ตะไคร้หอม สมุนไพรไล่ยุงหรือฆ่าแมลง

16 เมษายน 2556 สมุนไพร 2

ตะไคร้หอมใช้ต้นสกัดน้ํามันตะไคร้หอม (citronella oil) มีสารสําคัญคือ citronella ซึ่งมีสรรพคุณไล่ยุงและแมลง แก้ปัญหาสุนัขเห่า และมีสาร geraniol ซึ่ง ช่วยฆ่าเชื้อผสมในสบู่ยาฆ่าเชื้อ แก้เท้าเหม็น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon nardus Rendle
ชื่อสามัญ : Citronella grass
วงศ์ : GRAMINEAE
ชื่ออื่น : จะไคมะขูด ตะไครมะขูด (ภาคเหนือ) ตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช)

ลักษณะพืช
พืชล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นตั้งตรง สูง 2 เมตร ออกเป็นกอ ใบเกลี้ยง รูปยาวแคบ กว้าง 5-20 มม. ยาวได้ถึง 1 เมตร มีกลิ่นหอมตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบ มีแผ่นรูปไข่ปลายตัดยื่นออก มา ยาวประมาณ 2 มม. มีขนกาบหุ้มติดทน กาบล่างสุดเกยซ้อนกัน เมื่อแห้งจะม้วนขึ้นดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ยาวได้ถึง 80 ซม. มีใบประดับ ลักษณะคล้ายกาบ ยาวประมาณ 25 มม. รองรับอยู่ ช่อดอกแยกเป็นหลายแขนงแต่ละแขนงมีช่อย่อย 4-5 ช่อ ผลแห้ง ไม่แตก ตะไคร้หอมมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายกับตะไคร้กอ ต่างกัน ที่กลิ่น ต้นและใบยาวกว่าตะไคร้กอมากแผ่นใบกว้างยาวและนิ่มกว่า เล็กน้อย

takaihoms

สรรพคุณ :
น้ำมันสะกัดตะไคร้หอม

  • ปรุงกับน้ำหอมทาตัวป้องกันยุงกัด
  • ใส่กระบอกสูบผสมกับน้ำมันอื่นฉีดไล่ยุงได้ดีมาก

ทั้งต้น

  • ใช้ตะไคร้หอม 4-5 ต้น นำมาทั้งต้น ทุบๆ วางทิ้งไว้ในห้องมืดๆ กลิ่นน้ำมันหอมระเหยออกมา ยุง แมลงจะหนีหมด

ประโยชน์ทางยา

  • แก้ริดสีดวงในปาก (คือปากแตกระแหงเป็นแผลในปาก)
  • ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ และแก้แน่นได้ด้วย
  • สตรีมีครรภ์รับประทานให้ตกลูกหรือทำลายโลหิตให้ด้วย (ทำให้แท้ง) คือมีอำนาจในทางบีบรัดมดลูกได้ดีด้วย

วิธีใช้ : นำน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอมทาตามตัว ไล่แมลง ยุง
สารเคมี น้ำมันหอมระเหย มี 0.4-0.9% ประกอบด้วย geraniol 57.6-61.1% Citronellal 7.7-14.2% eugenol, camphor, methyl eugenol.

takaihomnor

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์

  1. ฤทธิ์ไล่ยุงและแมลง
    น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอมสามารถใช้ไล่แมลงได้ ครีมที่มีน้ำมันจากใบตะไคร้หอม ความเข้มข้น 1.25, 2.5 และ 5% มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัด เมื่อทดสอบกับยุงก้นปล่อง โดยมีระยะเวลาในการป้องกัน นาน 2 ชม. และที่ความเข้มข้น 10% จะมีระยะเวลาในการป้องกันได้มากกว่า 4 ชม. ตำรับครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันข่า 5% น้ำมันตะไคร้หอม 2.5% และวานิลลิน 0.5% จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้เช่นกัน โดยมีระยะเวลาในการป้องกัน นานกว่า 6 ชม. และเมื่อทดสอบกับยุงรำคาญ พบว่าตำรับครีมผสม สามารถป้องกันยุงกัดได้ดีกว่าครีมที่ไม่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อนำน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม มาทดสอบกับยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และเท้าช้าง พบว่ามีผลป้องกันยุงกัดได้นาน 8-10 ชม. และในการทดสอบกับยุงลาย พบว่าความเข้มข้นที่ผลในการป้องกันยุงได้ร้อยละ 50 (EC50) และร้อยละ 95 (EC95) มีค่าเท่ากับ 0.031 และ 5.259% ตามลำดับ และน้ำมันหอมระเหย ความเข้มข้น 1% สามารถป้องกันยุงกัดได้ 75.19% สารสกัด 90% เอทานอลจากตะไคร้หอม และสารสกัดตะไคร้หอมที่ผสมกับน้ำมันมะกอกและน้ำมันหอมระเหยกลิ่นชะมดเช็ด เมื่อนำมาทดสอบกับยุงลายและยุงรำคาญตัวเมีย จะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้นาน โดยมีค่าเฉลี่ยช่วงเวลาอยู่ที่ 114-126 นาที นอกจากนี้ยังมีผลในการควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงได้ด้วย น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม ความเข้มข้น 10% มีฤทธิ์ดีในการไล่ตัวอ่อนของเห็บ โดยให้ผลในการไล่ได้นานถึง 8 ชม. นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไล่แมลงที่จะมาทำลายเมล็ดข้าวที่เก็บไว้ได้ โดยไม่มีผลต่อคุณภาพของข้าว ตะไคร้หอมยังมีฤทธิ์ไล่ผีเสื้อกลางคืน และพวกแมลงบินต่างๆ ได้
  2. สารสำคัญในการออกฤทธิ์ไล่ยุง
    น้ำมันตะไคร้หอมมีส่วนประกอบที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ camphor , cineol , eugenol , linalool , citronellal, citral
  3. การทดลองทางคลินิกใช้ในการไล่ยุง
    มีการศึกษาผลของครีมที่มีส่วนผสมน้ำมันหอมระเหย 14% ในการทาป้องกันยุงรำคาญกับอาสาสมัคร 40 คน เปรียบเทียบกับครีมที่ไม่มีตัวยา พบว่าสามารถป้องกันยุงได้ 13 คน ในอาสาสมัครที่ทาครีม 20 คน ขณะที่อาสาสมัครที่ทาครีมที่ไม่มีตัวยา จะไม่สามารถป้องกันยุงได้
    สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ทดลองประสิทธิภาพป้องกันยุงกัดของครีมตะไคร้หอม 14% พบว่ามีผลป้องกันยุงกัดได้นาน 2 ชม. ซึ่งใกล้เคียงกับครีมจากสารสังเคราะห์ (dimethyl phthatate 20% + diethyl toluamide 5%)
  4. ฤทธิ์ฆ่าแมลง
    น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม เมื่อนำมารมเมล็ดถั่ว นาน 72 ชม. มีผลฆ่าแมลง Callosobruchus maculatus ที่จะมาทำลายเมล็ดถั่วได้ น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยไม่มีผลต่อการงอกของถั่ว แต่มีผลต่อ parasite ของแมลงชนิดนี้มากกว่าสารสกัดตะไคร้หอมผสมกับสารสกัดจากเมล็ดสะเดา และข่า ในอัตรา 200 มล./น้ำ 20 ลิตร มีผลลดการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะฝักซึ่งเป็นแมลงศัตรูถั่วฝักยาวได้ แต่ไม่สามารถควบคุมการเข้าทำลายของแมลงวันเจาะต้นถั่ว สารสกัดตะไคร้หอม ความเข้มข้น 100 ppm จะให้ผลน้อยมากในการควบคุมแมลงศัตรูกะหล่ำ แต่จะมีผลทำให้ไรแดงกุหลาบตายร้อยละ 95 ภายใน 20.70 ชม. นอกจากนี้สารสกัด10% เอทานอล (ต้นตะไคร้หอมแห้ง 200 ก./4 ลิตร) จะให้ผลดีในการลดปริมาณของหมัดกระโดดซึ่งเป็นแมลงศัตรูคะน้า แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้น้ำหนักของคะน้าลดลง แชมพูที่ส่วนผสมของสารสกัดตะไคร้หอม สามารถฆ่าเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยงได้
  5. การทดสอบความเป็นพิษ
    เมื่อฉีดสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ (1:1) จากต้น ขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร ไม่พบความเป็นพิษ

takaihomkor

การปลูก
ไถพรวนดินและตากดินไว้ประมาณ 7 – 10 วัน ย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้า
ให้เข้ากับดินขุดหลุมปลุกระยะ 30 x 30 เซนติเมตร ก่อนนำตะไคร้ไปปลูก ใช้หน่อหรือเหง้า นำพันธุ์ที่เตรียมไว้ตัดใบออก
ให้เหลือต้นยาว ประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร มาแช่น้ำประมาณ 5 – 7 วัน เพื่อให้รากงอกรากที่แก่เต็มที่
จะมีสีเหลืองเข้ม ชอบขึ้นในดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง ชอบแดดมาก นำไปปลูกในแปลงวางต้นพันธุ์ ให้เอียง 45 องศา ไปด้านใดด้านหนึ่งแล้วกลบดิน จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม เก็บเกี่ยวเมื่อตะไคร้อายุประมาณ 90 วัน

การกลั่นน้ำมันตะไคร้หอม
ขั้นตอนแรก การตัดตะไคร้หอม

  1. การตัดตะไคร้หอม ไม่ควรตัดถึงบริเวณก้านต้น ควรเลือกเฉพาะส่วนที่เป็นใบเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เวลากลั่นจะได้ปริมาณน้ำมันเป็นจำนวนมากนั่นเอง
  2. การสังเกตว่าต้นตะไคร้หอมจะให้ปริมาณน้ำมันมากน้อยเท่าใดนั้น ดูได้จากสีใบและรูปทรงของใบ คุณภาพที่ดีนั้นควรมีสีเขียวสด และลักษณะของใบเรียวเล็กสวย
  3. หากเป็นไปได้ควรจะตัดในเวลาเช้า เพราะจะได้ปริมาณน้ำมันมากกว่าใช้ใบตะไคร้หอมที่ตัดในเวลาเที่ยงหรือเย็น และควรนำมาต้มกลั่นทันทีหลังจากตัดใบมาแล้ว

ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมถังต้มกลั่น

  1. อันดับแรก จะต้องตัดลำไม้ไผ่เป็นท่อนๆ และผ่าครึ่ง สำหรับนำมาวางเรียงลงให้เต็มพื้นที่ก้นถังเสียก่อน เพื่อป้องกันมิให้ใบตะไคร้หอมไหม้เวลาต้มกลั่น
  2. จากนั้นเปิดน้ำใส่ลงในถังให้สูงระดับ 40 ซ.ม.
  3. ต่อมาจึงนำใบตะไคร้ที่ตัดเตรียมไว้แล้วใส่ลงไป และย่ำอัดจนกว่าจะเต็มถัง
  4. เมื่อเต็มถังดีแล้ว จึงทำการปิดฝาให้สนิท ด้วยการยาดินที่ผสมน้ำให้เกิดความเหนียวรอบฝาปิดแล้วใช้แถบผ้าชุบน้ำพันโดยรอบให้สนิทอีกครั้ง
  5. น้ำท่อกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมมาประกอบเข้ากับปากฝาครอบถังต้มกลั่น เช่นเดียวกันคือนำดินผสมน้ำมายาและพันผ้าโดยรอบ เพื่อกันมิให้เกิดการรั่วซึม ทั้งนี้กำหนดให้ปลายท่อกลั่นต้องอยู่ต่ำกว่าระดับระนาบเล็กน้อย เพื่อให้ของเหลวที่ผ่านกระบวนการกลั่นไหลลงสู่ถังกระบอก
  6. ต่อสายยางบริเวณจงอยที่อยู่ด้านบนของท่อกลั่น สำหรับระบายน้ำทิ้ง
  7. ต่อสายยางเข้ากับจงอยด้านในของส่วนปลายท่อกลั่น สำหรับเปิดน้ำเข้าสู่ท่อกลั่น
  8. และต่อท่อสแตนเลสที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้วเข้ากับจงอยด้านนอกสุดของท่อกลั่น เพื่อรองรับของเหลวที่ผ่านกระบวนการกลั่นแล้วให้ไหลลงสู่ถังทรงกระบอก ก่อนที่จะนำไปแยกส่วนที่เป็นน้ำกับน้ำมันออกจากกันอีกครั้งหนึ่ง
  9. ให้นำแผ่นพลาสติกปิดปากถังกระบอก เจาะรูพลาสติกให้พอดีกับท่อสแตนเลส
  10. กะละมังสำหรับรองรับน้ำกลั่น ขณะแยกน้ำมันตะไคร้หอมจากถังกระบอก

takaihom_citronella

เริ่มกระบวนการผลิต

  • เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว จึงเริ่มกระบวนการต้มกลั่นด้วยการก่อไฟใต้ถังต้มกลั่นที่เตรียมไว้ ครั้งแรกสามารถเร่งไฟให้แรงได้ จนกระทั่งน้ำเดือด ( สังเกตได้ด้วยการ เปิดแผ่นพลาสติก ดูว่ามีควันและหยดน้ำไหลลงสู่ถังกระบอกหรือยัง เทคนิกพิเศษควรใส่น้ำแข็ง 1 ขันลงไป) ให้ลดแรงไฟลง โดยพยายามไม่ให้เปลวไฟลุกสูงเกินขอบก้นถังต้มกลั่น เพราะหากไฟแรงเกินไป จะทำให้การต้มกลั่นจะได้น้ำมากกว่าน้ำมัน
  • ระหว่างนี้หมั่นเฝ้ารอสังเกตของเหลวในถังกระบอก รวมทั้งใช้แก้วใสตักดูปริมาณของเหลวว่ามีน้ำมันตะไคร้ลอยอยู่หรือไม่ เมื่อได้ตามที่ต้องการแล้วให้คอยใส่ฟืนและควบคุมความร้อนให้สม่ำเสมอ จนกระทั่งปริมาณของของเหลวสูง 2 ใน 3 ส่วนของถังกระบอก จึงปล่อยให้ไฟค่อยๆ มอดดับเอง ขณะเดียวกันถอดท่อสแตนเลสและเปิดแผ่นพลาสติกออกถังกระบอก จากนั้นเปิดก๊อกระบายส่วนที่เป็นน้ำกลั่น * ปล่อยลงกะละมังที่เตรียมไว้ ( * สังเกตได้ว่า ส่วนที่เป็นน้ำมันตะไคร้ลอยตัวเป็นแผ่นบนผิวน้ำจะมีสีเข้มกว่าน้ำ) ปล่อยน้ำจึงถึงระดับเหนือท่อก๊อกเล็กน้อย แล้วจึงปิดก๊อกทันที
  • การแยกน้ำมันตะไคร้หอมออกจากน้ำกลั่น ถือเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะจะเกิดการสูญเสียได้ง่าย หากไม่ระมัดระวัง นำถังกระบอกเอนลง จากนั้นให้ใช้สายยางขนาดเล็กดูดส่วนที่เป็นน้ำกลั่นออกจากน้ำมันตะไคร้หอม จนเหลือส่วนที่เป็นน้ำมันจริงๆ แล้วจึงนำไปเทบรรจุลงในขวด เพื่อรอการแปรรูปต่อไป
  • หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการกลั่นแล้ว สามารถกระทำการต้มกลั่นได้เลย โดยรอให้ถังต้มกลั่นเย็นพอที่จะเปิดฝาและถอดท่อกลั่นออก จากนั้นเติมน้ำกลั่นลงไปแทนการใช้น้ำธรรมดาเหมือนกับการต้มกลั่นครั้งแรก จากนั้นก็ใส่วัตถุดิบลงไปตามกระบวนการที่ได้อธิบายในคราวแรก ส่วนน้ำกลั่นที่เหลือสามารถเก็บกักไว้ในถังภาชนะ เพื่อนำกลับมาใช้ในการต้มกลั่นในโอกาสต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถนำไปฉีดพ่นไล่ยุง แทนการใช้สารเคมี และยังนำมาเป็นส่วนผสมสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้อีกด้วย

takaihom_steam_ditill

รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

  1. ถังต้มกลั่น มีขนาดความสูง 150 ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซ.ม.
  2. ใช้ใบตะไคร้หอม 300 ก.ก. ( หรือบนเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 50 ตร.ว. ) จะได้น้ำมันตะไคร้หอม 2 ลิตร
  3. ระยะเวลาเริ่มต้นกระบวนการต้มกลั่น (ไม่รวมเวลาการเตรียมการ) จนได้น้ำมันตะไคร้หอมใช้เวลา 6 ชั่วโมง

ประโยชน์ของน้ำมันตะไคร้หอม

  1. น้ำมันตะไคร้หอมบริสุทธิ์สามารถรับประทานได้ โดยมีสรรพคุณรักษาแผลในช่องปาก
  2. สามารถนำมาแปรรูปผลิตอื่นๆ อาทิเช่น ยาหม่องทั้งชนิดน้ำและข้น สูตร 1. พิมเสน 1 ก.ก. 2. การบูร 1 ก.ก.
  3. เมนทอล 1 ก.ก.
  4. น้ำมันตะไคร้หอม 1 ลิตร
  5. น้ำมันงา 0.5 ลิตร (หากต้องการผสม สำหรับใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า)
  6. น้ำมันมะพร้าว 2 ลิตร ( หากต้องการผสม เพื่อช่วยในการบรรเทาอาการเจ็บข้อ และคลายเส้น)

วิธีทำ
นำส่วนผสมข้อที่ 1 3 เทใส่หม้อสแตนเลส แล้วตั้งบนเตา ไฟปานกลาง จากนั้นค่อยๆ เทน้ำมันตะไคร้หอมตามลงไป แล้วใช้พายคนให้ทั่วจนกว่าสารทั้งหมดละลายเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วยกลงจากเตาปิดฝาไว้จนกว่าจะเย็นตัว เพื่อกรอกลงใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์รอการจำหน่ายต่อไป สำหรับส่วนผสมข้อ 5 และข้อ 6 ให้เทก่อนน้ำมันตะไคร้หอมตามลำดับ หากทีหลังหรือพร้อมกันจะทำให้ไม่ได้กลิ่นน้ำมันตะไคร้หอม

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

2 ความคิดเห็น

  1. ธิรญาภรณ์
    บันทึก สิงหาคม 13, 2556 ใน 18:29

    ต้องการติดต่อเพื่อสั่งซื้อยาจุดกันยุง รบกวนติดต่อกลับด่วนค่ะ จะนำไปถวายพระ ที่ Spy.aui@hotmail.com หรือ 087 666 9959

  2. yupin
    บันทึก กันยายน 12, 2556 ใน 10:58

    ทำยากจัง ฮิ

แสดงความคิดเห็น