เพาะถั่วงอกในวงบ่อซีเมนต์

หลักคิดและที่มาของการเพาะถั่วงอกในวงบ่อซีเมนต์ :

คุณนิมิตเล่าให้ทีมงานร่วมด้วยช่วยกันฟังว่า ตลอดเวลาที่ทำร้านขายอาหารมังสวิรัติ ก็มีแนวคิดที่จะหาวัตถุดิบ เช่น ผักต่าง ๆ ที่ปลอดภัยมาให้ลูกค้าได้รับประทาน สิ่งหนึ่งที่พยายามมาตลอดคือ ถั่วงอก ซึ่งเป็นผักชนิดแรกที่พยายามทำ โดยได้ทดลองเพาะถั่วงอกแบบต่าง จากความรู้ที่ได้ไปดูการเพาะถั่วงอกในที่ต่าง ๆ และอ่านหนังสือทุกเล่มที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะถั่วงอกเพิ่มเติม จนสามารถค้นพบวิธีการเพาะถั่วงอกในรูปแบบของตัวเองได้ แต่ยังคงไม่เป็นที่น่าพอใจเนื่องจากถั่วงอกที่ผลิตได้จะมีแต่ต้นที่ขาวแต่รากยังออกสีคล้ำๆ อยู่ ดูไม่น่าทาน และสืบเนื่องมาจากนิสัยในการทานถั่วงอกของคนไทยที่ไม่นิยมทานส่วนส่วนของราก คุณนิมิตจึงได้คิดค้นหาวิธีที่จะไม่ให้ถั่วงอกมีราก จนค้นพบวิธีที่ใช้เพาะอยบู่ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้วิธีการเพาะถั่วงอกตัดรากในวงบ่อซีเมนต์ของคุณนิมิตรนั้น ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยไปแล้ว เพราะกลัวว่าชาวต่างชาติจะมาขโมยความรู้และภูมิปัญญาของคนไทยไป

แต่สำหรับคนไทยคุณนิมิตรยินดีที่จะเผยแพร่ทุก ๆ ขั้นตอนในการเพาะถั่วงอกอย่างเต็มที่ไม่มีปิดบัง รวมทั้งยังเปิดให้มาดูงานและฝึกปฏิบัติกันได้จริง ที่บ้านของคุณนิมิตร ซึ่งยึดคติที่ว่า ยิ่งให้คนอื่น เราจะยิ่งได้รับ และสิ่งดี ๆ ก็จะตามเข้ามาในชีวิตของเราเองมาโดยตลอด ส่วนวิธีการและขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในวงบ่อซีเมนต์ตามแบบฉบับของคุณนิมิตรให้สำเร็จได้นั้นจะต้องเริ่มเรียนรู้ถึงหลักการต่าง ๆ ดังนี้

ปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเพาะถั่วงอก :

1. เมล็ดพันธุ์ถั่วต้องดี มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง สายพันธุ์ถั่วเขียวที่คุณนิมิตแนะนำคือ สายพันธุ์ กำแพงแสน2 เนื่องจากเป็นถั่วเขียวผิวมนเมล็ดใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงทำให้ถั่วงอกที่เพาะออกมา ต้นโต ยาว อวบอ้วน น่ารับประทาน

2. ภาชนะที่เพาะต้องทึบแสง มีการระบายน้ำดี เช่น การเพาะถั่วงอกในตะกร้า ก็เอาถุงดำมาคลุมแล้วไว้ในห้องที่มืด หรือเพาะในวงบ่อซีเมนต์ที่ปิดปากบ่อให้มืด เป็นต้น

3. มีการให้น้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะทำให้ถั่วงอกที่เพาะไม่เกิดความร้อนที่สะสมมากเกินไป วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่ามีความร้อนสะสมหรือไม่โดยให้ผู้เพาะใช้มือสัมผัสเมล็ดถั่วเขียวชั้นบนสุดว่ารู้สึกร้อนหรือไม่ และการให้น้ำแต่ละครั้งจะต้องไม่มีไอจากความร้อนขึ้นมาเพาะถ้าตะกร้าหรือวงบ่อที่เพาะถั่วงอกมีความร้อนสะสมมากไป ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอกจะทำให้ลำต้นเล็กไม่อวบอ้วนจะทำให้ถั่วงอกมีรากฝอยมาก ทำให้ไม่น่ารับประทาน

***เมื่อเข้าใจหลัก 3 ประการเบื้องต้นแล้ว เกษตรกรและผู้สนใจควรเริ่มต้นการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นภาชนะเพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนเป็นอันดับแรก เกษตรกรจะเกิดขบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่เริ่มเตรียมอุปกรณ์จนตัดรากถั่วงอกเพื่อจำหน่าย เมื่อเกิดความชำนาญในการเพาะถั่วงอกตัดรากมีตลาดเข้ามาก็สามารถขยายกำลังผลิตได้ไม่ยาก

อุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในวงบ่อซีเมนต์ :

1. ท่อปูนซีเมนต์ขนาด 50x 50 เซนติเมตร ตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งเจาะท่อด้านล่างด้วยท่อพีวีซี 1 จุดเพื่อให้ระบายน้ำออก

2. ตะแกรงรองพื้นก้นท่อ จำนวน 1 อันต่อท่อ ซึ่งใช้ตะแกรงโลหะขนาดรูตาใหญ่ ตัดหรือดัดให้พอดีกับก้นท่อซีเมนต์ยกให้สูงจากพื้นเล็กน้อยเพื่อให้มีการระบายน้ำได้สะดวก

3. ตระแกรงเกล็ดปลา เป็นตะแกรงพลาสติกที่มีรูละเอียดมีขนาดของรู กว้าง x ยาว 4-5 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือดูให้มีรูตาเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียวป้องกันการหลุดร่วง ตะแกรงชนิดนี้มีจำหน่ายตามร้านวัสดุก่อสร้าง เมื่อเมล็ดถั่วเขียวงอก ส่วนของรากจะแทงทะลุตะแกรงออกมา ส่วนของต้นจะตั้งตรง สะดวกต่อการตัดต้นถั่วงอกออกจากตะแกรง ในการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษต่อ 1 ตะกร้า จะใช้ตะแกรงรองพื้น 1 แผ่นและตะแกรงเกล็ดปลาจำนวน 4 แผ่น

4. กระสอบป่าน ประโยชน์ของการใช้กระสอบป่านหรือกระสอบข้าวเปลือก เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่เมล็ดถั่วเขียวที่ทำการเพาะและสามารถซักทำความสะอาดได้หลายครั้งหลังจากเพาะถั่วงอกในแต่ละครั้งจะต้องตัดกระสอบป่านให้มีขนาดเท่ากับตะแกรงเกล็ดปลาและจะใช้จำนวน 6 ผืนต่อการเพาะถั่วงอก 1 ท่อ

5. ผ้าสักหลาดสีดำ หรือผ้าที่แสงสามารถส่องผ่านเข้าได้ยาก 1 ผืนติดกันเป็นผืนใหญ่เอาไว้คลุมหลังจากที่เพาะถั่วงอกเสร็จตามขั้นตอน

ขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในวงบ่อซีเมนต์ :

1. ขั้นตอนแรกให้ทำการแช่เมล็ดถั่วเขียว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญมาก เมื่อคัดเมล็ดที่แตก เมล็ดลีบหรือเมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลายออกด้วยมือแล้ว ให้นำมาล้างน้ำสะอาด 2-3 น้ำ ถ้าพบเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำขึ้นมาให้รินทิ้งไปพร้อมกับน้ำได้เลยเพราะเป็นเมล็ดที่ไม่งอก ต่อมาให้เตรียมน้ำอุ่นสำหรับแช่เมล็ดถั่วเขียวในการเตรียมน้ำอุ่นให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็นธรรมดา 3 ส่วน ก่อนจะนำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่ในถังพลาสติกให้น้ำอุ่นท่วมเมล็ดสูงขึ้นมาสัก 1-2 นิ้ว แช่ไว้นาน 8 ชั่วโมง ประโยชน์ของการแช่เมล็ดในน้ำอุ่นจะช่วยให้ถั่วเขียวงอกได้เร็วขึ้น

** เมื่อแช่ครบ 8 ชั่วโมงแล้ว จะสังเกตเห็นเมล็ดถั่วเขียวพองตัวใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 เท่า ซึ่งจะสังเกตเด้จากเปลือกหุ้มเมล็ดที่ปริออก มีตุ่มรากงอกออกมาให้เห็น แล้วทำการรินน้ำที่แช่เมล็ดถั่วเขียวออกล้างเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาดอีก 3 น้ำ เพื่อมั่นใจในความสะอาดและมีส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วก็จะหลุดออกไปบางส่วน</i>

2. เมื่อแช่เมล็ดถั่วเขียวครบ 8 ชั่วโมงแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการเพาะ ขั้นแรกนำตะแกรงโลหะที่เตรียมไว้วางเป็นฐานรองก้นท่อปูนซีเมนต์

3. วางตะแกรงเกล็ดปลาทับบนตะแกรงโลหะ

4. วางกระสอบป่านบนตะแกรงเกล็ดปลา

5. เมื่อวางกระสอบป่านแล้วให้โรยเมล็ดถั่วเขียวให้ทั่วตะแกรงเกล็ดปลา การโรยเมล็ดนั้นควรโรยให้มีความสูงประมาณ 1 เซนติเมตร หมดขั้นตอนนี้ถือว่าเสร็จชั้นที่ 1

6. เมื่อเสร็จชั้นที่ 1 แล้วให้นำตะแกรงเกล็ดปลาวางทับตามด้วยกระสอบป่าน 1 ผืน แล้วโรยเมล็ดอีกครั้ง ทำอย่างนี้อีก 2 ชั้น ให้ครบ 4 ชั้น

7. เมื่อครบ 4 ชั้นแล้ว ชั้นบนสุด ให้วางตะแกรงเกล็ดปลา และกระสอบป่าน 2 ผืน เพื่อเพิ่มการรักษาความชื้นให้กับเมล็ดถั่วเขียว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มบ่อ แล้วคลุมด้วยผ้าสักหราดสีดำเพื่อไม่ให้แสงเข้าถึง

8. เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้วให้รอเวลารดน้ำ ซึ่งการรดน้ำถั่วงอกนั้น ให้รดทุก ๆ 4 ชั่วโมง และควรเริ่มต้นในเวลาเดียวกันที่โรยเมล็ดถั่ว เช่น โรยเมล็ดถั่วตอน 8 โมงเช้า ก็ควรเริ่มต้นการรดน้ำที่ 8 โมงด้วยเช่นกัน

9. เมื่อครบ 3 วันแล้วก็สามารถนำแผงถั่วงอกที่เพาะออกมาตัดจำหน่ายได้เลย


อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดถั่วงอก :

1. มีดด้ามยาว เอาไว้ตัดตัวงอกเมื่ออายุได้ 3 วันแล้ว

2. กะละมังใบใหญ่ เอาไว้เวลาตัดถั่วงอกลงล้าง

3. ตะแกรงห่างเอาไว้ชอนถั่วงอกใส่ตะกร้า

4. ตะกร้า หลังจากที่ทำการตัดรากลงในกะละมังน้ำเพื่อล้าง แล้วชอนถั่วงอกลงตะกร้าเพื่อผึ่งลมให้แห้ง และเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา

5. ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา นับเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เมื่อต้นถั่วงอกสะเด็ดน้ำแล้วให้รีบเอาไปบรรจุลงถุงพลาสติกทันที มัดปากถุงให้แน่น เหตุผลที่ต้องรีบบรรจุถั่วงอกลงถุงพลาสติกให้เร็วที่สุดเพราะถ้าปล่อยให้ถั่วงอกสัมผัสอากาศนาน ๆ ต้นถั่วงอกจะเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลืองแล้วจะคล้ำดำในที่สุด ตลาดไม่ต้องการหรือนำไปประกอบอาหาร ถั่วงอกแบบอินทรีย์นี้สามารถเก็บได้นานถึง 7- 10 วันโดยไม่เหลือง และยังคงความสด และกรอบเหมือนใหม่ ๆ แต่จะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ความคิดเห็น

  1. หนึ่ง
    บันทึก พฤษภาคม 17, 2556 ใน 13:44

    ดีครับ … ชอบ

  2. มลิ
    บันทึก ตุลาคม 24, 2556 ใน 08:48

    ตอนนี้ กำลังทดลองทำดูค่ะ ( ที่หอพัก ทำใส่ขวดน้ำใว้ เพื่อวันต่อไป ถ้าได้ออกจากงานแล้วจะได้มีงานทำที่บ้านบ้าง

  3. อนิรุทธ์
    บันทึก มกราคม 31, 2557 ใน 08:54

    ขายถั่วเขียวผิวดำ 30 กก. ราคากระสอบละ 870 บาท สำหรับเพาะถั่วงอก สนใจติดต่อ อนิรุทธ์ โทร 093-138-8776

แสดงความคิดเห็น