จากแนวพระราชดำริ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในภาคเหนือ จึงได้ก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้น ใกล้พื้นที่แหล่งเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายได้ในราคายุติธรรม สร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวทาง อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อพัฒนาชนบท
การที่โรงงานผลิตของ ดอยคำ ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เพาะปลูกช่วยคงคุณค่าความสดของวัตถุดิบผลไม้ที เก็บจากต้นได้มากกว่า เช่น การเก็บผลมะเขือเทศสีแดงสด ผิวตึง ในระดับความสุกที่ 85% ทำให้ได้น้ำมะเขือเทศที่มีรสชาติของมะเขือเทศสด แท้ และเนื้อสัมผัสที่เนียนนุ่ม การเก็บผลลิ้นจี่ทั้งช่อแล้วขนจากสวน เพื่อการเตรียมวัตถุดิบภายใน 2 ชั่วโมง ช่วยคงคุณค่ากลิ่นรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของน้ำลิ้นจี่ดอยคำ เช่นเดียวกับการเก็บผลสตรอว์เบอร์รีสดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจากพื้นที่สูงบนดอยเข้าโรงงานในพื้นที่เพาะปลูก ช่วยคงรสชาติหวานหอมของสตรอว์เบอร์รีสดที่แท้จริง โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปจึงเป็นแหล่งผลิตน้ำผลไม้หลากหลายชนิด ยกขบวนความสด ตรงจากสวนถึงมือคุณ
กำเนิดดอยคำ
ราวปีพุทธศักราช 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาในช่วงฤดูหนาว เสด็จแปรพระราชฐานไป จังหวัดเชียงใหม่ ทอดพระเนตรชีวิตของชาวบ้านบนดอยชาวไทยภูเขาในภาคเหนือประกอบอาชีพปลูกข้าวเพื่อบริโภคควบคู่กับการปลูกฝิ่น ซึ่งสร้างปัญหาการทำลายป่าไม้จากการทำไร่เลื่อนลอย และที่สำคัญคือปัญหายาเสพติดที่แพร่หลายจากชุมชนชนบทไปสู่เมืองและกลายเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศในยุคนั้น จากพระราชดำริที่ว่า ถ้าจะให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นก็ต้องหาพืชอื่นที่ขายได้ราคาดีกว่า และมีความเหมาะสมจะปลูกในที่สูง มาให้ชาวเขาปลูกทดแทน จึงเป็นที่มาในการริเริ่ม โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ในปี 2512 โดยทรงมอบหมายให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานอำนวยการโครงการหลวงฯ
การดำเนินการในระยะแรกของโครงการหลวงฯ นั้นได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือในเรื่องการศึกษาวิจัยหาพืชที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานราชการอื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่เต็มใจเข้ามาร่วมถวายงานอย่างไม่ย่อท้อ รวมถึงความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ให้เงินสนับสนุนโครงการหลวงฯ ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน
การก่อตั้งโรงงานแปรรูป
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
จากดำเนินการของโครงการหลวงฯ ในการให้ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวประสบความสำเร็จราษฎรชาวไทยภูเขาหันมาปลูกพืชทดแทนฝิ่นมากขึ้น จึงทำให้เกิดความต้องการตลาดรับซื้อผลผลิต ผัก ผลไม้สดให้ทันเวลาการเก็บเกี่ยว ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาการโก่งราคาผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็น กลุ่มสหกรณ์ชาวเขา เพื่อรับซื้อผลผลิตสดจากราษฎรโดยตรง และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งแรก ขึ้นที่หมู่บ้านบ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการเมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
หลังจากการก่อตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งแรกที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในระยะเวลาใกล้เคียงกันได้มีการสร้างโรงงานอีกแห่งขึ้นในพื้นที่การดำเนินงานของโครงการหลวงในจังหวัดเชียงราย โดยคงวัตถุประสงค์เดียวกับที่จัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับการพิจารณาเลือกสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 ตั้งอยู่ที่ทางหลวงหมายเลข 1 ที่หมู่บ้านป่าห้า ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2516 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมจำนวน 100,000 บาท เป็นทุนหมุนเวียน โรงงานที่ 2 นี้ได้รับการติดตั้งเครื่องจักรระบบเดียวกับที่อำเภอฝาง โดยรับซื้อและแปรรูปผลิตผลการเกษตรที่ได้จากชาวเขาในพื้นที่เดียวกันนี้* (*โรงงานที่แม่จันได้รับความช่วยเหลือบางส่วนจากโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย) เกษตรกรชาวเขาเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการหลวงให้ปลูกผักและผลไม้ของโครงการ เพื่อเป็นการช่วยรักษาระดับราคาของพืชผล ซึ่งแต่ก่อนถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลางจากในเมืองที่อำเภอแม่จันนอกจากทรงพระราชทานโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสำนักงานสหกรณ์การเกษตร ศูนย์โภชนาการเด็ก และสถานีอนามัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนแบบวงกว้าง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โรงงานฯที่อำเภอแม่จันนี้ดำเนินงานในลักษณะเดียวกันกับโรงงานฯที่อำเภอฝาง การดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเมือง ของจังหวัดเชียงราย สินค้าแปรรูปในปัจจุบัน ได้แก่ น้ำผลไม้พร้อมดื่ม, ผลไม้แช่แข็ง, แยมผลไม้, น้ำผลไม้เข้มข้น เป็นต้น
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ระหว่างแปรพระราชฐานไปยัง พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านนางอย โพนปลาไหล กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ทอดพระเนตร ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฏร และต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก อีกทั้งปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้น จึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของราษฏรในเขตพื้นที่และอำเภอใกล้เคียง โดยส่งเสริมความรู้ และให้กู้ยืมเงินทุนซื้อเมล็ดพันธุ์กับเกษตรกร เพื่อเพาะปลูกมะเขือเทศ ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวที่เหมาะสมและสามารถขึ้นได้ดีในพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมให้ดีขึ้น ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน รับใส่เกล้าฯ และขอพระราชทานเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อดำเนินการตามพระราชดำริ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ที่กิ่งอำเภอ จังหวัดสกลนคร จึงเกิดขึ้น (ปัจจุบัน ปรับเป็นอำเภอเต่างอย) เพื่อช่วยเหลือราษฎรในแบบเดียวกัน
การดำเนินงานของโรงงานฯ นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นรวมถึงสร้างช่องทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยประชาชนในท้องถิ่น
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ระหว่างปี พ.ศ. 2521 ถึง ปี พ.ศ. 2524 ได้มีภัยคุกคามจากขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศบริเวณแนวชายแดนไทย – กัมพูชา โดยความช่วยเหลือจากกองทัพคอมมิวนิสต์เขมร และ เวียตนาม ทำให้มีทหารไทยล้มตายและบาดเจ็บจากการต่อสู้เพื่อต่อต้านการแทรกแซงของคอมมิวนิสต์นี้ ในหลายพื้นที่ตามแนวชายแดน
อำเภอละหานทรายในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ มีการต่อสู้กันอย่างหนัก ในหลายครั้งที่มีการต่อสู้ ในเขตบ้านโนนดินแดง ชาวบ้านในพื้นที่จำเป็นต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในค่ายพักชั่วคราว และในที่ที่ปลอดภัยรอบๆหมู่บ้านโนนดินแดง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ชาวบ้านและผู้อพยพจากภัยสงความมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ด้วยทรงมีความห่วงใยต่อปัญหาในพื้นที่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้รัฐบาลจัดตั้งโครงการพัฒนาครั้งใหญ่ ครอบคลุมถึง 40 หมู่บ้านในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งรวมหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว 26 หมู่บ้าน และอีก 14 หมู่บ้านที่ชาวบ้านอพยพไปจัดตั้งใหม่ โดยจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้าน จัดตั้งหมู่บ้านใหม่ พัฒนาแหล่งน้ำ และพัฒนาสังคม นอกจากจะเข้าร่วมอยู่ในโครงการใหญ่นี้แล้ว ศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน์ ยังได้ดำเนินการตามพระราชดำริในพื้นที่นี้ แบบเดียวกับที่ปฏิบัติที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โรงงานแห่งที่ 4 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มดำเนินงานได้ในปี พ.ศ. 2526 โดยรับซื้อและแปรรูปผลิตผลการเกษตรจากเกษตรกรที่ร่วมอยู่ในโครงการ
ต่อมาในปี 2543 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจึงส่งผลให้ต้องปิดกิจการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยเป็นแหล่งที่มีพืชเพาะปลูกเข้าโรงงานน้อย และมีการผลิตน้อยที่สุด ปัจจุบันจึงมีโรงงานหลวงฯ ดำเนินการเพียง 3 แห่งเท่านั้น
ตราสัญญาลักษณ์พระราชทาน”ดอยคำ”
ด้วยพืชผลเมืองหนาวจากภาคเหนือ เป็นผลผลิตใหม่สำหรับเมืองไทยในสมัยนั้น หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี จึงทรงคิดตราสัญลักษณ์ ดอยคำ ขึ้นใช้กับผลิตผลทุกชนิดของโครงการหลวงฯ รวมทั้งให้ความเชื่อถือว่า ตราดอยคำเป็นสินค้าที่มีคุณภาพด้วยการคัดเกรด และเป็นสินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
สินค้า น้ำผลไม้ , ผลไม้อบแห้ง, ผลิตภัณฑ์ทาขนมปังและแยมผลไม้, เครื่องดื่มสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องและข้าวกล้องเพาะงอก และ ผลิตภัณฑ์คุณภาพอื่นๆ อีกมากมาย
ข้อมูลการติดต่อ
โทรศัพท์ (+66)2 628 9100-8
อีเมล info@doikham.co.th
เว็บไซต์ http://www.doikham.co.th
ป้ายคำ : เกษตรกรรมยั่งยืน