ณรงค์ สังขะโห มนุษย์ยางนา

“ยางนา” เป็นไม้อเนกประสงค์ แทบทุกส่วนสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นแหล่งอาหารป่า แหล่งนันทนาการ ใช้น้ำมันยางเป็นสมุนไพรและเนื้อไม้ เหมาะสำหรับใช้สอยทั่วไป ด้วยเหตุนี้จากอดีตที่ผ่านมา จึงมีการตัดไม้ยางนากันเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2454 ได้ให้ความสำคัญของไม้ยางนา เท่าเทียมกับไม้สัก โดยการกำหนดว่า ทั้งไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด (รวมทั้งในที่เอกชน) เป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ยางนา เป็นไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ สูง 40-50 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง เปลือกเรียบหนาสีเทา โคนต้นมีพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม พบในประเทศกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ยางกุง (เลย) ยางขาว (กลาง, ลำปาง) ยางควาย (หนองคาย) ยางตัง (ชุมพร, ใต้) ยางเนิน (จันทบุรี) ยางแม่น้ำ (กลาง) ยางหยวก (กลาง, หนองคาย)

มีคนไทยหลายคน ในหลายจังหวัดที่ปลูกต้นยางนาด้วยเป้าหมายต่างกัน แต่สำหรับ คุณณรงค์ สังขะโห ปลูกยางนาอยู่ที่ชัยนาท ด้วยเหตุผลเพราะมองว่าพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังจะหมดไปจากผืนป่าของไทย เนื่องจากมีการตัดไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้ปลูกเพิ่ม

คุณณรงค์ มีแรงบันดาลใจต่อการปลูกและศึกษาเกี่ยวกับต้นยางนาจากในหลวง คุณณรงค์เล่าว่า การที่มีความรู้เรื่องยางนามาทุกวันนี้ เพราะได้ศึกษาตามแนวทางของพ่อหลวง เมื่อ ปี 2504 ที่ทรงรับสั่งว่ามีแต่คนตัด ควรมีการศึกษาเพื่อให้มีการปลูกเพิ่มขึ้น จากนั้นเขาเลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง แล้วลงมือปลูกทันที ทว่าการปลูกยางนาของณรงค์มีความตั้งใจเพื่อศึกษาและทดลองวิจัย จนกระทั่งสามารถสรุปถึงความเป็นไปได้ในการปลูกยางนาในสภาวะต่างๆ ได้ถึง 36 ประเด็น

ด้วยความที่คุณณรงค์มีงานประจำอยู่ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเนินขาม มานานถึง 30 ปี และต้องคลุกคลีอยู่กับลูกค้าที่เป็นชาวบ้าน จึงมองว่ามีหลายรายประสบปัญหาด้านการเงินไม่รู้จบ อันเป็นเพราะพวกเขาขาดความเข้มแข็ง หรือพึ่งตัวเองไม่ได้

“ดังนั้น มีความคิดว่า ถ้าจะใช้ต้นไม้เป็นเครื่องช่วยหารายได้ให้แก่ชาวบ้านจึงผุดขึ้นทันที และพร้อมไปกับการวางรากฐานการศึกษาถึงความเป็นไปได้ด้วยการตั้งเครือข่ายแห่งแรกขึ้นมาเป็นศูนย์ศึกษายางนาแก้หนี้แก้จน เพื่อเป็นการจุดประกาย”

จากนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนายางนาตามรอยพระยุคลบาท และมูลนิธิเพื่อนต้นไม้ จึงถูกตั้งขึ้นตามมาอีกในภายหลัง ซึ่งเหล่านี้คือความสำเร็จจากการมุ่งมั่นศึกษาเรื่องยางนาของคุณณรงค์ โดยหวังใช้เป็นแรงขับเคลื่อนนำไปสู่การถ่ายทอดเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศสนใจ ใส่ใจ แล้วหันมาปลูกต้นยางนากันเพิ่มมากขึ้น

ในพื้นที่ทั้งหมด 17 ไร่ ของบ้านเลขที่ 300 หมู่ที่ 10 ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ที่คุณณรงค์จัดวางเป็นห้องเรียนตามธรรมชาติ เพื่อใช้ศึกษา วิจัย ด้วยการปลูกต้นยางนา จำนวน 20,000 ต้น ปลูกไว้เป็นกลุ่มๆ เพื่อใช้ศึกษาวิจัยในแต่ละด้าน แต่ละประเด็น

ตัวอย่างงานวิจัยที่สรุปแล้วจับต้องได้คือ ศึกษาพื้นที่ปลูกในดินลูกรัง โดยเพื่อหวังให้ชาวบ้านปลูกบริเวณรอบภูเขา หรือสูตรขี้เกียจแต่อยากรวย เป็นงานวิจัยที่แนะว่า ถ้าอยากรวยควรซื้อที่ดินแล้วปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะโตทุกวัน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรกับบ้านเมือง ต้นไม้ก็ยังโตไปตามธรรมชาติ แล้วไม่นานคนที่ปลูกไว้ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้

“ใครที่ปลูกยางพาราแล้วปลูกยางนาสลับ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับยางพาราก็สามารถใช้ประโยชน์จากยางนาแทนได้ หรือศึกษาเรื่องการออมผ่านต้นไม้ เป็นแนวคิดที่มองว่าการปลูกไม้ยืนต้นจะสร้างรายได้ในระยะยาวดีกว่าการออมเงินไว้กับธนาคารในระยะยาว”

ส่วนชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลังอยู่ ถ้าต้องการปลูกยางนาในไร่มันสำปะหลัง ให้ใช้ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4 คูณ 4 เมตร และให้ปลูกบริเวณรอบ ซึ่งจะได้ผลผลิต 4-5 ตัน ต่อไร่ ถ้าราคา ตันละ 2,000 บาท จะมีรายได้เป็นหมื่นบาทต่อไร่ แต่ถ้าขยันทำ จะได้ถึงไร่ละ 200 ตัน

มีงานวิจัยเรื่องปลูกตามนาข้าวว่า หากปลูกบริเวณริมคันนา จะต้องจัดทำคันนาให้ถูกต้อง ใช้ระยะห่าง ต้นละ 1 เมตร จะได้ไร่ละ 80 ต้น ถ้ามีจำนวน 10 ไร่ ได้ถึง 800 ต้น และการปลูกถี่จะป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้นที่พื้นดิน แล้วจะไม่แห้ง จะสามารถป้องกันการเกิดไฟไหม้ได้

“ไม่เพียงเป็นไม้เศรษฐกิจอย่างเดียว บางคนที่เป็นนักอนุรักษ์หากต้องการปลูกเพื่อการประดับ สามารถทำได้ ปลูกร่วมกับไม้ชนิดอื่นได้ ภาชนะที่ใช้ปลูกอาจปลูกได้ในรองปูนซีเมนต์ เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้หากต้องการเปลี่ยนตำแหน่ง แต่ควรนำกระสอบปุ๋ยมารองที่ด้านล่าง

ท่านใดที่พ้นวัยทำงานและกำลังมองหาต้นไม้ปลูกเพื่อแก้เหงา พร้อมกับสร้างรายได้ แนะนำว่าควรปลูกยางนาเพราะยังมีโอกาสในช่วงต้นยางมีอายุ 6-7 ปี สามารถทำประโยชน์ได้ในบางเรื่องแล้ว เพียงแต่ยังไม่แก่จัดเท่านั้น หรือถ้าต้องการให้เร็วกว่านั้น ก็มีสูตรทำให้โตเร็วถึง 3 เท่า ซึ่งเป็นงานวิจัยเช่นกัน และหากสนใจแวะมาคุยเรื่องเทคนิคการปลูก เรื่องปลูกอย่างไรให้โตเร็วได้ที่ศูนย์”

นอกจากนั้น คุณณรงค์ ยังชี้ให้เห็นว่า ถ้าปลูกไม้ยางนาไม่ต้องกังวลเรื่องระยะห่าง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ไม้แต่ละชนิดจะพยายามเอาตัวรอด ฉะนั้น การปลูกยางนาเพียงชนิดเดียวจึงไม่จำเป็นต้องมีระยะห่างมากและสามารถปลูกถี่ได้ ระยะต้นยิ่งถี่ ยิ่งทำให้ต้นโตดี แถมยังระบุว่าระยะเพียงแค่งูรอดได้ก็พอแล้ว ต่างกับต้นสักหรือสะเดา ถ้าปลูกถี่มากกลับโตช้า

เมื่อเทียบการเจริญเติบโตระหว่างยางนาและพะยูงแล้ว คุณณรงค์ระบุว่า ถ้าเป็นช่วงเวลา 1-3 ปี ต้นพะยูงเจริญเติบโตเร็วและดีกว่ายางนา แต่พอยางนาที่มีอายุต้นซัก 6 ปี สามารถใช้ประโยชน์ได้ อย่างที่ได้ปลูกไว้ในสวนมีอายุ 5 ปี ลำต้นมีขนาดใหญ่มาก เปลือกไม่แห้ง สำหรับคุณภาพเนื้อไม้ที่ดีที่สุด ควรอยู่ประมาณซัก 12-14 ปี เปลือกจะแห้ง ยิ่งตอนนี้มีเทคนิคทำให้เปลือกแห้งได้ง่ายในเวลาสั้น

คุณณรงค์ บอกว่า ไม้พะยูงนั้นทางจีนต้องการมาก แล้วต่อไปอีก 10 ปี ยังมีความต้องการอยู่ ต้นพะยูงสามารถนำไปใช้งานได้ตั้งแต่ปีที่ 4-6 เพราะเนื้อไม้แห้งและแข็ง แต่ถ้าตกน้ำมันอยู่ในปีที่ 9-11 ส่วนไม้ตะเคียนที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเต็ง รัง และยาง ทางเยอรมนีต้องการไม้กลุ่มนี้ เพราะเนื้อไม้มีความละเอียดมาก

สำหรับการเพาะพันธุ์ต้นกล้านั้น คุณณรงค์ บอกว่า ทางศูนย์จะหาเมล็ดพันธุ์แถวนี้ โดยการจ้างชาวบ้านหาให้ โดยมีค่าจ้างเหมา กระสอบละ 30-40 บาท โดยเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะนำมาเพาะเหมือนอย่างพืชอื่นทั่วไป ใช้วัสดุเพาะ มีขี้เถ้าแกลบ แต่สำคัญมากคือ การควบคุมความชื้นให้เหมาะสม ทั้งนี้มีระยะการงอกในเวลา 15-30 วัน

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดจากการเพาะคือ ความสมบูรณ์ของเมล็ดที่มีโอกาสงอกน้อย เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเมล็ดร่วงหล่นพื้นจะงอกทันที ฉะนั้น การเก็บไว้นานเป็นผลเสีย ทำให้การงอกไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถให้เปอร์เซ็นต์งอกได้เพียง 17-22 เท่านั้น ดังนั้น ถ้าคุณต้องการปลูกให้ได้ซักแสนต้น ก็ต้องเพาะกันเป็นล้านต้น”

การเพาะต้นกล้านั้น คุณณรงค์ชี้ว่า ควรเพาะเองดีกว่า หรืออาจไปติดต่อขอที่ป่าไม้ แต่ถ้าอยู่ไม่ไกลนัก จะแวะมาดูที่ศูนย์ก็ได้ มีจำหน่าย ซึ่งถ้าเป็นกล้าพะยูง ต้นละ 9-10 บาท ยางนา ต้นละ 7-8 บาท มีความสูง 70 เซนติเมตร

สำหรับช่วงที่เหมาะปลูกต้นยางนาคือต้นฝน แต่ถ้าจำเป็นต้องปลูกช่วงหน้าแล้ง อาจต้องใส่ใจเรื่องน้ำสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม มีวิธีหรือเทคโนโลยีการให้น้ำหลายวิธีที่ต้นทุนถูกและนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สำหรับกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้เรื่องยางนา ที่ผ่านมามีผู้คนจากทั่วประเทศให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งมากันเองเป็นกลุ่ม เป็นคณะ หรือบางรายโทรศัพท์มาคุย เพราะได้พบเจอในเว็บไซต์

นอกจากนั้น ยังได้รับเชิญไปบรรยายให้ความรู้ตามสถานที่ต่างๆ ฉะนั้น จนถึงปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาถึงกว่า 500,000 คน แล้ว หลังจากนั้นมีจำนวนต้นยางนาเกิดใหม่ขึ้นอีกกว่า 10 ล้านต้น” คุณณรงค์ กล่าว

สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการปลูกยางนา สอบถามรายละเอียดโดยตรงได้ที่ คุณณรงค์ สังขะโห โทรศัพท์ (089) 612-4007

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น