จุลินทรีย์ท้องถิ่น IMOs

16 พฤศจิกายน 2556 จุลินทรีย์ 0

(Indigenous Micro-organisms : IMOs)
เทคนิคการผลิตพืชและสัตว์ในระบบเกษตรธรรมชาติจะมีการนำจุลินทรีย์มาเกี่ยวข้องเสมอ เกษตรธรรมชาติเน้นความหลากหลายของจุลินทรีย์เน้นการควบคุมกันเองของจุลินทรีย์ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งจะมีผลต่อชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ในระบบนิเวศ จุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อการผลิตพืชและสัตว์ตามความคิดของมนุษย์จะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่สมดุลของความหลากหลายของจุลินทรีย์ในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศนั้น ๆ

การทำเกษตรแบบธรรมชาติ จะไม่นำจุลินทรีย์จากต่างพื้นที่เข้ามาใช้ในกระบวนผลิต ทั้งนี้รวมถึงจุลินทรีย์ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่เพาะเลี้ยงและคัดแยกสายพันธุ์ของจุลินทรีย์จนเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ (สายพันธุ์เดี่ยวๆ) ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เนื่องจากจุลินทรีย์ดังกล่าวจะไม่แข็งแรงและไม่มีประสิทธิภาพเมื่อนำกลับไปสู่ธรรมชาติอีกครั้ง เหมือนกับจุลินทรีย์ดั้งเดิมในท้องถิ่น ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เป็นเวลานานจนสามารถปรับตัวและมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในพื้นที่ได้ มีรายงานว่า เกษตรกรหลายรายที่เคยใช้จุลินทรีย์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เริ่มให้การยอมรับในประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์ดั้งเดิมในท้องถิ่นมากขึ้น

การฉีดพ่นหรือเติมจุลินทรีย์ท้องถิ่น และน้ำหมักจากพืชสีเขียวจะทำให้สภาพแวดล้อมในไร่นากลับคืนสู่สภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ความสามารถในการผลิตจุลินทรีย์ท้องถิ่นนี้ถือได้ว่าเป็นวัสดุที่สำคัญในการทำการเกษตรที่ยั่งยืน เนื่องจากสามารถผลิตได้ที่บ้านของเกษตรกรเอง

จุลินทรีย์ท้องถิ่น (IMOs) พื้นฐานของความของความอุดมสมบูรณ์ของดิน
การเพาะปลูกจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากดินที่เหมาะสม ดังนั้นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่เพาะปลูกจึงควรต้องทำเป็นอันดับแรกดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จะมีลักษณะอย่างไร จากรายงานการวิจัยพบว่าดินที่ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษในพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร จะมีจุลินทรีย์อยู่หลายชนิดคิดเป็นน้ำหนักเท่ากับ 700 กิโลกรัม โดยปกติปริมาณจุลินทรีย์มากน้อยจะขึ้นอยู่กับปริมาณอินทรียวัตถุในดิน โดยจุลินทรีย์ดินจะประกอบด้วยเชื้อรา 75% แบคทีเรีย 20-25% และสัตว์ขนาดเล็กในดิน 5% คิดเป็นน้ำหนักแห้งประมาณ 140 กิโลกรัม (คิดคำนวณจากการมีน้ำเป็นองค์ประกอบ 80%)

ปริมาณน้ำหนักแห้งของจุลินทรีย์รวม 140 กิโลกรัม จะมีจำนวนคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ 70 กิโลกรัม ไนโตรเจน 11 กิโลกรัม ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบถึงอัตราของปุ๋ยไนโตรเจนที่ต้องใช้ 10 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร จะพบว่าปริมาณไนโตรเจนในธรรมชาตินี้มีปริมาณใกล้เคียงกันกับประมาณที่พืชต้องการ ในดิน 1 กรัมจะมีจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ อาศัยอยู่จำนวนระหว่าง 100 ล้านเซลล์ถึงหนึ่งล้านล้านเซลล์ นักสิ่งแวดล้อมเคยรายงานว่า ในพื้นที่ขนาดเท่ากับรอยเท้ามนุษย์ในความลึก 1 เมตร จะมีเพลี้ยอ่อน 3,280 ตัว หมัด 479 ตัว ไส้เดือนฝอย 74,810 ตัว และไส้เดือนดิน 1,845 ตัวอาศัยอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชโดยทางอ้อม

chulincheepai

ความสำเร็จในการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เกิดจากการจัดการที่ดี เพราะดินเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ดังนั้นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและจัดการให้มีอาหารที่เพียงพอสำหรับจุลินทรีย์และสัตว์อื่นๆ ในดินจึงมีความสำคัญมาก พบว่าเมื่อคลุมดินที่มีความแข็งกระด้างด้วยฟางข้าว หรือตอซังข้าวประมาณ 7-10 วัน จะมีเชื้อราขาวเกิดขึ้น และดินที่เคยแข็งกระด้างก็จะกลับมาอ่อนนุ่ม และชุ่มชื้น สภาพเช่นนี้จะเป็นทึ่งดูดให้ไส้เดือนเข้ามาในพื้นที่ เกษตรกรไม่จำเป็นจะต้องซื้อจุลินทรีย์ที่มีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดมาพ่นลงในดิน เพียงแค่จัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมที่จุลินทรีย์อาศัยอยู่ได้ ก็จะทำให้ดินฟื้นฟูสภาพได้ด้วยตัวเอง

ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะพบเชื้อราเจริญขึ้นมาตามลำดับ ตามมาด้วยไส้เดือนฝอยที่กินเชื้อราเป็นอาหาร ไส้เดือนดิน จิ้งหรีด แมงกะซอน และตัวตุ่น ดังนั้นสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็จะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในดินให้มีการพัฒนาอย่างผสมกลมกลืนกัน และมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยทางอ้อม และจะพบว่า 90% ของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จะอาศัยอยู่ที่ระดับความลึกไม่เกิน 5 เซนติเมตรจากผิวหน้าดินลงไป

เมื่อผืนดินถูกปกคลุมด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ตอซังข้าว สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีสัดส่วน 7:3 คือ มีร่มเงา 7 ส่วน และแสงอาทิตย์ 3 ส่วน ในส่วนที่เป็นร่มเงาภายใต้ฟางข้าวจะช่วยลดการระเหยของน้ำ และดินก็จะไม่ถูกแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง การทำให้เกิดสภาพเช่นนี้มีหลายวิธี เช่น การคลุมดินด้วยตอซังข้าว การใช้ใบไม้คลุมดิน การปลูกพืชคลุมดิน และการหว่านเมล็ดคลุมดิน จะเห็นได้ว่าบนภูเขาและทุ่งนาในธรรมชาติ ดินจะมีความอุดมสมบูรณ์มากและดินจะดีจากด้านบนและลดลงสู่ด้านล่างไม่ใช่จากด้านล่างขึ้นไปด้านบน ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ทั้งหลายสามารถนำมาใช้ทำวัสดุคลุมผิวดินได้ทุกชนิด โดยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์รูปแบบใกล้เคียงกับธรรมชาติ

chulincheemai

จุลินทรีย์ที่ผลิตเป็นการค้า
งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์ มีความพยายามที่พัฒนาเพื่อผลิตเป็นการค้าแผงอยู่มีการนำเข้าของเชื้อจุลินทรีย์ปริมาณมหาศาลจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปในเชิงธุรกิจ จุลินทรีย์ผลิตเป็นการค้าได้อย่างไร เพราะเมื่อมีการค้าความต้องการสินค้าก็ต้องมีอย่างต่อเนื่อง และยังต้องมีความสัมพันธ์กับยอดขายที่ต่อเนื่อง ดังนั้นการควบคุมให้ประสิทธิภาพของจุลินทรีย์มีช่วงอายุการใช้งานที่จำกัดจึงเกิดขึ้น จากการสำรวจจะพบว่า จุลินทรีย์ที่ถูกนำมาจำหน่ายจริงๆ แล้วจะมีอายุสั้น และมีประสิทธิภาพการใช้งานเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง สิ่งนี้เป็นเพราะจุลินทรีย์ถูกนำเข้าจากต่างถิ่น จึงมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมน้อยกว่าเมื่ออยู่ในดินที่ท้องที่ที่แตกต่างกันออกไปจึงไม่สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข อีกประหนึ่งเป็นผลที่มาจากการคัดเลือกสารพันธุ์ที่เป็นการค้าของนักธุรกิจ

หลักการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงมีการนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ เข้ามาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ในการทำเกษตรธรรมชาตินั้นจะต้องคำนึงถึงว่าจุลินทรีย์ที่ดีที่สุดมักมาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ พื้นที่ของเราเอง ดังนั้นผู้ที่สนใจในวิธีเกษตรธรรมชาติจึงควรจะเรียนรู้เทคนิคการรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ต้องการนำมาใช้

จุลินทรีย์ธรรมชาติ
จุลินทรีย์ดั่งเดิมในท้องถิ่นมีความสำคัญมาก ถ้าจะนับเวลาที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมก็จะยาวนานนับ 1,000 ปี จุลินทรีย์เหล่านี้มีพัฒนาการเพื่อการอยู่รอดและปรับตัวให้คงทนต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมมานานแล้ว เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจุลินทรีย์ท้องถิ่นเหล่านั้นจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูง และมีกิจกรรมมาก ดังนั้นเมื่อมีการ่นำจุลินทรีย์จากต่างถิ่นหรือที่ผลิตเป็นการค้า จึงพบว่าจะขาดลักษณะเด่นคือไม่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ รวมถึงก่อประโยชน์ในพื้นที่ตามที่มนุษย์คาดหวังปกติจุลินทรีย์ที่เป็นการค้าจะทำงานให้มนุษย์ได้เพียงช่วงสั้นๆ เทานั้น เมื่อเทียบกับจุลินทรีย์ท้องถิ่นในพื้นที่ของเรา

ในการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นการค้า จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะมีรูปแบบการผลิตจากสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นคงที่ ดังนั้นจุลินทรีย์เหล่านี้จะมีชีวิตและดำเนินกิจกรรมที่ดีได้เฉพาะพื้นที่ที่มีสภาพคล้ายกัน แต่มักจะไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในสถานที่ผลิตจะไม่มีลมกรรโชก ไม่ขาดน้ำและไม่มีน้ำท่วม แต่ในสภาพไร่นาจริงการควบคุมปัจจัยแวดล้อมเป็นไปได้ยาก เกษตรธรรมชาติจึงแนะนำให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในท้องถิ่นในสภาพอุณหภูมิปกติซึ่งจะเป็นการดีกว่า เพราะว่าเมื่อนำไปใช้ในพื้นที่จริงจุลินทรีย์ในท้องถิ่นมีความเหมาะสมกันสภาพพื้นที่จริงมากกว่า

chulincheeuse

กลับสู่สภาพธรรมชาติ
เกษตรกรบางรายเข้าใจว่าการใช้จุลินทรีย์ในการผลิตพืชและสัตว์ ระบบเกษตรธรรมชาตินั้นก็เหมือนกับการใส่ปุ๋ยหรือวิตามินให้กับพืชและที่ผลิต ดังนั้นเขาจึงฉีดพ่นหรือนำจุลินทรีย์ไปใช้ในเวลาที่คิดว่าเหมาะสม โดยคาดหวังว่าจะได้ผลที่ต้องการอย่างรวดเร็ว ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ สิ่งนี้ก็เป็นจุดมุ่งหมายของเชื้อจุลินทรีย์ที่นำมาขายในท้องตลาดนั่นเอง

ระบบเกษตรธรราชาติจะไม่แนะนำให้ใช้จุลินทรีย์ที่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจง ขาดความหลากหลายแต่แนะนำว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการทำเกษตรธรรมชาติโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติก็คือการหันกลับสู่วิธีที่สิ่งมีชีวิตเดิมๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมีพลังชีวิตที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในการใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้จากพืชนั้นจะมีคุณภาพและปริมาณที่แตกต่างกันตามฤดูกาล และอายุพืช ดังนั้นชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำสกัดจากพืชสีเขียวก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลด้วยเช่นกัน

การผลิตเชื้อราขาวหรือจุลินทรีย์ในท้องถิ่น

จุลินทรีย์ในท้องถิ่น สามารถเก็บได้จากหลายแหล่ง เช่น จากภูเขา เนินเขา ป่าสน ป่าผลัดใบ ในป่าที่ชุ่มชื้นจากป่าไผ่ ใบไผ่ทุกชนิด เศษใบไม้ที่เน่าสลาย จะพบว่าด้านล่างของเศษพืชที่กำลังย่อยสลาย เหล่านั้นจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยราขาว (จุลินทรีย์ท้องถิ่น) แต่ที่พบมากและมีตามหมู่บ้าน ชุมชน ได้แก่ ใต้ต้นไผ่ เศษใบไม้ไผ่ที่กำลังย่อยสลาย เชื้อราขาวจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นสังเกตได้ง่าย เกาะติดตามใบไผ่และกิ่งไผ่ การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) จะขาดไม่ได้เนื่องจากเชื้อราขาวจะช่วยย่อยสลายวัสดุที่ใส่ลงไปในหลุมให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก ตลอดจนช่วยดับกลิ่นมูลสุกรไม่ให้มีกลิ่นเหม็นและไม่ให้เกิดน้ำเสีย ลดปัญหามลภาวะเป็นพิษ รักษาสภาพแวดล้อมได้อีกด้วย การเก็บเชื้อราขาวจะต้องมีขั้นตอนและกรรมวิธี จะทำให้ได้เชื้อราขาวที่มีคุณภาพ (เลี้ยงหมูหลุมต้องทำเชื้อราขาว)

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้

  1. กะบะไม้สี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 30 ซม.และสูง 10 ซม.
  2. ข้าวเจ้าหุงสุก
  3. ทัพพีตักข้าว
  4. กระดาษบรุ๊ฟ (กระดาษที่อากาศผ่านเข้าออกได้)
  5. เชือกฟาง
  6. ตาข่ายหรือสุ่มไก่
  7. พลาสติก
  8. น้ำตาลทรายแดง
  9. ขวดโหลแก้วหรือพลาสติก

ขั้นตอนและวิธีการทำ

  1. หุงข้าวเจ้าจำนวน 1 ลิตร ให้สุกเหมือนใช้รับประทาน
  2. เทข้าวลงในกะบะสี่เหลี่ยมให้หมดห้ามข้าวสัมผัสกับมือเด็ดขาดจะทำให้ข้าวเน่าเสีย
  3. ใช้ทัพพีเกลี่ยข้าวให้ทั่วกะบะ
  4. ปิดกะบะด้วยกระดาษบรุ๊ฟสองชั้น และใช้เชือกฟางมัดให้แน่น
  5. นำไปวางใต้ต้นไผ่ที่เห็นว่ามีเชื้อราขาวก่อนวางใช้ไม้ไผ่เล็กๆ รองพื้นแล้วนำกะบะวางลงไป
  6. ใช้ใบไผ่คลุมทับกะบะเพื่อควบคุมความชื้น
  7. ใช้ตาข่ายหรือสุ่มไก่กันไว้เพื่อป้องกันสัตว์เข้าทำลาย
  8. คลุมพลาสติกบนตาข่ายหรือสุ่มไก่ เพื่อป้องกันน้ำและสัตว์เข้าทำลายทิ้งไว้นาน 3-4 วัน ถ้าเป็นฤดูหนาวจะใช้เวลานานประมาณ 5-6 วัน
  9. เมื่อครบกำหนดเปิดดูและพบราขาวขึ้นมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำไปใช้ได้
  10. ใช้มือขยำเชื้อราขาวกับข้าวให้เละเหมือนโคลนทำในกะบะและสามารถใช้มือสัมผัสได้
  11. ใส่น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ ลงในกะบะและใช้มือขยำคลุกเคล้าผสมกันให้ทั่ว
  12. นำไปใส่ในขวดโหลหมักทิ้งไว้ 4-5 วัน เก็บไว้ในที่ร่ม แล้วนำไปใช้

chulincheetam1 chulincheetam2 chulincheetam3

อัตราการใช้ เชื้อราขาว 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร

ข้อบ่งใช้

  1. รดพื้นคอกหมูหลุม เพื่อช่วยย่อยสลายของวัสดุในหลุมกลายเป็นปุ๋ยหมักเร็วขึ้น
  2. ป้องกันน้ำเสียและกลิ่นเหม็นจากมูลและปัสสาวะของสุกร
  3. ผสมในน้ำให้สัตว์ดื่มกินเพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
  4. ผสมอาหารให้สัตว์กินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายอาหารที่สัตว์กินเข้าไปให้ดีขึ้น
  5. ใช้เร่งการย่อยสลายของกองปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ
  6. ช่วยปรับความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน
  7. ช่วยให้ดินปลดปล่อยแร่ธาตุ พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น
  8. ช่วยให้โปร่ง ร่วนซุย มีความชุ่มชื้น อากาศถ่ายเทในดินได้สะดวก
  9. ราดโคลนต้นไม้ เพื่อช่วยทำให้เกิดความชุ่มชื้นและดินร่วนซุย

ที่มา : แนวคิด หลักการ เทคนิคปฎิบัติในประเทศไทย เกษตรธรรมชาติ ประยุกต์ โดย รศ. ดร.อานัฐ ต้นโช
http://www.maejonaturalfarming.org

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น