ครั่ง ยางหรือชันขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง

22 มีนาคม 2557 สัตว์ 0

ครั่ง คือ ยางหรือชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง แมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหารและขับถ่ายครั่งออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลา เพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งภายนอก มีลักษณะนิ่มเหนียวสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่าครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่ง พืชที่ใช้เลี้ยงครั่งจามจุรี พุทรา สะแกนา ปันแถ สีเสียดออสเตรเลีย การเลี้ยงครั่งเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงนั้น แมลงครั่งจะเกาะทำรังมาก ซึ่งทำให้สามารถกะเทาะครั่งดิบได้มาก และมีคุณภาพจะขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของต้นไม้ อายุของต้นไม้และอายุของกิ่ง จำนวนครั่งที่ปล่อยพันธุ์ครั่ง ฤดูที่เลี้ยงครั่ง ศัตรูของครั่ง ตลอดจนประสบการณ์ของผู้เลี้ยงเอง

แมลงครั่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laccifer lacca kerr เป็นเพลี้ยนิดหนึ่งที่อาจจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจหรือจัดเป็นศัตรูของต้นไม้ เพราะด้วยลักษณะการดำรงชีวิตของแมลงครั่งจะอาศัยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ แล้วใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นงวงดูดกินน้ำเลี้ยง จากต้นไม้เป็น เป็นอาหาร แต่ในขณะเดียวกันประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับ คือ สารซึ่งมีลักษณะนิ่มเหนียว สีเหลืองที่จะถูกขับถ่าย ตลอดเวลาจาก แมลงครั่ง เพื่อห่อหุ้มตัวป้องกันอันตรายจากศัตรูภายนอก เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและกลายเป็นสีน้ำตาลที่เราเรียกว่า “ครั่ง” หรือ ครั่งดิบ

kangoon kangmai

ประโยชน์ที่ได้รับ
ครั่ง คือ ยางหรือชัน (rasin) ชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพราะใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปในอุตสาหกรรมชนิดต่างๆ ผลผลิตโดยตรงที่ได้รับจากแมลงครั่ง คือ ครั่งดิบ (stick lac) ที่ได้จากการแกะหรือขูดออกจากกิ่งไม้ ซึ่งมีวัตถุเจือปนหลายอย่าง เช่น ชันสีครั่ง ขี้ผึ้ง ซากของแม่ครั่งที่ตาย กิ่งไม้ เปลือกไม้ เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะนำมาแปรสภาพเป็นครั่งเม็ด (seed lac) เชลแล็ก ครั่งแผ่น เป็นต้น

การนำครั่งมาใช้ประโยชน์ในครอบครัวและในทางอุตสาหกรรมได้กระทำมานานแล้วในอดีต โดยใช้สีแดงจากครั่งเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรคโลหิตจาก นอกจากนี้ยังใช้เป็นสีย้อมผ้าไหมและหนังสัตว์การใช้ยางครั่งได้มีหลักฐานปรากฏเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว ในระยะแรกมีการนำยางครั่งมาทำให้บริสุทธิ์และนำมาตกแต่งเครื่องใช้ เครื่องเรือนให้สวยงาม ปัจจุบันได้มีการค้นคว้าวิจัยการใช้ประโยชน์จากยางครั่งมากมาย และสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ครั่งเพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและอื่น ๆ สีจากครั่งได้จากการสกัดน้ำล้างครั่ง โดยสารละลายด่างชนิดอ่อน เช่น โซเดียมคาร์บอเนต หรือ โซเดียมไบคาร์บอเนต เมื่อแยกเอาส่วนที่ไม่ละลายออกเหลือแต่น้ำครั่งแล้วเอาไปเคี่ยวให้แห้ง ผึ่งและบดเป็นผงนำไปใช้ได้สีจากครั่งนี้ใช้ย้อมผ้าไหม ย้อมขนสัตว์ และใช้ผสมปรุงอาหารและขนม จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า สีจากครั่งไม่เป็นพิษแก่ร่างกายแต่อย่างใด

kangking

การเจริญเติบโต
ครั่งมีการเจริญเติบโตจากไข่เป็น ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ตามลำดับดังนี้

  • ไข่ มีสีแดง โดยครั่งตัวเมียจะวางไข่ในช่องว่างภายในเซลล์ มีอายุในสภาพไข่ประมาณ 8-20 นาที ไข่นั้นจะถูกฟักเป็นตัวอ่อนหรือเป็นลูกครั่งในช่องว่างนั้น และจะคลานออกมาทางช่องสืบพันธุ์
  • ตัวอ่อนหรือลูกครั่ง จะไม่สามารถแยกเพศผู้หรือเพศเมียได้ ลูกครั่งจะหาที่ยึดเกาะบนกิ่งไม้ แล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหาร โดยไม่เคลื่อนย้ายที่อยู่อีกต่อไป แต่จะเกาะเรียงตัวกันประมาณ 220 ตัวในพื้นที่ 1 ตามรางเซนติเมตร ต่อจากนั้นจะขับสารเหนียวออกมาห่อหุ้มตัวและลอกคราบหลายครั้งเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นครั่งตัวผู้และครั่งตัวเมียเกาะจับกิ่งไม้สีขาวโพลน โดยทั่วไปครั่งตัวอ่อน จำนวน 100 ตัว จะมีอัตราส่วนระหว่างตัวผู้กับตัวเมียระหว่าง 30 : 70
  • ครั่งตัวผู้ จะโตเต็มที่เมื่อมีอายุ 55 วัน มี 2 ชนิด คือ ชนิดมีปีก และไม่มีปีก ตัวผู้มีปีกจะบินไปผสมกับครั่งบนกิ่งไม้ต้นอื่นได้ ส่วนตัวผู้ไม่มีปีกจะคลานไปผสมกับครั่งตัวเมียที่เกาะบนกิ่งเดียวกัน
  • ครั่งตัวเมีย รูปร่างคล้ายถุงมีสีแดงไม่มีขา จึงไม่มีการเคลื่อนที่นอกจากผลิตเรซินและขับถ่ายสารเหนียว จะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ที่อายุ 60 วัน เมื่อครั่งมีอายุ 126-140 วัน รังไข่จะเจริญเต็มที่พร้อมวางไข่ และไข่จะฟักเป็นตัวออกมาทางช่องอวัยวะสืบพันธุ์ ครั่ง 1 ตัวจะออกลูกได้คราวละประมาณ 300 ตัว แล้วแม่ครั่งจะแห้งตายไป แต่ถ้าเป็นครั่งตัวเมียที่สมบูรณ์ยังสามารถสืบพันธุ์ต่อได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ โดยให้อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย เป็นไปตามปกติ คือ 30 : 70

kangkae

วิธีการเลี้ยงครั่ง
เริ่มจากการนำตัวอ่อนแมลงครั่งไปปล่อยบนกิ่งไม้แต่การเลี้ยงให้ได้ผลผลิตสูง มีคุณภาพดี จะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง ดังนี้

  1. พันธุ์ไม้ พันธุ์ไม้ที่ใช้เลี้ยงแมลงครั่งได้ดี ได้แก่ ต้นจามจุรี สะแก ปันแถ พุทราป่า มะแฮะนา มะเดื่อ อุทุมพร ควรเป็นต้นไม้ที่มีอายุ 4-5 ปี ขึ้นไป เพราะถ้าต้นไม้ไม่ใหญ่และแข็งแรงพอ เมื่อแมลงครั่งจับทำรังมากไป อาจทำให้ต้นไม้ตายได้
  2. การเตรียมต้นไม้ที่จะปล่อยแมลงครั่ง มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทรงพุ่มต้นไม้ต้องโปร่งเพื่อให้รังครั่งไม่อับชื้นเวลาฝนตก เพราะตัวอ่อนแมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1/2 นิ้วจึงควรมีการตัดทอนกิ่งแก่เพื่อให้ต้นไม้แตกกิ่งอ่อนและทิ้งให้เจริญเติบโตประมาณ 6-12เดือน ก่อนปล่อยแมลงครั่ง
  3. การเตรียมพันธุ์ครั่ง (brood lac) พันธุ์ครั่งของไทยส่วนมากเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้เลี้ยงต่อเนื่องกันมา ควรเลือกพันธุ์ครั่งที่ให้ปมหนา มีความสมบูรณ์ใช้ทำพันธุ์ ดังนี้
    3.1 ตัดพันธุ์ครั่งเป็นท่อนยาวประมาณ 6-7 นิ้ว
    3.2 ห่อด้วยฟางข้าวแล้วมัดด้วยตอกหรือเชือกที่ปลายทั้ง 2 ข้าง (พันธุ์ครั่ง 1 กก. ควรแบ่งห่อ 6-10 มัด)
    3.3 นำพันธุ์ครั่งที่ห่อเรียบร้อยแล้ว 2 มัดผูกติดกันที่ปลายข้างหนึ่ง เพื่อสะดวกต่อการนำไปแขวนคร่อมบนกิ่งไม้
  4. วิธีปล่อยพันธุ์ครั่ง ควรปล่อยให้กระจายบนกิ่ง ทั่วต้น โดยปล่อยจากกิ่งล่างก่อน มี 2 วิธี
    4.1 ใช้ไม้ง่ามช่วยแขวนพันธุ์ครั่งคร่อมกิ่งที่ต้องการปล่อย
    4.2 ผูกพันธุ์ครั่งให้ขนานและแนบติดตามความยาวของกิ่งโดยวางรังครั่งด้านบนของโคนกิ่ง ควรเก็บพันธุ์ครั่งหลังแขวนแล้ว 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันแมลงศัตรูที่อาจมีติดมาด้วย และรังครั่งนั้นสามารถนำไปขายได้
  5. การตัดครั่งทำพันธุ์และการเก็บผลผลิตครั่ง
    5.1 การตัดครั่งทำพันธุ์ ควรตัดระยะครั่งออกตัว (ระยะที่ลูกครั่งฟักออกจากไข่ และคลานออกจากรังไปหากิ่งใหม่) ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยมีระยะการออกตัวของลูกครั่งนาน 2-3 สัปดาห์จึงจะหมดรัง ถ้าลูกครั่งตัวไหนไม่สามารถหาที่อยู่หรือเกาะบนกิ่งไม้ได้จะตายภายใน 2-3 วัน โดยครั่งจะเริ่มออกตัวในตอนเช้า และออกมากในเวลากลางวัน
    5.2 การเก็บผลผลิตครั่ง การตัดครั่งขายจะตัดเมื่อครั่งแก่เต็มที่ แต่ยังไม่ถึงระยะที่ครั่งออกตัว โดยตัดด้านล่างกิ่งก่อน ดังนี้
    :: ถ้ากิ่งเล็กกว่า 1 นิ้วให้ตัดชิดกิ่งใหญ่
    :: ถ้ากิ่งขนาด 1-2 นิ้วให้ตัดเหลือตอไว้ประมาณ 11/2 ฟุต
    :: ถ้ากิ่งขนาดโตกว่า 2 นิ้วให้ใช้มีดกะเทาะเอาครั่งออกแทนการตัดกิ่ง
    5.3 วิธีเตรียมครั่งไว้ขาย เมื่อตัดครั่งลงจากต้นแล้ว ควรรีบกะเทาะครั่งออกจากกิ่งไม้ แล้วตากให้แห้งและรีบขายให้โรงงานทำครั่งเม็ดเร็วที่สุด

kangchamcha kangpan kangmaikeb kangton

ที่มา : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่น (ผึ้ง)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น