ไม้กฤษณาเป็นที่ต้องการของมนุษย์หลายชาติหลายภาษาก็เพราะเป็นพืชที่มีประโยชน์มากทางด้านสมุนไพร มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในตำราจีน กฤษณาใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน อาการปวดแน่นหน้าอก แก้หอบหืด แก้โรคปวดบวมตามข้อและขับลมในกระเพาะอาหาร
ไม้กฤษณา (Aquilaria spp.) หรือ Agarwood เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมที่นิยมใช้ในงานประเพณีของชาวมุสลิม น้ำมันใช้เป็นน้ำหอม กลิ่นกฤษณาจะติดผิวนาน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติสามารถป้องกันแมลง เห็บ และเหาได้ ในทางอุตสาหกรรมใช้เข้าเครื่องยา และที่สำคัญคืออุตสาหกรรมน้ำหอมใช้เป็นตัวปรุงแต่งกลิ่นน้ำหอมที่ดีมีราคาแพง กฤษณาเป็นของป่าที่ได้จากต้นกฤษณา เป็นพวกน้ำมันระเหยหรือชัน หรือยาง (Terpenoid) เช่น เดียวกับน้ำมันยูคาลิปตัส หรือน้ำมันสน ยางหรือชันที่พบในต้นกฤษณาให้กลิ่นแรงที่แตกต่างไปจากน้ำมันระเหยตัวอื่นๆ คือ มีกลิ่นหอมหวาน ทำให้กฤษณาเป็นน้ำมันหอมระเหยหรือยางหรือชันที่มีราคาแพงมาก อาจจะกล่าวได้ว่ามีราคาแพงที่สุดในโลกก็ได้ หรือที่บางคนเรียกว่า ไม้ของพระเจ้า (Wood of God)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria crassna Pierre ex H. Lec.
ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่ออื่นๆ : ไม้หอม (ภาคตะวันออก) , กายูกาฮู กายูการู (ปัตตานี-ภาคใต้)กฤษณา(ภาคตะวันออก) กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี) ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้) จีน ติ่มเฮียง(ไม้หอมที่จมน้ำ)
ไม้ในสกุล Aquilaria มีปรากฏอยู่ทั่วโลกประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ของเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศเอเชียเขตร้อนอื่นๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ รวมทั้งยังกระจายไปถึงประเทศจีน สำหรับในประเทศไทย จะพบขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นของประเทศไทย โดยพบอยู่จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Aquilaria subintegra พบเฉพาะภาพตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด โดยเฉพาะที่เขาสอยดาว) A. malacensis พบเฉพาะทางภาคใต้ที่มีความชื้นมาก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง ยะลา) มีชื่อไทยอีกชื่อว่า ไม้หอม และชนิด A. crassna พบทั้งในภาคกลาง (กำแพงเพชร นครนายก เพชรบูรณ์) โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) และภาคเหนือ (เชียงราย แพร่ น่าน) ซึ่งในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าจำนวนไม้กฤษณาที่พบในป่าธรรมชาติอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากมีผู้ลักลอบตัดโค่นต้นกฤษณาเพื่อนำเอาแก่นซึ่งมีราคาแพงมากส่งขายให้กับพ่อค้า ตลอดจนนำเอาชิ้นส่วนเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณามาต้มกลั่นเพื่อผลิตน้ำมันหอมระเหยกฤษณา ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดต่อข้อกฎหมายที่ถือว่าไม้กฤษณาเป็นของป่าหวงห้ามประเภท ข
ลักษณะทั่วไปของไม้กฤษณา
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูง 18-21 เมตรขึ้นไป เส้นรอบวงประมาณ 1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์หรือรูปกรวย ลำต้นตรง เปลือกนอกลำต้นสีเทาอมขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริเป็นร่องเล็กๆ เมื่อมีอายุมากๆ ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง
- ลักษณะใบของกฤษณาเป็นแบบใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ ใบเป็นรูปไข่ หรือรูปร่างยาว ขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนมีขนสั้นแววคล้ายไหม ตามชอบใบ เส้นใบ ก้านใบ ตาอ่อนและกิ่งอ่อน ปกคลุมไปด้วยขนลักษณะเดียวกัน ก้านใบยาว 3-5 มิลิเมตร เส้นใบที่ออกมาจากเส้นกลางใบมี 2 ขนาด ขนาดใหญ่ทำมุม 45-60 องศากับเส้นกลางใบ เส้นใบมีขนาดเล็กฝอย เกิดขนานเกือบตั้งฉากกับเส้นกลางใบ และตัดทำมุมกับเส้นใบขนาดใหญ่ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ก่อนร่วงเป็นสีเหลือง
- สำหรับดอกของไม้กฤษณาเป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ออกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามใบตอนปลายของกิ่ง ช่อละ 4-6 ดอก ก้านดอกยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนนุ่มสั้นตามส่วนต่างๆ ของดอก ดอกมีสีเขียวอมเหลือง หลอดกลีบรองกลีบดอกมีขนประปรายทั้งสองด้าน เมื่อดอกบานวงกลีบเลี้ยงจะเจริญมากขึ้น กลีบดอกมีขนยาวหนาแน่นยาว 1-1.5 มิลลิเมตร เกสรตัวผู้มีเกสรยาว 1-1.5 มิลลิเมตร อับเกสรยาว 1 มิลลิเมตร รังไข่มีขนประปรายยาว 2-3 มิลลิเมตร ก้านอับเรณูเกสรตัวเมียเป็นตุ่มยาว 1 มิลลิเมตร ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ติดผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และกลายเป็นผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
- ส่วนผลของกฤษณาเป็นรูปโล่หรือรูปตลับ เปลือกแข็ง มีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองตามผิวผลหนาแน่น ปลายผลเป็นติ่งเล็กน้อย ฐานผลติดอยู่บนกลีบรวม ซึ่งมีแฉกของส่วนบนยาวกว่ากลีบส่วนล่างที่ติดกันคล้ายรูประฆัง และแฉกของกลีบรองกลีบดอกหุ้มแนบ ผลแก่แตกอ้าตามรอยประสาน เมล็ดเป็นมันฝังอยู่ในเปลือกผล จำนวน 2 เมล็ด มีลักษณะรูปไข่ขนาด 5-8 มิลลิเมตร มีส่วนฐานที่สดและนุ่ม บางครั้งขยายออกไปเป็นส่วนหาง เมล็ดมีส่วนของเส้นขนาดเล็กยาวเชื่อมต่อกับผล เมล็ดมีสีแดง สีส้มหรือสีดำ ปกคลุมด้วยขนสั้นและนิ่ม เมื่อผลแก่จะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีก เมล็ดกฤษณามีชีวิตอยู่ในช่วงสั้นๆ เพียง 1-2 สัปดาห์ ทำให้มีการงอกดีเมื่อนำไปเพาะ แต่หลังจาก 4 สัปดาห์แล้ว อัตราการงอกของเมล็ดลดลงจนไม่มีการงอก
- เนื้อไม้กฤษณาปกติเมื่อตัดใหม่ จะมีสีขาวนวล ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีเสี้ยนตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดชักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำจะทนทานพอประมาณ ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีสารกฤษณาจะมีสีน้ำตาลเข้มจนสีดำ หนักกว่าไม้กฤษณาธรรมดาจึงจมน้ำ สารกฤษณาเป็นสารที่เป็นยางเหนียวหรือเรซิน (Resin) ทำให้มีกลิ่นหอม
- ไม้กฤษณาหรือไม้หอมเป็นพืชในวงศ์ไทเมลลีซีอี (Thymelaeceae) สกุลเอควิลาเรีย (Aquilaria) คำว่า Aquilaria เป็นคำมาจากภาษาลาติน และภาษาอัคคาเดียน คือ คำว่า Aquila หรือ aquilae เป็นภาษาลาติน แปลว่า นกอินทรีย์ ส่วนคำว่า ekle ซึ่งเป็นภาษาอัคคาเดียน แปลว่า ดำ เข้ม และกลางวัน
สรรพคุณ
- เนื้อไม้ ซึ่งเป็นสีดำ และมีกลิ่นหอม คุมธาตุ บำรุงโลหิตและหัวใจ ใช้ผสม ยาหอม แก้ลมวิงเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องร่วง แก้ไข้ต่างๆบำบัดโรคปวดบวมตามข้อ
- เนื้อไม้ ที่มีคุณภาพดีต้องมีกลิ่นหอม เนื้อไม้เป็นสีดำเข้ม จึงนำมาใช้ทำยาแก้อาเจียน ท้องร่วง วิงเวียนศีรษะ แก้กระหายน้ำ แก้ปวดตามข้อ แก่นไม้ ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต รักษาโรคลม หน้ามืด บำรุงตับและปอดให้แข็งแรง เมล็ด นำมาสกัดน้ำมัน แก้โรคมะเร็ง โรคเรื้อน คนในแถบมลายูใช้ไม้กฤษณาหอมเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้รักษาโรคผิวหนังหลายชนิด ชาวฮินดูใช้ผงไม้หอมกฤษณาโรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา ตำราจีน กฤษณาจัดเป็นยาชั้นดี บำรุงหัวใจ แก้หอบหืด เสริมสมรรถภาพทางเพศ แก้โรคปวดบวมตามข้อ รักษาโรคกระเพาะอักเสบ ขับลม ชาวยุโรปใช้ไม้กฤษณามาปรุงแต่งทำน้ำหอม ชาวอาหรับนิยมใช้น้ำมันหอมจากกฤษณาทาตัวเป็นเครื่องประทินผิว ป้องกันแมลงกัดต่อย ส่วนกากที่เหลือนำไปทำธูปหอมหรือยาหอม
เนื้อไม้กฤษณาที่ดีนั้น ต้องมีกลิ่นหอม และเป็นสีดำ วิธีที่จะใช้พิสูจน์ว่า คุณภาพของมัน ดีหรือไม่ดี นั้นกระทำได้โดยให้ตัดไม้เป็นท่อน ๆแล้วให้โยนลงในน้ำ แล้วสังเกตว่าท่อนใดจมน้ำได้ทันที และมีลักษณะเป็นสีดำ แสดงว่าเป็นชนิดดี ที่นิยมใช้ทำยา ซึ่งเรียกว่า Gharki ท่อนที่ลอยน้ำซึ่งเรียกว่า Samaleh ชนิดนี้เราจะพบหกันทั่วไป และสำหรับท่อนที่ลอบปริ่มน้ำ เรียกว่า Samaleh-i-aala หรือ Neem Ghaeki จะเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือน้ำตาลอ่อนจะไม่นิยมใช้ในทางยา นอกจากนี้ยังมีวิธีที่จะพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งคือโดยการนำเอาเนื้อไม้ไปฝังดินไว้ เนื้อไม้ที่ดีก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีดำ และกลิ่นหอมมันก็จะหอมด้วย”ไม้หอม (จันทบุรี-ตราด)
ลักษณะของเนื้อไม้
ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้วดังกล่าวถึงในมหาชาติ คำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว (เสตครู) และกฤษณาดำ (ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอมเนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลางเลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดชักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำ จะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็วในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่าง ๆของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว [Resin] อยู่มากสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b .Agarofuran, a -Agarofuran,Agarospirol และ Agarol
คุณภาพของกฤษณาในประเทศไทย ได้แบ่งเป็น 4 เกรด ดังนี้
- เกรด 1 ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ลูกแก่น มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้มีสีดำมีราคาแพงมากประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำ หนักกว่าน้ำ จึงจมน้ำ
- เกรด 2 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 1 สีจะจางออกทางน้ำตาล มีราคาประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ
- เกรด 3 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 2 มีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น0.62 เท่าของน้ำ เบากว่าน้ำ จึงลอยน้ำ
- เกรด 4 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย มีราคาประมาณ 400-600 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักประมาณ 0.39 เท่าของน้ำ จึงลอยน้ำ ชนิดนี้ ชาวบ้านจะเรียกว่าไม้ปาก ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีกฤษณาสะสมอยู่ จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ
ประโยชน์ของไม้กฤษณา
“สารกฤษณา” มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ ได้แก่ agarwood (ยุโรป), aloeswood (สิงคโปร์), eaglewood (สหรัฐอเมริกา),gaharu (อินโดนีเชีย), oudh (อาหรับ), tram (เวียดนาม), jinko (ญี่ปุ่น), chen xiang (จีน) เป็นต้น
ปัจจุบันนอกจากชิ้นไม้กฤษณาและน้ำมันกฤษณาที่เป็นสินค้าหลักในตลาดแล้วยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกฤษณาให้มีความหลากหลายขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากกลุ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์จากกฤษณาที่เป็นสินค้าวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตลาดในแถบเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จากการสำรวจของ สามารถจำแนกได้ดังนี้
ท่อนไม้กฤษณา (agarwood branch or trunk section) เป็นท่อนกฤษณาขนาดใหญ่ ซึ่ง เป็นส่วนของกิ่งหรือลำต้นที่มีการสะสมสารกฤษณาเป็นบริเวณพื้นที่กว้าง ลักษณะเนื้อไม้จะมีสีน้ำตาลเข้มถึงสีดำ ซึ่งจะเรียกว่าไม้เกรด 1 หรือ เกรดซุปเปอร์ (super agarwood) ราคาขายต่อกิโลกรัมจะสูงมาก จากหลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่กับคุณภาพของท่อนไม้นั้น ปัจจุบันนี้หาได้ยากมาก เพราะเป็นกฤษณาที่ได้จากต้นไม้ที่เกิดในธรรมชาติเท่านั้น และมาจากต้นไม้มีอายุมาก ซึ่งมีการสะสมกฤษณามาเป็นเวลานานหลายปี ส่วนใหญ่ท่อนกฤษณาลักษณะนี้อาจจะเห็นปรากฎอยู่ในวัด หรือคฤหาสถ์ของเศรษฐีเพื่อเป็นสิ่งแสดงความร่ำรวยมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของ
- ชิ้นไม้ (agarwood pieces) เป็นชิ้นไม้กฤษณาขนาดเล็กๆดังนั้นจึงมีราคาถูกกว่าไม้ท่อนขนาดใหญ่ ใช้สำหรับจุดเผาเพื่อให้มีกลิ่นหอมนิยมใช้จุดเพื่อต้อนรับแขกของชาวอาหรับและบางคนเชื่อว่าการดมกลิ่นควันจากการเผาชิ้นไม้กฤษณาจะทำให้รักษาโรคบางอย่างได้
- น้ำมันกฤษณา (agaroil) เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากกฤษณาเกรด3หรือเกรด4เนื่องจากการสะสมของสารกฤษณามีปริมาณน้อยกว่า ไม่สามารถนำไปขายเป็นชิ้นไม้ได้หน่วยที่ใช้เรียกน้ำมันกฤษณา เรียกว่า โตรา (Tora) มีปริมาณประมาณ 12 กรัมราคาขายกันอยู่ที่ประมาณ 2,400-4800 บาทต่อโตร่าประโยชน์ของน้ำมันกฤษณา คือ นิยมใช้ทาตัวของชาวอาหรับเพื่อให้มีกลิ่นหอมเป็นส่วนผสมของเครื่องยาเป็นส่วนผสมของน้ำหอมและเครื่องสำอางบางชนิด
ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้แก่ ผงไม้ที่เหลือจากการกลั่นน้ำมันกฤษณาแล้วนำไปทำธูปหอม ประเทศไต้หวันนำมาทำไวน์และนำมาปั้นเป็นก้อนผสมน้ำมันกฤษณาและส่วนผสมต่าง ๆ ให้มีกลิ่นหอม เรียกว่า “marmool” ซึ่งผู้หญิงชาวอาหรับนิยมใช้จุดเพื่อให้มีกลิ่นหอม
การขยายพันธุ์ไม้กฤษณาสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
- การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จากการที่ผลและเมล็ดกฤษณาไม่มีการพักตัว จึงต้องรีบเพาะเมล็ดกฤษณาให้เร็วที่สุด เพราะในเมล็ดมีต้นอ่อนที่เริ่มงอกแล้ว โดยนำเมล็ดมาเพาะในถุงหรือในแปลงเพาะกล้า แล้วดูแลกล้าให้แข็งแรง การเพาะเมล็ดกฤษณาใช้ถุงเพาะชำสีดำขนาด 2.5×7 นิ้ว หรือ 3.5×9 นิ้ว ส่วนดินที่ใช้เพาะควรเป็นดินร่วนผสมปุ๋ยคอก ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การเตรียมเมล็ดกฤษณาเพื่อเพาะให้แช่ในน้ำ แช่ไว้ประมาณ 20 นาที และนำเมล็ดไปเพาะในกระบะที่มีน้ำถ่ายเทสะดวก รดน้ำผสมกำมะถัน หรือยากันเชื้อราลงในดิน รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นประมาณ 10 วัน เมล็ดก็จะงอกสามารถนำไปชำในถุงได้ต่อไป
- การขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูก สำหรับการขุดกล้าไม้ที่เป็นเมล็ดที่ตกลงมาจากต้น หล่นลงใต้ต้นหรือใกล้ต้น จนงอกเป็นกล้าไม้ โดยทำการย้ายกล้าจากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำจนกล้าไม้อายุราวหนึ่งปี จะมีความแข็งแรงและเจริญเติบโตพอที่จะย้ายไปปลูกในแปลงได้ ถ้าปล่อยให้กล้าเจริญเติบโตอยู่ในแปลงเพาะนานเกินไปจะทำให้รากเกาะยึดดินแน่น เมื่อถอนรากจะขาดทำให้ตั้งตัวในถุงชำช้า เมื่อต้นกฤษณาในถุงเจริญได้ระยะหนึ่งและเริ่มเจริญช้าลง แสดงว่าถุงเล็กเกินไป ควรทำการเปลี่ยนถุงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะกฤษณาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับต้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ควรย้ายไปปลูกในเข่งใหญ่ โดยวางเข่งไว้บนพื้น ซีเมนต์หรือใช้ผ้าพลาสติกปูหลายชั้นก่อนวางเข่งเพื่อป้องกันรากลงไปยึดติดดินจะได้ขนย้ายสะดวก
ในการเลือกพื้นที่ปลูกไม้กฤษณาที่เหมาะสม ควรเลือกพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี เป็นที่ลาดเนินเขาจะดีที่สุด มีความชุ่มชื้นและมีแสงระดับปานกลาง ควรเริ่มปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูฝน เพราะถ้าปลูกช่วงเวลาอื่นจะต้องคำนึงถึงความเพียงพอของน้ำที่ต้องใช้
สำหรับระยะการปลูกต้นกฤษณาได้มีผู้เสนอหลายแบบ ดังนี้
ภาณุเมศวร์ (2549) ได้แบ่งการปลูกไม้กฤษณาเป็น 2 แบบ คือ
- ปลูกระยะถี่ 2×2 เมตร สามารถปลูกได้ไร่ละ 400 ต้น เหมาะสำหรับการทำไม้กฤษณาเกรด 3 และเกรด 4 เพื่อนำไปสกัดน้ำมันกฤษณา โดยจำหน่ายเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณาให้กับโรงกลั่นเพราะขนาดของลำต้นไม่ใหญ่มาก สามารถเริ่มทำสารได้เมื่อต้นกฤษณาอายุ 5-7 ปี หลังจากทำสารกฤษณาแล้วทิ้งไว้ระยะเวลา 6-18 เดือน (ขึ้นอยู่กับสภาพและอายุของต้น) การเก็บสารกฤษณาเร็วเกินไปจะได้สารกฤษณาที่มีคุณภาพไม่สูง กลิ่นน้ำมันกฤษณาที่ได้ยังอ่อนอยู่ การปลูกไม้กฤษณาระยะถี่เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด และต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็ว
- ปลูกระยะถี่ 2×3 หรือ 3×3 เมตร ปลูกได้ไร่ละ 226 ต้น และ 177 ต้น ตามลำดับเหมาะสำหรับการทำไม้กฤษณาเกรด 1 และเกรด 2 เพื่อทำเป็นไม้ตัว ไม้ชิ้นสำหรับนำไปจุดดมซึ่งต้องการขนาดของลำต้นและกิ่งพอสมควร สามารถเริ่มทำสารได้ตั้งแต่ปีที่ 3 และทำเพิ่มทุกปีตามขนาดของลำต้นที่เพิ่มขึ้น ที่ต้องอาศัยเวลาในการสะสมสารกฤษณาทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาสูง
อย่างไรก็ตาม การปลูกไม้กฤษณาระยะ 2×2 เมตร ถ้ามีการดูแลบำรุงรักษาต้นกฤษณาดี หลังจากปลูกก็สามารถทำไม้เกรด 1 และเกรด 2 ได้ โดยการทำสารกระตุ้นต้นเว้นต้นในปีที่ 3 แล้วทำเพิ่มทุกปีตามขนาดของลำต้นที่เพิ่มขึ้น
ปรัชญา (2549) อธิบายว่า ต้นกล้าไม้กฤษณาที่จะปลูกควรมีอายุตั้งแต่ 10-12 เดือนขึ้นไป หรือสูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป ได้แบ่งการปลูกออกเป็น 3 แบบ คือ
- ปลูกระยะถี่ 2×2 เมตร สามารถปลูกได้ไร่ละ 400 ต้น เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่มีเงินทุนหมุนเวียนได้ตลอดในระยะเวลาประมาณ 5-7 ปี เป็นที่นิยมปลูกมากตามโครงการสวนเกษตรที่ปลูกไม้ป่าต่างๆ
- ปลูกระยะถี่ 2×4 เมตร สามารถปลูกได้ไร่ละ 200 ต้น เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่มีเงินทุนหมุนเวียนปานกลาง และแนะนำว่าระหว่างแถวควรปลูกกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยไข่ เพื่อเป็นพืชป้องกันแดด และดูดซับน้ำในฤดูแล้ง และในระหว่างที่รอผลผลิตจากไม้หอมก็สามารถจำหน่ายกล้วยได้
- ปลูกระยะถี่ 4×4 เมตร สามารถปลูกได้ไร่ละ 100 ต้น เหมาะสำหรับผู้ปลูกไม้ล้มลุกเป็นหลัก เช่น ปลูกถั่ว แตง และผักต่างๆ เหมาะสำหรับผู้ปลูกที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย
สำหรับการปลูกไม้กฤษณาเป็นพืชเดี่ยวดังกล่าวแล้ว ยังมีการปลูกแซมกับพืชอื่นอีกหลายชนิด คือ
- ปลูกแซมสวนเก่า ในสวนพืชเศรษฐกิจ เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และ สวนผลไม้ เมื่อต้นเดิมตายลงก็สามารถปลูกกฤษณาทดแทนต้นเดิมได้
- ปลูกแซมสวนมะพร้าว สามารถปลูกต้นกฤษณาแซมในสวนมะพร้าว โดยปลูกระหว่างเส้นทแยงมุมของต้นมะพร้าวให้กระจายทั่วสวน มะพร้าวจะช่วยบังแดดและป้องกันลมโกรกต้นกฤษณา จะทำให้เจริญเติบโตได้ดี
- ปลูกแซมสวนกล้วย สามารถปลูกต้นกฤษณาพร้อมๆ กับการปลูกกล้วย หรือปลูกกล้วยก่อนระยะหนึ่ง เมื่อเจริญเติบโตพอจะบังแดดได้แล้วจึงปลูกกฤษณา ขณะที่ต้นกฤษณายังไม่โตพอก็สามารถจำหน่ายกล้วยเป็นรายได้ก่อน
- ปลูกแซมสลับกับป่าไม้ เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกไม้เพียงอย่างเดียว คือ ต้นสัก ก็สามารถปลูกไม้กฤษณาแซมได้เช่นเดียวกับการปลูกแซมสลับกับไม้ประดู่ และไม้พยุง เป็นต้น
วิธีการปลูกไม้กฤษณา มีดังนี้ คือ
- การปลูกแบบขุดหลุม แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.1 การปลูกแบบขุดหลุมในดินทราย เมื่อพื้นที่ปลูกที่เป็นดินทรายซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดอินทรียวัตถุและแร่ธาตุต่างๆ จึงแนะนำให้ใช้โพลิเมอร์และปุ๋ยอินทรีย์ช่วยโดยการขุดหลุม 50×75 เซนติเมตร เอาดินที่ขุดจากในหลุมผสมกับปุ๋ยออสโมโค้ต 1-2 ช้อนแกง หินฟอสเฟต 50-100 กรัม เท่ากับโดโลไมท์ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของดินแล้วใส่ลองก้นหลุม 1 ใน 4 ส่วน จากนั้นใช้โพลิเมอร์ (วุ้นอุ้มน้ำ) ที่แช่น้ำอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร 1 คืน แล้วกวนให้กระจายดี แล้วตักส่วนผสมจำนวน 1 ลิตร ราดบนดินที่ผสมรองก้นหลุมโดยไม่ต้องคลุกเคล้ากับดิน แล้วเอาต้นกล้ากฤษณาปลูกและกลบดินผสมให้มีระดับต่ำกว่าปากหลุมเล็กน้อย เพราะจะช่วยเก็บน้ำฝนได้ดีเมื่อฝนตก จากการที่พื้นที่เป็นดินทรายน้ำจะถูกดูดซึมหายไปอย่างรวดเร็ว
1.2 การปลูกแบบขุดหลุมในดินแข็งหรือดินดาน ในกรณีที่ดินชั้นบนร่วนโปร่งแบบดินทราย แต่มีชั้นดินดานอยู่ใต้ชั้นไถพรวนก็ให้เตรียมดินแบบดินทรายก่อน แต่ดินที่ผสมรองก้นหลุมให้ใส่สารละลายดินดานลงไปโดยไม่ต้องคลุกกับดินผสม พร้อมกับโพลิเมอร์ 1 ลิตร ทับลงไปบนสารละลายดินดาน แล้วปลูกกล้าลงไปตามปกติ เมื่อฝนตกหรือรดน้ำจนเปียกชุ่มพอไปถึงสารละลายดินดานจะทำให้ดินที่แน่นแข็งค่อย คลายตัวออกกกลายเป็นดินร่วน ทำให้น้ำซึมลงไปได้ดี และรากก็แทงลงใต้ดินได้ดีด้วย
- การปลูกแบบไม่ขุดหลุม ถ้าที่ปลูกมีสภาพเป็นดินเหนียวระบายน้ำได้ยาก เมื่อรดน้ำจะมีน้ำขัง รากจะแช่น้ำเป็นโรคตายได้ง่าย วิธีแก้ปัญหาคือ ปลูกบนดินแล้วให้รากแผ่บนผิวดินและนำปุ๋ยคอก แกลบ ฟอสเฟต และโดโลไม้ท์หว่านกระจายบางๆ แล้วใส่ปุ๋มออสโมโค้ทเล็กน้อยบนจุดที่จะวางเข่งหรือตะกร้า แล้วใช้ดินผสมใส่รอบๆ เข่งหรือตะกร้า เพื่อป้องกันลมโยกดันต้นกฤษณา ให้มีไม้ยึดของเข่งหรือตะกร้าให้แน่น รากจะเจริญเติบโตเต็มเข่งหรือตะกร้า แล้วใช้วัสดุประเภทหญ้าแห้ง ใบไม้ ฟางข้าวคลุมโคนต้นให้เจริญเติบโตต่อไป
การดูแลบำรุงรักษาไม้กฤษณาหลังการปลูก ถึงแม้ต้นกฤษณาจะเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว แต่การปล่อยให้เจริญเติบโตโดยไม่ดูแลนั้นจะทำให้มีปัญหา เพราะต้นกฤษณาที่ยังเล็กอยู่ รากที่มีจำกัดทำให้หาอาหารได้ไม่มาก ผู้ปลูกไม้กฤษณาจึงจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ ดังต่อไปนี้
- การให้น้ำในระยะ 3 เดือนแรก ควรรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอวันเว้นวัน เมื่ออายุ 3-6 เดือน ควรลดการให้น้ำลงเป็น 3-5 วันต่อครั้ง จนอายุมากกว่า 1 ปี จึงควรรดน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เว้นแต่ช่วงฝนตกก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ
- การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์อันเป็นแหล่งไนโตรเจนที่สำคัญและยังได้แร่ธาตุอื่นๆ ครบทุกตัว หลักการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องคือการแบ่งใสตลอดหน้าฝน หรือระยะเวลาที่ยังมีการรดน้ำอยู่ โดยให้ใส่ครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง ถ้าการใส่ปุ๋ยครั้งเดียวจำนวนมาก อาจทำให้เป็นอันตรายต่อรากได้
การใส่ปุ๋ยเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตให้ต้นกฤษณาในปีแรก นับว่ามีความจะเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนป่าที่มีสภาพดินเลว ควรมีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ ในช่วงอายุ 1-3 ปี ควรใส่ 3-4 ครั้งต่อปี ในอัตรา 1- 2 กิโลกรัมต่อต้น หลังจากนั้นเมื่ออายุ 3 ปี ควรใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อต้น
- การริดกิ่ง การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกไม้กฤษณา เพราะการตัดแต่งกิ่งทำให้ต้นกฤษณาเจริญเติบโตรวดเร็ว จึงควรตัดแต่งกิ่งแขนงหรือกิ่งด้านข้าง ในช่วงเวลาที่ต้นกฤษณาสูงประมาณ 1 เมตรขึ้นไปถึง 3 ปี เพราะช่วงต้นเล็ก ลำต้นจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องปักเสาหลักใช้เชือกผูกโยงกับต้นกฤษณาเพื่อป้องกันการโค่นล้ม
- การป้องกันไฟ ผู้ปลูกไม้กฤษณาควรระมัดระวังการป้องกันไฟในสวนป่าซึ่งสามารถทำได้โดยการทำแนวกันไฟให้กว้าง 6-10 เมตร เพื่อป้องกันไฟไหม้ต้นกฤษณาที่ลุกลามจากภายนอกโดยต้องคอยเก็บใบไม้ กิ่งไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงออกจากแนวกันไฟ ในฤดูแล้งมีการใช้รถแทรกเตอร์ล้อยางไถพรวน เพื่อกำจัดวัชพืชหรือใช้แรงงานคนถางวัชพืช
- ศัตรูไม้กฤษณา ศัตรูสำคัญของไม้กฤษณาคือตัวหนอกกินใบ เกิดจากผีเสื้อกลางคืนที่วางไข่บริเวณใบยอดของลำต้น เมื่อหนอนออกจากไข่จะกัดกินผิวใบอ่อน ทำให้ต้นกฤษณาชะงักการเจริญเติบโต ผู้ปลูกจึงควรหมั่นสังเกตและควรฉีดยากำจัดหนอน หลังจากต้นกฤษณามีอายุมากขึ้นจะไม่ค่อยพบโรคและแมลงศัตรูพืช
นอกจากนี้ยังมีหนอนเจาะลำต้น ถ้าเป็นต้นกฤษณาขนาดเล็กอาจจะทำให้ต้นกฤษณาตายได้ หรือทำให้บริเวณลำต้นเหนือรอยเจาะแห้งตาย ทำให้ต้นกฤษณาแตกยอดใหม่ที่เสียรูปทรงที่ต้องการ แต่ถ้าหนอนเจาะลำต้นขนาดใหญ่กลับเป็นผลดีเพราะจะทำให้เกิดบาดแผลภายในต้นกฤษณา เมื่อทิ้งไว้นานๆ จะมีสารกฤษณาเกิดขึ้น และสะสมเพิ่มมากขึ้นได้
- การกำจัดวัชพืช ในการเตรียมดินปลูกครั้งแรก ถึงแม้จะเตรียมดินให้ดีมากเพียงใด แต่ในดินก็มีเมล็ดวัชพืชหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก หรืออาจจะมีเมล็ดวัชพืชบางอย่างถูกลมพัดมาหลังจากการปลูกกฤษณาแล้ว ในแต่ละปีจึงจำเป็นต้องมีการถางวัชพืชในสวนป่าอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง ยิ่งถ้าสภาพพื้นดินอุดมสมบูรณ์ก็ยิ่งต้องกำจัดวัชพืชบ่อยมากขึ้น อันตรายที่พบอีกอย่างหนึ่งคือ เถาวัลย์ที่ขึ้นพันรอบต้นอ่อนและต้นไม้ใหญ่ ทำให้ต้นโอนเอนและคอดกิ่วหรือคดงอ บางต้นอาจเสียรูปทรง จึงควรหมั่นตรวจสอบและแกะออก