กล โฉมคุ้ม เกษตรกรที่ถือว่า เป็นนักวิชาการแห่ง บ้านน้ำพุ อ.คีรีมาส จ.สุโขทัย อดีตชาวบ้านที่มองว่าการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีเป็นเรื่องปกติ เพราะนโยบายการเร่งผลิต ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสิ่งที่ภาครัฐส่งเสริม โดยลืมให้ความรู้เรื่องความอันตรายของสารเคมีหากเก็บผลผลิตเร็วกว่าเวลาที่กำหนด จึงทำให้ กล โฉมคุ้ม ค้นพบว่าการทำเกษตรอินทรีย์ย่อมเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขความยากจน ควบคู่กับการใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม
กล โฉมคุ้ม ผู้ใหญ่บ้านบ้านกว้าว เริ่มเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้ชุมชนยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้ ในช่วงปี 2543 กล โฉมคุ้ม ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ได้มีโอกาสเข้าร่วมชมรมการเรียนรู้ของภาคเหนือตอนล่าง และโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อเป็นรากฐานในการรักษาระบบนิเวศให้คงสภาพธรรมชาติ และเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน.
นายกลเป็นผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกที่หมู่ 10 เมื่อตอนอายุได้ 26 ปี ได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมสภาพและส่งเสริมอาชีพพื้นฐานของชาวบ้านไม่ให้หมกมุ่นกับยาเสพติด จนกระทั่ง ปตท. ได้คัดเลือกให้ผู้ใหญ่กลรับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล ครั้งที่ 9 ในปี 2550
ในอดีตชาวบ้าน ที่ทำเกษตรในพื้นที่ อ.คีรีมาส จ.สุโขทัย มองว่าการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีเป็นเรื่องปกติ เพราะนโยบายการเร่งผลิต ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสิ่งที่ภาครัฐส่งเสริม โดยลืมให้ความรู้เรื่องความอันตรายของสารเคมีหากเก็บผลผลิตเร็วกว่าเวลาที่กำหนด
หมาที่ผมเลี้ยงไว้ มันวิ่งไม่พ้นไร่ ตายกลางไร่เลย อันตรายมาก ผมบอกตัวเองเลยนะ ผมจะเลิกใช้สารเคมีทุกชนิด จุดเริ่มต้นของการหันหน้ามาทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ
เพราะเป็นคนที่ใฝ่รู้ ชอบทดลอง และเป็นคนมุ่งมั่น จากพื้นดินที่ถูกทำลายมาเนิ่นนาน จึงกลายเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย และตัวเขาเองที่ค้นพบว่าหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์คือ ต้องรู้เรื่อง ดิน น้ำ ป่า ปุ๋ยให้ถ่องแท้ เขาเริ่มต้นจาก บำรุงดินเพื่อให้ดินที่ตายแล้ว เป็นดินที่ร่วยซุยเหมาะสมกับการทำเกษตร จากนั้นก็ดูแลเรื่องระบบน้ำ พร้อมๆกับการปลูกป่า และเพื่อลดค่าใช้จ่าย เขาต้องทำปุ๋ยใช้เอง กว่าจะสำเร็จต้งใช้ระยะเวลานาน แต่เมื่อสำเร็จแล้ว เขาก็ไม่กักเก็บความรู้เอาไว้แต่เพียงผู้เดียว
จากตัวเอง สู่เพื่อนบ้าน
จากเพื่อนบ้าน สู่ชุมชน
จากชุมชน สู่ตำบล อำเภอ และคาดหวังไปสู่ประเทศที่เขาอาศัยอยู่
รางวัลลูกโลกสีเขียว นับเป็นจุดเชื่อมโยงให้โครงการรักษ์ป่าฯ เข้ามาในพื้นที่ตำบลบ้านน้ำพุ โดยผู้ใหญ่กลมองว่า เป้าหมายของโครงการรักษ์ป่าฯ สอดรับกับแผนการขับเคลื่อนเครือข่ายดิน น้ำ ป่า ที่ตนเองตั้งใจ และการทำเพื่อถวายในหลวงพระชนมายุครบ 84 พรรษา ก็ยิ่งมีความที่รู้สึกอยากจะทำ เลยชักชวนแกนนำชุมชนมาร่วมรับฟังวัตถุประสงค์ และหลักการของโครงการรักษ์ป่าฯ ด้วย แม้ว่าผู้นำหลายคนจะไม่เห็นด้วย แต่ผู้ใหญ่กลและผู้นำอีกหลายคนอยากจะทำ เพราะเห็นว่าโครงการรักษ์ป่าฯ เน้นการให้ความรู้ ไม่ได้ให้เงินเหมือนโครงการอื่นๆ ที่ผ่านมา และตัดสินใจร่วมจับมือกับโครงการรักษ์ป่าฯ
การร่วมงานกับโครงการรักษ์ป่าฯ นี้ได้สอนและพัฒนาให้ผู้ใหญ่กลรู้จักปรับตัวเองและทำงานเป็นทีมมากขึ้น จากเดิมที่ทำงานคนเดียวเป็นหลัก ลุยคนเดียว แต่การทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานในระดับตำบล ผู้ใหญ่กลก็ต้องรู้จักประสานเชื่อมโยงผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่างๆ เข้าร่วมด้วย กำนันด้วย ต้องคอยสังเกต ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาทุกเวลา ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของคณะทำงานมีการช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ผู้ใหญ่กลมีทัศนะเรื่องความพอเพียงว่า ความพอเพียงเป็นเรื่องของตัวเราเอง ใครแก้ไม่ได้นอกจากตนเอง ส่วนสิ่งอื่นๆ ภายนอกเป็นเพียงตัวประกอบ เช่น การผลิต การวิเคราะห์ดิน สำคัญอยู่ที่เราต้องพอเพียงให้ได้ โดยผู้ใหญ่กลสะท้อนถึงความพอเพียงของชีวิตตนเองว่า ทุกวันนี้คิดว่าพอเพียงแล้ว มีกินมีใช้ ไม่เดือดร้อนหนี้สิน แม้จะมีเงินเก็บไม่ถึงแสนที่ได้มาจากการขายข้าว แต่ก็สามารถดูแลสมาชิก 6 คนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ และมีแผนในอนาคตว่าชีวิตวัยหลังเกษียณอยากทำสวนผักหวานป่า ทำผักและข้าวปลอดภัย เลี้ยงปลา และเลี้ยงกบ ตามวิถีพอเพียง ปลูกอยู่ปลูกกิน
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองต่อเกษตรปลอดสารว่าเป็นความพอเพียงในด้านการลดต้นทุนการผลิต และยังช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการไม่เผาตอซังข้าว และไม่ใช้สารเคมี สร้างความชุ่มชื้นและอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ระบบนิเวศน์ฟื้นคืนกลับมาดังเดิม
หลักการทำงานง่ายๆ
หลักการทำงานง่ายๆ แต่ได้ผลดี คือ ทดลองด้วยตนเอง ทำให้เห็น เมื่อชาวบ้านเห็นก็นำไปปฏิบัติ เปรียบดังนักวิชาการเท้าเปล่า.
โดยเฉพาะกล โฉมคุ้ม ได้พัฒนาตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการเสริมสร้างพลังชุมชนให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยการเป็นตัวแทนของชุมชนบ้านกว้าว เพื่อออกไปรับความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถ่ายทอดโดยหน่วยงานต่างๆ มาปรับใช้ในการชุมชนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีความเหน็ดเหนื่อยและออนล้าอยู่หลายครั้ง แต่กระนั้นนายกล โฉมคุ้ม ก็หาได้ย่อท้อ แต่กลับมีความเพียรพยายามในการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาของสมาชิกในชุมชน.
ทำแผนปฎิบัติการชุมชนเป็นสุข
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาชุมชนเพื่อความดีมีสุขขึ้น โดยแผนปฏิบัติการชุมชน ครอบคลุมทั้งแผนงานในการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจชุมชน แผนงานในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนงานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และวัฒนธรรม พร้อมกันนี้ก็ได้ผลักดันให้เกิดการนำแผนไปสู่การปฎิบัติในเวลาต่อมา
กลุ่มชุมชนและกองทุนชุมชน ถูกจัดตั้งขึ้น ด้วยความต้องการร่วมกันของสมาชิกในชุมชนบ้านกว้าว เช่น กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนสงเคราะห์ กองทุนสตรีพัฒนา กองทุนเยาวชน กองทุนฝ่ายสาธารณสุข กองทุนกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ กองทุนฝ่ายวัฒนธรรม เป็นต้น โดยที่กองทุนเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการผลักดันของนายกล โฉมคุ้ม อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการบริหารจัดการกลุ่มและกองทุนต่างๆ แบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ผลของการดำเนินงานของกลุ่มและกองทุนต่างๆ เป็นพลังให้ชุมชนผู้สนใจ ได้เรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพตนเองในการยกระดับคุณภาพชีวิตแบบพึ่งตนเอง
ผู้นำดี ชาวบ้านเชื่อฟัง
นายกล โฉมคุ้ม ได้ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจกับชุมชนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะการไม่ล่าสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็กที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศของชุมชน เช่น การห้ามยิงนก การห้ามมิให้เกษตรกรเผาฟางในนาข้าว การปลูกป่าและไม้ใช้สอยตามหัวไร่ปลายนา ผลของการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของนายกล โฉมคุ้ม ทำให้เกิดการพลิกฟื้นธรรมชาติในชุมชนอย่างเห็นได้ชัด และยังได้เพาะชำกล้าไม้ที่ชุมชนต้องการ แล้วแจกจ่าย ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนนำไปปลูกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
วิธีลดความยากจนของชุมชน
กล โฉมคุ้ม เห็นว่า การลดความยากจนของชุมชน ต้องเริ่มจากการพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ดังนั้น เขาจึงได้ได้ลงมือในการศึกษาวิจัยชุมชน เพื่อหาช่องทางในการลดรายจ่าย และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลของการวิจัยในแบบภูมิปัญญาของนายกล โฉมคุ้ม เป็นที่มาของการผลิตน้ำสกัดชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาใช้เอง วิธีการในการทำน้ำสกัดชีวภาพ จะใช้การทดลองทำไปเรียนรู้ไปอย่างต่อเนื่อง จนได้สูตรที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นที่มาของการนำไปขยายผล โดยการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนผลิตน้ำสกัดชีวภาพไว้ใช้เอง ลดการใช้สารเคมีเกษตรลง ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงอย่างมาก ชุมชนเริ่มมีเงินออม และเรียนรู้ว่า หากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงธรรมชาติ ย่อมเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขความยากจน ควบคู่กับการใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม
ลดข้อพิพาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน นายกล โฉมคุ้ม ได้มีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากรบรรยายให้กับสมาชิกในชุมชนในการเรียนรู้วิถีพึ่งพิงธรรมชาติ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณสาธารณะ เป็นผู้เสียสละ รักษ์ธรรมชาติ และเป็นแบบอย่างของบุคคลที่เป็นผู้นำในการพลิกฟื้นธรรมชาติ เพื่อวิถีพอเพียงแห่งชุมชนบ้านกว้าว กิจกรรมเป็นจำนวนมากที่นายกล โฉมคุ้ม ได้ทำ สะท้อนให้เห็นถึงการขยายเครือข่ายการเรียนรู้สู่ชุมชนและองค์กรภายนอกมากขึ้น ชุมชนบ้านกว้าว เป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกับอุทยานแห่งชาติรามคำแหง อีกทั้งยังฟื้นฟูป่าหัวไร่ปลายนา ปลูกไม้สอยในชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์เอง ลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าอนุรักษ์ ลดข้อพิพาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สูตรปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่
วิธีที่ 1 การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพหอยเชอรี่ทั้งตัวพร้อมเปลือก
นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวมาบดให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำตาลโมลาส และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3:3:1 คนให้เข้ากัน และนำไปบรรจุในถังหมักขนาด 30 ลิตร หรือ 200 ลิตร อย่างใดอย่างหนึ่ง ปิดฝาทิ้งไว้คนให้เข้ากันหากมีการแบ่งชั้น สังเกตดูว่า หากมีกลิ่นเหม็นให้ใส่น้ำตาลโมลาสเพิ่ม และคนให้เข้ากันจนกว่าจะหายเหม็น ทำการคนทุกวันจนกว่าจะไม่เกิดแก๊สบนผิวหน้า แต่จะเห็นความระยิบระยับอยู่ที่ผิวหน้าปุ๋ย บางครั้งอาจจะมีตัวหนอนลอยบนผิวหน้าหรือข้างถัง ควรรอจนกว่าตัวหนอนดังกล่าวตัวใหญ่เต็มที่และตาย ก็ถือว่าการหมักเสร็จสิ้นขบวนการ สามารถนำไปใช้ได้หรือนำไปพัฒนาผสมกับปุ๋ยน้ำอื่นๆ ต่อไป.
วิธีที่ 2 การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่
นำไข่หอยเชอรี่หรือกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาบดให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3:3:1 คนให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 3 การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพไข่หอยเชอรี่ และพืช
นำไข่หอยเชอรี่หรือกลุ่มไข่หอยเชอรี่มาบดให้ละเอียด นำไปผสมกับพืชอ่อนๆ หรือยอดพืช ความยาวไม่เกิน 6 นิ้ว ที่หั่นหรือบดละเอียดแล้ว นำมาผสมกันในอัตราส่วน ไข่หอยละเอียด : น้ำตาลโมลาส : พืชส่วนอ่อนบดละเอียด และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ คือ 3:3:1:1 แล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 4 การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเนื้อหอยเชอรี่
นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวมาต้มในกะทะ ใส่เกลือแกงในจำนวนพอเหมาะ เพื่อให้เนื้อหอยเชอรี่แยกจากเปลือกได้ง่ายขึ้น และนำเนื้อหอยเชอรี่มาบดให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำตาลโมลาสและน้ำหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ อัตรา 3:3:1 คนให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 5 การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเนื้อหอยเชอรี่ และพืชสด
นำเนื้อหอยเชอรี่ที่ได้จากการต้มกับเกลือเหมือนวิธีที่ 4 มาบดให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับน้ำตาลโมลาส และชิ้นส่วนของพืชที่อ่อนๆ เหมือนวิธีที่ 3 คือ อัตราส่วนเนื้อหอยเชอรี่บดละเอียด : น้ำตาลโมลาส : พืชบด
วิธีที่ 6 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากเนื้อหอยเชอรี่ ไข่หอยเชอรี่ และพืชสด เป็นการผสมผสานการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพแบบเบ็ดเสร็จ ใช้เนื้อหอยเชอรี่พร้อมเปลือก หรือเนื้อหอยเชอรี่ : ไข่หอยเชอรี่ : พืชอ่อน : น้ำตาลโมลาส : น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ อัตรา 3:3:5 – 6:9-10 : 5-6 หากมีกลิ่นเหม็นให้เติมน้ำตาลโมลาส และน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติเพิ่มขึ้นจนกว่าจะไม่มีกลิ่น และดูลักษณะผิวหน้าของน้ำหมักเช่นเดียวกันละเอียด : น้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ คือ 3:3:1:1 คนผสมให้เข้ากันอย่างดี แล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
นายกล โฉมคุ้ม คนต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์
บ้านน้ำพุ อ.คีรีมาส จ.สุโขทัย
ป้ายคำ : ปราชญ์