คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ประจำบ้านจะช่วยทำผู้อาศัยให้เกิดความมั่นคง มีความแข็งแกร่ง อดทนได้ดีเยี่ยม ช่วยป้องกันศัตรูจากภายนอก ทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายที่เกิดจากผู้ที่ไม่หวังดีหรือศัตรูที่อาจมาทำอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน และใบข่อยยังนำมาใช้โบกพัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปจากบ้านได้อีกด้วย และเพื่อความเป็นสิริมงคลจะนิยมปลูกต้นข่อยในวันเสาร์และปลูกไว้ทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ต้นข่อยเป็นวัสดุที่ใช้ในการสื่อสารที่สำคัญในอดีตหรือที่เรียกกันว่า สมุดข่อย เพราะเนื้อไม้มีความแข็งแรงคงทน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : StreblusasperLour.
ชื่อวงศ์ : MORACEAE
ชื่อสามัญ : Siamese rough bush, Tooth Brush Tree
ชื่อพื้นเมือง : กักไม้ฝอย (ภาคเหนือ), ส้มพอตองขะแหน่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ลักษณะ
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดกลาง สูงถึง 5-10 เมตร เปลือกสีเทาอมเขียว เปลือกในสีขาวหนา ผิวเรียบบาง มักมีขนอยู่โดยทั่วไป มียางขาวข้น แตกกิ่งก้านหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายแหลมและมีติ่งแหลมสั้น โคนสอบแคบ ผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่างหนามากและสากคายเหมือนกระดาษทราย ขอบใบหยักฟันเลื่อย ก้านใบสั้นมาก ยาว 1-3 มิลลิเมตร หูใบรูปหอก ยาว 2-5 มิลลิเมตร มีขนราบ หลุดร่วงง่าย เส้นใบที่โคนมี 1 คู่ สั้น ไม่มีต่อม
ดอก สีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กมาก ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ช่อดอกเพศผู้เป็นกระจุกกลม มี 5-15 ดอก เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 6-10 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกยาว 3-15 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย หรือเกลี้ยง มีใบประดับเล็กๆ 1-2 ใบ ที่โคนก้านใบ บางครั้งพบมีอีก 1 ใบ บนก้าน และมีใบประดับเล็กๆ อีก 2-3 ใบ ที่ปลายก้าน ดอกเพศผู้มีก้านสั้น กลิ่นหอม มีส่วนต่างๆจำนวน 4 วงกลีบรวม ยาว 1 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย เกสรเพศผู้สีขาว ดอกเพศเมียออกเดี่ยว มีก้านยาว กลีบดอกสีเขียวปนเหลือง มีก้านดอกเล็ก ยาว 1-4 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับมี 2 ใบ รูปไข่ ปลายแหลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร แนบไปกับวงกลีบรวม วงกลีบรวมยาว 2 มิลลิเมตร รูปไข่แหลม มีขนเล็กน้อย ก้านเกสรเพศเมียยาว 1 มิลลิเมตร และยาวขึ้นถึง 6-12 มิลลิเมตร เกลี้ยง
ผล สด รูปกลม หรือรูปไข่ ขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร มีเมล็ดเดียว ผลแก่สีเหลืองหรือส้ม ฉ่ำน้ำ เมื่อแรกรวมอยู่กับวงกลีบรวมที่ใหญ่ขึ้น ยาว 5-8 มิลลิเมตร ต่อไปเมื่อแก่จะโผล่จากวงกลีบรวม และวงกลีบรวมจะงอพับ มีกลีบเลี้ยงสีเขียวหุ้ม ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมียคล้ายเส้นด้ายติดอยู่ ก้านผลยาว 7-27 มิลลิเมตร เมล็ดกลม กว้าง 4-5 มิลลิเมตร สีขาวแกมเทา พบตามที่ลุ่ม ป่าเบญจพรรณทั่วไป และป่าละเมาะ ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เส้นใยใช้ทำกระดาษข่อย
ประโยชน์ของข่อย
สรรพคุณของข่อย
ตำรายาไทย
ตำรายานครราชสีมา ใช้ ใบ แก้ท้องเสียโดยนำใบ 1 กำมือ ตำให้แหลกผสมกับน้ำประมาณครึ่งแก้วดื่ม เปลือกต้น แก้รำมะนาด โดยนำเปลือกผสมกับเกลือทะเลอย่างละเท่าๆกัน ต้มให้เกลือละลาย อมเช้า-เย็น หลังอาหารและก่อนนอน
ตำราเภสัชกรรมล้านนา ใช้ ใบ เปลือก ราก และเมล็ด รักษาอาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ รักษาเหงือก แก้ปวดฟัน
ประเทศพม่า ใช้ เปลือกต้นแก้ท้องร่วง แก้ปวดฟัน ช่วยให้ฟันแข็งแรง ต้มน้ำกินแก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องเสีย และแก้มะเร็ง เป็นยาอายุวัฒนะ
องค์ประกอบทางเคมี
ราก พบสารที่มีฤทธิ์ต่อหัวใจ Cardiac glycoside มากกว่า 30ชนิด เช่น asperoside, strebloside, glucostreblolide
การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำ ซึ่งวิธีที่นิยมและได้ผลดีคือการปักชำ หรือจะขุดล้อมจากธรรมชาติมาปลูกเลี้ยงก็ได้ แต่ควรมีขนาดลำต้นไม่เกิน 3 เซนติเมตร เพราะหากโตกว่านี้จะเลี้ยงรอดยาก
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), เว็บไซต์โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน),
ป้ายคำ : สมุนไพร