ขนุน บำรุงกำลัง ลดน้ำตาลในเลือด

27 มกราคม 2557 ไม้ผล 0

ขนุนไม้มงคลของไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีรสชาติหอมหวาน ถูกปากนักชิมที่ชอบผลไม้ทั้งหลายมานาน ผลขนุนอ่อนจะมีใยอาหารมาก จึงมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายทำให้การบีบตัวของลำไส้เป็นไปอย่างปกติ ทำให้ท้องไม่ผูก สุขภาพดีอาการท้องอืดท้องเฟ้อก็ไม่มีเช่นกัน อีกทั้งรสฝาดของขนุนยังช่วยรักษาอาการท้องเสียได้ด้วย ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบการขับถ่ายของเราอย่างมาก ส่วนขนุนสุกก็มีคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลมาก จึงทำให้ผู้กินสดชื่น แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยง เพราะจะยิ่งเพิ่มระดับน้ำตาลให้มากขึ้น ส่วนสีต่างๆ ในเนื้อขนุนที่มีสารแคโรทีนยังเป็นสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน จึงป้องกันมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

kanoon

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อสามัญ : Jack fruit tree
วงศ์ : MORACEAE
ชื่ออื่น : ขะนู (ชอง-จันทบุรี) ขะเนอ (เขมร) ซีคึย, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) นะยวยซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) นากอ (มลายู-ปัตตานี) เนน (ชาวบน-นครราชสีมา) มะหนุน (ภาคเหนือ,ภาคใต้) ล้าง,ลาน (ฉาน-เหนือ) หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากกลาง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 – 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10 – 15 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ถึงแหลม โคนใบมน ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบหนาผิวใบด้านล่างจะสากมือ
  • ดอก เป็นช่อแบบช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน ดอกเพศผู้เรียกว่า “ส่า” มักออกตามปลายกิ่ง ดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และตามลำต้นยอดเกสรเพศเมีย เป็นหนามแหลม การออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม และเมษายน – พฤษภาคม ส่วนของเนื้อที่รับประทานเจริญมาจากกลีบดอก ส่วนซังคือกลีบเลี้ยง
  • ผล เป็นผลรวมมีขนาดใหญ่

kanoondpk kanoonpols kanoonpah kanoonmed

นิเวศวิทยา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียเป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดสามารถ บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ขนุนเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่ของประเทศไทย สภาพของดินที่ใช้ปลูกที่เหมาะสมควรมี PH อยู่ระหว่าง 5.5-7.5 ดินควรเป็นดินร่วน หรือร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี อายุการให้ผลจะเริ่มให้ผลเมื่ออายุประมาณ 4 ปี สามารถให้ผลต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 25 ปี อายุตั้งแต่เริ่มออกดอกถึงดอกบาน 20-25 วัน หลังดอกบานผลจะแก่เมื่ออายุ 120-150 วัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นเมื่ออายุประมาณ 10 ปี อยู่ระหว่าง 25-30 ผล น้ำหนักต่อผลมีตั้งแต่ 5-50 กิโลกรัม ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าเป็นขนุนในฤดูจะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤษภาคม และถ้าเป็นขนุนนอกฤดูจะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม

ออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม และเมษายน – พฤษภาคม

ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง

kanoonloog

ประโยชน์ ผลอ่อนใช้ปรุงอาหารผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด รากและแก่นให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบเผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด โรยรักษาบาดแผล

สรรพคุณ

  • ยวงและเมล็ด – รับประทานเป็นอาหาร
  • แก่นของขนุน – ต้มย้อมผ้าให้สีน้ำตาลแก่
  • ส่าแห้งของขนุน – ใช้ทำชุดจุดไฟได้
  • แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด – มีรสหวานชุ่มขม บำรุงกำลังและโลหิต ทำให้เลือดเย็น สมาน
  • ใบขนุนละมุด – เผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสหยอดหู แก้ปวดหู และหูเป็นน้ำหนวก
  • ไส้ในของขนุนละมุด – รับประทานแก้ตกเลือดทางทวารเบาของสตรีที่มากไปให้หยุดได้
  • แก่นและเนื้อไม้ – รับประทานแก้กามโรค
  • ใบขนุน รสหวานชุมขม (สุขุม) บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท แก้โรคลมชัก ต้มดื่มแก้ท้องเสีย ทาแก้โรคผิวหนัง นำใบขนุนแก่ 5- 10 ใบ มาต้มในน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 15 นาที นำมาดื่มเช้า- เย็น ก่อนอาหาร
  • ยางขนุน รสฝาด แก้อักเสบบวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเนื้อหุ้มเมล็ดสุก รสหวานหอม บำรุงกำลัง ชูหัวใจให้สดชื่น เป็นยาระบายอ่อนๆ หรือหมักทำเหล้า
  • เนื้อในเมล็ด รสมัน บำรุงน้ำนม ขับน้ำนม บำรุงกำลัง ควรต้มหรือเผาให้สุกก่อนรับประทาน

การปลูกเเละการดูเเลรักษา
วิธีการปลูก

  1. ใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการทาบกิ่ง ติดตา หรือเสียบยอด
  2. ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
  3. ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 50 ซม.
  4. ผสมดินด้วยปุ๋ยคอกจำนวน 5 กิโลกรัม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตจำนวน 500 กรัม เข้าด้วยกันในหลุมให้สูง ประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
  5. ยกถุงต้นพันธุ์วางในหลุมโดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
  6. ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปลายถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
  7. ดึงถุงพลาสติกออกโดยระวังอย่าให้ดินแตก
  8. กลบดินที่เหลือลงในหลุม อย่ากลบดินให้สูงถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ
  9. กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
  10. ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดกันลมพัดโยก
  11. หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
  12. รดน้ำให้ชุ่ม
  13. ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด
  14. แกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ เมื่อปลูกไปแล้วประมาณ ครึ่งเดือน

kanoonkla

การให้น้ำ
หลังการปลูกถ้าฝนไม่ตกควรรดน้ำทุกวัน หลังจากนั้นถ้าฝนไม่ตกอีกควรรดน้ำประมาณ 3-4 วัน/ครั้ง จนเห็นว่าตั้งตัวดีจึงเว้นการรดน้ำให้ห่างออกไป ในฤดูแล้งนั้นควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

kanoonpons

การปฏิบัติอื่นๆ
หลังจากปลูกไปแล้วเมื่อต้นมีการเจริญเติบโตสูงประมาณ 70 ซม. ควรตัดยอด หรือเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งแขนงข้าง แล้วเลือกกิ่งแขนงไว้ประมาณ 3-4 กิ่ง โดยเลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ทำมุมกว้างกับลำต้น ในปีที่ 2-3 ปล่อยให้กิ่งแขนงที่เลือกไว้เจริญเต็มที่ แต่ถ้ามีกิ่งแขนงย่อยแตกจากกิ่งแขนงใหญ่แน่นเกินไป ให้ตัดกิ่งแขนงย่อยออกบ้าง นอกจากนี้ให้ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่ฉีกขาดและแห้ง กิ่งกระโดงออก โดยเฉพาะหลังเก็บเกี่ยวแล้ว

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น