เดชา ศิริภัทร คุณครูชาวนา

มูลนิธิข้าวขวัญ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบการปลูกข้าวที่ถูกที่วิธี ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ และปลอดสารเคมี ชาวนาที่ทำตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา 2 คน

อะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคที่ชาวนาไม่ยอมเปลี่ยนวิถีการทำนาให้ถูกต้อง และนโยบายของรัฐบาลที่ทำกันมาตลอดทำไมยังแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาไม่ได้สักที

คำถามต่างๆ ดังกล่าวหาคำตอบจาก เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อาจารย์เดชา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ และ โรงเรียนชาวนา ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับชาวนามาตั้งแต่เกิด

ปู่ของ เดชา ศิริภัทร มีที่นาสองหมื่นไร่ ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สุพรรณบุรี

ตามประสาลูกผู้มีอันจะกิน เดชาเติบโตมาอย่างสุขสบาย เขาเข้าเรียนสัตวบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความฝันเหมือนคนหนุ่มจำนวนมากที่อยากเป็นคาวบอย

เรียนจบออกมา เดชาไปรับราชการอยู่ 4 ปี และลงมือทำฟาร์ม 200 ไร่ เวลาผ่านไป เขาได้รู้ได้เห็นว่าชีวิตเกษตรกรประเทศนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างร้ายกาจและรุนแรงอย่างไร ทำให้ชายหนุ่มเริ่มครุ่นคิดมากขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคือตอนที่เขาเสียแม่ แม่เคยบอกว่าอยากให้เขาบวช ในวัยราว 30 ปี เดชาทำตามความต้องการของแม่ซึ่งละลาจากโลกไปแล้ว

ด้วยความเป็นคนอ่านมาก เขารู้ว่าวัดไหนเป็นอย่างไร ใครคือพระจริงพระปลอม เขาเลือกบวชที่วัดสวนโมกข์ (รุ่นราวคราวเดียวกับพระพิศาลธรรมวาที) 3-4 เดือน ในสวนโมกข์ 3-4 เดือน ภายใต้การปกครองและพร่ำสอนของหลวงพ่อพุทธทาส เดชารู้สึกคล้ายตัวเองดวงตาสว่าง มองเห็นทางเดินสู่ความพอดีของชีวิต

เขาสึกออกมา พร้อมๆ กับประกาศขอแยกตัวออกจากธุรกิจครอบครัว ไม่รับมรดกใดๆทั้งสิ้น มุ่งทำงานด้านการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เขาสนใจอย่างต่อเนื่องมาร่วม 20 ปี

ในวัย 55 ปี ทุกวันนี้ เดชา ศิริภัทร เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ไม่มีรถ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ยังคงคลุกคลีทำงานกับเกษตรกรจนเริ่มเปลี่ยนแนวคิดให้ชาวนาเลิกใช้ปุ๋ย ใช้ยา หันเข้าหาเกษตรกรรมธรรมชาติซึ่งเป็นวิถีที่เรียบง่ายและยั่งยืนกว่า

ด้วยลีลาธรรมดา ด้วยเสื้อผ้าราคาถูก และด้วยสำเนียงติดเหน่อสุพรรณ แต่ลองฟัง vision ชายไทยจากท้องไร่ท้องนาคนนี้ดูว่าระหว่างชาวบ้านกับนักการเมือง ใครรักชาติและจริงใจกว่า ระหว่างชาวบ้านกับรัฐมนตรี ใครมีภูมิปัญญามากกว่า ลองฟังและช่วยกันไตร่ตรองดูว่าเชื่อผู้นำแล้วชาติจะพ้นภัยจริงไหม หรือว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันทั้งหมด แล้วตั้งสติสำรวจรากเหง้าของตัวเอง

ผมพูดได้เลยว่าไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า พวกเรียนเกษตรต้องซมซานกลับมาเป็นเกษตรกรแน่นอน ไม่มีทางเลือก ตอนนี้ใครคิดจะเป็นเกษตรกร รีบเป็นเสียตอนนี้ ผมคิดว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีหวังที่สุดแล้ว เกษตรกรไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องสนเลยว่า เศรษฐกิจจะเป็นยังไง จะรบกันที่ไหน เงินเฟ้อ เงินฟุบ เพราะคุณพึ่งตัวเองได้ มีที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ทำได้หมด

ประการต่อมา อาหารเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ ยังไงก็มีคนกิน ไม่มีทางล้นตลาด ยิ่งในอนาคต อาหารที่ดีมีคุณภาพและปลอดสารพิษ คนรวยยิ่งแย่งกัน ฉะนั้น ไม่ต้องกลัวเลย เกษตรกรที่ทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เรากินของดี ถ้าเหลือก็เอาของดีแบ่งขาย

ผมเริ่มทำตอนปี 2527 ตอนแรกก็มืดมาก ไม่แน่ใจว่าจะได้จริงไหม ก็พัฒนามาเรื่อยในแนวทางของเราคือการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี เทคนิคที่เราคิดว่าเป็นปัญหา ไม่ปัญหาเลย ปรับดิน คุมโรคและแมลงได้หมด คนไทยพัฒนาได้ เลิกใช้เคมี แต่ผลผลิตไม่ลดเลย ได้เท่าเดิม หรือเพิ่มด้วยซ้ำ ใครจะทำก็ได้ ง่าย ต้นทุนต่ำ โรคแมลงไม่มี

นาข้าวที่ใช้เคมี พัฒนาไปเต็มที่แล้ว ได้ผลผลิตประมาณ 270 ถัง/ไร่ แต่ทำปลอดสารเคมี ตอนี้ไร่หนึ่งได้ 350 ถัง เป็นงานทดลองนะ ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่รู้และไม่เชื่อ ปัญหาคือทำยังไงจะมีหัวหอกนำทาง คนส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนเพราะไม่เชื่อ เขารับข้อมูลด้านเดียวจากบริษัทขายปุ๋ย มหาวิทยาลับ เกรม กระทรวง มาทางเดียวกันหมดเลย เชื่อว่าสู้เคมีไม่ได้ สู้ฝรั่งไม่ได้
ทำไมชาวนาไทยถึงมีชีวิตแย่มาตลอด

ความคิดหวังรวย ทำทุเรียนหวังรวย เลี้ยงกุ้งหวังรวย จากวิถีทำเพื่ออยู่เพื่อกิน เพื่อความสุข กลายเป็นเพื่อร่ำรวย เชื่อว่าเงินคืองานบันดาลสุข ทำให้คนทำงานเพื่อเงิน แล้วเอาเงินไปหาความสุข ซึ่งผิดทั้งหมด งานคือความสุข มันถึงของจริง

รายจ่ายนี่คือตัวหลัก รายได้เป็นตัวรอง รายได้เท่าไร ไม่จำเป็นเลย คุณดูรายจ่ายก็พอ ชาวบ้านที่ฉลาดๆ เขาบอกว่ารายรับเท่าไหร่ไม่สำคัญ อยู่ที่รายเหลือ คุณเงินเดือนหมื่น แต่ใช้หมื่นห้า กับคนเงินเดือนห้าพัน แต่ใช้สามพัน ถามว่าใครดีกว่า คนได้ห้าพันดีกว่าแน่นอน เพราะมีเหลือสองพัน

เกษตรกรเป็นอาชีพที่อิสระที่สุด ไม่มีอาชีพอะไรที่จะสบายเท่านี้อีกแล้ว ผมไปเยี่ยมฟูกูโอกะที่ญี่ปุ่น แกทำเกษตรธรรมชาติ ไถยังไม่ไถเลย นอนรออย่างเดียว สบาย กินพอแล้ว เหลือมากๆ ก็ขายนิดหน่อย ว่าง นั่งเขียนหนังสือ

ผมถามชาวนาว่าเป้าหมายคืออะไร เขาอึกอักๆ อยากรวยใช่ไหม ผมบอกว่าเพราะอยากรวยนี่แหละถึงได้โดนหลอก แล้วไม่รู้จะรวยไปทำไม ถามว่ารวยมันดีตรงไหน เขาบอกว่า โอ๊ย ดีสิ รวยแล้วได้ทุกอย่าง ผมถามว่าเคยรวยหรือยัง ไม่เคยรวยจะรู้ได้ยังไงว่าดี ผมนี่เคยรวยมาแล้ว ถามผม (หัวเราะ) ไม่ถามผม ไปถามคุณวิลิตโน่น คุณวิลิตรวยพันล้าน บ้านผมรวยร้อยล้าน ถามผมสิ โรงสีใหญ่สุดในสุพรรณเป็นของบ้านผม ผมยังไม่ไปอยู่เลย ปู่ผมมีนา 2 หมื่นกว่าไร่ พอผมมี 8 พันกว่าไร่ ถึงรุ่นผมเหลือสัก 2 พันไร่มั้ง แต่ผมไม่สนใจ อยากรู้เรื่องรวย มาถามผม แล้วทำไมผมไม่อยู่โรงสี เพราะมันไม่มีความสุขไงไอ้ความรวยน่ะ คุณจะรวยไปทำไม

ชีวิตคนเรา ก่อนอื่นต้องรู้ว่าความสุขคืออะไร เมื่อก่อนผมไม่รู้เหมือนกัน กระทั่งแม่เสีย ผมไปบวชอยู่กับท่านพุทธทาสที่สวนโมกข์ บวชให้แม่ ไม่คิดอย่างอื่น
สิ่งที่ได้จากการบวช

ผมได้รู้เลยว่าชีวิตเรามีความสุขได้โดยเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกน้อยมาก คนเราอยู่กับปัจจัยภายในเป็นหลัก แล้วต้องการของที่จำเป็นไม่เยอะ กินข้าวมื้อเดียวก็ได้ เสื้อผ้า 2 ชุดก็ได้ บ้านเล็กๆ ก็อยู่ได้ ไม่มีรายได้เลยก็ยังได้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าชีวิตต้องการอะไรบ้าง ชีวิตจริงๆ ปัญหาอยู่ที่จิตใจเป็นหลัก คนนี่ไม่เคยรู้ค่าของจริงๆ อยู่ที่นั่นผมมีเวลา เห็นนกร้อง มองต้นไม้ มองและเข้าใจว่าทุกสิ่งสัมพันธ์กันยังไง ไม่ใช่คิดว่าจะขายเท่าไหร่ ตีเป็นเงินหมด ต้นไม้ให้ออกซิเจน ให้ความเย็น เราให้คาร์บอนฯมัน สัมพันธ์และพึ่งพิงกัน นกร้องเพลงโดยไม่คิดเงินสักบาท ไปขังมันทำไม มีความสุขมันร้องเอง ความคิดนี้เกิด กระบวนทัศน์เปลี่ยน


(คุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ครั้งที่ ๙ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๕)

หลักการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมี 2 ข้อคือ

1. มีชีวิตอย่างพอดี กินอาหารพอดี เครื่องนุ่งห่มพอดี ที่อยู่พอดี บวชพระแล้วจะรู้ว่าพอดีคือแค่ไหน อยู่พอดีแล้วจะไม่เดือดร้อน หาเงินนิดเดียว พอ มีเวลาเหลือเยอะ หาความสุขได้เยอะ ความสุขต้องมีเวลานะ ถ้าไม่มีเวลาไม่มีความสุขหรอก ไม่มีเวลาจะมีความสุขได้ไง มีเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน ไม่มีความสุขหรอก ถ้าไม่มีเวลาใช้มัน สิ่งที่มีค่าในปัจจุบันที่หายากคือเวลา เพราะเวลามีแค่ 24 ชม.แล้วเวลามักหมดไปกับสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขจริง เช่น เล่นเกม ยังไงก็ไม่พอหรอก เด็กบางคนตีสามตีสี่ยังไม่นอนเลย บ้าเกม มีความสุขหรือเปล่า ไม่ใช่หรอก เขาเรียกว่าหลง ถูกมายาพาไป

2. เวลาทำอะไร อย่าตั้งความหวัง ข้อนี้ยาก เพราะคนชอบคิดว่าฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง ตั้ง 100 ไปได้สัก 50 ก็ยังดี ใครไม่ตั้งอะไรจะไม่ได้ คนคิดแบบนี้ ตั้งต่ำได้ต่ำ ไม่ตั้งไม่ได้ ท่านพุทธทาสว่าอย่าไปตั้ง เราใช้สติปัญญาว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร

ใครตั้งความหวังเมื่อไหร่ โง่เมื่อนั้น ได้ก็ขาดทุน ไม่ได้ก็ขาดทุน แต่ถ้าไม่ตั้งความหวังเลย ทำไปทำให้ดีที่สุด ทำไปทำให้ดีที่สุด ได้เท่าไหร่กำไรหมดและมาดูว่าอะไรบกพร่องบ้าง แก้ตรงไหน ควรทำอะไรต่อ ใช้ปัญญาทำไปเรื่อยๆ จะไม่ท้อเพราะมีแต่กำไร วันต่อวันก็พอ ไม่ต้องตั้ง 100 ปี ทำปัจจุบันให้ดีก่อน พรุ่งนี้ค่อยคิดใหม่ แต่ต้องเห็นทางว่าจะไปเชียงใหม่ เดินได้แค่นี้ เอาแค่นี้ก่อน ไม่ใช่มองไปกำแพงเพชร แต่ไม่มองที่ตีนเลยว่ามีงูไหม

ท่านพุทธทาสบอกว่าทำงานแค่วันเดียว ก่อนนอนบอกตัวเองว่าตายก็ไม่เสียดายแล้ว วันนี้ทำเต็มที่ พรุ่งนี้ตื่นมา อ้าว ยังไม่ตาย มีงานก็ทำต่อไป เย็น นอน ท่านบอกทำวันเดียว แต่หนังสือท่านเยอะจนเราอ่านไม่หมด บางคนคิดใหญ่โต หนังสือสักเล่มยังไม่ได้เขียนเลย

วาดวิมาน 10-20 ปี แต่ไม่ทำอะไร ไม่มีความหมาย ปัจจุบันนี่แหละของจริงที่สุด ฝรั่งบอกว่าดูแลปัจจุบันให้ดี อนาคตมันดูแลตัวมันเองได้ พรุ่งนี้ไม่เคยมาถึงหรอก คิดแบบนี้คือของจริง คนทุกวันนี้เครียดเพราะคิดถึงอดีตและอนาคต กลัวอนาคต กลัวทำไม ยังมาไม่ถึงเลย อนาคตก็อยู่ที่ปัจจุบันนี่แหละ อยู่ที่กรรม ทำเหตุให้ดี ผลดีเอง ถ้าไม่ดี แปลว่าต้องมีเหตุไม่ดีบางอย่างซึ่งถ้าคุณคุมไม่ได้ก็ช่างมัน

ต้องเอาชีวิตไปทดลองให้มันละลายโปรแกรมที่สร้างมาตั้งแต่เด็กออกไป พอคิดได้แล้ว มีกระบวนทัศน์ใหม่ อยู่ที่ไหนก็ไม่ลำบาก เคยกินข้าวมื้อเดียว มีเสื้อผ้า 2 ชด คุณจะไม่มีความขัดสนอีกแล้ว ชีวิตคุณมั่นคงแน่นอน

ชีวิตที่ดีประกอบด้วยอะไรบ้าง อาหารที่ดี กินไม่ต้องมากด้วย อากาศที่ดี ถามว่าหาที่ไหน คุณก็ทำสิ่งแวดล้อมให้ดีสิ ปลูกต้นไม้ เรื่องที่อยู่ เต้นท์ยังได้ ถ้าไม่มีสมบัติอะไร ดูอย่างคนจนที่อินเดียโน่น เทียบกับเขาแล้วเรายังมีอะไรที่เกินพอดีอยู่เยอะ ผมเองผมว่าผมตัดได้อีกหลายอย่าง เสื้อผ้า ต่อไปเดี๋ยวผมทอให้เอง ตอนนี้ซื้อมือสองไปก่อน 100-200 ใส่สบายจะตาย

ชีวิตคนว่ายากก็ยาก ถ้าคิดว่าง่ายก็ง่าย อยู่ที่วิธีคิด อยู่ที่วิถี การเรียนรู้ ฟัง อ่าน สังเกต ต้องกล้าลอง คนส่วนใหญ่ไม่กล้าลอง การบวชก็เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง หาวัดดีๆ

การบวชคือการบังคับตัวเองด้วยศีล คนสมัยก่อนฉลาด ทุกคนต้องบวช ไม่งั้นผู้หญิงไม่แต่งงานด้วย บังคับโดยประเพณี ตอนหลังเรียนมหาวิทยาลัยแล้วไม่ได้บวช คิดว่าฉลาดแล้ว เลยโง่กว่าเดิม การบวชคือการฝึก เปลี่ยนจากอยู่บ้านไปอยู่ไปอยู่วัด เปลี่ยนสถานภาพทำให้ได้ทบทวนอะไรเยอะ เมื่อก่อนศิลปะทุกอย่างอยู่ในวัด ตอนนี้ทิ้งหมด คิดว่ามหาวิทยาลัยแทนได้ มันแทนไม่ได้ ผลที่สุด ไม่ได้อะไรสักอย่าง เรียนจบมากลายเป็นมดตัวหนึ่งให้เขาใช้ ต้องไปเข้าระบบเขาก่อนด้วยนะ ถ้าอยู่โดดๆ ก็ใช้ไม่ได้

คิดว่าเชื่อผู้นำแล้วจะพ้นภัย ไม่จริงหรอก มันต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่าย ประชาชนเองก็ต้องไม่หยุดนิ่ง พึ่งตนเองได้ก็ต้องพึ่งตัวเองไปก่อน โดยเฉพาะการเกษตรซึ่งเราชำนาญอยู่แล้ว

ในฐานะที่ผมเป็นนักเกษตร เป็นเกษตรกรด้วย ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะรอดด้วยเกษตร

ตอนเราเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ ถ้าไม่มีภาคเกษตรอุ้ม เราล้มเป็นอาร์เจนตินาไปแล้ว ตอนนั้นภาคเกษตรรับเต็มที่ รับทั้งคนตกงาน ทำให้มีอาหารกิน ไม่อดอยาก ปีนั้นขายหอมมะลิได้เยอะ เพราะต้นทุนเท่าเดิม แต่ขายได้ราคาดี ฝรั่งเรียกว่าภาคเกษตรเป็นเบาะรองกระแทก หล่นลงมา หลังไม่หัก ลุกขึ้นนั่งได้ แต่ตอนนี้กำลังปีนขึ้นใหม่อีกแล้ว

ทุกอย่างเกิดจากเลือดเนื้อของเกษตรกร เขาทำไร่ทำนา เอาเงินเข้าประเทศ แต่รัฐเอาไปพัฒนาภาคอื่น ส่งลูกเรียนตั้งแต่เล็ก เสียเงินเสียทองเท่าไร เพื่อเอาลูกไปรับใช้ภาคอื่น เกษตรกรไม่ได้อะไรคืนเลย แต่เมื่ออุตสาหกรรมล้มละลาย ภาคอื่นเตะถีบเอาคนงานออก ไม่มีโบนัส ไม่มีประกันอะไรสักอย่าง คนต้องกลับไปอยู่บ้านเดิม ภาคเกษตรรับเลี้ยงอีก ทำก็ทำให้ฟรี เมื่อเขาไม่ใช้ ไม่เลี้ยงแล้วก็ต้องเลี้ยงให้เขา พวกนั้นมันไม่รับผิดชอบเลย สร้างก็ไม่สร้าง เลี้ยงก็ไม่เลี้ยง ใช้งานอย่างเดียว เห็นไหมว่าเกษตรเป็นภาคที่แย่แค่ไหน

ปัญหาคือทำยังไงให้เกษตรกรรู้และลุกขึ้นสู้ เอาชาติให้พ้นจากนโยบายประชานิยม ทำให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้อีก 5-10 ปี เกษตรกรรอดเมื่อไร ประเทศไทยรอด ถ้าเกษตรกรไม่รอด ต้องละทิ้งอาชีพ ประเทศไทยเจ๊ง

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น