บริเวณบ้านหลังเล็กๆ ที่ถูกแปลงเนื้อที่ออกเป็นทั้งที่อบรม ที่ทำงานและศูนย์ประสานงาน เริ่มคึกคักตั้งแต่ฟ้าย่ำรุ่งยังไม่สว่างดีนัก ทุกคนต่างกระวีกระวาดคุ้นชินกับบรรยากาศเช่นนี้ เพราะอีกไม่กี่นาทีก็จะมีคนแปลกหน้ามากมายเข้ามา ดูงาน ฝึกอบรม และติดต่อประสานงาน ซึ่งสำหรับที่นี่นี้คือกิจวัตรประจำวัน
กว่าจะถึงวันนี้ได้ เรื่องราวของหมู่บ้านในดงลึกริมภูที่ชื่อ บ้านแม่ระวาน ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก ชาวบ้านที่นี่แทบทุกคนต่างรู้ดีว่า ไม่ได้มาได้ง่ายนักเพราะทุกคนต่างร่วมกันเดินผ่านอุปสรรคขวากหนามมาสารพัน แต่ถ้ามองลึกไปยังผืนป่าที่กำลังเขียวชอุ่มฟื้นตัว น้ำที่ค่อยๆ ชุ่มชื้นเห็นได้จากปริมาณในน้ำคลองที่ไม่เหือดแห้ง และที่สำคัญกิจกรรมในชุมชนที่แตกแขนงเข้มแข็งออกไปไม่สิ้นสุด
นายพงศ์สิริ นนทะชัย แกนนำและประธานศูนย์ปราชญ์ชุมชน บ้านแม่ระวาน สรุปและเผยแนวคิด กำเนิดกลุ่มชาวบ้านแม่ระวาน ผ่านบทเรียนการต่อสู้ ตั้งแต่ปกป้องผืนป่า มาจนถึงแผนงานพัฒนาคนและอาชีพในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ว่า
การรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่นี่เกิดจากวิกฤต เนื่องจากมองว่าในอนาคตป่ามันต้องหมด เพราะคนมันเพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2537 ชาวบ้านที่นี่เริ่มรู้จักการลุกขึ้นเพื่อประท้วงโรงงานหินแกรนิต ที่นายทุนเข้ามาลงทุนแล้ว ทำให้กลุ่มแม่บ้านเกิดรวมตัวกันแบบเงียบๆ ภายใต้แนวความคิด ป่าอยู่คนอยู่ป่าหายคนตาย จึงได้รวมตัวกันขึ้น ในปี 2537 นั่นเอง ซึ่งมีเครือข่าย ตำบลแม่พริก อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง และตำบลยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก ประมาณ 500 คน โดยกลุ่มแม่บ้านแม่ระวานเป็นแกนนำ ส่วนที่ต้องรวมตัวกันแบบเงียบๆ เนื่องจากในยุคนั้นชาวบ้านแถบนี้ยังกลัวภัยคุกคาม
ส่วนบทบาทผู้ชายจะอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากผู้ชายจะอยู่ในขั้นอันตรายมาก ในสถานการณ์ตอนนั้น กิจกรรมแรกๆ ที่คิดกันคือ หาทางรักษาป่า ไว้ เพราะหากปล่อยไว้ อาจจะมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะนอกจากป่าถูกทำลายแล้ว หินแกรนิตจะถูกดูดถูกตักตวงอีก
ต่อมาปี 2542 ท่านผู้ใหญ่ ประดิษฐ์ ศีวิลัย เป็นผู้ใหญ่บ้านปีแรก จึงได้สานต่อแนวความคิด ที่จะดูแลผืนป่าและทรัพยากรทั้งหลาย โดยมีการจัดส่ง คณะกรรมการหมู่บ้านเข้ารับการอบรมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่หน่วยจัดการทรัพยากรป่าที่ 4 จังหวัดตาก มีการฝึกอบรมที่อุทยานฯ ลานสาง จ.ตาก จำนวน 12 คน หลังจากนั้น ทั้ง 12 คนจึงได้ขยายแนวความคิดจากองค์ความรู้ที่ได้รับมาเข้าสู่ที่ประชุม เป็นจุดเริ่มต้นของการมีกิจกรรมอนุรักษ์ป่า มีการออกสำรวจพื้นที่ป่า แปลงแรก จำนวน 181 ไร่ เพื่อขอขึ้นเป็นป่าชุมชน กับสำนักงานป่าไม้ฝ่ายส่งเสริมป่าชุมชน และมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีการลาดตระเวนปลูกป่า ประชาสัมพันธ์กลุ่ม และจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนอย่างแท้จริง นายพงศ์ศิริเผยถึงกำเนิดกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ป่าแม่ระวานพร้อมทั้งอธิบายถึงกิจกรรมและผลสำเร็จของกลุ่มว่า
ต่อมาปี 2543 คณะกรรมการป่าชุมชนแม่ระวานได้จัดทำโครงการ ชุมชนคนรักษ์ป่าบ้านแม่ระวาน เสนอต่อ กองทุนเพื่อสังคม (sif) ทางกองทุนให้การสนับสนุนด้วยงบประมาณจำนวน 150,000 บาท โดยในตอนนั้นเรามีกิจกรรม หลักๆ คือ
1 ) ไปศึกษาดูงานบ้านทุ่งยาว ลำพูน
2 ) ร่วมกันจัดค่ายเยาวชน ในตำบลยกกระบัตร และเข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน
3 ) และช่วยกันปลูกป่าเพิ่ม ในพื้นที่ป่าชุมชนที่ว่างเปล่า และขยายพื้นที่อีก 500 กว่า ไร่ เมื่อรวมกับแปลงแรกที่เราอนุรักษ์ก็จะเป็น 750 ไร่ ต่อมา หลังจากจบกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ได้มีการจัดอบรมเพิ่มความรู้ ทักษะ โดยเข้าโครงการฝึกอบรม รสทป. (ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า) รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2544 จำนวน 100 คน ต่อมาปี 2545 ได้มีการจัดเวทีประชุม แสดงความคิดเห็นและเสนอโครงการงานวิจัย ชื่อ กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบผืนป่าผาต้อน พร้อมกับสร้างเครือข่ายในการดูแลผืนป่า จำนวน 6 หมู่บ้าน โดยมีบ้านแม่ระวานเป็นแกนนำ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้ ก็ได้พูดคุยกันอีกที่จะทำงานกันต่อเนื่องเพื่อต่อยอดจากงานที่ผ่านมาเป็นงานวิจัยเชิงพัฒนา ชื่อโครงการ ฟื้นฟูระบบนิเวศผืนป่าผาต้อน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อ UNDP และขยายพื้นที่ดูแลอีก เป็น 15,000 ไร่ จึงทำให้โครงการเราถูกรับรู้ทั่วทั้งจังหวัดลำปางและตาก
ด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปี 2548 มีการสร้างฝายชะลอน้ำ เรียกว่า ฝายหินทิ้ง จำนวน 800 ฝายและ ฝายถาวร จำนวน 2 ฝาย ในผืนป่าผาต้อน โดยใช้แรงงานจากหมู่บ้านเครือข่ายหมู่บ้านละ 10 คนเข้าไปร่วมกันทำ
ต่อมาในปี 2549 มีการอบรม รสทป.รุ่นที่ 2 เพิ่มอีกจำนวน 100 คน และสร้างฝายถาวร ในผืนป่าถาวรในผืนป่าผาต้อนอีกสองฝายสนับสนุน โดยหน่วยจัดการต้นน้ำแม่พริก
ปี 2550 มีการสร้างฝายชะลอน้ำ แบบกึ่งถาวรและไม่ถาวรในผืนป่าชุมชน ใกล้หมู่บ้าน จำนวน 110 ฝาย และได้รับการสนับสนุนจากยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จ.ตาก โดยแรงงานจากชุมชนแม่ระวาง สร้างฝายในเวลาหนึ่งอาทิตย์ จนเป็นสำเร็จ ต่อมาปี 2551 มีการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 105 ฝายจากหน่วยจัดการต้นนำแม่พริกสนับสนุน และปลูกไม้แดง ไม้ประดู่จำนวน 5,000 ต้น ได้รับการสนับสนุนจาก ธกส.สามเงา พร้อมกับได้เสนอโครงการ ชื่อโครงการพัฒนาศักยภาพ ชุมชนรอบผืนป่าผาต้อน โดยมีผู้เข้ารวมกิจกรรมในการฝึกอบรมให้ความรู้จากหมู่บ้านเครือข่าย 6 หมู่บ้าน และมีการปลูกต้นไม้เพิ่มอีก และสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวนอีก 100 ฝาย นอกจากนั้น มีการติดตามประเมินผล และให้กำลังใจหมู่บ้านเครือข่ายมาตลอด จนทำให้หมู่บ้านเครือข่ายบางหมู่บ้านสามารถพึ่งตนเองได้ บ้านแม่เชียงรายหมู่ 3 ตำบลแม่พริก อ.แม่พริก ลำปาง และเป็นหมู่บ้านดูแลผืนป่าตัวอย่างของ จ.ลำปางและเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามลำดับ
นอกจากนั้น ใน เขต จ.ตาก ยังมีหมู่บ้านหนองเชียงคาน หมู่ 6 และหมู่ 11 กรณีบ้านหนองเชียงคานได้สร้างฝายชะลอน้ำและแนวกันไฟ ตามฤดูกาลจนเป็นเรื่องปกติของชุมชน นอกจากนี้ หมู่บ้านเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอยู่ตลอด เพาะการใช้ประโยชน์จากป่าผืนเดียวกัน ไม่ว่าน้ำ แหล่งอาหาร ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ไว้สร้างบ้าน นายพงศ์ศิริย้ำและยืนยันความฝันถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต ว่า
อย่างแรกเลย คือการฝึกอบรมพัฒนาคน ให้ความรู้ อาทิเช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ต่อมาคือ เรื่องอาชีพ เรื่องการเกษตร ตามแนวทฤษฎีใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ พัฒนาปุ๋ย อินทรีย์ ใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่น พัฒนาฝีมือ อาทิ การจักสาน ไม้กวาดทางมะพร้าว ไม้กวาดดอกหญ้า น้ำยาอเนกประสงค์ ยังขาดทุนหมุนเวียน การเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ป่า เพื่อการค้าเชิงอนุรักษ์ ขาดวัสดุอุปกรณ์ (สำคัญมาก อยากได้ทุนก้อนนี้มาก) 70% ขายเป็นรายได้ อีก 30% มอบคืนป่า พลังงานทดแทน ไอโอดีเซล ขาดปัจจัยซื้อน้ำพืชเก่า และอยากทำ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ป่าสร้างบ้าน ไม้ผล ไม้ใช้สอย และจะได้ประโยชน์ที่ 4 คือ ได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ระบบนิเวศที่ดีครับนายพงศ์ศิริกล่าว