กิจการเพื่อสังคม คือ ธุรกิจหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม/สิ่งแวดล้อม โดยมีรายได้หลักมาจากการค้าหรือการให้บริการ (มากกว่าการรับบริจาค) เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองได้ทางการเงินและ นำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคมที่ตั้งไว้
กิจการเพื่อสังคม เป็นการเชื่อมโยงจุดแข็งของสองภาคส่วน คือ การจัดการที่มีประสิทธิภาพของภาคธุรกิจเอกชน มาร่วมกับการมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของภาคสังคม เพื่อทำให้เกิดทางแก้ไขปัญหาที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน
กิจการเพื่อสังคม คือ กิจการหรือธุรกิจที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสภาพแวดล้อมของมนุษย์เป็นหลัก โดยนำโมเดลธุรกิจมาใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างรายได้ ซึ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนเพื่อขยายผลต่อไป หรือนำกลับเข้าสู่ชุมชน
สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ฟิวชัน ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงนิยามหลักๆ ที่ทั่วโลกใช้กับกิจการเพื่อสังคม
ส่วนมุมมองต่อผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น คุณสุนิตย์มองว่าโดยพื้นฐานแล้วไม่ต่างกับนักธุรกิจทั่วไป เนื่องจากเป็นผู้ที่เห็นปัญหาและโอกาสทางสังคมไปพร้อมๆ กัน มีวิธีคิดและการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา โดยสามารถสร้างรายได้ได้ด้วย เพียงแต่มีเป้าหมายต่างกันเท่านั้น
ด้านผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างกิจการเพื่อสังคมกับธุรกิจทั่วไป 3 ด้าน หนึ่ง เป้าประสงค์ ธุรกิจนั้นแสวงหาผลกำไรสูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ ส่วนกิจการเพื่อสังคมจะคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจกับสังคม สอง the bottom line หากเป็นธุรกิจก็คือ รายได้ลบรายจ่าย สุดท้ายแล้วได้ผลกำไรเท่าไหร่ ส่วนกิจการเพื่อสังคมจะดูว่าผลประกอบการที่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน สาม ธุรกิจคำนึงถึงผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่กิจการเพื่อสังคมต้องการสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากองค์กร
ส่วนความแตกต่างระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs กับผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น คุณสุนิตย์กล่าวว่า NGOs เป็นรูปแบบองค์กรชนิดหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการเพื่อสังคมเป็นคุณลักษณะส่วนตัวของคนที่สามารถเห็นโอกาสทางสังคม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเพื่อสังคมจะอยู่ในองค์กร NGOs หรือ องค์กรสาธารณประโยชน์ก็ได้ แต่ต้องสามารถสร้างความยั่งยืนทางการเงิน และแก้ปัญหาสังคมไปด้วย เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืชเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจ ต่อมาจึงเริ่มคิดว่าจะกระจายสินค้าให้เป็นระบบได้อย่างไร เริ่มทำการตลาด กระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ดอยตุง สร้างงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ชาวไทยภูเขา ในกรณีนี้จะเรียกว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็ได้ หรือคุณมีชัย วีระไวทยะ ก็ทำสองรูปแบบไปพร้อมๆ กัน ทั้งมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และร้านอาหาร Cabbages & Condoms ซึ่งนำรายได้ไปสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
ส่วนใหญ่กิจการเพื่อสังคมตั้งขึ้นเพื่อ
1. สร้างงานให้คนด้อยโอกาสทางสังคม
– Be Magazine นิตยสารที่เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายตามจุดต่างๆในกรุงเทพฯ
2. สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่นให้บริการด้านสาธารณสุขในชุมชน
– “เป็นสุข” ศูนย์สร้างและดูแลสุขภาพ โดยการใช้เทคโนโลยี อาหาร วิถีธรรมชาติ ร่วมกับการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ในราคาถูกแต่คุณภาพดี และมีการแบ่งสัดส่วนกำไรจากการให้บริการ เพื่อนำไปทำประโยชน์ให้สังคมในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้
3. นำกำไรไปสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิ
– Cabbages & Condoms ร้านอาหารรสเลิศที่นำกำไรทั้งหมดเข้ามูลนิธิ PDA
Non profit ทำไมมีกำไรก็ได้ สังคมก็ดีด้วย
ต้องบอก ว่า กิจการเพื่อสังคมยังเป็นอีกทางออกสำคัญของทางตันที่มูลนิธิ เอ็นจีโอ และหน่วยงานการกุศลแทบทุกองค์กรต้องเจอ นั่นคือการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการขับเคลื่นกิจกรรม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่ให้มูลนิธิและองค์กรการกุศลหารายได้ มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการขอทุนทั้งในและนอกประเทศ บางองค์กรได้รับการสนับสนุน บางองค์กรไม่ หลายต่อหลายคนจึงต้องเลือกระหว่างสู้กับปัญกาแบบไม่มีแรง หรือก้มหน้ายอมจำนนไป แต่ถ้ามูลนิธิเหล่านั้นตั้งกิจการเพื่อสังคมขึ้นโดยมีแนวทางการแก้ปัญหา สังคมที่ชัดเจนแข็งแรงอยู่แล้ว เพียงแค่ออกแบบการขับเคลื่อนธุรกิจให้เข้าจังหวะ กำรี้กำไรก็จะวิ่งเข้าสู่ระบบ แล้วหมุนเวียนขับเคลื่อนการแก้ปัญกาไปข้างหน้า โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งทุนดาบหน้าอีกต่อไป
SMEs ธุรกิจขนาดกำลังดี กับ SE ธุรกิจทำให้สังคมดี
ถ้า ให้พูดแทนใจคนยุคใหม่ ก็ต้องบอกว่าหนุ่มสาวสมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะเป็นลูกจ้างใครไม่ว่ารัฐ หรือเอกชน หลายๆคนจึงอยากมีกิจการเล็กๆบริหารจัดการเองได้ง่ายๆ มีกำรี้กำไรพอจะเดินหน้าธุรกิจต่อไปอย่างไม่ฝืดเคือง โดยมีฟันเฟืองเป็นไอเดียสดใหม่สุดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่กี่ปีมานี่เราจึงมีธุรกิจเอสเอ็มอีใหม่ๆผุดขึ้นมาในระดับคึกคัก ซึ่งจากลักษณะดังว่า SMEs กับ SE เหมือนพี่น้องที่คลานตามกันมา สามารถยืมเสื้อผ้าใส่กันได้ เพราะกิจการเพื่อสังคมส่วนใหญ่มักเริ่มจากการที่คนเล็กๆ ริ อยากจะทำอะไรใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสนใจสิ่งแวดล้อมนั่นเองSE จึงอาจเป็น choice สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์ self esteem และ social ได้พร้อมๆกันแบบไม่หวั่นภาวะ คนดีกินแกลบ เลยหละ
SE มีดีที่ความครีเอทีฟ
ไม่ ใช่เงินทุนมหาศาลหรือต้องกู้เงินธนาคารมาทุ่มใส่ธุรกิจ สิ่งที่จะขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมไปข้างหน้าได้ มักจะเป็นน้ำมันแห่งความคิดสร้างสรรค์ในการค้นหาวิธีการและรูปแบบใหม่ๆในการ แก้ปัญหาสังคมทั้งที่เพิ่งเกิดและกำลังจะแตกหน่อ หรือฝังรากระดับต้องขุดรากถอนโคน ตัวอย่างบันลือโลกได้แก่ ธนาคารกรามีนแห่งบังกลาเทศที่มูฮัมหมัด ยูนุสออกแบบวิธีไมโครเครดิต ให้เงินกู้สำหรับคนยากจนที่ธนาคารทั่วไปปฏิเสธเพราะไม่มีหลักทรัพย์หรือ หน้าที่การงานรับประกัน แต่แทนที่เงินกู้จะกลายเป็น NPL ตัวแดงพรืด ลูกค้ายากจนของกรามีนกลับผ่อนชำระหนี้สินที่ยืมไปได้หมดสิ้น แถมยังมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจากเงินทุนที่ตนได้รับไป ส่งผลให้เขาได้รับการยกย่องด้วยรางวัลโนเบล หรือนวัตกรรมอื่นๆเช่น Playpumps ที่ออกแบบสวนสนุกให้เด็กในแอฟริกาใต้แสนแห้งแล้งได้เล่นสนุก แต่กลไกของมันสามารถช่วยปั๊มน้ำสะอาดให้คุณแม่ได้อีกทางหนึ่ง หรือ Lifestraw อุปกรณ์กรองน้ำที่ขายถูกๆสำหรับคนในประเทศยากจนที่มีปัญหาเรื่องน้ำดื่ม สะอาด และการสร้างโรงกรองน้ำเป็นเรื่องโอ่อ่าเกินตัว พวกเขาจึงได้นวัตกรรมหลอดกรองน้ำขนาดพกกา ทำหน้าที่เหมือนหลอดดูดน้ำทั่วไป แต่สามารถกรองแบคทีเรียและพยาธิได้ถึง 99.99% ไปใช้แทน เป็นอาทิ เรียกได้ว่า ต้นทุนทางความคิดเป็นทุนสำคัญสำหรับธุรกิจนี้เชียวล่ะ
ไม่อยากตกเทรนด์ต้องเป็น Social Entrepreneur
ไม่ ได้เพิ่งมาแล้วเดี๋ยวก็ไปเหมือนแฟชั่น สปริง / ซัมเมอร์ แต่ที่บอกว่าเป็นเทรนด์เพราะจากการสำรวจ พบว่าคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ อยากเป็น Social Entrepreneur กันเพียบ เพราะนับวัน ปัญหาสังคมยิ่งเข้าใกล้ตัวเราๆ ท่านๆ มากยิ่งขึ้นจนไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ แต่จะลุกขึ้นมาโพกผ้าต่อต้านพืช GMOs หรือประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีเงื่อนงำก็เกรงว่าจะไม่ใช่ทาง อย่างไรเสีย คนหนุ่มสาวก็ยังอยาก tweet via iPhone นัดไปหาที่แฮงก์เอาท์เก๋ๆ ในคืนวันเสาร์ หรืออยากลุกขึ้นมาทำอะไรสนุกๆ หลุดโลกบ้าง S.E. จึงเป็นคำตอบอย่างที่ข้อที่แล้วว่าไว้ แต่แค่อยากแล้วจากไป แอคชั่นก็ไม่เกิด ในอังกฤษ ที่เรียกว่าเป็นประเทศต้นแบบของ S.E. จึงมีการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมอย่างแข็งขันอาทิ ริเริ่มหน่วยงานของรัฐอย่าง Office of the Third Sector ที่มีหน้าที่ผลักดันและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมทั้งในด้านการให้ข้อมูล คำปรึกษา แหล่งทุน ฯลฯ ให้กิจการเพื่อสังคมรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ และบุคคลที่สนใจจะทำ ด้านกฎหมาย อังกฤษก็มีการให้เครดิตทางภาษีกับกิจการเพื่อสังคมเพื่อส่งเสริมให้มีกิจการ ประเภทนี้มากขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย หรือแม้แต่ในประเทศต่างๆ อย่างแคนาดา สหรัฐอเมริกา หรือสิงคโปร์ใกล้บ้านเรา ก็มีการตื่นตัวเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราจึงได้เห็นเจมี่ โอลิเวอร์ พ่อครัวสุดเก๋แห่งเกาะอังกฤษ ลุกขึ้นมาเป็น social entrepreneur ด้วยการเปิดร้านอาหารที่มีพ่อครัว เด็กเสิร์ฟ แคชเชียร์ เป็นอดีตคนคุก เพื่อให้โอกาสกับคนที่แทบจะไม่มีทางได้รับโอกาสจากคนอื่น พร้อมใบผ่านงานที่ให้เขาไปทำงานที่อื่นๆ ได้ต่อไป เห็นนักธุรกิจสิงคโปร์ที่ออกมาก่อตั้งวันส้วมโลกเพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหา ส้วมถูกสุขลักษณะและจัดอบรมสร้างอาชีพให้คนดูแลส้วม เป็น specialist ที่ทุกคนต้องยกย่อง และเห็นกิจการเล็กใหญ่มากมายที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหาสังคมคนละปม กระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วโลก
ที่มา
สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.)
http://www.tseo.or.th
ป้ายคำ : ภูมิปัญญา