เห็ดนางรม เห็ดคุณค่าทางอาหารสูง

27 เมษายน 2557 เห็ด 0

เห็ดนางรมนำมาใช้เป็นอาหาร มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน คาร์โบไฮเดรท วิตามิน มีวิตามินบี 1 (vitamin B1) และบี 2 (vitamin B2) สูงกว่าเห็ดชนิดอื่นและธาตุอาหารหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ให้พลังงานค่อนข้างสูง และยังมีกรดโฟลิคสูงกว่าพืชผักและเนื้อสัตว์ ช่วยป้องกันรักษาโรคโลหิตจางได้ จึงเหมาะสำหรับอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีปริมาณโซเดียมต่ำจึงใช้เป็นอาหารผู้ที่ ป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคไตอักเสบ

เห็ดนางรมมีถิ่นกำเนิดแถบยุโรป มีการเจริญเติบโตได้ดีในไม้โอ้ค (oak) เมเปิ้ล (maple) ไมพีช (peach) ฯลฯ และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่น ต่อมาได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงในไทยพบว่าสามารถปรับตัวเจริญได้ดีในไทยจนเป็นที่รู้จักกันดี เห็ดนางรมจัดเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานกันมาก เนื่องจากมีลักษณะคล้ายเห็ดขอนขาวหรือเห็ดมะม่วง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้ผุ ประกอบกับเป็นเห็ดที่มีสีขาวสะอาด มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีรสชาติหอมหวาน เนื้อเห็ดไม่เหนียวและยังมีสารบางอย่างมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค จึงเป็นที่นิยมผลิตเพื่อบริโภคกันมากเห็ดนางรมมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน คาร์โบไฮเดรท วิตามิน และธาตุอาหารหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ให้พลังงานค่อนข้างสูง มีวิตามินบี 1 และบี 2สูงกว่าเห็ดชนิดอื่น และยังมีกรดโฟลิคสูงกว่าพืชผักและเนื้อสัตว์ ช่วยป้องกันรักษาโรคโลหิตจางได้จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีปริมาณโซเดียมต่ำจึงใช้เป็นอาหารผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคไตอักเสบ

hednangroml

ธรรมชาติของเห็ดนางรม
เห็ด นางรมในธรรมชาติจะเจริญบนไม้ที่มีชีวิตและเมื่อต้นไม้ตายเห็ดนางรมก็สามารถ เจริญเติบโตต่อไปได้อีกเห็ดนางรมจะเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดเล็กน้อยหรือมี pH 6.5-6.8 ฉะนั้น ในการผสมขี้เลื่อยหรือวัสดุที่ใช้ เพาะจึงไม่จำเป็นต้องใส่ปูนขาวลงไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ของเส้นใยเห็ดนางรมประมาณ 30-32องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะต่อการออกดอกของเห็ดประมาณ 25 องศาเซลเซียส

ส่วนประกอบของเห็ดนางรม
หมวก ดอกมีลักษณะคล้ายหอยนางรมหมวกดอกมีลักษณะแบนราบไม่เหมือนเห็ดฟาง กลางหมวกดอกมีลักษณะเป็นแอ่งหมวกดอกอาจมีสีขาวหรือสีเทาก็ได้ขึ้นอยู่กับสาย พันธุ์และลักษณะของหมวกดอกอาจเป็นเนื้อเดียวกับก้านดอก ก้านดอกเป็นส่วนที่ใช้ชูดอกขึ้นไปในอากาศ ก้านดอกค่อนข้างจะสั้นและเจริญเข้าหาแสงสว่าง ครีบดอก มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆสีขาวหรือสีเทาที่บริเวณครีบดอกเป็นแหล่งสร้างสปอร์

  1. หมวกดอก (cap หรือ pileus) มีลักษณะคล้ายหอยนางรม หมวกดอกมีลักษณะแบนราบ ไม่เหมือนเห็ดฟาง กลางหมวกดอกมีลักษณะเว้าเป็นแอ่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-15 ซม. มีสีขาวหรือสีขาวนวล มีขนละเอียดสีขาวปกคลุมคล้ายขนกำมะหยี่ ด้านล่างของหมวกดอกจะเชื่อมติดกับก้านดอกหรือเป็นเนื้อเดียวกัน
  2. ก้านดอก (stalk) เป็นส่วนชูดอกขึ้นไปในอากาศ ก้านดอกค่อนข้างสั้นและเจริญเข้าหาแสงสว่าง ก้านดอกเห็ดอยู่ค่อนไปข้างหนึ่ง ไม่อยู่กึ่งกลางของหมวกเห็ด ก้านโค้งงอเหมือนพัดเล็กน้อย มีความกว้างประมาณ 0.5-2 ซม. ยาวประมาณ 1-3 ซม.
  3. ครีบดอก (gill) มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีขาวหรือสีเทา บริเวณครีบดอกเป็นแหล่งสร้างสปอร์ สปอร์มีสีขาวอมม่วงอ่อน รูปร่างกลมรี มีติ่งเล็กๆ ที่ปลายข้างหนึ่ง ขนาด 3x 4 – 8 x 12 ไมครอน

เห็ดนางรมขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม มีโคนก้านดอกติดกันและมีหมวกเห็ดซ้อนกันเป็นชั้นๆ และสามารถงอกออกมาจากขอนไม้ หรือกิ่งไม้ผุบนต้นไม้ยืนต้นได้

ชนิดของเห็ดนางรม
เห็ดนางรมที่นิยมเพาะโดยทั่วไปแบ่งตามสีมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  1. เห็ดนางรมสีขาว (White type หรือ Florida type) เจริญเติบโตได้ในสภาพอุณหภูมิสูง จึงนำมาเพาะเลี้ยงในช่วงฤดูร้อน เห็ดชนิดนี้จะออกดอกได้ดีที่อุณหภูมิสูงกว่า 20 ๐ซ. หมวกดอกมีสีขาว และมีน้ำหนักมากกว่าเห็ดนางรมสีเทา แต่หมวกดอกจะมีขนาดเล็กและบางกว่านางรมสีเทา
  2. เห็ดนางรมสีเทา (Grey type หรือ Winter type) เจริญได้ดีในสภาพอุณหภูมิต่ำ จึงเพาะเลี้ยงในช่วงฤดูหนาว เห็ดจะออกดอกได้ดีที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 ซ. หมวกดอกหนาและมีขนาดใหญ่ แต่ผลผลิตต่ำกว่าชนิดแรก

วงจรชีวิตของเห็ดนางรม
เห็ดนางรมมีวงจรชีวิตแบบ heterothallic ที่เกิดจากดอกเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่ มีการสร้างเบสิดิโอสปอร์ เมื่อสปอร์ปลิวไปตกในบริเวณที่เหมาะสมจะงอกเส้นใยขั้นที่ 1 (primary mycelium) ซึ่งมีนิวเคลียสเพียงอันเดียว จากนั้นเส้นใยขั้นที่ 1 ที่เจริญมาจากสปอร์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมอีก 1สปอร์ จะรวมตัวกันแล้วพัฒนาเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 (secondary mycelium) ซึ่งมีนิวเคลียส 2 อันเส้นใยขั้นที่ 2 นี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า dikaryotic เส้นใยขั้นที่ 2 จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และในแต่ละเซลล์จะมีข้อยึดระหว่างเซลล์ (clamp connection) เส้นใยจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน พร้อมที่จะสร้างดอกเรียกเส้นใยระยะนี้ว่าเส้นใยขั้นที่ 3 (teritiary mycelium) จากนั้นเส้นใยจะค่อยๆ พัฒนาไปเป็น fruiting body หรือเจริญเป็นดอกเห็ดต่อไป

hednangromss

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรม

  1. แสง สว่าง มีผลต่อการพัฒนาและเจริญเติบโตของดอกเห็ดมากเพราะแสงจะช่วยกระตุ้นในการรวม ตัวของเส้น ใยและการพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ ถ้าได้รับแสงน้อยจะทำให้หมวกดอกมีขนาดเล็กลงและก้านดอกยาวขึ้นและถ้าแสงน้อย มากๆจะทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติไปดังนั้นในการเพาะเห็ดนางรมควรให้เห็ด ได้รับแสงอย่างน้อย 15-20 นาทีต่อวัน
  2. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามปกติจะมีผลในการเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด นางรมแต่ในระยะที่เห็ดพัฒนาเป็นดอกถ้ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงก็จะ ทำให้ดอกเห็ดผิดปกติได้ดังนั้นควรทำให้โรงเรือนมีอากาศถ่ายเทได้บ้าง
  3. ความชื้นของอากาศมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรมอย่างมากโดยเฉพาะ ระยะเปิดดอกเห็ดนางรมต้องการความชื้นค่อนข้างสูงประมาณ 70-80 %จึงควรรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน
  4. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดนางรมอย่างมากเห็ดนางรมจะให้ ผลผลิตสูงในช่วงอุณหภูมิ 24-33 องศาเซลเซียสจากการศึกษาพบว่าถ้าก้อนเชื้อได้ผ่านอุณหภูมิต่ำประมาณ 20 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 18-21 วัน ก่อนนำมาเปิดดอกที่อุณหภูมิ 26-30 องศาเซลเซียสจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี

ด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายประการ ได้แก่

  1. ทนหนาว (มีสายพันธุ์เดิมมาจากประเทสฮังการีซึ่งเป็นเมืองหนาว) ในขณะที่เห็ดชนิดอื่นๆพักตัว แต่เห็ดฮังการีก็สามารถออกดอกได้ดี และมีสีสวยที่สุดในฤดูนี้ คือมีสีออกน้ำเงิน (จริงๆ)
  2. ในฤดูร้อนในขณะที่เห็ดอื่นๆ มีปัญหาเรื่องใบเห็ดม้วนงอ อันเนื่องมาจากการรบกวนของแมลงหวี่ แต่ดอกเห็ดฮังการรี่ก็ยังให้ดอกสวย เพราะใบดอกเล็กจึงไม่หงิกงอ ใบดอกไม่แห้ง และมีนำหนักดีกว่าดอกเห็ดอื่นๆ
  3. ในฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่เห็ดอื่นๆออกดอกได้ดี ฮังการีก็ยังออกดอกได้ดี พวงใหญ่เป็นพิเศษ สีขาวบริสุทธิ์ เพียงแต่ต้องลดการรดนำไม่ให้ดอกชื้นเกินไปเพราะเน่าง่าย
  4. ลักษณะที่ดีของพวงดอกเห็ดฮังการรีที่ใหญ่ หนึ่งพวงมีมากกว่า 20-30 ดอก ดอกเห็ดแน่น รสชาดหวานเหมือนกินยอดผัก กรอบ นำหนักดี เริ่มเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้น เก็บในตู้เย็นได้นานเช่นเดียวกับเห็ดนางฟ้า ทนต่อการขนส่งเพราะเหนียว ไม่ช้ำง่าย(เมื่อช้ำใบดอกจะไม่เปลี่ยนเป็นสีนำตาล)
  5. เส้นใยเจริญเติบโตไว้ เพียง 25-30 วัน ในก้อนเชื้อเห็ด และพักรอเส้นใยรัดตัว เพียง 5-6 วัน ก็สามารถเปิดดอกได้ หากเกษตรกรมือใหม่ ที่ริเริ่มทำฟาร์มเพาะเห็ด หรือแม้แต่เกษตรกรที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการเพาะเห็ดตระกูลนางฟ้า-นางรม ขอแนะนำให้เริ่มต้นที่เห็ดนางรมสายพันธุ์ ฮังการีนี้ดีที่สุด

การเพาะเลี้ยงเห็ดนางรม
เช่นเดียวกับเห็ดอื่นๆ การเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมจะมีขั้นตอนการเพาะเลี้ยงที่ประกอบด้วย

  • การผลิตหัวเชื้อเส้นใยเห็ดบริสุทธิ์ (การผลิตแม่เชื้อ)
  • การผลิตหัวเชื้อเห็ดในเมล็ดธัญพืช
  • การเพาะเห็ด (ก้อนเชื้อ / เพาะในท่อนไม้)
  • การทำให้เกิดดอกเห็ด

การผลิตหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์
เพื่อที่จะได้หัวเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูงควรปฏิบัติดังนี้
การเลือกดอกเห็ดทำพันธุ์

  • ควรเป็นดอกที่สมบูรณ์ หมวกดอกควรมีลักษณะงอโค้งคล้ายเห็ดมะม่วง
  • ดอกไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ควรอยู่ในระยะก่อนที่จะมีการสร้างสปอร์
  • มีก้านดอกที่แข็งแรง ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อทำลายดอกเห็ด
  • สีของดอกควรเป็นสีขาวหรือเทา ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์และต้องไม่มีสีอื่นปะปน
  • ควรคัดดอกเห็ดจากถุงก้อนเชื้อที่ให้ผลผลิตสูงกว่าก้อนอื่น

การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดเพื่อผลิตหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์
การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดเพื่อผลิตหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์อาจทำได้ 2 กรณี ดังนี้

  1. การเพาะเลี้ยงสปอร์ ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีปรับปรุงพันธุ์ หรือผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่
  2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนใหญ่จะใช้ในการขยายเส้นใยเห็ดนางรมกันมาก เพราะทำง่ายสะดวก รวดเร็ว และจะได้ดอกเห็ดที่มีลักษณะเหมือนพันธุ์เดิมทุกประการ

อาหารเลี้ยงเชื้อเห็ดนางรมโดยทั่วไปจะใช้อาหารวุ้น PDA แต่อาจใช้สูตรอาหารที่เหมาะสมกับการเลี้ยงเชื้อเห็ดโดยเฉพาะ ดังนี้

  • สารสกัดจากข้าวมอลท์ (malt extract) 5 กรัม
  • แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 10 กรัม
  • เปปโตน (peptone) 1 กรัม
  • ปุ๋ย K2HPO4 0.5 กรัม
  • ดีเกลือ (MgSo4.7H2O) 0.5 กรัม
  • สารละลาย FeCl2 (1%) 1 ซีซี
  • สารสกัดจากยีสต์ (yeast extract) 0.1 กรัม
  • วุ้นทำขนม 15-18 กรัม
  • น้ำ 1 ลิตร

การเขี่ยเชื้อเห็ดนางรม
ขั้นตอนการเขี่ยตัดเชื้อเห็ดเพื่อนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารวุ้น ผสมยีสต์สกัด ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ใช้เข็มเขี่ยชุบแอลกอฮอล์พร้อมลนไฟฆ่าเชื้อที่ปลายเข็มเขี่ย ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงส่วนของด้ามที่ใช้จับ การลนเข็มควรลนในแนวตรงเพื่อให้เข็มเขี่ยถูกเปลวไฟให้มากที่สุด ถือเข็มให้ปลายเข็มอยู่ในอากาศนาน 15-20 วินาที และอย่าให้ปลายเข็มสัมผัสกับส่วนใดๆ ภายในตู้เขี่ย
  2. ใช้มือฉีกดอกเห็ดออกเป็น 2 ส่วน แล้วใช้เข็มเขี่ยจิกชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อภายในดอก โดยเลือกเนื้อเยื่อระหว่างก้านดอกกับหมวกเห็ด ใช้เข็มเขี่ยจิกเนื้อเยื่อติดมาเพียงเล็กน้อยก็พอ
  3. วางดอกเห็ดลงพร้อมใช้มือหยิบขวดอาหารวุ้น ใช้นิ้วก้อยและอุ้งมือที่ถือเข็มเขี่ยดึงจุกสำลีออกพร้อมกับถือเอาไว้ ห้ามกำจุกสำลีเด็ดขาด จากนั้นลนปากขวดอาหารวุ้น เพื่อฆ่าเชื้อและสอดเข็มเขี่ยที่มีเนื้อเยื่อติดอยู่ที่ส่วนปลายเข้าไป วางเนื้อเยื่อบนอาหารวุ้น ดึงเข็มออก ลนไฟฆ่าเชื้อที่ปากขวดก่อนปิดจุกขวด
  4. นำขวดอาหารวุ้นเก็บในที่มืดและอุณหภูมิสูง จะช่วยให้เส้นใยเห็ดเดินเต็มได้เร็วขึ้นภายใน10-15 วัน เมื่อเส้นใยเดินเต็มอาหารวุ้นแล้ว นำไปขยายลงในเมล็ดธัญพืชต่อไป หรือถ่ายเชื้อเห็ดจากอาหารวุ้น ขยายลงบนขวดอาหารวุ้นหลายๆ ขวดได้

การผลิตหัวเชื้อเห็ด
นิยมขยายเส้นใยเห็ดลงบนเมล็ดธัญพืช ก่อนนำไปลงในถุงก้อนเชื้อ เมล็ดพืชที่นิยมคือเมล็ดข้าวฟ่าง เพราะหาง่าย ราคาถูก หรืออาจใช้เมล็ดข้าวเปลือกแทนได้ วิธีการเตรียมเมล็ดธัญพืชควรปฏิบัติดังนี้

  1. นำเมล็ดข้าวฟ่างมาคัดเอาสิ่งเจือปนออก แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน (เมล็ดข้าวฟ่าง 1 กก. จะใช้บรรจุขวดแบนได้ ประมาณ 50 ขวด หรือ 10 ขวด/กก.)
  2. ต้มจนสุกแต่เมล็ดต้องไม่บาน หากบานมากเกินไปจะทำให้เส้นใยจับตัวกันแน่นไม่สะดวกในการเขี่ยเชื้อไปยังก้อนเชื้อเห็ด ควรจะเป็นการสุกรอบนอกเมล็ดก็เพียงพอ
  3. นำมาผึ่งให้แห้งพอหมาด แล้วบรรจุลงในขวดแบนประมาณ ขวด ปิดด้วยจุกสำลีแล้วหุ้มด้วยกระดาษ
  4. นำขวดเมล็ดข้าวฟ่างไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน โดยใช้ความดัน 15 ปอนด์ ต่อตารางนิ้วนาน 30 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อ
  5. เมื่อเมล็ดข้าวฟ่างเย็นตัวลง ให้เขย่าขวดเพื่อให้ความชื้นของเมล็ดในขวดกระจายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เส้นใยเห็ดเดินเร็วขึ้น
  6. ทำการเขี่ยเส้นใยเห็ดในอาหารวุ้นลงไปในขวด โดยใช้เทคนิคการปลอดเชื้อและควรปฏิบัติภายในตู้เขี่ยเชื้อ เส้นใยจะเจริญเต็มเมล็ดข้าวฟ่างภายใน 2-3 สัปดาห์ แล้วนำไปปลูกเชื้อในถุงก้อนเชื้อต่อไป

การผลิตเห็ดนางรมในถุงพลาสติก
หัวเชื้อเห็ดนางรมสามารถนำไปใช้ในการผลิตเห็ดทั้งในถุงพลาสติกและในท่อนไม้ เพื่อให้เห็ดนางรมใช้อาหารจากวัสดุทั้ง 2 อย่าง ในการเจริญและพัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป
การผลิตเห็ดนางรมในถุงพลาสติก วัสดุที่บรรจุในถุงอาจเป็นขี้เลื่อยหรือฟางสับ ซังข้าวโพดอ่อน แล้วแต่วัสดุในท้องถิ่นนั้น แต่นิยมใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา และไม่จำเป็นต้องหมักขี้เลื่อย แต่จำเป็นต้องผสมอาหารเสริมเพิ่มลงในส่วนผสมเพื่อเห็ดนางรมได้ใช้อาหารเต็มที่

hednangrom

การผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางรม
ใน การเพาะเห็ดนางรมในถุงพลาสติกนั้น ผู้ผลิตสามารถนำเอาวัสดุเหลือ ใช้ในท้องถิ่นมาใช้ในการเพาะเห็ดได้ เช่น ฟางข้าวสับ ซังข้าวโพด ขี้เลื่อยไม้ยางพารา เป็นต้น โดยทั่วไปนิยมใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะ เพราะสามารถหาได้ง่ายสะดวกในการบรรจุ และสามารถนำมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการหมักสำหรับสูตรอาหารที่ใช้ในการเพาะเห็ดนางรมนั้นมี หลายสูตร คือ

  • สูตร 1 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม น้ำสะอาด 65-70 %
  • สูตร 2 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 3-5 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.5 กิโลกรัม น้ำสะอาด 65-70 %
  • สูตร 3 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 ส่วนโดยปริมาตร รำละเอียด 8 ส่วนโดยปริมาตร แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 2-3 ส่วนโดยปริมาตร กากถั่ว 2 ส่วนโดยปริมาตร หินปูน 2-3 ส่วนโดยปริมาตร น้ำสะอาด 70-75 %

หมายเหตุ ในการเลือกใช้สูตรต่างๆนั้นต้องคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตด้วย การเพิ่มปริมาณของอาหารเสริมมากๆนั้น ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มผลผลิตก็ตาม แต่โอกาสที่ก้อนเชื้อจะเสียหายหรือ ถูกทำลายจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นก็มีมากเช่นกัน

ขั้นตอนการเตรียมก้อนเชื้อ

  1. นำส่วนผสมต่างๆมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  2. เติมน้ำลงไปผสม ควรผสมให้ความชื้นกระจายให้ทั่วสม่ำเสมอ ทดสอบให้ได้ความชื้นประมาณ 65-75 % โดยใช้มือกำส่วนผสมขึ้นมาแล้วบีบดู ถ้ามีน้ำซึมออกมาแสดงว่าชื้นเกินไปให้เติมขี้เลื่อยลงไป ถ้าไม่มีน้ำซึมออกมาให้แบมือออก ส่วนผสมจะจับกันเป็นก้อนและแตกออก 2-3 ส่วนแสดงว่าใช้ได้
  3. บรรจุใส่ถุงพลาสติกทนร้อนที่ใช้เพาะเห็ด ถุงละประมาณ 8-10 ขีด อัดให้แน่นพอประมาณใส่คอขวดพลาสติก หุ้มด้วยสำลีและกระดาษ
  4. นำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่งที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส (น้ำเดือด)นาน 3-4 ชั่วโมง
  5. หลังจากนึ่งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วใส่เชื้อลงไป นำก้อนเชื้อไปบ่มในที่มืดและอุณหภูมิสูงประมาณ 28-35 องศาเซลเซียส เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใย เส้นใยเห็ดจะเจริญเต็มถุงประมาณ 3-4 สัปดาห์
  6. เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้วให้พักก้อนเชื้อระยะหนึ่ง เพื่อให้เส้นใยสะสมอาหารและพร้อมจะ เจริญเป็นดอกเห็ดแล้วนำไปเปิดดอกในโรงเรือนต่อไป

การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ดนางรม
ทำได้ 4 วิธี คือ

  1. การเปิดปากถุงโดยการม้วนปากถุงลง โดยการดึงคอขวดออก พร้อมกับม้วนปากถุงลงไปจนถึงก้อนเชื้อ แล้วนำไปวางบนชั้นภายในโรงเรือน ข้อเสียของการเปิดถุงโดยวิธีนี้คือ โอกาสที่น้ำจะขังในถุงและทำให้ก้อนเชื้อเสียมีมาก
  2. การเปิดปากถุงโดยใช้มีดปาดปากถุงบริเวณคอขวดออก แล้วนำไปวางบนชั้นเพาะเห็ด วิธีนี้มีข้อเสียคล้ายกับวิธีแรก
  3. การกรีดปากถุงโดยใช้มีดคมๆ กรีดข้างถุงเป็น 4 แนว แล้วนำไปวางตั้งหรือแขวนในแนวตั้ง ข้อเสีย คือ เปลืองเนื้อที่ในการวางก้อนเชื้อ
  4. ดึงจุกสำลีออกแล้วนำก้อนเชื้อมาวางเรียงซ้อนกันภายในโรงเรือน ให้เห็ดเจริญออกมาทางปากถุงทางเดียว เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากเพราะประหยัดเนื้อที่ภายในโรงเรือนและน้ำไม่ขังใน ก้อนเชื้อ ดูรายละเอียด การเปิดดอกเห็ดนางรม-ฮังการี

hednangromon
hednangroms

การดูแลรักษา
รดน้ำที่พื้นและพ่นฝอยบนถุงเห็ดและรอบๆบริเวณที่วางถุงเห็ดพยายามรักษาความชื้นสัมพันธ์ในอากาศให้อยู่ระหว่าง 65-75 เปอร์เซ็นต์ ถ้าโรงเรือนเก็บความชื้นได้ดีรดน้ำเช้า – เย็น ก็น่าจะพอ
ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาอุปสรรคของการเพาะแบบใหม่นี้ทั้งโรค แมลง และไร แต่ทางที่ดีการดูแลรักษาความสะอาดในโรงเรือนเปิดดอก ในโรงบ่ม และอาณาบริเวณฟาร์มเห็ดทั้งหมดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว

hednangromkon

การเก็บผลผลิต
ควรเก็บดอกเห็ดในขณะที่บานพอประมาณไม่แก่เกินไป ภาชนะที่บรรจุดอกเห็ดควรมีลักษณะเป็นชั้นๆ วางดอกเห็ดซ้อนกัน 2 ชั้นก็พอ อย่าซ้อนกันมากจะทำให้ดอกเห็ดขาดความสมบูรณ์ อาจจะซ้ำ ฉีกขาดทำให้คุณภาพที่จะส่งตลาดลดลง การดูแลรักษาพิถีพิถันดอกเห็ดหลังเก็บเกี่ยวเป็นสิ่งที่สำคัญส่งผลให้คุณภาพดอกและราคาสูงขึ้นได้ ถ้าเกษตรกรรายใดมีความสามารถที่จะบรรจุดอกเห็ดในกล่องโฟมหรือกล่องกระดาษเพื่อส่งขายในตลาดก็จะยิ่งทำให้สามารถรักษาคุณภาพของดอกเห็ดไว้ได้สดนานขึ้น เห็ดที่ถูกบรรจุลงกล่องเรียบร้อยแล้วก่อนนำสู่ตลาดควรเก็บรักษาไว้ในที่เย็นถ้าเก็บไว้ในห้องเย็นได้ยิ่งดี จะช่วยรักษาความสดของดอกเห็ดได้นาน

hednangromkeb

ลักษณะโรงเรือนเพาะเห็ด
โรงบ่มถุงเห็ด สภาพในโรงบ่มถุงเห็ดควรจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก เย็นสบายฉะนั้นโรงบ่มควรจะมีความสูง ไม่ต่ำกว่า 5 เมตรวัดจากปลายจั่ว มีหลังคาทำด้ายจากหรือหญ้า ชายคาควรจะต่ำกว่าปกติสักเล็กน้อยเพื่อกันแดด และฝน ข้างฝาปล่อยโล่งภายในทำเป็นชั้นๆ สำหรับวางถุงเห็ด ถ้าโรงเรือนอยู่ในบริเวณที่มีลมแรง ควรปลูก ต้นกล้วยกันลมไว้รอบๆโรงสลับพันปลาสัก 3 ชั้น นอกจากจะใช้บังลมแล้วยังได้กล้วย เป็นผลพลอยได้อีกด้วย

โรงเปิดดอก ควรเป็นโรงที่เก็บความชื้นได้ดี อาจทำเป็นโรงจากหรือหญ้าคาก็ได้พื้นควรใส่ทรายหนาประมาณ 6″ เพื่อเก็บความชื้น ประตูทางเข้าออกควรมี 2 ด้าน ด้านหน้าและหลัง และมีความกว้างอยางน้อย 1 เมตร เพื่อสะดวกในการทำงานนอกจากโรงเปิดดอกจะต้องเก็บรักษาความชื้นได้ดีแล้วยังต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี ฉะนั้นควรทำช่องระบายอากาศไว้โดยรอบถ้าพื้นที่ปลูกโรงเปิดดอกมีลมพัดแรงแนะนำให้ปลูกต้นกล้วยไว้โดยรอบโรงเรือนอย่างน้อย 3 ชั้นโดยปลูกสลับฟันปลาต้นกล้วยนอกจากจะลดความแรงลม แล้วยังช่วยเป็นร่มเงา เก็บความชุ่มชื้นโดยต้นกล้วยจะดูดซับน้ำส่วนเกินที่รดในโรงเห็ดและผลของกล้วยยังเป็นสิ่งที่มีราคาไม่แพ้เห็ดเลย

hednangromtaw

ปัญหาที่พบในการเพาะเห็ดนางรม
1. เส้นใยไม่เดินลงถุงก้อนขี้เลื่อย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุ คือ

  • หัวเชื้อเห็ดเป็นเชื้ออ่อน หรือเชื้อเห็ดนั้นผ่านการแต่งเชื้อมาหลายครั้งแล้ว ทำให้เส้นใยอ่อนแอ
  • หัวเชื้อเห็ดมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปลอมปน และเจริญแข่งกับเส้นใยเห็ด
  • วัสดุที่ใช้เพาะมีสารเคมีที่เป็น อันตรายต่อเห็ดโดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อรา ผู้เพาะควรเลือกวัสดุเพาะที่ปราศจาสารเคมีดังกล่าว
  • สภาพความเป็นกรด-ด่าง(pH) ควรปรับให้อยู่ระหว่าง 6.5-6.8 จะช่วยให้เส้นใยเห็ดนางรมเจริญดีขึ้น
  • ส่วนผสมมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เส้นใยเห็ดชะงักการเจริญเติบโต ในขณะที่สภาพดังกล่าวจะเหมาะต่อการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย

2. เส้นใยเดินบางมาก และเมื่อนำไปเพาะจะไม่ค่อยเกิดดอกหรือให้ผลผลิตน้อยมาก อาจมีสาเหตุจาก

  • วัสดุที่ใช้เพาะสลายตัวเกือบหมดแล้ว ทำให้อาหารเหลืออยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย หรือใส่อาหารเสริมน้อยเกินไป ดังนั้นจึงควรใส่อาหารเสริมในอัตราส่วนที่เหมาะสม
  • การนึ่งฆ่าเชื้อไม่ดีพอ ทำให้จุลินทรีย์อื่นๆเจริญเติบโตแข่งกับเห็ดได้ ดังนั้นการนึ่งก้อนเชื้อควรใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด

3. เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุด อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ถุงก้อนเชื้อมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญได้ดี แล้วเชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเติบโตได้
  • เชื้อเห็ดอ่อนแอ เมื่อเจริญได้ระยะหนึ่งแล้วก็ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นควรเลือกเชื้อที่แข็งแรง

4. เห็ดออกดอกช้าหลังจากเปิดถุงแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

  • เกิดจากการเปิดปากถุงเร็วเกินไป หลังจากเส้นใยเดินเต็มแล้ว ควรปล่อยให้เส้นใยรัดตัวและมีการสะสมอาหารก่อนเปิดถุงประมาณ 8-10 วัน
  • การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนไม่ดี ทำให้มีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง
  • อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงหรือต่ำเกินไปหรือความชื้นไม่เพียงพอทำให้การพัฒนาของเส้นใยไปเป็นดอกเห็ดช้า

5. ดอกเห็ดไม่พัฒนาเจริญเป็นดอกเห็ด ในการเพาะเห็ดบางครั้งมีดอกเห็ด เจริญเป็นดอกเล็กๆบนก้อนเชื้อเต็มไปหมด ดอกเห็ดพวกนี้มีขนาดเล็กและไม่เจริญ ต่อไปแต่ดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด เกิดจาก

  • หัวเชื้อเห็ดอ่อนแอทำให้ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์
  • การเปิดปากถุงกว้างเกินไปทำให้เส้นใยเจริญไปเป็น ดอกเห็ดจำนวนมากและ อาหารภายในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ ทำให้ดอกที่งอกออกมาแคระแกร็น และแห้งดังนั้นการเปิดปากถุงไม่ควรเปิดกว้างมากนัก
  • ความชื้นไม่เพียงพอทำให้ดอกที่กำลังเติบโตแห้งได้
  • รดน้ำมากเกินไป และรดไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำขังในถุงพลาสติก ทำให้เห็ดภายในถุงพลาสติกเน่าเสียได้
  • เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายก้อนเชื้อหลังเปิดถุง เนื่องจากโรงเรือนสกปรก
  • อาจมีแมลงเข้าไปกัดและทำลายก้อนเชื้อ

ที่มา คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด เห็ด

แสดงความคิดเห็น