ถ้าใครพูดถึงสบู่ธรรมชาติ เป็นต้องนึกถึงเขาคนนี้ เพราะเขาเป็นผู้ริเริ่มการเผยแพร่ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยเน้นการพึ่งตัวเอง ตระหนักถึงการสร้างจิตสำนึกเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และไม่เกี่ยวข้องกับการค้าใดๆ
ปัจจุบันครอบครัวของเขา ไม่ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำกลิ่นแรงๆ ยาฆ่าแมลง มด ปลวก ปลูกผักปลอดสารในบ้านจัดสรร ทำยาสีฟัน สบู่ แชมพูในครัวเรือน คมสัน หุตะแพทย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา และบรรณาธิการบริหารวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ เป็นบุคคลที่เรากล่าวถึง อีกบทบาทหนึ่งเขาเป็นวิทยากรอบรมเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม อาทิเช่น สารพัดวิธีการเพาะถั่วงอก การทำยาสีฟันธรรมชาติใช้เอง การบีบน้ำมันงา ฯลฯ
อีกไม่นานเกินรอ…เขาจะทำคู่มือพึ่งตัวเองให้ครอบคลุมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตตามหลักปัจจัย 4 เพราะความรู้ที่ถ่ายทอดมาเกือบ 20 ปี ทำให้เขารู้ว่า เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์ต่อชีวิต
กว่าจะผสานชีวิตกับงานให้ลงตัว เขาตั้งคำถามง่ายๆ แต่ทำยากว่า เมื่อคุณสอนให้เกษตรกรปลูกผักปลอดสาร แล้วคุณทำได้ไหม คำตอบแรกๆ คือ “ไม่เคยทำ ทำไม่เป็น” จึงต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ ลงมือทำด้วยตัวเอง
ก่อนจะลงมือทำเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมองข้าม คุณก็เหมือนคนเมืองทั่วไป คือชีวิตกับงานเป็นคนละเรื่องกัน อยากให้เล่าย้อนถึงตัวเองสักนิด
ผมเรียนจบวิศวะไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบมาแล้วผมไม่ได้ทำงานด้านวิศวะเลย เพราะผมสนใจปัญหาสังคม ปีพ.ศ.2522-2533 เริ่มทำงานกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ยุคหลัง 6 ตุลา ผมทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี เน้นด้านข้อมูลและการเขียนหนังสือ ผมคิดว่าปัญหาหลักของเมืองไทยน่าจะอยู่ในชนบท ตอนนั้นอยากทำงานเพื่อเกษตรกร จึงออกมาทำงานกับสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผมนับถือคริสต์ สมัยนั้นองค์กรที่ทำงานเพื่อการพัฒนาชนบทมีไม่กี่องค์กร ผมพยายามระดมเงินจากเมืองสู่ชนบท สมัยนั้นพระไพศาลได้ริเริ่มโครงการผ้าป่าข้าว ผ้าป่าปัจจัย 4 เราก็ทำธนาคารควาย ธนาคารข้าว จนมีปัญหาภายในองค์กรก็เลยลาออก
การทำงานในชนบท กลายเป็นรากฐานสำคัญในชีวิต แล้วทำไมคุณมาตั้งมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา
มูลนิธินี้รวมๆ แล้วตั้งมากว่า 20 ปี ตอนนั้นสื่อที่จะนำความรู้มาให้ชาวบ้าน หรือนำข้อมูลของชาวบ้านมาถึงคนทั่วไป ยังไม่ค่อยมีคนทำ ก็เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นวิดีโอ สไลด์ ตอนนั้นศูนย์สื่อแห่งนี้ทำวิดีโอเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทมากที่สุดในเมืองไทย เพราะช่วงนั้นเอ็นจีโอไม่สนใจทำงานด้านมีเดีย ต่างจากสมัยนี้มีคนทำเยอะ เราได้เรียนรู้จากชาวบ้านมากมาย แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก เราไปสอนให้ชาวบ้านปลูกผัก โดยไม่ใช้สารเคมี ก็ต้องย้อนถามตัวเองว่า แล้วเราปลูกผักหรือทำการเกษตรเป็นไหม ปรากฏว่า เราทำไม่เป็นเลย ก็เหมือนคนเมืองทั่วไป
นี่คือสาเหตุที่ทำให้คุณหันมาลงมือทำด้วยตัวเอง
เราเริ่มคิดว่า ทำไมชีวิตกับงานเป็นคนละเรื่อง เราไปสอนให้ชาวบ้านทำตามอุดมการณ์ของเรา แต่เราทำอะไรไม่เป็นเลย มีความคิดอยากให้คนปลูกผักปลอดสาร แต่เราก็ยังกินอาหารในท้องตลาดที่ไม่รู้ว่ามีสารเคมีหรือไม่ ชีวิตกับอุดมการณ์เป็นคนละเรื่อง พอทำงานไปได้สิบปี เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง เพราะเราต้องพึ่งพิงคนอื่น พอมีลูกคนแรก ก็เริ่มคิดว่า ชีวิตจะทำอย่างไร ถ้าอยากทำงานต่อ ต้องไม่ขอทุนต่างประเทศ ต้องทำให้องค์กรเลี้ยงตัวเองได้ เริ่มคิดใหม่ว่า เรื่องที่ทำ ตัวเราต้องทำก่อน และรู้จริงในเรื่องนั้นๆ จนเป็นที่มาของวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ
ผมเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราสนใจ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผมเริ่มปลูกผักในบ้านจัดสรร ใช้เวลากว่า 3 ปีในการปรับปรุงดิน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่ายๆ ตอนนั้นก็มีคนสนใจว่าทำไมคนเมืองมาปลูกผัก ผมก็เอาสิ่งที่ทำมาเขียนในวารสาร ก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ เพราะสมัยนั้นไม่มีใครทำเรื่องสารเคมีในบ้านเรือน จริงๆ แล้วไม่ยาก ต้องรักจริง ไม่ใช่สนใจเฉพาะรูปแบบ ผมปลูกผักทุกอย่างในบ้าน บ้านหลังแรกเนื้อที่ประมาณ 75 ตารางวา ตอนนั้นปลูกผัก 11 แปลง มีพื้นที่ตรงไหนก็ขุดดินปลูกผัก คนข้างๆ บ้านก็มาดู ตอนนั้นลูกผมทุกคนทำได้หมด
ชีวิตกับงานเริ่มเป็นเรื่องเดียวกันแล้วใช่ไหม
พอเราเริ่มคิดว่า งานกับชีวิตต้องเป็นเรื่องเดียวกัน เราก็คิดต่อว่า ประเด็นไหนเป็นเรื่องความต้องการของสังคม เราก็เอาตัวเองเป็นตัววัด คือ เราเป็นชนชั้นกลาง ห่วงลูกหลานและสิ่งแวดล้อม อันดับแรกต้องหยุดใช้สารเคมีในบ้าน เราไม่รู้ว่าเป็นอันตรายอย่างไร ก็ต้องศึกษาเพราะสารเคมีพวกนี้ แม้จะฉีดในบ้านผ่านไปเป็นเดือนๆ ก็มีผลต่อร่างกาย จะทำลายระบบประสาท อย่างเราจะเลิกใช้ยาฆ่าแมลง มด และแมลงสาบ เราต้องหาสารธรรมชาติทดแทน ลองทำดูก็ได้ผล อย่างสารทำความสะอาดในบ้านเรือน เพราะมีช่วงหนึ่งลูกจ้างในบ้านใช้น้ำยาขัดห้องน้ำแล้วเกิดผื่นตามตัว และเคยเป็นลมคาห้องน้ำ พวกนี้อันตรายมาก เราก็ศึกษาหาสารทดแทนพวกน้ำส้มสายชู ผงฟู เกลือแกง ก็ดูจากภูมิปัญญาไทยและความรู้ของฝรั่ง แล้วชุดความรู้ก็เผยแพร่ออกไป
อะไรทำให้คุณรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว
ก็คือ ชีวิตเราอยู่ได้ เริ่มลดค่าใช้จ่าย อย่างบ้านไหนฉีดยาฆ่าแมลง ผมจะได้กลิ่นเลย แรกๆ แฟนก็แอบใช้ จมูกผมจะไวต่อเรื่องพวกนี้ พอเราทำเรื่องลงในวารสาร ปรากฏว่าการตอบรับดีมาก เพราะคนสนใจชุดความรู้ และเวลาอบรมบรรยายก็จะตื่นเต้นกัน จริงๆ แล้วมีหลายเรื่องที่ผมริเริ่มสอนคน แต่ผมยึดแนวทางว่า ผมจะไม่ทำสินค้าขาย จะเผยแพร่ความรู้ให้มากที่สุด ผมจะต้องศึกษาจนเข้าใจถึงจะสอนคนอื่นและเขียนเผยแพร่ เพื่อให้คนทำได้จริง ก็เลยมาวิเคราะห์ว่า ประเด็นอะไรน่าจะสำคัญในบ้าน เราก็ค้นพบว่า เรื่องการทำความสะอาด ตัวที่มีบทบาทต่อคนทั้งโลกคือ สารซักฟอกมีอยู่ในสบู่ แชมพู ยาสีฟัน สบู่เหลว น้ำยาห้องน้ำ สารตัวนี้คือ Sodium laureth sulfate ตัวนี้มีอิทธิพล ประเทศเราผลิตไม่ได้ ก็เลยมองย้อนไปที่ภูมิปัญญาในอดีต ก็คิดว่าน่าจะทำเรื่องการผลิตสบู่ธรรมชาติ อุปกรณ์ไม่มาก ทุนน้อย ทำเรื่องเล็กๆ แต่มีผลกระทบที่ดี
ช่วงปี 2542 ยังไม่มีใครพูดเรื่องการทำสบู่ธรรมชาติ แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยยังบอกว่า ความรู้เรื่องสบู่ธรรมชาติหายไปแล้ว มีไม่กี่รายในเมืองไทยที่ทำสบู่ธรรมชาติขาย เราก็เลยศึกษา แล้วเริ่มลองทำ จากนั้นเขียนในวารสาร เพราะสบู่ที่คนใช้ในท้องตลาด จะเอาส่วนดีๆ ของสบู่ออกไปคือ ไม่มีกลีเซอรีน ทำให้สบู่คุณภาพต่ำ สบู่บางประเภทเติมสารซักฟอก ทำให้ฟองเยอะ และสบู่บางกลุ่มเติมสี กลิ่น ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ ถ้าเราจะแพ้ ก็แพ้สารพวกนี้ ส่วนสบู่ธรรมชาติจะมีกลีเซอรีนคือ พวกน้ำมันจะทำให้นุ่มนวล และควรใช้กลิ่นธรรมชาติ เท่าที่ผ่านมาผมอบรมไปหลายพันคน จนมีคนทำเป็นอุตสาหกรรมและหลายคนผลิตส่งออก พอทำเรื่องนี้ก็ต่อยอดมาเรื่องแชมพูสระผม ทำเรื่องสบู่ก็ต้องใช้น้ำมันพืช เราก็ศึกษาเรื่องน้ำมันเพิ่มเติม ปรากฏว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะต่อไปน้ำมันจะขาดแคลน เราจะใช้น้ำมันพืชทดแทนได้ เราก็ศึกษาจนเริ่มทำเครื่องบีบน้ำมันใช้เอง
อย่างการทำยาสีฟัน หลักการไม่มีอะไรมาก ก็มีพวกสารขัดฟัน แคลเซียมคาร์บอเนต เกลือ ผงฟู เราอาจเติม ข่อย กานพลู อบเชย น้ำมันเปปเปอร์มินต์ คุณภาพเหมือนยาสีฟันทั่วไป ทำได้ทั้งแบบยาสีฟันผงและเหลว แต่ราคาต่างกันลิบ ทำเองราคาถูก ยาสีฟันที่ดีต้องไม่มีฟองหรือฟองน้อยๆ แต่ส่วนใหญ่จะเติมสารซักฟอก Sodium laureth sulfate อย่างในต่างประเทศมีการรณรงค์เรื่องสารตัวนี้ บางแห่งเขียนว่า ยาสีฟันชนิดนี้ No Sodium laureth sulfate เพราะสารเคมีสังเคราะห์ตัวนี้ แม้จะปริมาณไม่มาก แต่สามารถซึมเข้าไปสะสมในตับ ไต ในงานวิจัยต่างประเทศ ถ้าสารตัวนี้ผสมกับสารเคมีชนิดอื่นๆ ย่อมมีโอกาสเกิดสารก่อมะเร็ง
แล้วการทำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มีที่มาอย่างไรคะ
ตอนนั้นปี 2545 มีคนนำน้ำมันมะพร้าวมาขาย แพงมากขวดละ 200-300 บาท และไม่มีใครบอกวิธีการทำ เราก็เลยศึกษาและเขียนเผยแพร่ หลังจากนั้นทางวิชาการก็เริ่มหาวิธีการศึกษาวิจัยแบบอื่นๆ เราก็ศึกษาเรื่องน้ำมันงา น้ำมันทานตะวันด้วยเครื่องบีบขนาดเล็ก ประยุกต์จากเครื่องบีบน้ำมันสบู่ดำ
วางแนวทางการคิดค้นเรื่องพวกนี้อย่างไร
ทุกอย่างต้องปลอดสาร ใช้วัสดุในท้องถิ่น และทำเล็กๆ พึ่งตัวเองได้ แล้วทั้งหมดตอบคำถามผมได้ ผมวางไว้ว่า ทำให้ผมรู้ว่าอีก 5-10 ปี ผมจะใช้ชีวิตอย่างไร ผมไม่คิดว่า สังคมเมืองจะอยู่รอด ผมไม่ได้มุ่งหาเงินเยอะๆ แต่หาเงินมาเป็นทุนเพื่อทำเทคโนโลยี ผมคิดว่า มนุษย์จะอยู่รอดต้องกลับไปหาพื้นดิน เพราะวัตถุดิบและทรัพยากรค่อยๆ น้อยลง และมลภาวะจากเครื่องจักรจะสร้างปัญหา เมืองไทยไม่มีเงินมากพอจะซื้อเทคโนโลยีสะอาดระดับสูงมาใช้กับคนยากจน เราก็ควรกลับไปหาธรรมชาติ เพราะประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ อีก 40-50 ปี เมืองไทยจะมีประชากรกว่า 100 ล้านคน ถ้าเราไม่ฟุ่มเฟือยมากนัก และไม่จำเป็นต้องถอยหลังไปอยู่แบบอดีต เราสามารถใช้เทคโนโลยี แต่ต้องคิดใหม่หมุนเวียนการใช้พืชจากธรรมชาติได้มากขึ้น
การใช้พลังแสงแดดหุงข้าว คุณก็เคยทำมาแล้ว วิธีแบบนี้เหมาะกับการดำเนินชีวิตหรือ
เรามาคิดว่า คนชั้นกลางหาเงินเท่าไรก็ไม่พอใช้ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊สขึ้นราคา ทางออกของคนส่วนใหญ่คือ การหาเงินมากขึ้น ซึ่งมีอยู่วันหนึ่งบ้านผมไฟฟ้าดับ แก๊สหมด ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะออกไปกินข้าวนอกบ้าน แต่ผมถามตัวเองว่า เราจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปหรือ ในจีนหรืออินเดียที่ไม่มีฟืนใช้ ก็ใช้วิธีการหุงข้าวจากพลังแสงแดด การใช้แสงแดดโดยตรงเป็นสิ่งที่คนไทยควรนำมาใช้ พัฒนาเทคโนโลยีได้ แต่ข้อดีของคนไทยคือข้ออ่อนของคนไทย เพราะเรามีทรัพยากรที่สมบูรณ์มาก แต่เราไม่รู้จักพัฒนา อย่างเรามีพืชผักผลไม้จำนวนมาก แต่เราก็ขี้เกียจนำมาหมักดอง ขณะที่บางประเทศมีฤดูกาลเพาะปลูกแค่ 3-6 เดือน ทำให้ความรู้เทคโนโลยีไม่หยุดนิ่งเพราะต้องแก้ปัญหา แต่คนไทยรู้สึกว่า ยังมีแหล่งพลังงานอื่นๆ อีกมากมาย
ผมก็คิดว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ชีวิตไม่มั่นคง เพราะชีวิตไปฝากไว้กับคนอื่น ผมก็ใช้เวลาค้นตำราและอินเทอร์เน็ตทำเตาแสงอาทิตย์ใช้เอง วันนั้นโชคดีแดดจัด ทั้งๆ ที่ผมไม่มั่นใจว่า จะหุงข้าวได้สุก ผมรู้สึกว่า คนยิ่งเรียนสูงมากเท่าไร ก็จะขาดความไม่มั่นใจในเรื่องง่ายๆ ในการดำเนินชีวิต อย่างมีคนบอกว่า กว่าจะหุงข้าวสุกก็ใช้เวลากว่าสองชั่วโมง นี่คือประเด็นเรื่องวิธีคิดและวัฒนธรรมที่มาจากสภาพแวดล้อม ถ้าถามว่าคนไทยขาดแคลนเงินไหม คนไทยไม่ได้ยากจน แต่ไม่ยอมทำงานที่ลงแรงมากๆ แล้วได้ค่าตอบแทนน้อย
เรื่องเหล่านี้นำมาใช้ได้จริงในชีวิตหรือ
เรื่องที่ผมทำอาจเป็นเรื่องเล็ก อย่างการปลูกผัก การทำสบู่ ยาสีฟันใช้เอง ฯลฯ แต่ผมกลับรู้สึกว่า มีความมั่นคง เมื่อก่อนผมไม่ค่อยมั่นใจ ไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นยังไง แต่ตอนนี้เราไม่กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต เพราะเรามีความรู้ที่จะเอาชีวิตให้รอดได้ เมื่อนำมาถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง มันก็โดนใจคนจำนวนมาก หลายคนทำใช้เองและขาย ก็เลยรู้สึกว่า ชีวิตเรามาถูกทาง
เรื่องที่ผมทำต้องใช้เวลาและแรง อย่างมีคนจีนคนหนึ่งมาเรียนทำสบู่กับผม กลับไปทำสบู่ขายได้ดี แต่ไม่ทำใช้ เพราะรู้สึกเสียดายสบู่แพงๆ กลับไปซื้อสบู่ถูกๆ ใช้ เป็นเรื่องวิธีคิดที่ผิด เวลาอบรมผมจึงต้องสอดแทรกวิธีคิด เราได้ค้นพบว่า ระบบการศึกษาแบบใหม่ได้ทำลายความมั่นใจภูมิปัญญาไทย เราไปเชื่อความรู้แบบตะวันตก เราเชื่อว่าการใช้น้ำมันมะพร้าวปรุงอาหารจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง จึงหันมาใช้น้ำมันถั่วเหลือง ความรู้ในการวิจัยก็ควรทำ แต่ความรู้ดั้งเดิมก็น่าจะพัฒนาจากรากฐานดั้งเดิม
คุณทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติใช้ในครัวเรือนมากน้อยเพียงใด
คนในบ้านผมไม่ค่อยป่วยไข้เป็นอะไร เพราะเราใช้วัสดุจากธรรมชาติ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน พวกสบู่ แชมพู น้ำยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ ผมทำใช้เอง บ้านผมไม่ใช้เฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ทำจากไม้ ทำจากเศษไม้เศษพลาสติกผสมกาวอัดเป็นแผ่นทาเคลือบเงา มีพวกสารพิษ เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่มีไม้ใช้ แม้กระทั่งไม้เชร่าก็คือ เศษไม้ ในบ้านผมก็จะซื้อไม้มาทำเองบ้าง
ผมแทบจะไม่ใช้สารเคมีเลย บ้านเรือนสมัยใหม่มีปัญหามักจะสร้างบ้านหน้าต่างน้อย ทำให้คนในป่วยเป็นภูมิแพ้ อย่างเฟอร์นิเจอร์พวกน็อคดาวน์ ที่ซื้อเข้ามาก็มีปัญหา เป็นเศษไม้มาอัด พวกนี้สามารถปล่อยไอระเหย แสบตา คัดจมูก มีผลต่อระบบประสาท ถ้าเลือกไม่ได้ก็ต้องเปิดประตูหน้าต่างให้กว้างๆ เพื่อให้สารพวกนี้ระเหยออกไปก่อนจะเข้ามาอยู่อาศัย อย่างเคยได้ยินเรื่องไอพิษจากรถใหม่ไหม บางคนซื้อรถใหม่ พลาสติกก็ไม่เอาออก จะทำให้เป็นภูมิแพ้ได้ อีกทางแก้คือ ใช้ไม้ประดับดูดพิษ ส่วนใหญ่เป็นไม้เขตร้อนชื้นมีอยู่ประมาณ 50 ชนิด อย่างเยอบีร่า เศรษฐีเรือนนอกเรือนใน เดหลี ฯลฯ สามารถนำมาวางตามจุดต่างๆ ของบ้านและสำนักงาน เพราะเครื่องกรองอากาศไม่สามารถทำได้ และไม่ควรนำเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในบริเวณเรานั่งหรือนอนนานๆ
เห็นบอกว่าในอนาคตจะทำคู่มือพึ่งตัวเองในบ้าน
ตอนนี้ความรู้ที่ได้ศึกษาแต่ละเรื่องได้ต่อภาพครบความจำเป็นสำหรับชีวิต ทั้งอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ภายใน 1-2 ปีนี้ผมจะเขียนเป็นคู่มือพึ่งตัวเองในบ้าน เพราะเราทำมาหมดแล้วทุกหมวด เพื่อให้คนใช้ในชีวิตประจำวัน เราต้องการทำโมเดลในพื้นที่เล็กๆ สักแห่ง เพื่อให้เห็นว่า เราพึ่งตัวเองได้จริง
อย่างตอนนี้ผมมีเงื่อนไขจำกัด อยากปลูกข้าวกินเอง ปลูกไม้ใช้เอง แต่ยังทำไม่ได้ ชีวิตบั้นปลายผมอยากพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เพราะผมไม่ได้เป็นนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ แค่รู้สึกว่า โลกเปลี่ยนแปลงจนมนุษย์ตามไม่ทัน เพราะสภาพแวดล้อมของโลกคาดการณ์ไม่ได้ อีก 10-20 ปีข้างหน้าอาจมีเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้และมีผลกระทบต่อทุกคน แต่คนที่มีรากฐานมั่นคงหรือชุมชนมีความพร้อม น่าจะฝ่าฟันได้ดีกว่าคนที่มีเงินทอง เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่มุมไหนของโลกก็น่าจะเจอปัญหานี้ แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า เมืองไทยมีสภาพแวดล้อมทำเลเหมาะสมในการตั้งรับกับภัยจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
ตอนนี้ยังทำโครงการกระดาษเพื่อต้นไม้อีกหรือไม่
ผมทำมา 12-13 ปี ตอนแรกๆ ไม่มีใครทำโครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ ตอนนั้นคนพูดเรื่องการแยกขยะ แต่ไม่มีใครทำตั้งแต่ต้นทาง ผมก็เลยเริ่มสร้างระบบขึ้นมา ประชาชนที่อยากทิ้งเศษกระดาษ เรานำไปถึงโรงงานรีไซเคิล พอได้เงินมาก็เอาไปปลูกป่าทั่วประเทศ กำไรมากก็ได้เงินช่วยเหลือปลูกป่าได้เยอะ อย่างมกราคมที่ผ่านมาได้เงินช่วยปลูกป่าในจังหวัดน่าน 3-4 หมื่นบาท
กรอบ ชุดเฉพาะกิจ
“เวลาผมไปบรรยายจะเตรียมอุปกรณ์ชุดนี้ไปสาธิตการทำสบู่ ยาสีฟัน และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งผมก็สอนเท่าที่ตัวเองมีความรู้ความสามารถ อันดับแรกเราต้องพยายามมีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำ หลังจากนั้นก็จะเกิดผลในทางที่ดี
ถ้าถามว่าตัวเองเป็นอะไร อันดับแรก ผมเป็นนักเขียนได้ดี เขียนหนังสือรู้เรื่องให้คนอ่านไปทำเองได้ อันดับสอง ผมเป็นวิทยากรอบรมได้ดี มีคนตั้งใจฟังและนำไปปฏิบัติ ส่วนอันดับสาม ผมก็ทำงานรณรงค์ได้ดี
อีกอย่างถ้าเรื่องไหนคนทำมากแล้ว ผมก็จะทำน้อยลง อย่างการทำแชมพูก็ยังไม่ค่อยลงตัว สูตรไม่ง่ายเหมือนสบู่ หรือน้ำมันหอมระเหยก็มีคนทำ แต่คอร์สจะราคาแพงมาก และไม่ได้สอนเหมือนผมสอน ผมจะมีหลักวิธีคิดและหลักการบำบัดให้”
คุณคมสัน หุตะแพทย์
บรรณาธิการวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา
ผู้อำนวยการกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว