ผักเหลียงเป็นพันธุ์ไม้ป่า เจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ พบได้ทั้งบริเวณเนินเขาและที่ราบ
ในบริเวณที่มีดินร่วนซุยและมีความอุดมสมบูรณ์สูง ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผักพื้นบ้านภาคใต้”
วิธีทำชาใบเหลียง แบบชาเขียว
- เตรียมต้นเหลียงโดย บำรุงต้นด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ และให้น้ำสม่ำเสมอ ให้เหลียงออกยอดและใบที่สมบูรณ์
- เก็บใบเหลียงกลางแก่กลางอ่อน (เพลสาด) เก็บใบยอดที่ไม่เหนียวเกินไป
- นำใบเหลียงสดมาล้างทำความสะอาด จัดวางใบซ้อนกันให้เป็นแถว แล้วผึ่งลมไว้จนแห้ง
- นำใบเหลียงสดที่แห้งดีแล้วมาเด็ดก้านและสันใบออก จับในเหลียงจำนวน 20-25 ใบมาม้วน แล้วหั่นให้มีขนาดไม่เกิน 0.5 ซม. พักไว้
- นำใบเหลียงที่หั่นแล้วมานวด โดยจับเป็นก้อนแล้วกดลงกับพื้นถาดสแตนเลส พอให้ใบช้ำ แล้วนำใส่กระด้งไม้ไผ่หรือถาดสแตนเลส หมักพักไว้ 30-60 นาที
- นำใบเหลียงที่ผ่านการหมักมานึ่งหรือรวกด้วยน้ำเดือด ให้ใบเหลียงสลดลง พักไว้จนน้ำออกมาจนหมด
- นำใบเหลียงที่หมักใส่กระทะแล้วผัด แนะนำให้ใช้เตาฟืนหรือเตาถ่านจะทำให้ชาหอมแบบธรรมชาติ โดยยกให้ใบเหลียงสัมผัสอากาศแล้วกระจายตัวและตกกลับมาบนกระทะ ช่วงแรกของการผัดเป็นการไล่น้ำออกใช้ไฟค่อนข้างแรง หลังจากน้ำระเหยจนหมดใช้ไฟกลางผัดชาจนใบเหลียงเบาและเริ่มกรอบ ยกกระทะลงตักชาใส่ถาดสแตนเลส พักไว้จนเย็น
- ชาใบเหลียงที่พักไว้จะคืนตัวและคายน้ำออกมา นำชาไปอบด้วยอุณหภูมิ 40-60 องศา ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงจนชาแห้งสนิท
- คัดส่วนของชาที่ไม่ได้คุณภาพออก แล้วนำไปบรรจุในถุงหรือภาชนะปิดสนิท สามารถเก็บได้นาน 1-2 ปี
สรรพคุณของชาใบเหลียง
ใบเหลียง เป็นผักพื้นบ้านของภาคใต้ชนิดหนึ่ง ใบสีเขียวเข้ม มีรสชาติดี ไม่มีรสขม ปราศจากกลิ่น เต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย นิยมนำมาประกอบอาหาร หรือนำมาลวกจิ้มแกล้มกับน้ำพริก
ใบเหลียง ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย เช่น โปรตีน วิตามินซี เหล็ก ใยอาหาร แคลเซียม ไรโบฟลาวิน และไนอะซิน
การรับประทานใบเหลียงเป็นประจำจะช่วยบำรุงระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นดวงตา กระดูก สมอง หัวใจ ป้องกันโรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ และยังแก้ร้อนในได้อีกด้วย