ทํากิน 1 ไร่ ทําได้ 1 แสน

21 พฤษภาคม 2556 ภูมิปัญญา 3

โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ถือได้ว่าเป็นรูปแบบของเกษตรทฤษฏีใหม่ ตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีแนวคิดเสมือนทำพื้นที่ให้เป็น เกาะ ด้วยวิธีการขุดลอกคูคลองกว้าง – ลึก 1 เมตร ล้อมรอบบริเวณผืนดิน ขยายคันนาจากปกติที่เคยกว้าง 50 เซนติเมตรเป็น 1.5 เมตร เพื่อให้พื้นที่เพียงพอต่อการปลูกพืชผักผลไม้ท้องถิ่น โดยส่วนที่เหลือจึงเป็นบริเวณแปลงนา โดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในอัตรา 30 : 30 : 30 : 10 อันหมายถึง ขุดสระเก็บกักน้ำทำประมงขนาดย่อม 30% พื้นที่ทำนา 30% ปลูกพืชผักผลไม้ 30% และเป็นที่อยู่อาศัย 10% และให้ระบบนิเวศเกื้อกูลต่อกัน

อันที่จริงแล้ว 1 ไร่ 1 แสน ก็คือโครงการที่ประยุกต์มาจากเกษตรพอเพียง แต่ก้าวไปไกลกว่าตรงที่ดึงเรื่องของปศุสัตว์ ประมงมารวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้คนที่มีที่ดินน้อยสามารถทำเกษตรได้คุ้มค่ามากขึ้น ไม่ใช่แยกกันไปขุดบ่อเลี้ยงปลาที่หนึ่งปลูกผักอีกที่หนึ่ง

การทำการเกษตรแบบประณีต ทํากิน 1 ไร่ ทําได้ 1 แสน เป็นการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่ 1 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทุกตารางนิ้ว ซึ่งมีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานที่ได้รับการสนับสนุนจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แปรความคิดของเกษตรผสมผสานไปสู่การปฏิบัติที่สามารถรับรองผล หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการต่อยอดจากแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจะเป็นการทําการเกษตรในพื้นที่จํากัด เพียง 1 ไร่ ให้มีรายได้ที่ยั่งยืน

วิธีการทำนาของเกษตรกร
ตามโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ก็คือแบ่งแปลงนาขนาด 1 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก คือ “คันนา” ขนาดความกว้าง 1.5 เมตร ไว้สำหรับปลูกพืชประกอบ เช่น พริก มะนาว มะรุม โดยพืชที่ปลูกบนคันนา จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร เหลือจากการขาย สามารถทำเป็นพืชสมุนไพร ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนที่สอง คือขุดร่องน้ำสำหรับทำประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกบ เลี้ยงหอย ซึ่งมูลสัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นปุ๋ยแก่ข้าว ขณะที่ส่วนที่สาม คือพื้นที่สำหรับปลูกข้าว และส่วนที่สี่ คือพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ จะปล่อยเป็ดไปหากินตามแปลงนาได้

na1rai1sanplan

โดยชาวนาจะปรับสภาพดิน โดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดมาเป็นพิเศษในห้องทดลอง แล้วทำระบบนิเวศน์ใหม่ให้เหมาะสมกับการเกิดแพลงตอนในนาข้าว ถ้าทำได้ จะทำให้เกิดสาหร่ายสีเขียวที่มีประโยชน์ในนาข้าวเป็นจำนวนมาก พวกสัตว์น้ำทั้งหลาย กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ก็ปล่อยให้มันกินกันเอง
และเมื่อให้ปุ๋ยกับต้นข้าว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจะมีแมลงปอมาวางไข่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นกองทัพอากาศ ทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ส่วนตามคันนา ก็ปลูกพืชที่สร้างรายได้เสริม เช่น พริก มะนาว ข่า ตะไคร้ มะเขือ หอมแดง หรือมะรุม และเลี้ยงสัตว์ประกอบ เช่น เลี้ยงเป็ดไข่ กบ เพื่อเสริมรายได้

เมื่อเข้าช่วงเก็บเกี่ยว พบว่าได้ข้าวติดรวงเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังได้ขายพืชอื่นๆ ที่ปลูกตามคันนาไว้ ขายปลา ขายหอย ขายปู ขายกุ้ง ส่วนข้าวที่ปลูกขายเป็นข้าวหอมนิล กินแล้วมีสรรพคุณเป็นยาช่วยต้านทานโรคได้สารพัด ที่สำคัญชาวนาที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ และเป็นสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรอินทรีย์ตำบลบ้านดง จึงเข้าใจวิธีการนิเวศวิทยา ไม่มีการใช้สารเคมี เป็นการกลับไปทำนาแบบดั้งเดิมเหมือนสมัยปู่ย่าตายาย

เกษตรแนวใหม่นี้บนที่ดินของตนเองที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งในการทําเกษตรได้ออกแบบการใช้พื้นที่
1 ไร่ ออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

ส่วนแรก
คือ พื้นที่นาสําหรับปลูกข้าว เป็นที่สร้างแพลงก์ตอน สาหร่าย ที่เป็นอาหารปลาและกบ

na1rai1sanna

ส่วนที่สอง
คือ ร่องน้ํารอบนาข้าว สําหรับเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอย ซึ่งมูลสัตว์เหล่านี้จะกลายส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร และเป็นปุ๋ยให้กับข้าวด้วย

na1rai1sanbo

ส่วนที่สาม
คือ พื้นที่บนคันนาขยายให้กว้าง และสามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผัก เช่น ผักสวนครัว พืชสมุนไพรเพื่อใช้บริโภคในครัว เรือน และสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร แนวเขตบนคันนาบางส่วนแบ่งไว้สําหรับเลี้ยงเป็ด เป็ดจะไปหากินตามแปลงนา เกษตรกร สามารถบริโภคไข่เป็ด และนําไปจําหน่ายได้ด้วย

na1rai1sankan

การฝึกอบรมหลักสูตรทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสนบาท ถือเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่มีการเรียน การสอนวิธีทำนาส่วนวิธีการมีการทำแปลงนาต้นแบบที่สัมผัสได้จริงซึ่งการฝึกอบรมที่ผ่านมามีบางรุ่นที่ผู้เข้าอบรมไม่มีชาวนาเลยแต่เป็นผู้ที่มีการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ถึงปริญญาโทนั่นแสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปที่มีความรู้ การศึกษาเริ่มหันมาสนใจอาชีพชาวนามากขึ้นหลายคนถึงกับทิ้งงานเงินเดือนสูงมาอบรมเนื่องจากเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ไม่ต้องเสี่ยงชีวิตจากการกินอาหารที่ปลูกด้วยเคมี ได้แต่อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีวันเกษียณอายุ และที่สำคัญคือ ค่าครองชีพต่ำ รายได้กำหนดให้สูงได้ต่ำได้ แล้วแต่ตัวเองกำหนด

หากเกษตรกรรายใดต้องการเข้าอบรมในโครงการ 1 ไร่ 1 แสน สามารถติดต่อผู้ดูแลโครงการ
โดยตรงที่ คุณนฤมล ลีศิริกุล โทร.081-739-6414 หรือที่สำนักงานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น 043-324-990-1 โทรสาร 043-325-949 หรือ คณะอนุกรรมการหอการค้าจังหวัดขอนแก่นประจำอำเภอต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ได้ในทุกวันในเวลาราชการ
หรือ
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าอบรมได้ที่เว็บไซต์ www.wisdomking.or.th หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-5291972, 02-5292213 ต่อ 103 02-5292212-13 สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ถนนพหลโยธิน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

3 ความคิดเห็น

  1. มีน
    บันทึก พฤศจิกายน 26, 2556 ใน 00:48

    เขียนได้ดีมากค่ะ

  2. Korn Kampiranon
    บันทึก พฤศจิกายน 6, 2558 ใน 17:52

    ไม่ทราบวาปัจจุบันนี้ โครงการอบรมนี้ยังมีอยู่หรือไม่ อย่างไร ครับ

  3. บันทึก พฤศจิกายน 8, 2558 ใน 06:06

    ติดต่อ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน)
    หมู่ ๑๓ ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ ๔๖-๔๘ ตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช นวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ๑๒๑๒๐ โทร.๐-๒๕๒๙-๒๒๑๒ , ๐-๒๕๒๙-๒๒๑๓ แฟกซ์ ๐-๒๕๒๙-๒๒๑๔
    http://wisdomking.or.th

แสดงความคิดเห็น