กระถิน ผักริมรั้วมากสรรพคุณ

8 มีนาคม 2556 ไม้พุ่มเตี้ย 0

กระถินเป็นพืชริมรั้ว ขึ้นง่าย ตายยากตัดแล้วก็แตกขึ้นมาได้อีก แต่จะว่าไปแล้ว กระถินมีประโยชน์มาก ตั้งแต่ ยอดกระถินฝักต้นตลอดไปจนถึงรากทีเดียวยอดอ่อนฝักอ่อนใช้จิ้มน้าพริกหรือกินกับขนมจีนอร่อยดีนัก ใบกระถินมีสารเบต้าแคโรทีนสูงช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระต่อต้านโรคมะเร็ง บำรุงสายตา ดอกบำรุงตับ รากขับระดูขาว เป็นยาอายุวัฒนะรากใช้ถ่ายพยาธิตัวกลมเรียกได้ว่าของดีและถูกยังมีในโลก

ชื่อพื้นเมือง : กระถิน กระถินไทย กระถินบ้าน (ภาคกลาง), กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), ตอเบา สะตอเทศ สะตอเบา (ภาคใต้), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lamk.) de Wit
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE
ชื่อสามัญ : White Popinac, Lead Tree

ลักษณะ : ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ดอกช่อแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ 1-3 ช่อ ฝักแบน ปลายแหลม โคนสอบ ฝักแก่แตกตามยาวมีเมล็ด 15-30 เมล็ด สีน้ำตาลเป็นมัน รูปไข่แบนกว้าง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขนาดใหญ่ถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 ม. ไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาว 12.5-25. ซม. แกนกลางใบประกอบยาว 10-20 ซม. มีขน ใบย่อย 5-20 คู่ เรียงตรงข้าม รูปแถบหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง 2-5 มม. ยาว 0.6-2.1 ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว ขอบมีขน ด้านล่างมีนวล ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ 1-3 ช่อ ก้านช่อดอกยาว 2-5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวประมาณ 3 มม. โคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ มีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว รูปช้อน ยาวประมาณ 5 มม. มีขน เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 0.8-1 ซม. รังไข่ด้านบนมีขน ฝักแบน กว้าง 1.4-2 ซม. ยาวได้ถึง 20 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ก้านยาว 0.6-1.3 ซม. ฝักแก่แตกตามยาว เมล็ด 15-30 เมล็ด สีน้ำตาล เป็นมัน รูปไข่ แบน กว้าง 3-5 มม. ยาว 6-9 มม.

kratin

ประโยชน์ : ใบหมักเป็นปุ๋ย ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนใช้เป็นอาหารของวัว ควาย แพะ แกะ ไก่ ฯลฯ ยอดอ่อนและฝักอ่อนใช้กินเป็นผักได้ เมล็ดนำมาทำเป็นเครื่องประดับหลายชนิด เช่น สายสร้อย เข็มกลัด เข็มขัด ฯลฯ เปลือกให้เส้นใยสั้นใช้ทำกระดาษได้ แต่คุณภาพไม่ดี พันธุ์ที่ปรับปรุงใหม่เรียกว่ากระถินยักษ์ มีลำต้นสูงกว่าพันธุ์เดิม ปลูกเพื่อกันลมและบังแดดให้แก่พืชที่ปลูก เช่น ชา กาแฟ และใช้ทำฟืน

ยอดกระถิน 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 80.7 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหารคือ

  • เส้นใย 3.8 กรัม
  • แคลเซียม 137 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 9.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 7883 IU.
  • วิตามินบีหนึ่ง 0.33 มิลลิกรัม
  • วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน 1.7 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 8 มิลลิกรัม

การปลูก
กระถินทนความแห้งแล้งได้ดี และเติบโตเร็ว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

ประโยชน์ทางยา
ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอก ราก เมล็ด
รสและสรรพคุณในตำรายาไทย

  1. ดอก รสมัน บำรุงตับ แก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา
  2. ราก รสเจื่อน ขับลม ขับระดูขาว เป็นยาอายุวัฒนะ
  3. เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม (ascariasis)

ขนาดและวิธีใช้
ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม ผู้ใหญ่ใช้ครั้งละ 25-50 กรัม เด็กใช้ 5-20 กรัม ต่อวัน รับประทานตอนท้องว่างในตอนเช้าเป็นเวลา 3-5 วัน

kratinfag

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  1. สารสกัดจากใบกระถินฉีดเข้าหลอดโลหิตสุนัข ทำให้ความดันโลหิตลดลง อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง กระตุ้นการหายใจ ฤทธิ์ลดความดันโลหิต สามารถต้านได้ด้วย atropine และยาต้านฮีสตามีน ซึ่งถ้าใช้ antropine และยาต้านฮีสตามีนร่วมกัน จะสามารถต้านฤทธิ์กระถินสมบูรณ์ และเมื่อใช้น้ำยาสกัดกระถิน กับหัวใจที่แยกออกมาจากตัวกบและเต่า พบว่าอัตราการบีบของหัวใจลดลง และในระบบทางเดินอาหารทั้งการทดลองแบบ in vitro พบว่าน้ำสกัดทำให้แรงตึงตัวและแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อทดลอง in vivo การบีบของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง
  2. ผลเมล็ดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดในหนูขาว แต่เมล็ดมีสาร leucenine ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับ mimosine ซึ่งจะทำให้เป็นหมันในสัตว์ได้

โทษ : สัตว์กระเพาะเดียวที่กินใบกระถินในปริมาณสูงจะทำให้ขนร่วง เป็นหมัน เนื่องจากมีสารพวก leucenine ซึ่งเป็นพิษ แต่ไม่มีรายงานของการเป็นพิษเนื่องจากการกินกระถินเกิดขึ้นในคน มีรายงานว่ากระถินเป็นพืชที่ดูดธาตุซีลีเนียมจากดินมาสะสมไว้ได้มาก จึงทำให้เกิดพิษเนื่องจากธาตุนี้ได้อีก

ใบกระถินป่น (Leucaena leaf meal)

เป็นวัตถุดิบอาหารที่เกษตรกรนิยมใช้มากชนิดหนึ่ง เพราะนอกจากจะหาซื้อได้ง่ายแล้วเกษตรกรยังสามารถ ผลิตได้เองอีกด้วย คุณภาพของใบกระถินป่นที่มีขายในท้องตลาด จะมีค่าของโปรตีนแตกต่างกันมากตั้งแต่ 14-30 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีส่วนของก้านใบและกิ่งปะปนมากน้อยแค่ไหน

คุณสมบัติ

  • ใบกระถินล้วนๆ แห้งป่นมีโปรตีนสูง ประมาณ 20-24 เปอร์เซ็นต์
  • มีเยื่อใยสูง
  • มีสารพิษที่เรียกว่าไมโมซีน
  • มีสารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นแหล่งของไวตามินเอ และสารแซนโทฟิลล์ ซึ่งเป็นสารให้สีสำหรับไข่แดงและเนื้อสัตว์

kratinbaiyab

ข้อจำกัดในการใช้

  • เยื่อใยสูง ทำให้ใช้ผสมในสูตรอาหารสัตว์ได้ในระดับต่ำ
  • มีสารพิษไมโมซีน ที่เป็นพิษต่อสัตว์ ถ้าใช้ในระดับสูงจะทำให้สัตว์โตช้า ขนร่วงและความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำ
  • ให้พลังงานต่ำ จะต้องใช้ร่วมกับวัตถุดิบที่ให้พลังงานสูง

ข้อแนะนำในการใช้

  • ไม่ควรใช้ใบกระถินสดเลี้ยงสุกร และสัตว์ปีก ควรนำไปผ่านกรรมวิธีลดสารพิษก่อน
  • ควรใช้ใบกระถินยักษ์ เพราะมีสารพิษไมโมซีนต่ำกว่าใบกระถินพื้นเมือง ทำให้ใช้ได้ในระดับสูงกว่า ใบกระถินพื้นเมือง
  • ใบกระถินแห้งหรือผึ่งแดดจะช่วยลดปริมาณสารพิษลงได้
  • ใบกระถินแช่น้ำนาน 24 ชั่วโมง และผึ่งแดดให้แห้งช่วยลดปริมาณสารพิษได้ดีและสามารถ ใช้ในสูตรอาหารได้ในระดับสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในสัตว์ระยะรุ่น-ขุน
  • ควรเลือกใช้ใบกระถินแห้งป่นที่มีสีเขียวและมีก้านใบปนน้อยที่สุด ในการประกอบสูตรอาหาร
    โดยทั่วไปไม่ควรใช้ใบกระถินป่นในสูตรอาหารสัตว์เล็ก และไม่ควรใช้ในระดับเกิน 4-5 เปอร์เซ็นต์ ในสูตรอาหารสุกรและสัตว์ปีกและจะต้องระวังในการปรับระดับพลังงานในสูตรอาหาร ให้เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ด้วย

kratinbaipon

ส่วนประกอบทางเคมี

ส่วนประกอบ (%)
ความชื้น 10
โปรตีน 20.2
ไขมัน 3.5
เยื่อใย 18
เถ้า 8.8
แคลเซียม 0.54
ฟอสฟอรัสใช้ประโยชน์ได้ 0.30
พลังงานใช้ประโยชน์ได้(กิโลแคลอรี่/กก.)
ในสุกร 1,300
ในสัตว์ปีก 900
กรดอะมิโน (%)
ไลซีน 1.10
เมทไธโอนีน 0.28
เมทไธโอนีน + ซีสตีน 0.63
ทริปโตเฟน 0.20
ทรีโอนีน 0.80
ไอโซลูซีน 1.73
อาร์จินีน 0.95
ลูซีน 1.50
เฟนิลอะลานีน+ไทโรซีน 1.80
ฮิสติดีน 0.40
เวลีน 1.10
ไกลซีน 0.53

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้พุ่มเตี้ย

แสดงความคิดเห็น