กระวานเป็นพืชเมืองร้อนประเภทไม้ล้มลึก มีอายุยืนเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุสูง มีการระบายน้ำดี กระวานต้องการความชื้นสูง ที่ร่มรำไร หรือต้นไม้ยืนต้นอื่นให้ร่มเงา ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารได้หลายชนิด โดยใช้เป็นเครื่องเทศในน้ำพริกแกงเผ็ด แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น เหง้าอ่อนใช้รับประทานเป็นผัก และนิยมนำมาผัดเผ็ดหมูป่าเพื่อดับกลิ่นคาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum krervanh Pierre
ชื่อสามัญ : Siam Cardamom, Best Cardamom, Clustered Cardamom, Camphor Seed
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่น : กระวานดำ กระวานแดง กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก) กระวานจันทร์ กระวานโพธิสัตว์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก มีเหง้า สูงประมาณ 2 เมตร กาบใบหุ้มซ้อนกันทำให้ดูคล้ายลำต้น ใบเดี่ยว แคบยาว รูปขอบขนาน ยาว 15-25 ซม. ปลายแหลม ช่อดอกออกจากเหง้าชูขึ้นมาเหนือพื้นดิน รูปทรงกระบอก ยาว 6-15 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5-15 ซม. ใบประดับสีเหลืองนวล มีขนคาย เรียงซ้อนสลับกันตลอดช่อ ในซอกใบประดับมีดอก 1-3 ดอก ปลายกลีบเลี้ยงมี 3 หยัก กลีบดอกสีเหลือง เป็นหลอดแคบ เกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์แปรสภาพเป็นกลีบขนาดใหญ่ สีขาว มีแถบสีเหลืองตรงกลาง ผลค่อนข้างกลม สีนวล มี 3 พู ผลอ่อนมีขนและจะร่วงไปเมื่อแก่ ผลแก่จะแตก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก เมล็ดอ่อนสีขาวมีเยื่อหุ้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอม
ผลกลม ติดเป็นพวงราว 10-20 ผล เปลือกผิวเกลี้ยง มองเห็นเป็นพู แห้งและแข็ง ผิวเปลือกมีริ้วตามยาว เรียงตัวจากฐานไปยอด มีสีขาวนวล ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 6-15 มิลลิเมตรหัวท้ายผลมีจุก แบ่งเป็นพู 3 พู ผลแก่จะแตก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 12-18 เมล็ด เมล็ดแก่มีสีน้ำตาลไหม้ มีเยื่อบางๆกั้น ทั้งผลและเมล็ดมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กลิ่นคล้ายการบูร รสเผ็ด เย็น
กระวานมี 2 พวกใหญ่ๆ คือ กระวานแท้ หรือ กระวานเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ส่วนอีกพวกคือ กระวานไทยพบในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถใช้แทนกระวานเทศได้ดีกระวานมีลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน มีข้อประมาณ 8 – 20 ข้อ กระวานเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ก้านใบโค้งมีกาบใบติดกัน ใบออกสลับกันที่โค้นต้น ใบสีเขียวเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลมโคนใบมน ผิวใบเรียบ ใบสูงจากพื้นดินประมาณ 2 – 12 ฟุต ดอกออกเป็นช่ออยู่ใกล้โคนต้นบริเวณดิน กลีบดอกสีเหลือง ออกผลเป็นช่อ ผลกลม ช่อหนึ่งๆ มีผลประมาณ 10 – 20 ผล รูปกลมภายในผลมีเมล็ดประมาณ 9 – 18 เมล็ด เมล็ดมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายการบูร มีรสเผ็ด
ส่วนที่ใช้ : ราก หัวและหน่อ เปลือก แก่น กระพี้ ผลแก่ที่มีอายุ 4-5 ปี (เก็บในช่วงเดือนสิงหาคม-มีนาคม) เมล็ด
สรรพคุณ
ตำรายาไทย: ผลแก่ รสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้แก้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม และแก้แน่นจุกเสียด มีฤทธิ์ขับลม และบำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ บำรุงกำลัง ขับโลหิต แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ แก้ลมในลำไส้ เจริญอาหาร รักษาโรครำมะนาด แก้ลมสันนิบาต แก้สะอึก แก้อัมพาตรักษาอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เมล็ด แก้ธาตุพิการ อุจจาระพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง ขับลม นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับยาถ่ายเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง (คลื่นไส้อาเจียน) เช่น มะขามแขก
เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาไทย คือ พิกัดตรีธาตุ ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้ พิกัดตรีทุราวสา ประกอบด้วย ผลกระวาน ผลโหระพาเทศ ผลราชดัด เป็นยาแก้เสมหะ แก้ลม บำรุงน้ำดี แก้พิษตานซาง
วิธีและปริมาณที่ใช้
ผลกระวาน ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด
ใช้ผลกระวานแก่จัดประมาณ 6-10 ผล (0.6-2 กรัม) ตากแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนชา ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว ใช้รับประทานครั้งเดียว
ผลกระวาน ยังใช้ผสมยาถ่าย เช่น มะขามแขกเพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้อง
สารเคมี : ในน้ำมันหอมระเหย กระวาน (Essential oil) พบสารเคมีคือ Borneol, Cineol, Camphor
การปลูก
การปลูกกระวานควรปลูกเป็นพืชแซมไม้ผล ไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา การขยายพันธุ์ควรใช้เหง้าซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์ที่นิยมเพราะ กระวานจะให้ดอกผลเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดปลูกเหง้าที่ใช้เพาะปลูก ควรแยกออกจากกอแม่ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 18 เดือน ถึง 2 ปี และเหง้าที่แยกออกมาควรมีหน่อติดมาด้วยประมาณ 2 – 3 หน่อ และหน่อที่ใช้ควรมีความสูงประมาณ 1 – 2.5 ผุต หลุมปลูกกระวานควรมีขนาดกว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 2 x 2 เมตร ไม่นิยมปลูกชิดมากต้องเว้นพื้นที่ว่างไว้ให้หน่อได้ขยายเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ฝังหน่อลึกประมาณ 3 – 4 นิ้ว รดน้ำให้ความชุ่มชื้น
การดูแลรักษา
กระวานเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก ควรกำจัดวัชพืชบ้าง ที่สำคัญควรทำการริดใบ โดยตัดใบและลำต้นที่แห้ง แก่ตายหรือมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ปกติกระวานไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก นอกจากโรคใบไหม้ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป ส่วนศัตรูอื่นได้แก่ หนู กระรอก และกระแต ซึ่งจะกัดทำลายเม็ดในระยะรอเก็บเกี่ยว การตัดหน่อกระวานออกจากต้นแม่เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการติดผลของกระวาน
การเก็บเกี่ยวและผลผลิต
กระวานจะให้ผลผลิตหลังปลูก 2 – 3 ปี ตามปกติกระวานจะออกดอกตลอดปี แต่ผลผลิตจะมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนสิงหาคม โดยช่วงเวลาตั้งแต่ออกดอกจนผลแก่ประมาณ ค เดือน การเก็บเกี่ยวควรเก็บเมื่อผลแก่ซึ่งจะสุกจากโคนไปหาปลายช่อ หากไม่สามารถเลือกเก็บได้ การเก็บทั้งช่อดอกควรเก็บเมื่อมีผลแก่ 3 ใน 4 ของช่อผลกระวานทำให้แห้งโดยการตากแดดในภาชนะที่สะอาดและมีการรองรับ 5 – 7 แดด กระวาน 1 ไร่ ให้ผลผลิตแห้ง 30 – 50 กิโลกรัม โดยมีอัตราแห้งคือผลกระวานสด 3 กิโลกรัม จะได้ผลกระวานแห้ง 1 กิโลกรัม
ป้ายคำ : ผักพื้นบ้าน, สมุนไพร