จิกสวนใบอ่อนหรือยอดอ่อน ของจิก รับประทานได้ มีรสฝาดเล็กน้อย ใบแก่ แก้โรคท้องร่วง ราก ใช้เป็นสมุนไพรแก้โรคลมต่างๆ เช่น ลมอืดแน่นในท้อง ส่วนเมล็ด ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้อาการจุกเสียด เป็นต้น ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดอกมีความสวยงาม และเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barringtonia racemosa Roxb.
อยู่ในวงศ์ : LECYTHIDACEAE (BARRINGTONIACEAE)
ชื่ออื่น : จิกบ้าน (กรุงเทพฯ); ปูตะ (มลายู-นราธิวาส)
ลักษณะ
จิกสวน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4-8 เมตร
ลำต้นมักมีปุ่มปม เปลือกสีเทาถึงน้ำตาลเทา เรียบถึงแตกเป็นแผ่น เปลือกชั้นในสีเหลืองแกมน้ำตาลถึงชมพู มีเส้นใยเหนียว
จิกสวน ขึ้นในบริเวณน้ำท่วมขัง และริมแม่น้ำที่ไม่ห่างไกลทะเลมากนัก บางครั้งนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ มีเขตการกระจายพันธุ์ทางกาคกลาง ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงใด้ และภาคใต้ของประเทศไทย
จิกสวนเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี แสงรำไร ชอบน้ำมาก ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ออกดอกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยลง ใบประดับรูปสามเหลี่ยม หลอดกลีบเลี้ยงเปิดออก มี 2-5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกสี่กลีบ ไม่ติดกัน สีชมพูหรือขาวอมชมพูรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมขอบขนาน แผ่ออกกว้างเกสรเพศผู้ก้านยาว จำนวนมาก รวมกันเป็นพู่ผลสีเขียวถึงสีเขียวอมม่วง รูปไข่ถึงรูปรี ปลายผลแหลมทั้งสองด้าน มีกลีบเลี้ยงสองด้าน คนไทยนิยมนำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสด ในตำราแพทย์แผนไทยระบุว่านำดอกมาตำคั้นเอาน้ำรับประทานแก้หืด ไอ แก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอ ตำพอกแก้ผิวหนังพุพอง ส่วนใบนำมาตำพอกแก้คันและแก้ไข้ทรพิษ บางทีใช้ใบตำรวมกับรากและเปลือกมีสรรพคุณเช่นเดียวกัน.
ที่มา
โครงการการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรม เขตกรรม การวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์พืชผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ป้ายคำ : ไม้ประดับ