กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน (oil palm kernel meal) เป็นส่วนเหลือจากการหีบน้ำมันส่วนเนื้อในเมล็ดปาล์ม โดยจะมีโปรตีนสูงประมาณ 10-20% คาร์โบไฮเดรตประมาณ 40-50% เยื่อใยประมาณ 20-27% และมีไขมันประมาณ 10% ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าส่วนกากปาล์มน้ำมัน (Oil palm) ที่เป็นส่วนเหลือจากการหีบน้ำมันผลปาล์มทั้งผล มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนค่อนข้างต่ำประมาณ 7% แต่เยื่อใยสูงประมาณ 30% ไขมันประมาณ 13 % และความชื้น 8.5% (สมพงษ์, 2526; Fetuga et al.,1977) นอกจากนั้น กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันยังมีธาตุอาหาร และกรดอะมิโนต่างๆ อีกมากมายที่มีความสำคัญและมีความสมดุล ยกตัวอย่างเช่นมีความสมดุลระหว่างแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากกว่าในกากเมล็ดพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ (สุธา และเสาวนิต, 2544; McDonald et al.,1981)
ปาล์มน้ำมันเหล่านี้ เมื่อผ่านกระบวนการหีบ และสกัดน้ำมันแล้วจะมีผลพลอยได้ หรือเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ หลายชนิด เช่น กากเยื่อใยปาล์ม (Oil palm pericarp or palm press fiber) กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน (oil palm kernel meal) กากปาล์มน้ำมัน (oil palm) และส่วนสุดท้าย คือ กะลาปาล์ม (palm nut shell) เศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้หลายชนิด ได้แก่ กากเยื่อใยปาล์มสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง ปุ๋ยหมัก เพาะเห็ด ส่วนของกะลาปาล์มนำไปเผาเป็นถ่าน ทำเป็นวัสดุปลูกต้นหน้าวัวและต้นกล้วยไม้ได้ และส่วนกากเนื้อในปาล์มใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ด เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันจึงมีความเหมาะสมที่จะนำไปผสมในวัตถุดิบอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น แพะ โค (สมพงษ์, 2526) สุกร (ยุทธนาและสมเกียรติ, 2532) ไก่ (วินัยและคณะ, 2526; สุธา และเสาวนิต, 2544) และสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลานิล ปลานิลแดงแปลงเพศ และปลาดุก (วุฒิพร และคณะ;2546; Keong, 2003)วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารปลา หรืออาหารสัตว์น้ำ มีจำนวนน้อยกว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์บก เช่น เป็ด ไก่ และหมู เป็นต้น สิ่งสำคัญประการแรกของการนำวัตถุดิบอาหารสัตว์มาผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด หรืออาหารผสม คือ ต้องทราบถึงลักษณะวัตถุดิบของอาหารที่มีคุณภาพ รวมทั้งคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ ซึ่งได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เยื่อใย เถ้า แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส วิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน และกรดไขมัน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพิจารณาเลือกใช้ชนิดวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิด
ที่มา
การจัดการองค์ความรู้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชุมพร
ป้ายคำ : อาหารสัตว์