ชิงชี ไม้ประดับมีสรรพคุณ

18 สิงหาคม 2559 สมุนไพร 0

ชิงชี่เป็นสมุนไพรไม้พุ่มหรือไม้กึ่งเลื่อยที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการ เพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในหลายสภาพภูมิประเทศทั่วทุกภาคในประเทศไทย ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร ต้นชิงขี่พบได้ตั้งแต่สภาพดินที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้ทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือป่าโปร่งทั่วไป สำหรับสรรพคุณในการรักษาโรค พบว่า ต้นชิงชี่ถูกใช้ในการรักษาโรคได้มากมาย ทั้งการเป็นยาแก้ฟกช้ำ แก้โรคผิวหนัง แก้ตะคริว แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้พิษฝีกาฬ รวมไปถึงสรรพคุณในการรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังสามารถนำชิงชี่มาปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามได้อีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capparis micracantha, capparis horrida, Linn.
วงศ์ : CAPPARIDACAEE
ชื่ออื่น ๆ : กระดาดป่า (ชลบุรี), ชายชู้, หมากมก (ชัยภูมิ), หนวดแมวแดง (เชียงใหม่), คายซู (อุบลราชธานี), พญาจอมปลวก, กระดาดขาว, กระโรกใหญ่, กินขี้, จิงโจ้, แสมซอ, ค้อนฆ้อง, ซิซอ, เม็งซอ, ราม, แส้ม้าทะลาย, พุงแก, น้ำนอง, น้ำนองหวะ, เม็งซอ, พวงมะละกอ, พวงมาระดอ,แสมซอ (ภาคกลาง),ชิงชี, ชิงวี่, ชินซี่, ซาสู่ต้น, แซ่สู่ต้น, แซ่ม้าลาย และปู่เจ้าสมิงกุย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
“ชิงชี่” จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงต้นประมาณ 1- 6 เมตร ลำต้นมีสีเทา กิ่งคดไปมา เมื่ออ่อนมีขนห่าง ๆ ที่โคนกิ่งและก้าน ล้อมรอบด้วยใบคล้ายเกล็ดหนาม ยาว 2 – 4 มม. กิ่งและก้านมีลักษณะตรงหรือโค้งเล็กน้อย กิ่งแข็ง กิ่งก้านมีหนาม ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปใบเป็นขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ กว้าง 4 -10 ซม. ยาว 7 – 25 ซม. ดอก เป็นดอกเดี่ยวที่ปลายกิ่ง แต่ละกิ่งมีได้ถึง 7 ดอก เรียงเป็นแถวอยู่เหนือซอกใบหรือง่ามใบ ทำให้มองดูมีลักษณะเป็นช่อดอก ก้านดอก ยาว 1 – 2 ซม. กลีบเลี้ยง มี 4 กลีบ กลีบดอกมี 4 กลีบ กลีบดอกสีขาวแซมสีเหลืองที่โคนกลีบ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอก รูปขอบขนานหรือรูปหอก เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง กลีบรองดอก ค่อนข้างเป็นรูปเรือ รูปไข่ หรือขอบขนาน กลีบรองดอกมีลักษณะอวบน้ำ ขอบมักมีขน มีแหล่งน้ำหวานสีเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มน้ำตาล หรือม่วงเข้ม เกสรผู้ มีจำนวนมาก ผลสด มีลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือกลม ผลอ่อนจะมีสีเขียว และเมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง

chingcheedok chingcheepon

ในประเทศไทยพบชิงชี่ขึ้นได้ทั่วไปในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า หรือเขาหินปูนที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้ทะเล ที่ความสูงระหว่างระดับน้ำทะเลปานกลาง 100 – 500 ม. พบทุกภาคในประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย พม่า อินโดจีน จีน อันดามัน ไฮหนาน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ประโยชน์ของชิงชี่ด้านการเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของไม้นี้คือ เป็นไม้เล็กใช้พื้นที่ปลูกแคบๆ ตัดแต่งได้ง่าย เพาะกล้าด้วยเมล็ด ปลูกได้กว้างขวางทั่วประเท ตั้งแต่ชายทะเลถึงยอดเขาที่สูงไม่เกิน 500 ม. มีดอกแปลกตาและดก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มองดูเหมือนมีการเปลี่ยนสีจากกลีบสีเหลืองเป็นสีแดงเข้ม แต่แท้ที่จริงเป็นแหล่งน้ำหวานที่เปลี่ยนสีได้ ก้านเกสรผู้จำนวนมากโค้งได้รูปแปลกตาดี เป็นสมุนไพรก็ไม่เลวนัก ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ใช้ประโยชน์กันมาแต่โบราณ

สรรพคุณ
ประโยชน์ของชิงชี่ในทางสมุนไพร ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรของชิงชี่ มีมากมายใช้ได้เกือบทั้งต้นและมีสรรพคุณดังนี้ ราก รสขมขื่น ขับลมภายใน แก้ไข้ โรคกระเพาะ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่และเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตร ขับปัสสาวะ แก้ไอเนื่องจากหลอดอักเสบ รักษามะเร็ง (แผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม รักษายาก) ทั้งต้น มีรสขื่นปร่า ตำแก้ฟกบวม แก้ไข้ ขับน้ำเหลืองเสีย โรคผิวหนัง หืด อาการเจ็บในทรวงอก ใบ มีรสเฝื่อนเมา จึงเหมาะที่จะเข้ายาอาบและรับประทานรักษาโรคผิวหนัง ประดงไข้พิษฝีกาฬ ไข้สันนิบาต และตะคริว โดยเผาสูดเอาควัน เพื่อใช้แก้หลอดลมอักเสบ รากและใบ มีรสขมขื่น ใช้ตำพอก แก้ฟกช้ำบวม ดอก แก้โรคมะเร็ง ผล แก้โรคบังเกิดในลำคอ เมล็ด คั่วแก้ไอ เนื้อไม้ ใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบและอาการอักเสบที่เยื่อจมูก ยาชงของเนื้อไม้เป็นยากลางบ้าน ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี โรคกระเพาะ และอาการวิงเวียนศรีษะ ส่วนทางสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ใช้รากชิงชี่เป็นยาขับลม รักษามะเร็ง แผลเรื้อรัง โดยใช้ต้นชิงชี่นำมาตำพอก แก้ฟกช้ำบวม ส่วนใบชิงชีนำมาใช้รักษาอาการชาตามร่างกาย หรือนำไปเข้าตำรับยาอาบ และรับประทาน รักษาโรคประดง ไข้พิษฝีกาฬ หรือนำไปเผาดมควันรักษาโรคหลอดลมอักเสบ สำหรับผลสุกชิงชีนั้นสามารถรับประทานได้ และมีรสหวาน

chingcheeton

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น ราก ใบ ดอก และผล
สรรพคุณทางยา :
ทั้งต้น แก้ฟกช้ำ แก้บวม แก้ไข้ และขับน้ำเหลืองเสีย
ราก แก้โรคที่เกิดในท้อง ขับลมภายใน แก้ไข้ร้อนใน แก้โรคตา รักษาโรคกระเพาะ รักษามะเร็ง ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ แก้ไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ และแก้หืด
ใบ แก้โรคผิวหนัง รักษาประดง แก้สันนิบาต ไข้ฝีกาฬ แก้ตะคริว และแก้หลอดลมอักเสบ
ดอก รักษาโรคมะเร็ง
ผลดิบ แก้โรคในลำคอ แก้เจ็บคอ หรือรักษาโรคลำคออักเสบ
เมล็ด แก้ไอ

วิธีการใช้ :
แก้ฟกช้ำ แก้บวม นำทั้งต้นมาตำ พอกที่แผล
แก้โรคผิวหนัง แก้ตะคริว ใช้ใบเข้ายาอาบน้ำ หรือต้มน้ำดื่มดับประทาน
แก้หลอดลมอักเสบ นำใบมาเผาแล้วสูดดมควัน
แก้ไข้สันนิบาต ไข้พิษฝีกาฬ นำใบมาต้มดื่มเป็นยา

ที่มา
งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น