หัวใจสำคัญที่นักเรียนชาวนา นักเรียนรู้ต้องทำความคุ้นเคยและใส่ใจที่จะคว้านความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ก็คือการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว เป็นเทคนิคที่มีความหลากหลาย แต่ข้าวขวัญได้พยายามคิดค้นในเทคนิคอย่างง่าย ที่ไม่ยากต่อการสื่อสารกับชาวนา ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีการตั้งแต่วิธีการอย่างง่าย เช่น การคัดพันธุ์ข้าว และวิธีการที่ต้องอาศัยความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เช่น วิธีการผสมพันธุ์ข้าวและการปลูกคัดเลือกพันธุ์ข้าวหลังการผสม ซึ่งอลงมาดูกันหน่อยค่ะว่า วิธีการคัดพันธุ์ข้าวไปจนถึงการผสมพันธุ์ข้าว ซึ่งชาวนาสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง มีอะไรกันบ้าง
1. การคัดพันธุ์ข้าว
การคัดพันธุ์ข้าวเป็นความรู้ที่ชาวนาสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การทำนาแต่ก่อนชาวนาคัดพันธุ์ข้าวให้ตอบสนองต่อการบริโภคในครัวเรือนของตนรวมทั้งการใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ข้าวสายพันธุ์เม็ดเล็กใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ข้าวเหนียวสำหรับแปรรูปอาหาร ดังนี้เป็นต้น ตัวอย่างพันธุ์ข้าวดังในอดีตที่มาจากการคัดพันธุ์ของชาวนา เช่น ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเจ๊กเชย ข้าวขาวกอเดียว ข้าวขาวตาแห้ง ฯลฯ การทำนาแต่เดิมเป็นแบบนาดำ ใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน และใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนไม่มาก แต่เมื่อการทำนาเปลี่ยนไป ข้าวพันธุ์พื้นบ้านไม่ตอบสนองต่อการทำนาแบบสมัยใหม่ที่มุ่งขายเป็นหลัก เมื่อมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเป็นข้าวพันธุ์ส่งเสริม ชาวนาไม่ให้ความสำคัญกับการคัดพันธุ์ข้าวดังที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งทำให้คุณภาพของข้าวที่ชาวนาปลูกมีคุณภาพต่ำลง การซื้อเมล็ดพันธุ์และการข้าวใช้พันธุ์ส่งเสริมยังทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้นอีกด้วย
การเรียนรู้เรื่องเทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวจะทำให้ชาวนาได้สายพันธุ์ข้าวที่มีความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ มีความสม่ำเสมอทั้งคุณภาพและรสชาติการหุงต้ม สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น หากมีการปรับเปลี่ยนเป็นการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีก็จะทำให้ลดต้นทุนการทำนาลง
การคัดพันธุ์ข้าวมีหลายวิธีการคัดพันธุ์ข้าวแบบดั้งเดิมที่ชาวนาเคยทำกันมา คือการคัดเลือกข้าวจากแปลงนาที่ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ไม่มีข้าวพันธุ์อื่นขึ้นปน และการคัดเลือกเก็บรวงที่สมบูรณ์ไว้สำหรับทำพันธุ์ แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของเมล็ดข้าว เช่น ปัญหาท้องไข่ ความมันวาว เม็ดร้าว เม็ดบิดเบี้ยว ข้าวปน เป็นต้น จึงมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวกล้องที่จะเรียนรู้จากเอกสารเล่มนี้ เป็นเทคนิคใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิข้าวขวัญ จากการทดลองในพื้นที่ของมูลนิธิฯ และเครือข่ายชาวนากลุ่มแสงตะวัน จังหวัดพิจิตร พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวและสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคนิคการคัดพันธุ์ข้าวที่จะเรียนรู้จากเอกสารเล่มนี้ประกอบด้วย การคัดพันธุ์ข้าวจากรวง การคัดพันธุ์ข้าวจากแปลงนา และการคัดพันธุ์ข้าวจากข้าวกล้อง แต่ละเทคนิคมีขั้นตอนดังนี้
1. การคัดพันธุ์ข้าวจากรวง
ขั้นตอน
1. เกี่ยวพันธุ์ข้าวที่ต้องการในแปลงนา โดยเลือกต้นที่ห่างจากพันธุ์อื่นๆ 1-2 เมตร ตามปริมาณที่ต้องการ
2. นำรวงข้าวที่เกี่ยวมาแล้วมาผึ่งแดด 2-3 แดด
3. หลังจากนั้นนำมาคัดเลือกรวงที่มีลักษณะรวงใหญ่ ยาว เมล็ดสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยของโรคหรือแมลงรบกวน
4. นำรวงที่คัดเลือกแล้วมานวดรวมกัน ตากแดด 1-2 แดด แล้วจัดเก็บใส่ถุงเพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อไป
2. การคัดพันธุ์ข้าวในแปลงนา
ขั้นตอน
1. เลือกแปลงนาที่มีข้าวเจริญเติบโตดีไม่มีโรคและแมลงรบกวน
2. ไม่มีข้าวพันธุ์อื่น ขึ้นมาปน
3. เลือกเก็บรวงที่มีการติดเมล็ดดีตะแง้ถี่รวงยาวคอรวงใหญ่มีลักษณะตรงตามแต่ละพันธุ์ที่เลือกเก็บ
4. ในการเก็บเกี่ยวเพื่อทำพันธุ์นั้น ให้เกี่ยวรวงข้าวที่อยู่ห่างจากขอบแปลงข้างละ 1 เมตร เพื่อป้องกันการปนกับข้าวอื่นๆเก็บประมาณ 200 รวง ต่อหนึ่งพันธุ์หรือให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละพันธุ์
5. นำรวงข้าวไปนวดหรือตากแดด ประมาณ 1-2 แดด หรือ ความชื้น ประมาณ 14% หลังจากนั้นบรรจุเมล็ดในภาชนะที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ถุงผ้า กระสอบ เป็นต้น
6. เขียนชื่อพันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยว
* การทำเช่นนี้ 1-2 ฤดูการผลิต จะทำให้เกษตรกรสามารถรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ได้ หรืออาจได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่จากการคัดเลือกเช่นนี้ได้
3. การคัดพันธุ์จากข้าวกล้อง
3.1 การแกะข้าวกล้องด้วยมือ
ขั้นตอน
1. นำเมล็ดข้าวเปลือกสายพันธุ์ที่ต้องการมาประมาณครึ่งกิโลกรัม
2. ฝัดทำความสะอาดเพื่อให้เมล็ดลีบออกไป
3. แกะเปลือกด้วยมือโดยแกะจากทางด้านหางของเมล็ดข้าวเพื่อไม่ให้จมูกข้าวถูกทำลาย
4. เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ และเมล็ดมีความมันวาว ไม่เป็นโรค ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิวให้ได้จำนวนประมาณ 100 เมล็ด
5. นำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดเลือกได้ไปเพาะเป็นต้นกล้า
3.2 การกะเทาะด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง
ขั้นตอน
1. นำเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ที่ต้องการมาประมาณ 1-2 กิโลกรัม
2. ฝัดทำความสะอาดเพื่อให้เมล็ดลีบออกไป
3. นำข้าวเปลือกไปสีด้วยเครื่องสีข้าวกล้อง
4. นำข้าวกล้องที่สีได้มาฝัด
5. เลือกข้าวกล้องเมล็ดสมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ และเมล็ดมีความมันวาว ไม่เป็นโรค ไม่เป็นท้องไข่หรือท้องปลาซิวให้ได้จำนวนตามที่ต้องการ
6. นำเมล็ดข้าวกล้องที่คัดเลือกได้ไปเพาะเป็นต้นกล้า
ป้ายคำ : ข้าว, มูลนิธิข้าวขวัญ