จุลินทรีย์

15 กรกฏาคม 2555 จุลินทรีย์, ดิน 0

จุลินทรีย์ หรือ Microorganisms คือกลุ่มจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์สูงหลายๆด้าน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทั้งในด้าน บำบัดของเสีย การเกษตร ปศุสัตว์ และอื่นๆอีกมากมาย จุลินทรีย์บำบัดกลิ่นสามารถทำขึ้นมาใช้เองได้ แต่กรรมวิธีในการผลิตต้องถูกต้องจุลินทรีย์นั้นจึงจะไม่เสียหาย การผลิตจุลินทรีย์ในแต่ละเจ้าอาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ของแต่ละคนไป บางรายอาจจะเข้มข้นมาก บางรายอาจจะเข้มข้นน้อย ซึ่งออกแบบขึ้นเพื่อใช้ให้ตรงกับความต้องการนั่นเอง
การใช้จุลินทรีย์บำบัดของเสีย เช่น การบำบัดกลิ่น การบำบัดน้ำเสีย การบำบัดสิ่งปฏิกูลต่างๆ ควรใช้ที่มีความเข้มข้นสูง ในการใช้ครั้งแรกควรใช้แบบสดๆไม่ต้องผสมกับน้ำสะอาด ทั้งนี้เพื่อต้องการปริมาณจุลินทรีย์จำนวนมากในการย่อยสลายของเสียเหล่านั้น ในการใช้ควรใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของปัญหานั้นๆ ถ้าปัญหามากก็ควรใช้จุลินทรีย์ในปริมาณที่มากขึ้น พูดง่ายๆก็คือใช้มากมีแต่ผลดี แต่ถ้าใช้น้อยไปก็จะมีผลทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นได้ไม่ทั่วถึง นั่นหมายถึงการใช้ไม่ได้ผลนั่นเอง เนื่องจากปริมาณสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งสกปรกต่างๆ มีจำนวนมากกว่าปริมาณจุลินทรีย์ที่เข้าไปย่อยสลายนั่นเอง การใช้จุลินทรีย์บำบัดของเสียอย่างอื่นก็เช่นเดียวกันต้องใช้ให้เหมาะสมกับปัญหานั้นๆจึงจะได้ผลดีตามต้องการ จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศออกซิเจน ซึ่งในสภาวะที่ไร้อากาศจะทำงานได้ดีมากและมีชีวิตอยู่ได้นาน ยิ่งถ้ามีอาหารหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลายิ่งอยู่ได้นานขึ้น ในทางปศุสัตว์หรือทางการเกษตรจุลินทรีย์ก็มีบทบาทไม่น้อย สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับฟาร์มสัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่น ฟาร์มเป็ด ไก่ สุกร วัว ฯลฯ รวมถึงการนำไปประยุกต์เป็นปุ๋ยน้ำอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมีที่เรียกว่าเกษตรอินทรีย์นั่นเอง อาจจะต้องมีการเติมวัสดุต่างๆที่เป็นอินทรีย์วัตถุใส่ลงในจุลินทรีย์เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยเป็นปุ๋ย ซึ่งสามารถนำไปใช้บำรุงพืชได้ทันที นี่คือส่วนหนึ่งของการนำจุลินทรีย์ไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ

จุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กมากนั้น แต่ละเซลล์จะมีกระบวนการต่างๆ ของชีวิตเกิดขึ้นได้ภายในเซลล์เดียว กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวมันเอง เช่น ยีสต์ มีการเปลี่ยนแปลงอาหารให้เป็นพลังงานด้วยกระบวนการหมัก (fermentation) ขณะเดียวกันก็ได้ผลผลิตเกิดขึ้น คือ เอทิลแอลกอฮอล์ที่เรานำไปใช้ประโยชน์ได้ มีจุลินทรีย์จำนวนมากที่มีความสำคัญในการผลิตสารต่างๆ ที่มีประโยชน์และช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน
  • จุลินทรีย์ในดินพวกแบคทีเรียและเห็ดราชนิดต่างๆ ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์จากซากสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นสารอนินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ได้สารอาหารจากซากเหล่านั้น และนำไปใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันสารอินทรีย์ที่สลายเป็นสารอนินทรีย์ ก็เป็นสารอาหารของพืชที่ดูดซึมไปสร้างเนื้อเยื่อพืชได้ ดังนั้น ถ้าขาดจุลินทรีย์ในดิน จะทำให้ดินขาดสารอาหาร และพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จุลินทรีย์ในดิน จึงเกี่ยวข้องกับวัฏจักรของสารต่างๆ ในธรรมชาติ เช่น วัฏจักรไนโตรเจน วัฏจักรคาร์บอน วัฏจักรซัลเฟอร์ เป็นต้น

ในอากาศมีก๊าซไนโตรเจนอิสระอยู่ถึง 78% แต่พืชไม่สามารถนำไปสร้างโปรตีนในเซลล์ได้ พืชได้รับไนโตรเจนในรูปเกลือไนเตรตที่รากดูดขึ้นมาจากดิน แต่จุลินทรีย์บางชนิดมีความสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศแล้วเปลี่ยนให้เป็นสารประกอบไนเตรต จุลินทรีย์เหล่านี้บางชนิดอยู่ร่วมกับรากพืช เช่น แบคทีเรียชื่อ ไรโซเบียม (Rhizobium) อยู่ร่วมกับรากพืชตระกูลถั่วแบบพึ่งพาอาศัยแบคทีเรียบางชนิดตรึงก๊าซไนโตรเจนแบบอิสระได้ เช่น Rhodospirillum rubrum, Rhodopseudomonas vanniellii หรือไซยาโนแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำ เช่น Anabaena spp., Nostoc spp.,Oscillatoria spp. เมื่อตรึงก๊าซไนโตรเจนแล้วจะเปลี่ยนให้เป็นแอมโมเนีย และพืชนำไปใช้เปลี่ยนเป็นโปรตีนในพืช เมื่อพืชถูกสัตว์กินจะเปลี่ยนเป็นโปรตีนในสัตว์ เมื่อพืชและสัตว์ตายลงรวมทั้งสิ่งขับถ่ายจากสัตว์จะทับถมลงดิน โปรตีนและกรดนิวคลีอิกจะถูกย่อยโดยแบคทีเรียบางชนิดในดินได้กรดอะมิโน ซึ่งถูกย่อยต่อได้แอมโมเนีย แอมโมเนียอาจระเหยออกจากดินหรือละลายน้ำกลายเป็นเกลือแอมโมเนียม (NH4+) หรือถูกพืชและจุลินทรีย์นำไปใช้และอาจเปลี่ยนต่อไปเป็นไนไตรต์ (NO2-) และไนเตรต (NO3-) ไนเตรตที่ผลิตโดยจุลินทรีย์จึงเป็นปุ๋ยให้แก่พืชได้

จุลินทรีย์ท้องถิ่น
จุลินทรีย์ท้องถิ่น เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์ ที่มีอยู่ในดินทั้งบนผิวดินและใต้พื้นดิน จัดเป็นจุลินทรีย์ที่อยู่ในประเภทจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยในการกำจัดจุลินทรีย์ที่ไม่มีประโยชน์ หรือจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษ (จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเหม็นต่างๆ) ช่วยให้พืชสามารถนำธาตุอาหารต่างๆ ไปใช้ได้สะดวก ทำให้พืชแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
จุลินทรีย์ท้องถิ่น หรือจุลินทรีย์พื้นบ้านจะหมายถึง จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในขอบเขตของระบบนิเวศนั้นๆ ไม่ได้นำเข้ามาจากภายนอกระบบ ภายนอกท้องถิ่น ภายนอกเมือง ภายนอกประเทศ หรือภายนอกภูมิภาคโลกนั้นๆ เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Indigenous Micro Organisms (IMO)

“ไอ เอ็ม โอ (IMO)” เป็นชื่อเฉพาะที่สมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี ใช้เรียก “ราใบไม้สีขาว” ซึ่งเป็นจุลินทรีย์กลุ่มเล็กๆ ในกลุ่มราเมือก (Leaf Mold) ที่อาศัยอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่เพาะปลูก เป็นสายพันธุ์ที่จะใช้ประโยชน์ในการทำการกสิกรรมไร้สารพิษได้ดี มีคุณภาพสูง จุลินทรีย์ท้องถิ่นเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่าจุลินทรีย์ที่ได้จากน้ำหมักอีเอ็ม หรือ พ.ด. สูตรต่างๆ เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก หลากหลายชนิด สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ และประการสำคัญคือ จุลินทรีย์ท้องถิ่นนั้น เกษตรกรไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนเพราะมีอยู่แล้วภายในท้องถิ่น อีกทั้งสามารถผลิตใช้ได้เองไม่ยุ่งยาก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งสามารถพัฒนาคิดค้นสูตรที่เหมาะสมกับระบบการผลิตของตนเองได้อีกด้วย

ประโยชน์ของเชื้อราขาว (จุลินทรีย์ท้องถิ่น)

  • ช่วยย่อยสลายเร็ว (ทำปุ๋ยหมัก)
  • ปรับความเป็นกรดด่างของดิน หรือ pH
  • ทำให้ดินปลดปล่อยแร่ธาตุ
  • ทำให้ดินโปร่ง มีออกซิเจน จุลินทรีย์ทำงานได้เต็มที่ มีประสิทธิภาพ
  • ทำให้พืชต้านทานโรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
  • ป้องกันโรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย และดับกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์
  • เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน

จุลินทรีย์ท้องถิ่นคืออะไร

จุลินทรีย์ท้องถิ่นหรือจุลินทรีย์พื้นบ้าน ได้แก่ จุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่อยู่ในดินตามธรรมชาติ โดยเฉพาะดินดีที่ไม่เคยผ่านการใช้สารเคมีหรือดินดีจากป่าไม้ที่มีอยู่ภายในท้องถิ่น จุลินทรีย์ท้องถิ่นเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่าจุลินทรีย์ที่ได้จากน้ำหมักอีเอ็ม หรือ พ.ด. สูตรต่างๆ เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก หลากหลายชนิด สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ และประการสำคัญคือ จุลินทรีย์ท้องถิ่นนั้น เกษตรกรไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหนเพราะมีอยู่แล้วภายในท้องถิ่น อีกทั้งสามารถผลิตใช้ได้เองไม่ยุ่งยาก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งสามารถพัฒนาคิดค้นสูตรที่เหมาะสมกับระบบการผลิตของตนเองได้อีกด้วย

การเพาะขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นทำอย่างไร

จุลินทรีย์ท้องถิ่นนั้น เกษตรกรสามารถนำมาเพาะขยายด้วยตนเองได้อย่างง่ายๆ เพียงแต่เกษตรกรมีดินดีในท้องถิ่นก็สามารถนำมาขยายจนกลายเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งมีขั้นตอนโดยรวมดังรูปต่อไปนี้

จากรูปดังกล่าวทำให้เห็นขั้นตอนโดยรวมของการเพาะขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นว่าเริ่มจากการไปเก็บดินดีจากป่าไม้ในท้องถิ่นหรือจากดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ใกล้บ้าน เช่น บริเวณใต้โคนต้นไม้ บริเวณจอมปลวก เป็นต้น นำดินดีที่เก็บได้มาผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุและส่วนผสมต่างๆ หมักทิ้งไว้ 5-7 วัน ก็ได้เป็น หัวเชื้อแห้ง เมื่อนำมาผสมกับน้ำแล้วหมักทิ้งไว้ 30 วัน ก็จะกลายเป็น หัวเชื้อน้ำ ที่มีความเข้มข้นซึ่งคุณสมบัติดีกว่า สารอีเอ็ม หรือ สาร พ.ด.ที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป โดย หัวเชื้อน้ำ ที่ผลิตขึ้นเองเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ทั้งการทำเป็นจุลินทรีย์น้ำสำหรับย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำเป็นสารไล่แมลงและป้องกันโรค ทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักช่วยเร่งโต เร่งดอก ใบ ผล (แต่ไม่ควรนำไปรดต้นไม้โดยตรง) อีกทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ ได้อีกมากมายแล้วแต่เกษตรกรจะสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้งานให้เหมาะสมกับความต้องการของตน

ทั้งนี้ การเพาะขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นนอกเหนือจากการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ แล้ว หัวใจสำคัญของเทคนิคนี้คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็น เกษตรมือหนึ่ง กล่าวคือ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้พัฒนาสูตรต่างๆ ขึ้นมาใช้งานเอง ไม่ต้องไปยึดติดกับสูตรจากที่อื่นๆ เพียงอย่างเดียว อีกทั้งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของสูตรเฉพาะของตัวเองนับเป็นความภาคภูมิใจอันหนึ่งของเกษตรไทย
สำหรับรายละเอียดของการเพาะขยายจุลินทรีย์ท้องถิ่นมี 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การทำหัวเชื้อแห้ง

หัวเชื้อแห้ง ได้จากการนำดินดีจากป่าหรือที่ดินที่อุดมสมบูรณ์คลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุต่างๆ และหมักไว้จนกระทั่งจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่อยู่ในดินดี (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์) ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นสำหรับนำไปขยายเป็นหัวเชื้อน้ำต่อไป

1.1 ส่วนผสมและอัตราส่วน

1.1.1 ดินที่เก็บมาจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ ประมาณ 1 ส่วน
ดินเป็นแหล่งที่มาของจุลินทรีย์ โดยนำดินมาจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งที่ไม่มีการใช้สารเคมี ดินจากโคนจอมปลวก โคนต้นไม้ โคนต้นไผ่ ขอนไม้ผุ ลักษณะของดินที่ดี เมื่อจับแล้วนุ่มมือ มีกลิ่นหอม มีน้ำหนักเบา การเก็บดินให้เก็บบริเวณหน้าดินที่มีความชื้นเล็กน้อย และควรนำเศษซากอินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้ ใบไผ่ ติดมาด้วย

1.1.2 สารให้ความหวาน เช่น กากน้ำตาล หรือ น้ำตาลปีบ ประมาณ 1 ทัพพี ละลายในน้ำ ประมาณ 1 ลิตร
โดยทั่วไปมักใช้กากน้ำตาลเป็นสารให้ความหวาน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีความต้องการใช้กากน้ำตาลเพิ่มมากขึ้นทำให้กากน้ำตาลมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก ควรใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาใช้แทนกากน้ำตาล เช่น อ้อย มะพร้าว ตาล จาก มันเส้นบดละเอียด หรือ แป้งผสมน้ำ เป็นต้น

1.1.3 รำอ่อน ประมาณ 1 ส่วน
รำอ่อนจะเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในดิน ดังนั้นหากต้องการให้จุลินทรีย์เพิ่มปริมาณขึ้น(หรือที่เรียกว่า เชื้อเดิน) อย่างรวดเร็วก็สามารถใส่รำอ่อนเพิ่มมากขึ้นได้ เพียงแต่โดยทั่วไปมักไม่ใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปเนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

1.1.4 อินทรียวัตถุ ประมาณ 5 ส่วน
สำหรับอินทรียวัตถุจะใช้เป็นสิ่งใดก็ได้ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่ควรนำมาจากภายนอกเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุน นอกจากนี้อินทรียวัตถุเหล่านี้ไม่ควรปนเปื้อนสารเคมี เช่น ฟางข้าว ใบไผ่ แกลบกาแฟ เปลือกถั่ว เป็นต้น ที่ได้มาจากการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ เนื่องจากอินทรียวัตถุที่ปนเปื้อนสารเคมีนั้น จะมีสารเคมีที่ตกค้างไปทำลายจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินดีที่นำมาผสมได้

ส่วนผสมข้างต้นระบุเป็นสัดส่วนเพื่อให้ง่ายต่อการปรับปริมาณการผสม เช่น หากได้ดินดีมาปริมาณน้อยก็ให้ใช้ส่วนผสมอื่นๆ น้อยไปด้วยในอัตราส่วนเดียวกัน หากต้องการผลิตในคราวเดียวปริมาณมากๆ ก็ให้เพิ่มปริมาณส่วนผสมในสัดส่วนดังกล่าวลงไป กล่าวคือ ถ้ามีดินดี 1 กิโลกรัม ก็ควรใช้อินทรียวัตถุประมาณ 5 กิโลกรัม หากมีดินดี 10 กิโลกรัม ก็ควรใช้อินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50 กิโลกรัม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนผสมและสัดส่วนที่นำเสนอนี้ เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น เกษตรกรสามารถเพิ่มหรือลดสัดส่วนได้ตามความเหมาะสมของส่วนผสมชนิดต่างๆ เช่น หากได้สารให้ความหวานที่มีความหวานมากก็สามารถลดปริมาณการใช้ลงได้ หรือ รำอ่อนที่นำมาเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ก็สามารถใส่เพิ่มมากขึ้นได้หากต้องการให้เกิดเชื้อเดินเร็วขึ้น เป็นต้น

1.2 วิธีการทำหัวเชื้อแห้ง

1.2.1 ปูกระสอบป่าน หรือกระสอบปุ๋ยในที่ร่ม จากนั้นนำดิน อินทรียวัตถุ และสารให้ความหวานตามสัดส่วนข้างต้นมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน

1.2.2 นำรำอ่อนมาผสมคลุกเคล้าตาม ให้มีความชื้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ (หากส่วนผสมแฉะเกินไปการเดินของเชื้อจะไม่ดี ถ้าส่วนผสมแห้งเกินไปเชื้อจะใช้เวลาในการเดินช้า) สังเกตโดยการเอามือกำส่วนผสมดู ถ้าไม่มีน้ำไหลออกตามง่ามมือ แบมือแล้วยังจับตัวกันเป็นก้อน เมื่อเอานิ้วแตะแล้วแตกแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าแฉะเกินไปก็ให้เพิ่มอินทรียวัตถุ หรือถ้าแห้งเกินไปให้เติมน้ำตามความเหมาะสม

1.2.3 พับกระสอบห่อส่วนผสมที่คลุกเคล้ากันเรียบร้อยแล้วเก็บไว้ในที่ร่มและแห้ง เช่น ใต้ชายคา หรือ ใต้ต้นไม้ ทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน ก็จะมีใยหรือฝ้าสีขาวขึ้นถือเป็นหัวเชื้อแห้ง ที่นำมาใช้ได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าใยหรือฝ้าที่เกิดขึ้นจะมีสีขาวเสมอไป อาจเป็นสีอื่นๆ ได้ ยกเว้นสีดำ แต่ที่มักเห็นเป็นฝ้าสีขาวเพราะเกิดจากเชื้อราที่แสดงลักษณะเด่นมากกว่าตัวอื่นๆ ข้อสำคัญคือเมื่อดมแล้วถ้ามีกลิ่นหอมก็นับว่าใช้ได้
การเก็บรักษาหัวเชื้อแห้งทำได้ 2 วิธีขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้ คือการเก็บแบบชื้น โดยเก็บไว้ตามโคนต้นไม้ ต้นไผ่ คลุมด้วยเศษไม้ ถ้าฝนไม่ตกให้รดน้ำพอชุ่ม และการเก็บแบบแห้ง โดยการห่อไว้ในกระสอบ ในกล่องหรือถุงพลาสติก แล้วนำมาเก็บในที่ร่ม

ขั้นตอนที่ 2 การทำหัวเชื้อน้ำ

หัวเชื้อน้ำเกิดจากการนำหัวเชื้อแห้งที่ทำขึ้นในขั้นตอนที่ 1 มาผสมกับน้ำและสารให้ความหวาน หมักเพาะขยายเชื้อจนได้เป็นของเหลวที่เข้มข้นไปด้วยจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่มีประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งหัวเชื้อน้ำที่ทำขึ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้หลากหลาย

2.1 ส่วนผสมและอัตราส่วน

2.1.1 หัวเชื้อแห้งที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ประมาณ 1 กิโลกรัม

2.1.2 สารให้ความหวาน ประมาณ 10 กิโลกรัม

2.1.3 น้ำ ประมาณ 200 ลิตร
น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำฝน น้ำบ่อ น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี หากต้องการใช้น้ำประปาควรเปิดน้ำประปาใส่ถัง ปิดฝาแล้วนำไปตากแดด เพื่อไล่กลิ่นคลอรีนออกให้หมด เพราะสารละลายคลอรีนจะไปทำลายจุลินทรีย์

2.1.4 รำอ่อน ประมาณ 1-2 กำมือ

2.2 วิธีการทำหัวเชื้อน้ำ

2.2.1 ผสมสารให้ความหวานเข้ากับน้ำในถังพลาสติก 200 ลิตร ใช้ไม้คนเพื่อให้สารให้ความหวานละลายจนทั่ว

2.2.2 ใส่หัวเชื้อแห้งลงในถัง คนให้เข้ากัน เพื่อความสะดวกในการนำไปฉีดพ่น สามารถป้องกันเศษใบไม้หรือ ตะกอนดินอุดตันเครื่องฉีด โดยการใช้ตาข่ายไนล่อนหรือผ้าบางห่อหัวเชื้อแห้ง มัดผูกห้อยไว้ตรงกลางถังพลาสติก ก็จะช่วยให้เชื้อกระจายตัวได้ดี

2.2.3 ปิดฝาถังพลาสติก หมักทิ้งไว้ในที่ร่ม 7 วัน แล้วเปิดดูจะเห็นฝ้าสีขาว ให้โรยรำอ่อน 1-2 กำมือ จากนั้นปิดฝาทิ้งไว้นาน 1 เดือน ถ้ามีกลิ่นหอมถือว่าใช้ได้ แต่ถ้ามีกลิ่นเปรี้ยวหรือกลิ่นฉุนควรเติมกากน้ำตาลเพิ่มเข้าไปเพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์ กวนให้เข้ากันแล้วหมักไว้จนกว่าจะมีกลิ่นหอม

ทั้งนี้ ไม่ควรนำหัวเชื้อน้ำไปรดต้นไม้โดยตรง เนื่องจากอาจทำให้ต้นไม้ตายได้เพราะหัวเชื้อน้ำมีความเข้มข้นมาก จึงควรทำไปเจือจางก่อนใช้ โดยการทำเป็นจุลินทรีย์น้ำ หรือ ปุ๋ยน้ำหมัก เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการทำหัวเชื้อน้ำควรเหลือช่องว่างภายในถังไว้ประมาณ 1 คืบ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่ใช้อากาศได้หายใจ และควรเปิดฝาเพื่อระบายอากาศทุก 5-7 วัน

การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นทำอย่างไร

จุลินทรีย์ท้องถิ่นที่นำมาขยายจนกลายเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ (หัวเชื้อน้ำ) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทำเป็นจุลินทีย์น้ำช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำเป็นสารไล่แมลงและป้องกันโรค ทำเป็นปุ๋ยน้ำหมักช่วยเร่งโต เร่งดอก ใบ หรือทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับการประดิษฐ์คิดค้นของเกษตรกรแต่ละท่านให้เหมาะสมกับการผลิตของตน ซึ่งในที่นี้จะนำเสนอตัวอย่างการประยุกต์ใช้บางประการ เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาต่อไป

ตัวอย่างที่ 1 การทำจุลินทรีย์น้ำช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ
จุลินทรีย์น้ำ คือ สารเจือจางของหัวเชื้อน้ำที่ทำขึ้น มีคุณสมบัติในการย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ ในสวน ไร่นา ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ตอซังข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเมื่อรดด้วยจุลินทรีย์น้ำก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยคืนให้กับผืนนา หรือ เศษหญ้าเศษใบไม้ในสวนหากได้รดด้วยจุลินทรีย์น้ำก็จะย่อยสลายทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
1.1 ส่วนผสม
หัวเชื้อน้ำ ประมาณ 5 ลิตร
สารให้ความหวาน ประมาณ 10 กิโลกรัม
น้ำ ประมาณ 200 ลิตร
1.2 วิธีการทำ
ผสมกากน้ำตาลกับน้ำในถังพลาสติก ใช้ไม้คนเพื่อให้กากน้ำตาลละลาย
เติมหัวเชื้อน้ำลงในถังพลาสติก คนให้เข้ากัน
ปิดฝาถังพลาสติก โดยเหลือช่องว่างภายในถังไว้ประมาณ 1 คืบ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่ใช้อากาศได้หายใจ และควรเปิดฝาเพื่อระบายอากาศทุก 5-7 วัน หมักทิ้งไว้ในที่ร่ม 7 วัน ก็สามารถนำไปฉีดย่อยสลายเศษพืชในสวนไร่นาให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้
1.3 วิธีการใช้
โดยทั่วไปเมื่อนำจุลินทรีย์น้ำไปรดในสวน ไร่นา จนทั่วแล้ว ให้เกษตรกรพิจารณาความเหมาะสมในการรดเพิ่มด้วยตนเอง เนื่องจากวิธีการใช้ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพในท้องถิ่นของตน เพราะจุลินทรีย์แต่ละแหล่งก็มีคุณสมบัติที่ดีแตกต่างกันไป

ตัวอย่างที่ 2 การทำสูตรแก้หนอนกอและเพลี้ยกระโดด

2.1 ส่วนผสม

  • ตะไคร้หอม ประมาณ 1 กิโลกรัม
  • ข่าแก่ ประมาณ 1 กิโลกรัม
  • ลูกมะกรูดผ่าซีก ประมาณ 1 กิโลกรัม
  • บอระเพ็ด ประมาณ 1 กิโลกรัม
  • เมล็ดสะเดาทุบให้แตก ประมาณ 1 กิโลกรัม
  • ยาสูบ ประมาณ 1 กำมือ
  • ใบหนอนตายอยาก ประมาณ 1 กำมือ
  • ใบยูคาลิปตัส ประมาณ 1 กิโลกรัม
  • หัวเชื้อน้ำ ประมาณ 1-2 ลิตร
  • สารให้ความหวาน ประมาณ 1-2 ลิตร
  • น้ำ ประมาณ 15 ลิตร

2.2 วิธีการทำ

  • สับสมุนไพรให้ละเอียดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทั้งนี้การใช้สมุนไพรหลายอย่างดีกว่าน้อยอย่าง ตัวไหนได้มาก่อนก็หมักก่อน ถ้าได้มาหลังก็หมักตามหลังในภาชนะหมักเดียวกันได้
  • หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จึงนำไปฉีดพ่นได้

2.3 วิธีการใช้

  • สัดส่วนที่ใช้ประมาณ 10 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรปรับสภาพดินก่อน และสารสกัดสมุนไพรมักไม่ทนแดด ควรฉีดพ่นในตอนเย็นและฉีดพ่นให้โชกทั่วทรงพุ่ม อีกทั้งควรฉีดพ่นบ่อยๆ ทุก 3-5 วัน เพราะสารสกัดสมุนไพรจะอยู่ไม่ทน ทั้งนี้การใช้สารสกัดสมุนไพรต้องใช้ล่วงหน้าแบบป้องกัน อย่ารอให้ศัตรูพืชระบาดก่อนแล้วจึงใช้ จะไม่ได้ผล และระวังอย่างให้เข้มข้นเกินไปจะทำให้ใบไหม้ได้

ตัวอย่างที่ 3 การทำฮอร์โมนผลไม้

3.1 ส่วนผสม

  • ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้าสุก ประมาณ 2 กิโลกรัม
  • ฟักทองแก่จัด ประมาณ 2 กิโลกรัม
  • มะละกอสุก ประมาณ 2 กิโลกรัม
  • หัวเชื้อน้ำ ประมาณ 200 ซีซี
  • สารให้ความหวาน ประมาณ 200 ซีซี
  • น้ำ ประมาณ 10 ลิตร

3.2 วิธีการทำ

  • สับกล้วย ฟักทอง มะละกอ เปลือก เนื้อ เมล็ด ให้ละเอียด ผสมหัวเชื้อน้ำ สารให้ความหวานให้เข้ากันดี บรรจุในถังพลาสติกปิดผาหมักไว้ 7-8 วัน
  • กรองน้ำหมักใส่ขวดไว้ใช้ ส่วนกากน้ำไปฝังดินเป็นปุ๋ยน้ำ ฮอร์โมนพืชเก็บไว้ได้นานประมาณ 3 เดือน

3.3 วิธีการใช้

  • นำส่วนผสมที่เป็นน้ำ 4-10 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำสะอาด 10 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดต้นไม้ช่วงติดดอกจะทำให้ติดผลดี และป้องกันแมลงเต่าทองและเชื้อรา ส่วนที่เป็นไขมันเหลืองๆ ในถักหมักใช้ทากิ่งตอน กิ่งปักชำ เป็นต้น ช่วยในการแตกรากดีมาก

ตัวอย่างที่ 4 การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ
ปุ๋ยหมักชีวภาพ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการหมักอินทรียวัตถุกับน้ำสกัดชีวภาพ ช่วยในการปรับปรุงดิน ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน ให้เป็นอาหารกับพืช

4.1 ส่วนผสม
มูลสัตว์แห้งประมาณ 3 ส่วน แกลบดำประมาณ 1 ส่วน รำละเอียดประมาณ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน
หัวเชื้อน้ำประมาณ 1 ส่วน ผสมสารให้ความหวานประมาณ 1 ส่วน กับน้ำประมาณ 100 ส่วน ผสมให้เข้ากัน
นำส่วนผสมที่ 2 ใส่บัวรดในส่วนที่ 1 คลุกเคล้าให้เข้ากันจนใช้ได้ โดยเมื่อใช้มือบีบส่วนผสมจะมีน้ำซึมตามง่ามมือ หมักไว้ 4-7 วัน ต้องกลับกองเพื่อลดความร้อนประมาณ วันละ 1 ครั้ง เมื่อไม่มีความร้อนจึงนำไปใช้

4.2 วิธีการใช้
นาข้าวหว่านประมาณ 50 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ในการใส่ครั้งแรก ปีต่อไปลดปริมาณลงเหลือประมาณ 30 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเป็นไม้ใหญ่ใช้ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้น (ใส่รองก้นหลุมประมาณ 1 กำมือ)

ประโยชน์หัวเชื้อจุลินทรีย์

  • จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ให้กลายเป็นสารอาหารแก่พืชโดยจุลินทรีย์สามารถเกิดได้เอง
  • ตามธรรมชาติ ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินแบ่งประโยชน์ของหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ ดังนี้
  • ด้านเกษตร ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างในดินและน้ำช่วยแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืช และโรคระบาดต่างๆช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำ และให้อากาศผ่านได้อย่างเหมาะสม ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เป็นอาหารแก่พืช
  • ด้านปศุสัตว์ ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มปศุสัตว์ ไก่ และสุกรได้ช่วยกำจัดแมลงวันด้วยการตัดวงจรชีวิตของหนอนแมลงวันไม่ให้เข้าดักแด้เกิดเป็นตัวแมลงวันช่วยเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยงทำให้สัตว์แข็งแรง
  • ด้านการประมง ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์ น้ำได้ช่วยแก้ปัญหาโรคพยาธิในน้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อกุ้ง ปลา กบ หรือสัตว์อื่นที่เลี้ยงได้ช่วยลดปริมาณขี้เลนในบ่อช่วยให้เลนไม่เน่าเหม็นสามารถนำไปผสมเป็นหมักใช้กับพืชต่างๆได้ดี
  • ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยบำบัดน้ำเสียจากวิธีทำการเกษตรการปศุสัตว์ การประมง โรงงานอุตสาหกรรมชุมชน และสถานประกอบการทั่วไป ช่วยกำจัดกลิ่นจากกองขยะ ช่วยปรับสภาพของเสีย เช่นเศษอาหารจากครัวเรือนให้เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูกพืช

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด จุลินทรีย์

แสดงความคิดเห็น