฯ หว่านรองพื้น 12.5-25 กก./ไร่

5. จากนั้นนำต้นกล้าที่เพาะไว้ มาโยนได้โดยอายุกล้าที่เหมาะสมของต้นกล้านาโยนอยู่ที่ 15-20 วันหลังเพาะ โดยโยนในอัตรา 70-80 ถาดต่อไร่ (1 ถาดมี 144 หลุม) ดังภาพ
– คนที่จะโยนกล้าจะหยิบกระบะกล้ามาวางพาดบนแขน แล้วใช้มือหยิบกล้าข้าวหว่านหรือโยนในแปลง โดยโยนให้สูงกว่าศรีษะ ต้นกล้าจะพุ่งลงโดยใช้ส่วนรากที่มีดินติดอยู่ลงดินก่อน การหว่านกล้า 1 คน สามารถหว่านได้วันละ 4- 5 ไร่

6. การดูแลรักษาระดับน้ำ วันหว่านกล้าให้มีน้ำในแปลงประมาณ 1 ซม. (ท่วมหลังปู) หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน ต้นข้าวตั้งตัวได้แล้ว สามารถเพิ่มระดับน้ำให้อยู่ที่ระดับครึ่งหนึ่งของต้นข้าว หรือประมาณ 5 ซม. เพื่อการควบคุมวัชพืช


ข้อได้เปรียบของวิธีการโยนกล้าเปรียบเทียบกับการปักดำและหว่านน้ำตม
1. แปลงที่มีลักษณะหล่มก็สามารถเตรียมแปลงเพื่อการหว่านต้นกล้าได้ แต่ไม่สามารถปลูกโดยวิธีการปักดำด้วยเครื่องปักดำได้ เนื่องจากเครื่องจะติดหล่ม
2. ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ (4-5 )กก./ไร่ น้อยกว่า การหว่านน้ำตมและการปักดำ
3. สามารถควบคุมและลดปริมาณวัชพืชและข้าววัชพืชได้ดีกว่าการทำนาหว่านน้ำตม
4. ลดการสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าวเมื่อเทียบกับการหว่านน้ำตม

ข้อได้เสียเปรียบของวิธีการโยนกล้าเปรียบเทียบกับการหว่านน้ำตม
1. ยุ่งยาก เช่นต้องซื้อถาดเพาะกล้าเป็นต้น

ป้ายคำ : , ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น